‘Life Sci. Startup’ โครงการดีเพื่อช่วยสตาร์ทอัพไทยและนักวิจัยด้านเทคโนโลยี
เปิดตัวโครงการ ‘Life Sci. Level Up Challenge 2020’ โอกาสและความเป็นไปได้ เพื่อสตาร์อัพและนักวิจัยไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดตัวโครงการ Life Sci. Level Up Challenge 2020 เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มบริษัท Startup และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ และร่วมฟังเสวนาหัวข้อ Life Sci. Startup : โอกาส ความท้าทาย และความเป็นไปได้ในการเติบโต โดยกูรูด้านชีววิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพ
ฟังเสวนาเข้มข้นครึ่งวันเช้าแล้ว ช่วงบ่ายเปิดตัวสตาร์ทอัพ 27 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึกกับวิทยากรที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ จำนวน 30 ชั่วโมง ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และร่วมพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ บอกว่า
“ทีเซลส์ให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” กิจกรรมส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ 2020 มาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences Technology) ให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล อีกทั้งยังเป็นการขยายการค้า การลงทุน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการตลาดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาส่วนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ยังมีจุดอ่อน หรือต้องการพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อเติมเต็มศักยภาพของทีมตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากเดิม
โดยความโดดเด่นของกิจกรรมนี้ คือมุ่งพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นไบโอเทค, ฟาร์มาซูติคอล, เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices), การวินิจฉัยโรค (Diagnostics), เครื่องสำอาง-อาหารเสริม และ Digital Health IT เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเสริมความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านกฎหมายเฉพาะ โดยนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ร่วมกับกลไกลการวิเคราะห์แผนการดำเนินธุรกิจจากกลุ่มเมนเทอร์ในสาขาความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง”
ดร.นเรศ ให้ข้อมูลว่า มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย (ปี 2562) มีมากถึง 1.38 ล้านล้านบาท มากที่สุด คือ การให้บริการทางสุขภาพ 49%, รองลงมา คือ เครื่องสำอาง อาหารเสริม คิดเป็น 25%, ผลิตภัณฑ์ยา 14% และ เครื่องมือแพทย์ 12% สำหรับตลาดที่ใหญ่มากก็คือเรื่องการดูแลผิวพรรณและสุขภาพ เพราะมีความหลากหลายมากมีมูลค่านับแสนล้านบาท ในอาเซียน
“เราเคยทำสำรวจว่าเฉพาะเรื่องของไวท์เทนนิ่ง ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกก็เป็นหลักแสนล้านเหรียญไปแล้ว แต่การจะไปตีตลาดในส่วนนี้ การทำมาร์เก็ตติ้งเชิงโฆษณาคงไม่พอ จำเป็นต้องมีความเข้มแข็ง และต้องมีปรัชญาบางอย่าง เป็นตัวแบ็คอัพ เช่น การเลือกใช้ของจากธรรมชาติ ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย พิสูจน์ได้จริง อย.ก็มีหน้าที่ต้องคอยบอกว่า เคลมอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ได้ เช่น บอกว่าอาหารเสริม หรือ เครื่องสำอางนี้ช่วยแบบนั้นแบบนี้ มันต้องมีบทพิสูจน์ ตรงนั้นก็เป็นหน้าที่ของทีเซลส์ด้วย เพราะเราเป็นคนช่วยดูแลในเรื่องของการทดสอบมาตรฐาน ตลาดถัดมาก็เป็นตลาดที่เป็นยา ยามีสองกลุ่มคือ ยานวัตกรรมหรือยาต้นตำรับ กับยาเจนเนอริคหรือยาสามัญ ตลาดใหญ่ทั้งคู่ แต่ยานวัตกรรมมูลค่าจะสูงกว่า ยาเจนเนอริคจะถูกกว่าเพราะคนใช้เยอะ และราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า ปัญหาคือว่า ประเทศไทยนำเข้าเยอะ จุดที่เราก็ต้องแก้ไข เราต้องสร้างความรู้จากข้างใน ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ ต้องไปสร้างในเรื่องของความสามารถในการผลิตด้วย ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ และยังมีอีกกลุ่มคือตลาดเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือแพทย์เรามีผู้ประกอบการอยู่ประมาณ 1,000 – 2,000 ราย เพียงแต่ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะซื้อมาขายไป นำเข้ามา แล้วก็ดูแลหลังการขาย เรากำลังปรับส่วนนี้เข้ามา ให้สามารถวิจัยเอง ผลิตเอง เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เป็นเจ้าของแบรนด์ หรือเป็นเจ้าของการผลิตเองได้
ปัจจุบัน ความตระหนักในเรื่องสุขภาพมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เรียกว่าเทรนด์สุขภาพก็ว่าได้ คือว่า คนหมู่มากเห็นความสำคัญของการมีสุขอนามัยที่ดี เริ่มรู้แล้วว่าไม่มีไม่ได้ Face Shield ต้องใส่ มือต้องล้าง ใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน เรื่องของการบำรุงร่างกาย การออกกำลังกาย นี่คือ เทรนด์สุขภาพทั่วไป ยังมีอีกเทรนด์หนึ่งที่เป็นเทรนด์ความรู้และเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องพันธุกรรมของเรา ตอนนี้ก้าวหน้ามากถึงขั้นที่ว่า เราสามารถเริ่มจะบอกได้ว่า เวลากินยาอะไรแล้วจะแพ้หรือไม่แพ้ เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือมีแนวโน้มจะป่วยหรือเป็นโรคมะเร็งหรืออะไร โดยดูที่พันธุกรรม นี่ก็เป็นอีกแนวโน้มหนึ่ง พอสองส่วนนี้มาเจอกัน มันก็เกิดโอกาสมหาศาล ที่เราจะใช้ความรู้ใหม่บวกกับเรื่องของความตระหนัก คือ พอคนตระหนักก็จะ มีความเป็นผู้บริโภค เป็นลูกค้า ซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิม อาจจะทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็เปลี่ยนมาทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อันนี้ก็เป็นโอกาสใหม่ด้วยเช่นกัน” ผอ.ทีเซลส์ กล่าว
สำหรับโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” ในปีนี้มีนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ สนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 47 ทีม และผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 27 ทีม ซึ่งหลังจากนี้ ทางโครงการจะวิเคราะห์ศักยภาพของทีม เพื่อวางแผนพัฒนาเฉพาะจุดให้กับทีมที่ผ่านการคัดเลือก และทั้งหมดยังได้รับการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในระยะแรก จำนวน 12 ชั่วโมง จากนั้น จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเฉพาะกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ในแต่ละกลุ่ม ในระยะที่สอง จำนวน 12 ชั่วโมง และในระยะที่สาม จะเป็นการพัฒนาตามความต้องการของแต่ละทีมในประเด็นต่าง ๆ ที่เน้นการแก้จุดด้อย เสริมจุดเด่น จำนวนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง จากนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ อาทิ คุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย, ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์, คุณปฐมพงษ์ เล็กสมบูรณ์ และคุณไกรวิน วัฒนะรัตน์ เป็นต้น และจะมีการจัดประกวดแผนธุรกิจที่แต่ละทีมสร้างขึ้น ในงาน “Demo Day: Life Sci. Level Up Challenge 2020” ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลการประกวดแผนธุรกิจ 5 ทีมสุดท้าย จะพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งเชื่อว่า ทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ จากการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทางการแพทย์และสุขภาพต่อไป
ในวงเสวนา ว่าที่ร้อยตรี ภก. ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“อยากให้มองกลับไปถึงการพยากรณ์เรื่อง “เมกะเทรนด์” ว่าโลกของเราจะไปทางไหน จากการ forecast เมื่อปี 2008 Mega Trend Matrix มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่เห็นชัดเจนตอนนี้คือ Urbanization, Connectivity & Convergence และ Health Wellness & Well-being ทั้งสามสิ่งนี้เป็นแนวทางและโอกาส เช่น ตอนนี้พูดถึง Health Care และการบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อมูลเรื่องยีน (Genetic) หรือข้อมูลด้านพันธุกรรม พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์
แนวทางให้เกิดสตาร์อัพสำหรับคนรุ่นใหม่ น่าจะเริ่มจากจุดไหน ผมมองว่าชีววิทยา หรือ Life-sci ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ อาจเป็นสังคมศาสตร์ด้วย ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพียว ๆ คือด้านสาธารณสุข การส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ทั้งที่เป็นโปรดักท์หรือผลิตภัณฑ์และการบริการ เช่นการพัฒนายา ไม่ใช่คิดจะทำก็ทำได้ เพราะถ้ามี่ทุนก็ทำไม่ได้ แต่ อย.สนับสนุนเต็มที่ ในขณะเดียวกันเขาก็มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน ธุรกิจพวกนี้มีมูลค่าเยอะแต่ต้องทำให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด
ที่น่าสนใจคือธุรกิจด้าน Health Care ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคหรืออุตสาหกรรมบริการ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่เป็น Life-sci มี 4 องค์ประกอบที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ เรื่องของข้อมูล เราต้องรู้ข้อมูลและต้องแปลให้ออก อีกอย่างคือตามเทรนด์ของโลก คือเรื่อง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เช่นยุคนี้ไม่ต้องมานั่งเจอหมอแล้วแต่ติดต่อกันได้ด้วยเทคโนโลยี อีกอย่างคือเรื่องขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น การกินอาหารตามยีน หรือกินตามกรุ๊ปเลือด อีกอย่างคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะ แต่เดิมที่เชื่อกันว่าเป็นโรคที่ไหนก็รักษา ปัจจุบันเชื่อใหม่ว่าเป็นก็ตัดทิ้งเลย แล้วสร้างใหม่ หรือปลูกใหม่ได้โดยใช้สเตมเซลล์ ยกตัวอย่าง โรคต่อมลูกหมาก มักเป็นในชายสูงวัย พอเป็นแล้วมันลาม ตอนนี้เริ่มมีการนำสเตมเซลล์มารักษา นี่คือเปลี่ยนวิธีคิดเลย อีกเรื่องที่สำคัญคือการเชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับบุคคล ปัจเจกบุคคล ข้อมูลทางสังคม ดูตัวอย่างจากสถานกาณ์โควิด ที่เราต้องมีข้อมูลและต้องมีคุณภาพของข้อมูล ที่จะบอกถึงการแพร่เชื้อ ปัจจุบันเรื่องคุณภาพของข้อมูลก็กลายเป็นปัญหาได้
ในมุมมองผู้ประกอบการอยากให้มองถึง 4 อุตสาหกรรมหลัก เป็นอุตสาหกรรมแห่งชีวิต ได้แก่ อุตสาหกรรมเซลล์ต้นกำเนิด, อุตสาหกรมการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและแม่นยำ, อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ส่วนบุคคล, อุตสาหกรรมอวัยวะประดิษฐ์ จนถึงการบริการการติดตามสุขภาพ ในแง่ผู้ประกอบการถ้าสามารถทำให้ต้นทุนถูกได้ ประชาชนก็จะได้ประโยชน์”
ยังมีมุมมองในแง่เทคนิคนัล กับแง่บิสสิเนส ที่มักจะจูนเข้ากันยาก เช่น คนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี จะให้เขาไปทำบัญชี ก็ไม่ได้ ดังนั้นการจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ หรืออย่างอาจารย์นักวิจัยจะทำแต่งานวิจัย เขามาบอกว่าให้หาซีอีโอให้หน่อย ซึ่งทีเซลส์ เราสร้างแพลทฟอร์มว่า ใครจะพัฒนาธุรกิจมาบอกกับเราเพื่อหาแมทชิ่งให้เหมาะสม หรืออยากให้เราเสริมในบางเรื่อง จะให้นักวิจัยไปทำบัญชีเขาก็ไม่ถนัด เรากับ มศว.จะช่วยกันแมทชิ่งให้ผู้ประกอบการแต่ละรายว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ทีเซลส์พยายามประสานหาความแมทชิ่งให้เจอ ซึ่งเป็น Taylor Made มาก และเรามีความหลากหลายมากเพื่อเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละทีม”
พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสริมว่า
“กลุ่มการแพทย์ หรือ Health Care ในประเทศไทย โรงพยาบาลเราเป็นรองแค่สหรัฐ กับจีน เราอันดับสามคือ รพ.BNH และเครือ รพ.บำรุงราษฎร์ เรามีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ สามารถวางให้เป็น Medical Hub นั่นคือเราสามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์ และด้านสาธารณสุข และขยายไปถึง Wellness จนถึงเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี มากกว่าเรื่องสุขภาพที่ดีอย่างเดียว ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อสร้างโอกาสและธุรกิจเพื่อตอบสนองโอกาสที่ประเทศกำลังเติบโต
ปัญหาหลักคือ การทำธุรกิจสิ่งสำคัญต้องหา Business Model คือวิธีการทำเงิน เราทำธุรกิจเราต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นหาเงินจากทางไหนบ้าง ต้องบอกได้ว่าสิ่งที่เราสร้างนั้นหาเงินได้อย่างไร ที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้าใจหลักการของ Business Model สำคัญมาก จะหาเงินจากสิ่งที่เราสร้างได้อย่างไร เพื่อโอกาสเติบโตในธุรกิจ เราอยากให้ผู้ประกอบการมีความเป็น Entrepreneurship เป็นหัวใจของธุรกิจเลย
ขอยกตัวอย่างซีรีส์เกาหลีเรื่อง อีแทวอน คลาส (Etawon Class) เป็นเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการทำธุรกิจเปิดร้านอาหารในย่านดัง ถ้าเปรียบเมืองไทยคงคล้าย ๆ ทองหล่อ แต่มีคู่แข่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์สูง เป็นการท้าทายว่าเมื่อคณะกรรมการถามว่า ลูกค้าที่เขามาร้านคุณเขาต้องการอะไร ในแง่ธุรกิจหลัก ๆ คือต้องรู้ว่าลูกค้าคือใคร ทำมาขายใคร ปัญหานี้ทำให้เราไม่สามารถก้ามข้ามได้ ถ้าเราไม่เข้าใจธุรกิจ ไม่เข้าใจลูกค้า เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้าใจในจุดนี้มากขึ้น
เรามีโปรแกรมช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจภาพรวมมากขึ้น สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ live-platforms.com มีโปรแกรมให้ศึกษา เช่น Learning Course และโปรแกรมต่าง ๆ เข้าไปเรียนได้เลย มีใบประกาศให้ด้วย ช่วยสร้างผู้ประกอบการ คีย์หลักคือต้องมีระบบตรวจสอบบัญชี โปร่งใส ใครจะมาลงทุนในธุรกิจของเราต้องมีบัญชีที่ดี ให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนได้ นอกจากระบบบัญชีแล้วก็ต้องมีระบบจัดการภาษี กฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง เราบอกว่าขายของได้แต่ระหว่างทางมีวิธีการจัดการภาษีและแคชโฟล์วอย่างไร ผู้ประกอบต้องตรวจสอบได้ เราเตรียมระบบให้กับผู้ประกอบการ เช่นเทคนิคต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ลงทุน คิดวิธีการ รูปแบบ รวมถึงการสร้างธุรกิจที่ลงทุนไม่มาก เป็นคอร์สต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ให้”
เภสัชกรหญิง วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการการกองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และกองส่งเสริมการประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในเวทีเสวนาว่า
“อยากบอกว่าก่อนที่จะมาแบบเอกสารครบ ก่อนจะวิจัย เขาต้องทำอะไรบ้าง และมาตรฐานที่เราคาดหวังคืออะไร ถ้าเป็นเรื่องใหม่มีวิธีการอย่างไร เราให้คำแนะนำปรึกษา และพูดจากันถึงแนวทางที่คาดหวังไว้คืออะไร ผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่ อย. มองและแนะนำว่า ระหว่างที่คุณจะทำเราจะช่วยดูก่อน ดูว่าจะผิดมั้ย เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มการคาดการณ์ได้มากขึ้นจะได้ไม่เสียเวลา
เช่นเมื่อโลกเปลี่ยนไปในแง่ผู้ประกอบต้องเข้าใจ เช่นยุคนี้มีความต้องการด้านอุตสาหกรรมการบริการการแพทย์ส่วนบุคคล อย.ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองไปด้วย ยังมีเทคโนโลยีที่จะทำให้การรักษาคนหลาย ๆ คน ที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน ได้รบการรักษาที่ถูกต้อง เราก็ต้องเปลี่ยนแนวทางความคิดใหม่ไปด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสังคม เรื่องเหล่านี้จึงเป็นโอกาสหากว่าเข้ามาคุยกับเราตั้งแต่แรก การวางแนวทาง กฎหมายต้องแก้หรือเปล่า ต้องดูควบคู่กันไป เพื่อลดความเสี่ยงของทั้งสองฝ่าย อยากให้เข้ามาพูดคุยตั้งแต่แรก ขอยกตัวอย่างเมื่อจะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอนนี้มีเรื่องของ “จุลชีพ” ซึ่งทำให้เกิดโปรไบโอติก เขาก็อยากจะผลิตในประเทศ แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าตัวนี้จะเป็นอาหารหรือเป็นยา จะเข้า พรบ.อาหารหรือสมุนไพร หรือยา อย.ก็ต้องมาดูสูตรว่ามีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นอยากให้คิดก่อนทำเอกสาร ก่อนทำวิจัย หรือวิจัยเสร็จเคยทำตามลำดับ 1-2-3-4-5 ตอนนี้อาจต้องมาย้อนใหม่เป็น 5-4-3-2-1 เป็นต้น
และตอนนี้มีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา เป็นเรื่องกฎหมายเช่น พรบ.สมุนไพร เวชสำอาง ถ้าบอกว่าเครื่องสำอางคือความสะอาด สวยงาม แต่ถ้าใช้คำว่าฟื้นฟู ช่วยการทำงานของร่างกาย หรือเป็นสมุนไพรต้องเข้าไปดู พรบ.สมุนไพร ถ้ามีส่วนผสมของสมุนไพร หรือถ้าจะทำส่งออกเราต้องมีข้อมูลมาตรฐานการส่งออกของแต่ละประเทศ มีอะไรบ้าง แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
อีกเรื่องคือถ้านำเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยรัฐต่าง ๆ จากนักวิจัย ตอนที่ไปซื้อต้องให้ชัดเจน เพราะยุคนี้มีคำว่า “ชีววัตถุ” เกิดขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นเรื่องข้อมูลสำคัญ ข้อมูลของทุกเรื่อง
ดังนั้น เมื่อนำเรื่องของ Life-sci เข้ามาเป็นโอกาสเราก็อยากให้ผู้ประกอบวางแผนงาน กำหนดให้ชัดเจน ให้คุยกันก่อน ทำให้ชัดเจนก่อนจะได้ไม่ลงทุนเสียเวลา อย.สามารถแนะนำและช่วยเหลือดูแลท่านได้ เพราะเป็นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งบางครั้งยังไม่มีกฎหมายรองรับ หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ทั้งนั้น อยากให้เข้ามาคุยกันก่อน เข้าไปดูในเว็บไซต์ของ อย. ได้”
คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://lifescilevelup2020.com, Line: LifeSciLevelup2020, FB: LifeSciLevelup2020, IG: LifeSciLevelup2020 โทร.02 259 5511 / 097 969 5924