เบเกอรี่ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่ผู้มีประสบการณ์ตรงด้านจิตเวช

เบเกอรี่ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่ผู้มีประสบการณ์ตรงด้านจิตเวช

เพราะการเจ็บป่วยทางจิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต หนึ่งในหลักการคืนสู่สุขภาวะให้ผู้มีปัญหาด้านจิตเวชได้ค้นพบคุณค่าในตนเอง มีความหวังและกลับมาเป็นผู้ที่สร้างสรรค์สิ่งที่มีความหมายให้กับสังคมได้ด้วยหลักการ Peer Support หรือ เพื่อนช่วยเพื่อน

โครงการ SET Social Impact After Gym : หลักสูตรการทำขนมเบเกอรี่ ส่งเสริมอาชีพอิสระและสร้างรายได้แก่สมาชิกผู้มีประสบการณ์ตรงด้านจิตเวช จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เชื่อมโยงใจถึงใจในรูปแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน”

159652340144

โดยการสนับสนุนของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ Amor Bangkok เพื่อให้สมาชิกของสมาคมเสริมสร้างชีวิต  (Living Social Enterprise) หนึ่งใน SE ของ Platform SET Social Impact กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ผ่านการทำงาน มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูและพึ่งพาตัวเองได้

ทุกคนทำได้

คุกกี้ บราวนี่ ใครๆก็ทำได้ พิมพ์รำไพ วรรณเจริญ เจ้าของกิจการ Amor Bangkok ในฐานะครูผู้ฝึกสอนในหลักสูตรนี้ กล่าวยืนยันจากประสบการณ์ว่า “ทุกคนทำเบเกอรี่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน ขอเพียงมีความใส่ใจ สิ่งนี้สำคัญที่สุด” เพราะธุรกิจ Amor Bangkok ก็เริ่มต้นจากการสอนให้กับพี่เลี้ยง คนในครอบครัว เพื่อนบ้านในหมู่บ้านช่วยกันทำในช่วงเริ่มต้นทำเบเกอรี่แบรนด์ Amor

“เราเป็นคนสอน เป็นคนทำสูตร พนักงานยุคแรกเหมือนอุตสาหกรรมในครอบครัว พอต่อมาเราจ้างพนักงานทุกคนไม่มีเบสิคในการทำเบเกอรี่เลย เราจึงตอบได้ว่าไม่ว่าใครก็ทำเบเกอรี่ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอาศัยความใส่ใจ ใจเย็น ขนมบางชนิดต้องทำตามขั้นตอนเป๊ะถึงจะอร่อย บางชนิดความเป๊ะลดลงมาได้บ้าง”

159652300879

พิมพ์รำไพ วรรณเจริญ เจ้าของกิจการ Amor Bangkok

วิถีแม่ค้า

คุกกี้ บราวนี่ คือ เบเกอรี่นำร่องที่นำมาสอน แต่ไม่ได้สอนในทำได้อย่างเดียว พิมพ์รำไพยังสอนวิถีแม่ค้าให้กับเจ้าหน้าที่ และสมาชิกของ Living รวม 4 วันเต็ม ได้ฝึกทำจริง สอนวิธีคิดคำนวณต้นทุน การเลือกแพ็คเกจจิ้ง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสูตรที่แต่ละคนคิดค้น เพื่อพัฒนาเป็นสูตรเฉพาะของ Living สู่การเปิดคอร์สสร้างอาชีพแก่ผู้มีประสบการณ์ตรงด้านจิตเวช

“วันแรกสอนให้ทำขนม พอทำได้จะรู้สึกสบายใจ มั่นใจว่าทำได้ วันต่อมาเริ่มสอนทฤษฎีและวิธีการปรับสูตรการคำนวณต้นทุน และการเลือกแพคเกจจิ้งว่าแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียยังไง

เราสอนให้เขาเป็นแม่ค้าด้วย ไม่ใช่แค่ว่ามาสอนทำคุกกี้ บราวนี่ได้ 2 อย่าง สอนให้เขาคิดสูตรขนมเองด้วยใครจะไปตลาดบน ตลาดล่าง วัตถุดิบ แพกเกจจิ้ง ต้นทุนมีความต่างกันหลายระดับ เหมือนรถยนต์ยังมีให้เลือกหลายยี่ห้อ

เราให้เขาลองปรับสูตรแล้วทำออกมาแล้วมาคุยกันว่า คนส่วนใหญ่ชอบแบบไหน เราชอบแบบไหน รสชาติของขนมวันแรกเป็นแบบนี้ แต่พรุ่งนี้รสชาติจะไม่เป็นแบบนี้ เหมือนแกงค่ะ ต้มเสร็จใหม่ๆจะมีรสชาติหนึ่ง พอทิ้งค้างคืนรสชาติจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

159652316782

สำหรับการเข้ามาเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ พิมพ์รำไพ กล่าวว่าทำให้เข้าใจผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น

“การทำขนมจะช่วยให้เขาได้หันไปจดจ่อกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ความคิดตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการชั่ง ตวง ขั้นตอน อันไหนทำก่อน หลัง ทำให้เขาหลุดจากความคิดที่ทำให้เขาเกิดอาการขึ้นมาได้”

เชื่อมใจถึงใจ

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงก้าวต่อไปของหลักสูตรนำร่องนี้ว่า นอกจากจะเป็นการสอนให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกของ Living สามารถนำไปต่อยอดและสอนให้กลับสมาชิกต่อไปแล้ว จะนำหลักสูตรนี้ไปยื่นที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรมาตรฐานต่อไป

“หลังจากนี้เราก็จะไปเป็นพี่เลี้ยง ช่วยดูว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ตอนนี้ทาง Living (สมาคมเสริมสร้างชีวิต) มีโครงการว่าอยากจะเปิดคาเฟ่บริเวณชั้นล่างของออฟฟิศ เขาต้องการให้คนที่รู้ว่าป่วยหรือเป็นญาติกับคนที่ป่วยมานั่งคุยกันก่อนเป็น Open House แนะนำกิจกรรมฟื้นฟูที่มีทั้ง Job club ,Edutainment ,Growth group มีทำอาหาร ร้องเพลง เย็บปักถักร้อย วาดรูป ลีลาศ โยคะ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ คือ อยากให้คนผู้ที่ประสบปัญหาทางจิตเวช และผู้ใกล้ชิด รู้ว่ามีสถานที่สำหรับเขา”

159652326087

การเชื่อมใจถึงใจ ในฐานะของเพื่อนช่วยเพื่อน ในระดับองค์กร นพเก้า กล่าวว่า

“Recovery Center เป็นหนึ่งในทางออกของความไม่สมดุลทางด้านจิตใจ เราไม่อยากให้เขาจบลงที่การฆ่าตัวตาย ปัญหา mental illness ในสังคมไทยนับวันจะมีมากขึ้น มีสถิติบอกว่าในอนาคตใน 5 คนที่เดินมาจะมี 1 คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ถามว่ามีทางออกไหม ?

เราอยากให้สังคมมีแนวทางในการที่จะคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เขาได้ฟื้นฟูความรู้ ความสามารถ กลับไปมีความมั่นคงในชีวิต บนเส้นทางของตัวเองได้เหมือนกับทุกคน ไม่ว่าจะมาที่ recovery Center หรือว่าเรียนรู้ร่วมกัน หรือ หาคนที่อยู่ใน Network ของกลุ่มที่พยายามจะช่วยแก้ไขอยากให้มี recovery Center เยอะๆควบคู่ไปกับโรงพยาบาล

ถ้าเราสามารถส่งเสริม Social Enterprise ที่ทำงานแบบนี้ ทำให้เป็นหนึ่งโซลูชั่นที่คนรู้จักก็จะเป็นการช่วยผู้คนได้อีก”

ในฐานะบุคคล หากเราอยากมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สนับสนุน Living สามารถมีส่วนร่วมได้โดย

- สนับสนุนการจ้างงานสมาชิกที่ผ่านการฟื้นฟูจาก Living

- สนับสนุนด้านทุนทรัพย์ สำหรับดำเนินการด้านฟื้นฟู และสำหรับสมาชิกที่ขาดแคลนเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูผ่านกองทุน I recover U by Living SE

- สนับสนุนสินค้าภายใต้แบรนด์ MOOM+ ที่สร้างสรรค์โดยสมาชิกและเครือข่ายผู้ป่วยโรคจิตเวช

ทุกชีวิตมีความหมายและมีคุณค่า เพื่อนช่วยเพื่อน เชื่อมใจไปด้วยกัน

159652334362

SET Social Impact After Gym เป็นโครงการที่มุ่งให้เกิดความเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันเพื่อขยายผลลัพธ์เชิงบวกแก่สังคมในมิติต่างๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเพื่อสังคม ต่อยอดมาจากโครงการ SET Social Impact Gym เพิ่มทักษะและความเข้มแข็งของผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจากทีมโค้ชผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จริงของการทำธุรกิจ

Living หรือ สมาคมเสริมสร้างชีวิต เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องการคืนสู่สุขภาวะได้มาพัฒนาตนเองด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อยืนหยัดอย่างมีคุณค่าในสังคม โดยใช้หลักการคืนสู่สุขภาวะและให้บริการโดยเพื่อนร่วมทาง (Peer Supporters) เป็นหลัก รู้จัก Living เพิ่มเติมได้ที่http://www.livingth.org FB: Living Recovery Center โทร.06 4258 9358