‘อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์’ ผู้หลงเสน่ห์พุทธศิลป์
ความชอบ หลงใหลในความงามของศิลปะ อาจจะนำพาไปสู่ "ความศรัทธา" ในตอนท้ายได้เหมือนกัน อย่างเช่น "โหน่ง-อภิรักษ์" เขาเดินทางพบเจอกับสิ่งบูชา นำกลับมาเป็นของที่ระลึก ในที่สุดแล้วจะกลายเป็นศรัทธาได้หรือไม่
เนื่องด้วยเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง จากอาชีพการงาน โดยเฉพาะประเทศแถบอาเซียน โหน่ง-อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ได้เห็นความแตกต่างทางด้านความเชื่อและศาสนาทั้ง พุทธ พราหมณ์ ฮินดู มีความแตกต่างทางพุทธศิลป์ เช่นพระองค์เดียวกัน ทว่าปั้นออกมาต่างกัน กลายเป็นความสนใจและหลงเสน่ห์ในความงามในพุทธศิลป์ เริ่มจากพระพิฆเณศร์ กลายเป็นสนใจในความงามของพระพุทธรูป
“พอเราเดินทางก็ได้เห็นความแตกต่างในพุทธศิลป์ เช่นบ้านเรา พระพุทธรูปสมัยอยุธยาก็มีความอ่อนช้อยสวยงามเพราะสร้างในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง พอยุคหลังๆเริ่มมีศึกสงคราม ความสวยงามของพุทธศิลป์ก็จะลดน้อยลงมาหน่อย เทวรูปแต่ละประเทศก็จะต่างกันไป พอเราเห็นก็เริ่มสนใจ เจอสวยๆก็เก็บกลับมา ความน่าสนใจที่นอกเหนือจากความสวยงามก็คือ วัตถุตั้งต้นก็จะแตกต่างกันด้วย อย่างพม่าก็จะเป็นไม้ บ้านเราจะเป็นโลหะ ญี่ปุ่น-จีน ก็จะเป็นหิน ผมคิดว่ามีความสวยงามทั้งโลหะ หิน บรอนซ์ ไม้ ต่างก็น่าสนใจ ก็เลยค่อยๆเก็บมาที่ละนิดหลักๆคือ ชอบในความสวยงามและความแตกต่างครับ”
ปัจจุบันเขาสะสมพระพิฆเณศร์ กว่า 20 องค์ (ไม่นับองค์เล็กๆ) องค์แรกในชีวิต เป็นศิลปะแบบขอม หลงใหลในรูปลักษณ์ที่ผมเพรียวของเทพที่เดิมเคยเห็นทรงท้วมอุดมสมบูรณ์
“ผมชอบเชพ และรูปทรงประติมากรรม ถ้าพูดถึงพระพิฆเณศร์เราจะเห็นรูปทรงที่เป็นเจ้าเนื้อหน่อยๆ หมายถึงความสำเร็จที่อุดมสมบูรณ์ มือแต่ละข้างก็จะถือของที่มีความหมายต่างๆ ผมเองก็ไม่ได้รู้ลึกขนาดนั้น รู้แค่ทรงนี้สวย น่าครอบครอง ท่านเป็นตัวแทนของความสำเร็จ ความมุ่งมั่น เป็นเทพแห่งศิลปะ และวิทยาการ เราก็ทำงานด้านทีวี ก็น่าจะมีไว้ แล้วผมก็นำกลับมาจากประเทศกัมพูชา นั่นก็คือพระพิฆเณศร์ปางยืนศิลปะแบบขอม แปลกดี แต่ละองค์ก็มีความประทับใจแตกต่างกันไป เช่นองค์นี้เป็นเบบี้พิฆเณศร์ ได้มาจากญี่ปุ่นแต่เป็นร้านของคนเนปาล ดูแล้วสวยงามน่าสนใจ ความจริงมีไซส์ที่ใหญ่กว่านี้แต่เราไม่สะดวกขนย้ายก็เลยซื้อขนาดที่พอนำกลับมาได้ ส่วนองค์สีแดง ได้มาจากอินเดีย ท่านฑูตพาณิชย์ที่อินเดียรู้ว่าเราชอบท่านก็หามาให้”
พระพิฆเณศร์องค์นี้ชอบเพราะรูปร่างดีไม่เจ้าเนื้อ
ช่วงหลังเริ่มสนใจหนักมากโดยเข้าไปประมูล พระพิฆเณศร์ทองเหลืององค์ใหญ่ ทางออนไลน์ เป็นงานฝีมือช่างไทยแต่ทำในสไตล์อินเดีย ส่วน พระพิฆเณศร์หินทราย เขาจำไม่ได้ว่ามาจากไหน ทว่ามีความสวยงามน่าประทับใจไปอีกแบบ
“ที่เห็นแต่ละองค์มีทองคำเปลว หรือมีแป้งเพราะที่บ้านเอาไปร่วมพิธีปลุกเสกที่โบสถ์พราหมณ์ เรื่องการปลุกเสกของพวกนี้หลายๆประเทศจะไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเราเวลาสร้างพระจะต้องทำพิธีเบิกเนตร มีพิธีปลุกเสก หลายประเทศอย่างที่พม่า สร้างแล้วสิ่งนั้นก็เป็นรูปเคารพ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจเลยไม่ต้องมีการปลุกเสกใดๆ ถ้าเราย้อนไปที่ญี่ปุ่นพวกเครื่องรางของขลังเขาก็ไม่มีพิธีปลุกเสกนะ เมื่อเป็นของมงคลแล้ว ก็ถือว่าเป็นของมงคลเลย พระหิน ผมได้มาจากพม่า และมี ไดบุทสึ ได้มาจากเมืองคามาคุระประเทศญี่ปุ่นมองแล้วสวยดีชอบก็เลยบูชากลับมา พระองค์ใหญ่ภปร. มีเก็บไว้เพราะเรารักและผูกพันกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมก็เลยเริ่มสะสม แต่ก็ถือว่ายังเป็นมือใหม่เพิ่งเริ่มนะครับ ส่วนพระพม่าแกะสลักจากไม้หอม เป็นพระทรงเครื่องกษัตริย์ที่สวยงามมาก ได้มาประมาณ 3 ปีแล้วตอนที่ผมไปพม่าถ้าจำไม่ผิดประมาณ 7,000 บาทเพราะค่าแรงเขาถูกกว่าเรา ”
ทั้งหมดก็คือสิ่งที่รัก ชอบ และหลงใหล สามารถนั่งนิ่งๆมองได้ทั้งวัน แล้วมีความสุข ยิ่งมองยิ่งงดงาม มีความสุขที่ได้เก็บ ได้รื้อ ได้จัดเปลี่ยนมุม อนาคตอันใกล้ต้องการทำเป็นมิวเซียมเล็กๆ จัดวางของรักเหล่านี้ตามมุมต่างๆของบ้านที่เป็นออฟฟิศ มีความสุขที่ได้พูดถึงแต่ละองค์เหมือนอย่างวันนี้ ว่าแต่ละองค์มาจากไหน ไม่เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อ หรืออภินิหารใดๆ เหมือนกับคนแขวนพระบางคนก็แขวนไว้เพื่อเตือนสติตัวเอง ให้ทำสิ่งที่ดี ทำอะไรให้นึกถึงพระ นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะไม่หลุดไปทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง คนชอบศิลปะนั่งมองภาพเขียนได้ฉันใด เขาเองก็ฉันนั้น