คุยกับ 'วสันต์ นุ้ยภิรมย์' อธิบดีกรมหม่อนไหม เมื่อ 'ไหม' ไม่ใช่แค่ 'เครื่องนุ่งห่ม' อีกต่อไป

คุยกับ 'วสันต์ นุ้ยภิรมย์'  อธิบดีกรมหม่อนไหม เมื่อ 'ไหม' ไม่ใช่แค่ 'เครื่องนุ่งห่ม' อีกต่อไป

เปิดมุมมองการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาไทย พัฒนา "หม่อน" และ "ไหม" ให้กลายเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์มากกว่าแค่เป็นเครื่องนุ่งห่ม และการปรับตัวของ "ผ้าไหม" ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็นดิจิทัล

"อุปสรรค คือคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาทำเรื่องหม่อนไหมสืบต่อจากคนรุ่นก่อน เพราะแรงจูงใจเรืองรายได้ต่ำ คนสมัยไม่อยากใส่ จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่สนใจ ผ้าไหมมากขึ้น"

วสันต์ นุ้นภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สะท้อนถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับแวดวงผ้าไหมไทย ที่ได้รับความนิยมน้อยลงเพราะไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่ามีโอกาสสูญหายไปจากสังคมไทย

นี่คือจุดประสงค์หลักของการจัดตั้ง "กรมหม่อนไหม" ขึ้นเมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำผ้าไหมไทย วิจัยและศึกษา เพื่อพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดให้งานหม่อนไหมก้าวหน้าขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาเทคโนโลยีให้เกษตรกรที่เลี้ยงไหมและทำอาชีพที่เกี่ยวข้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงการดูแลตลาดหม่อนไหมทั้งระบบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

159724484775

  •  "ผ้าไหมไทย" จุดเด่นจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่ต้องส่งเสริมแบบใหม่  

อธิบดีกรมหม่อนไหม เล่าให้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ฟังว่าคุณสมบัติเด่นของผ้าไหมจากประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมในต่างแดน คือ "เส้นใยเหนียว มันวาว แข็งแรง ทนทาน รีดง่าย" โดยเฉพาะผ้าที่ตัดเย็บจาก "เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านรังสีเหลือง" ซึ่งเป็นพันธุ์ไหมที่ประเทศไทยมีเยอะที่สุดในโลก และผ้าไหมของไทยเป็นที่ต้องการในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน สหรัฐฯ

เมื่อหันมองบทบาทของ "ผ้าไหม" ในสังคมไทยเอง หลายคนคงนึกถึงชุดผ้าไหมทรวดทรงสุภาพ ในทางพิธีการต่างๆ กรอบความคิด และภาพจำเดิมๆ ทำให้ผ้าไหม กลายเป็นของไกลตัวคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์ไตล์ที่ต่างออกไป

กรมหม่อนไหม จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ออกแบบลวดลายผ้าให้ร่วมสมัยมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการสวมใส่ ขณะเดียวกันก็สร้างค่านิยมใหม่ๆ เกี่ยวกับการสวมใส่ผ้าใหม่ให้คนคนไทยรุ่นใหม่ๆ ปลูกฝังผ่านงานออกแบบที่ทันสมัย โดยการเปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมเข้าประกวดผลงานการออกแบบชุดผ้าไหม เพื่อกระตุ้นการใช้ผ้าไหมให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ปัจจุบัน "ไหม" ไม่ได้เป็นได้แค่ "ผ้าไหม" อย่างที่หลายคนเข้าใจ ทว่า ไหมถูกพัฒนาไปทุกมิติ จนเกิดประโยชน์ที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าแค่การทำหน้าที่เครื่องนุ่งห่ม และในทางเดียวกัน วัตถุดิบอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการเลี้ยงไหมอย่าง "หม่อน" ก็สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาวได้เช่นกัน 

159724490641

  •  "ไหม" ที่ไม่ใช่ "ผ้าไหม" 

นอกจากไหมของไทย จะนิยมทำเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่แล้ว กรมหม่อนไหม ยังพยายามผลักดันให้นำผ้าไหมประยุกต์ใช้ในการทำเป็น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ระดับตามห้องของโรงแรม ที่ช่วยให้บรรยากาศภายในสวยงาม และมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

ไหมขัดฟัน คุณสมบัติเส้นไหมของไทย มีความเหนียวและนุ่ม สามารถใช้สำหรับขัดทำความสะอาดฟันได้อย่างดี โดยมีฟาร์มตัวอย่างที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง 

ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เส้นไหมมีโปรตีนอยู่ 2 ชนิดหลัก คือ ไฟโบรอินเส้นใยที่เป็นโปรตีนอยู่ข้างใน และปรตีนเซริซินเคลือบอยู่ด้านนอก ซึ่งโปรตีนที่อยู่ด้านนอกนี้สามารถสกัดมาเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แผ่นมาร์กบำรุงผิวหน้า หรือแม้แต่การนำรังไหมที่มาขัดบนผิวหน้าเพื่อให้โปรตีนซิลีซินแทรกซึมสู่ผิว เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยชะลอวัย ลบเลือนริ้วรอยบนใบหน้าได้

โปรตีนชั้นยอด องค์ประกอบรังไหม 1 รัง มีดักแด้อยู่ 80% ซึ่ง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยกดักแด้ให้เป็นโปรตีนชั้นยอด ที่อยู่ระกว่างการศึกษาวิจัย และพัฒนาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สริมอาหารต่อไปในอนาคตอันใกล้

ลิปสติก น้ำมันดักแด้ สามารถนำมาผลิตเป็นลิปสติกเพิ่มความชุ่มชื่นให้ริมฝีปากแบบไม่เป็นอันตราย 

สายเครื่องดนตรีไทย กรมหม่อนไหมร่วมมือกับ กรมศิลปากร ในการพัฒนาเส้นไหมเป็นส่วนผสมในการทำสายเครื่องดนตรีไทย เช่น ซออู้ ซอด้วง ซึ่งมีคุณสมบัติพิ เศษคือเสียงมีความไพเราะและกังวาลกว่าสายเครื่องดนตรที่เป็นใยสังเคราะห์ 

  •  "หม่อน" ไม่ได้ทำได้แค่เลี้ยงไหม 

ความพิเศษของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คือการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งนอกจาก "ไหม" จะสามารถทำได้สารพัดประโยชน์แล้ว "ลูกหม่อน" และ "ใบหม่อน" จากต้นหม่อน นอกจากหน้าที่หลักเป็นอาหารของตัวไหมแล้ว ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ 

เช่น ลูกหม่อน สามารถนำมาสกัดเป็น น้ำมัลเบอร์รี่ หรือน้ำลูกหม่อน ที่มีวิตามิน มีสารแอนตี้ออกซิแดน แอนโทรไซยานิน กันมะเร็ง และลดรอยเหี่ยวย่นของใบหน้า  และ ใบหม่อน สามารถนำมาทำชาใบหม่อน ซึ่งได้รับความนิยม ติดตลาดทั้งในและต่างประเทศ

159724484898

  •  ชีวิตของ "หม่อนไหม" ในยุคดิจิทัล 

"การปรับตัว" เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนคือทางรอด ของทุกธุรกิจหรือแม้แต่การเพิ่มศักยภาพไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานของภาครัฐ

"กรมหม่อนไหม" จึงพยายามผลักดันให้ผ้าไหมไทย โลดเล่นอยู่บนโลกออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการเปิดบูทกระจายไปยังห้างสรรพสินค้า หรือหน่วยงานต่างๆ 

ปัจจุบันสามารถซื้อหาผ้าไหมไทยได้ง่ายๆ เพียงชั่วนิ้วสัมผัส จาก "Thai Silk Online" เว็บไซต์ เฟซบุ๊คและอินสตาแกรม แหล่งรวมสินค้าหม่อนไหมทั่วประเทศ ที่มีผ้าสำหรับนำไปตัดเย็บต่อ รวมทั้งสินค้าพร้อมใช้หลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังเจาะตลาดช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่าง Lazada, Shopee ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้ทอผ้าไหมและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม ได้มีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น ตอบสนองพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นในช่วง "โควิด-19" อีกด้วย

159669934437

159669934221

ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนผ่านไปอย่างไร ภูมิปัญญาเกี่ยวกับหม่อนไหมของไทยจะยังคงอยู่ ตราบเท่าที่คนไทยให้ความสำคัญ เพียงแต่จะถูกพัฒนาด้วยนวัตกรรมต่างๆ หรือประยุกต์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงตลาดการค้าโลก ที่จะทำให้ "หม่อนไหม" ของไทยได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป