'กรมขนส่ง' ยืนยัน! ไม่ยึดคืน 'ใบขับขี่ตลอดชีพ' และไม่เรียกมาทดสอบสมรรถนะใหม่
กรมการขนส่งทางบก ยืนยัน! ไม่ยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพและไม่เรียกผู้มีใบอนุญาตขับรถตลอดชีพทั้งหมดมาทดสอบสมรรถนะใหม่หรือทดสอบขับรถใหม่ตามที่มีการแชร์ในโซเชียล แต่กำลังศึกษาวิธีคัดกรองผู้ขับขี่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
กรมการขนส่งทางบก ประกาศผ่าน เพจเฟซบุ๊ค กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News ยืนยัน! ไม่ยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพและไม่เรียกผู้มีใบอนุญาตขับรถตลอดชีพทั้งหมดมาทดสอบสมรรถนะใหม่หรือทดสอบขับรถใหม่ตามข้อมูลที่มีการแชร์กันในขณะนี้อย่างแน่นอน แต่จะศึกษาถึงแนวทางการคัดกรองผู้ที่ขาดสมรรถนะหรือมีสภาวะโรคที่แพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงหรือมีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่อย่างปลอดภัย
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกยืนยันว่าจะไม่ยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพและไม่เรียกผู้มีใบอนุญาตขับรถตลอดชีพทั้งหมดมาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่หรือทดสอบขับรถใหม่ตามข้อมูลที่มีการแชร์กันในขณะนี้อย่างแน่นอน
แต่จะมีการศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่คัดกรองผู้ที่ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพหรือมีสภาวะโรคที่แพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่อย่างปลอดภัย เช่น โรคทางสมอง โรคปัญหาการมองเห็นที่รักษาไม่หาย เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน
โดยการศึกษาดังกล่าวต้องหารือร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา และต้องพิจารณาข้อกฎหมายประกอบอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิผู้ถือใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ ดังนั้น ที่มีการแชร์ข้อมูลว่าจะมีการยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพที่ออกให้แล้วหรือการให้เข้ามาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่หรือทดสอบขับใหม่จึงไม่เป็นความจริง การดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถยังคงเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามปกติ
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกยังได้มีการนำสถิติการเกิดอุบัติเหตุและผลการศึกษาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ โดยแบ่งเป็น 7 มิติ ประกอบด้วย
1.การกำหนดสภาวะโรค
2.การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
3.การอบรมและทดสอบความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ (ภาคทฤษฎี) โดยจะมีการทบทวนและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรการอบรม ให้สอดคล้องกับการขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งจัดทำระบบอบรมภาคทฤษฎีออนไลน์แบบ e-Learning
4.การอบรมการขับรถและทดสอบความสามารถในการขับรถของผู้ขอรับใบอนุญาตภาคปฏิบัติ
5.การบริหารจัดการ
6.การปรับปรุงรูปแบบใบอนุญาตขับรถ โดยจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968
7.การควบคุมพฤติกรรมการขับรถด้วยมาตรการตัดแต้ม (การติดตามประเมินผล) เพื่อพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ ยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ