เรื่องเล่า ‘ตลาดพลู’ กับบางสิ่งที่คนหลงลืม

เรื่องเล่า ‘ตลาดพลู’ กับบางสิ่งที่คนหลงลืม

ชวนไปเดินเล่นย่าน "ตลาดพลู" กินขนม ชมตึกหรือเรือนไม้เก่าๆ ดูวัดวาอารามในย่านเก่า ที่คนในชุมชนพยายามรื้อฟื้นบางอย่างที่หายไปกลับมา

แม้วันเวลาจะผ่านไปนาน หลังจากคนจีนอพยพมาตั้งรกรากที่ ตลาดพลู ซึ่งที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งอาหารอร่อยของคนจีนย่านฝั่งธนฯ หลายคนคงจำรสชาติ กูไช่ก้วยได้ดี ขนมที่ทำจากแป้งกลมๆ มีทั้งไส้ผัก ไส้เผือก ไส้หน่อไม้ ไส้มันแกว รวมถึงขนมอั่งก้วย แป้งสีชมพู รูปลักษณ์ภายนอกคล้ายๆ ผลท้อ, ขนมเบื้องไทย, ขนมเบื้องญวน,ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

ตลาดพลูเป็นย่านเก่าที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่ต่างจากหลายชุมชน แต่สิ่งที่ต่างคือ คนในชุมชนแห่งนี้รวมตัวกันรื้อฟื้นย่านเก่าให้คนเห็นคุณค่าบางอย่างที่หายไป เนื่องจากที่นี่เป็นชุมชนจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

ตลาดพลู จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางค้าขายของคนฝั่งธนฯ

พีรวัฒน์ บูรณพงศ์ คนตลาดพลู เจ้าของเพจ Perawat Buranapong สถาปนิกที่จบปริญญาโท ด้านสถาปัตยกรรม สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยทำงานสร้างสรรค์ออกแบบให้หลายชุมชน ปัจจุบันทำงานให้สมาคมอนุรักษ์โบราณสถาน หันมาฟื้นฟู พัฒนาชุมชนตลาดพลู นำสิ่งที่ผู้คนหลงลืมไปแล้ว มาปัดฝุ่นให้คนเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์ของคนยุคหนึ่ง ไม่ควรถูกลืม เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

159486769453

เขารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ชาวตลาดพลู คือ ชลิดา ทัฬหะกาญจนากุล เจ้าของร้านเก่าแก่สหายโภชนา ขายข้าวขาหมู เจ้าของ(เพจถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู), อรพิณ วิไลจิตร เจ้าของโฮลเทลบ้านตลาดพลู (เพจบ้านตลาดพลู) และลุงประพันธ์ ทหารอากาศปลดประจำการ เจ้าของห้องสมุดตลาดพลูรำลึก สร้างสรรค์กิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชนเก่า

“ผมเกิดที่ตลาดพลู และครอบครัวอยู่ที่นั่นสามชั่วอายุคน ตั้งแต่รุ่นปู่ พ่อและผม รวมๆ ร้อยกว่าปีแล้ว ผมเป็นสถาปนิก ไปตกแต่งบ้านให้คนนั้นคนนี้ ทำให้ชุมชนอื่นเยอะ แต่ไม่เคยพัฒนาชุมชนตัวเอง ผมจึงเริ่มจากเขียนเรื่องเล่าและวาดภาพสีน้ำในชุมชนของเราให้เห็นว่า มีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง”

เขาเลือกทำสิ่งที่ถนัด บอกเล่าแง่งามสถาปัตยกรรมวัดวาอาราม เรือนไม้ดั้งเดิม ผ่านภาพวาด โดยไม่ได้ตั้งโจทย์ว่า ต้องหางบให้ได้ก่อนแล้วค่อยทำกิจกรรม แต่เลือกที่จะลงมือทำ 

กิจกรรมแรก เปิดให้คนมาเรียนวาดภาพสีน้ำในตลาดพลู มีคนสมัครมา 6 คน จากนั้นจัดกิจกรรมครั้งที่สอง พาเดินชมสถานที่สำคัญในตลาดพลู คนเริ่มรู้จัักมากขึ้น และครั้งที่สาม สอนวาดภาพจากพู่กันจีน ซึ่งเขาลงทุนลงแรงไปเรียนพู่กันจีนที่เยาวราช เพื่อมาเปิดสอน 

ทำไปทำมาจัดกิจกรรมไป 15 ครั้ง ล่าสุดเปิดแสดงหุ่นจีนประกอบบทเพลงในความทรงจำ เช่น เพลงบูเช็คเทียน ซูสีไทเฮา เจ้าพ่อเซียงไฮ้ ฯลฯ ซึ่งเป็นการบุกเบิกครั้งแรกในตลาดพลู จัดที่ห้องสมุดตลาดพลูรำลึก โดยเขาศึกษาจากครูปื๊ก เพจ ชฎานางหุ่นกระบอก ซึ่งสอนและแสดงหุ่นกระบอกไทยในชุมชนต่างๆ 

“เพราะผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลู เห็นว่า คุณค่าของชุมชนดั้งเดิมค่อยๆ หายไป โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ คนในชุมชนก็ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้ ตอนนี้ผมทำเรื่องหุ่นกระบอก โดยนำเสนอเรื่องราวคนจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ตลาดพลู ใช้เพลงจีนประกอบการแสดง ผมได้ไอเดียมาจากเยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่แสดงที่ศาลเจ้า”

เหมือนเช่นที่กล่าว ไม่ต้องทำอะไรให้ซับซ้อน อาศัยความรู้เรื่องการออกแบบชุมชน ขายโปสการ์ดสีน้ำตลาดพลู ขายเสื้อและขนม เป็นทุนทำงานในชุมชน

“ เมื่อก่อนคนมาเที่ยวตลาดพลูจะกระจุกตัวอยู่ที่ร้านอาหารแถวถนนเทอดไท หลังจากที่ช่วยกันฟื้นฟูสร้างสรรค์ เล่าเรื่อง ชุมชนผ่านเพจของพวกเรา คนเริ่มเดินเข้ามาถนนดั้งเดิมเลียบคลองบางหลวง ย่านนั้นมีเรือนไม้ชั้นเดียว ตั้งแต่ยุคแรกที่คนจีนมาตั้งถิ่นฐาน ยุคต่อมาเป็นห้องแถวสองชั้นสมัยรัชกาลที่ 5 และตึกสมัยสงครามโลกคือสมัยรัชกาลที่ 7 นอกจากนี้ยังมีตลาดชุมชนวัดกลาง เปิดตั้งแต่ตี 4 จนถึงสิบโมงเช้า เป็นตลาดเก่า สมัยก่อนอาหารทะเลขนมาทางรถไฟจากมหาชัยก็มาขายตลาดแห่งนี้ ”

ตลอด 4 ปีที่กลุ่มตลาดพลูดูดี ช่วยกันฟื้นฟูชุมชน ทั้งลงทุน ลงแรง และความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่เสียเปล่า เพราะคุณลุงประพันธ์ คนตลาดพลูดั้งเดิม หลังจากทิ้งบ้านไปนานกว่ายี่สิบปี เมื่อเห็นว่า มีคนมาทำกิจกรรมดีๆ เขาหวนคืนบ้านร้างปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดตลาดพลูรำลึก

159486776578 (จัดเชิดหุ่นประกอบบทเพลงจีน)

"เราก็รับบริจาคหนังสือ มีคนมาช่วยกันเก็บกวาด ต่อมากิจกรรมต่างๆ ก็จัดที่นี่ ”

เมื่อถามถึงกิจกรรมต่อไปของชุมชนตลาดพลู พีรวัฒน์ บอกว่า ทางลุงประพันธ์ อยากจัดกิจกรรมชุดอาหารอร่อยตลาดพลู ในรูปแบบขันโตกฮ่องเต้ คนจะได้กินอาหารอร่อยทุกอย่างของตลาดพลูในราคาประหยัด ภายใต้บรรยากาศวัฒนธรรมภาคเหนือ มีการเชิดหุ่นเรื่องสาวเครือฟ้า อีกอย่างที่อยากให้คนมาดูคือ การแทงหยวกกล้วย ลวดลายศิลปะดั้งเดิมที่ยังหลงเหลือในชุมชน

“ถ้าใครก็ตามอยากสร้างสรรค์จัดการชุมชน ให้มีกลิ่นอายเดิมๆ กลับมา เราต้องลงทำเลย ไม่ต้องมีข้อจำกัด ผมก็เอากำไรจากการขายโปสการ์ด เสื้อ ถุงผ้า ขนม มาเป็นทุน ไม่ต้องรอทุนที่ไหน เพราะเราทำให้ชุมชนของเรา ”

หากใครอยากร่วมโครงการถอยหลังเข้าคลอง คงต้องรออีกระยะหนึ่ง เพราะพีรวัฒน์กำลังประสานกับเจ้าของเรือคลองบางหลวง เพื่อรื้อฟื้นเส้นทางคมนาคมดั้งเดิม ปัจจุบันไม่มีเรือแบบนี้สัญจรไปมาแล้ว

“ตอนเด็กๆ ผมเคยนั่งเรือประจำทาง ที่มีธงเขียว ธงเหลืองและธงชาติ ไปโรงเรียน คลองเคยเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ไปถึงปากคลองตลาดและบ้านศิลปิน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เหลือแต่เรือนักท่องเที่ยว เรากำลังจะรื้อฟื้นกลับมา”

.........................

ดูรายละเอียดกลุ่ม“ตลาดพลูดูดี”ได้ที่ 

-เพจ Perawat Buranapong

-เพจถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู 

-เพจบ้านตลาดพลู

159486787950