'วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์' โจทย์ใหม่'การศึกษา'ระบบแพ้คัดออก ไม่ใช่หนทางสร้างคนในอนาคต
"การศึกษาในอนาคต" ต้องคิดใหม่ เราไม่ได้เป็นแค่คนไทย แต่เป็นประชากรโลก แล้วเราจะเอาทรัพยากรในโลกมาทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร
ไม่รู้จะจำกัดความ ผู้ชายคนนี้ว่าอย่างไร เขามีมิติในการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยง ลงมือทำที่หลากหลาย ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ และทุกเรื่องโยงไปที่การศึกษา
เขาย้ำระหว่างการสนทนาว่า หากคนในโลกนี้ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องกลับมาที่รากฐานการศึกษา และไม่ได้จำกัดแค่การเรียนในระบบ หรือในห้องเรียน แต่ห้องเรียนสามารถสร้างการศึกษาดีๆ ได้ นั่นหมายถึงครู ผู้บริหาร ต้องเข้าใจการศึกษา จึงเป็นที่มาของห้องเรียนแห่งอนาคต และโยงไปถึงอาชีพแห่งอนาคต
เรากำลังพูดถึง ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ นักคิด นักเขียน และวิทยากรที่สนใจเรื่องการศึกษา เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวะ ปริญญาโทด้านบริหาร และปริญญาเอกด้านการศึกษา ปัจจุบันทำงานหลากหลาย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดด้านการศึกษากับเครือข่ายและเพื่อนๆ ในประเทศและต่างประเทศ
ผู้ชายอารมณ์ดีคนนี้ เคยก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษา http://www.eduzones.com ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศ ,คิดและพัฒนาโปรแกรม เพื่อช่วยให้เด็กรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และยังช่วยแบ่งเบาภาระให้ครูฝ่ายแนะแนวทั่วประเทศ, วิจัยและพัฒนารูปแบบการสอน แบบ Active learning model ช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ CBL Creativity-based learning และยังมีผลงานเขียน อาทิ อาชีพแห่งอนาคต, ห้องเรียนแห่งอนาคต ฯลฯ รวมถึงเป็นคณะกรรมการต่างๆ ทางการศึกษา
ตำแหน่งหรือหัวโขนใดๆ ที่เขาสวมบทบาทในสังคม ก็ไม่สำคัญเท่า เป้าหมายในชีวิตคือ การศึกษาต้องทำให้ชีวิตทุกคนดีขึ้น แม้จะไม่สำเร็จในวันนี้ หรือวันหน้า เขาก็มีความสุข เพราะได้ลงมือทำแล้ว
ถ้าอยากรู้ว่า เส้นความคิดของผู้ชายคนนี้เป็นอย่างไร ค่อยๆ สะกดรอยตามตัวหนังสือมา และขอบอกก่อนว่า บทสัมภาษณ์ยาวมากๆ....
ก่อนมาทำเรื่องการศึกษา อาจารย์พัฒนาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ผมอ่านหนังสือเยอะ พอโตขึ้น ก็ไม่ต้องอ่านหนังสือที่สนุกๆ แล้ว มาอ่านหนังสือวิชาการ ค้นหาความจริงในเรื่องที่อยากรู้
อยากรู้ว่า พระเจ้ามีจริงไหม...ก็ค้นสิ เอาไบเบิล อัลกุรอานมาอ่าน อยากรู้พุทธะ ทำให้หายทุกข์จริงหรือเปล่า... ข้อ1. ต้องอ่าน ข้อ 2. ฟังคนที่มีประสบการณ์เยอะๆ ชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว และข้อ 3 แบ่งปัน เพราะบางครั้งเราไปดีใจกับคนที่คิดเหมือนเรา คิดว่าเราฉลาด เขาฉลาด ซึ่งอาจไม่ใช่ หรือคนที่คิดต่าง เราก็ไปคิดว่า ทำไมเขาโง่ เขาอาจไม่ได้โง่ เราอาจโง่ก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะทำให้เราได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ผมก็พัฒนาตัวเองมาแบบนี้ครับ และต้องเข้าใจก่อนว่า การให้การศึกษา คือ การทำให้มนุษย์มีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจงดงาม มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ฯลฯ เหล่านี้คือการศึกษาทั้งหมด ไม่ใช่การจำเนื้อหามาตอบให้ตรงคำเฉลย นั่นเป็นแค่กระพี้
ประเทศเราวัดผลคุณภาพการศึกษาจากข้อสอบ O-NET และ PISA วิธีวัดการศึกษาแบบนี้ ทำให้เด็กไร้ความหวัง อาจมากขึ้นหรือน้อยลง ก็ต้องลองคิดดู ก่อนอื่นต้องคิดก่อนว่า มีเด็กที่ไหนในโลกนี้ จะบอกว่า โตขึ้นจะแว้น โตขึ้นจะชั่ว
ยกตัวอย่างการอ่านและวิเคราะห์สักนิด ?
พุทธศาสนาที่เราอ่านทั้งหมด แก่นของพุทธง่ายนิดเดียว ก็คือ สติ ถ้าอยากพ้นทุกข์ ไม่ต้องไปวิงวอน ไม่ใช่ทำบุญแบบที่คิดกัน ไม่ใช่ทำบุญแล้วได้บุญไปสวรรค์ อันนี้เป็นกิเลสด้วยซ้ำ ทางพุทธง่ายๆ เลยมีสติ ทำอะไรก็รู้ คุยก็รู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็มีสมาธิและสติ รู้ว่าเขาด่าเราเดี๋ยวก็หาย จะให้คนนั้นคนนี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ต้องรู้อนิจจัง เราคุมอะไรไม่ได้หรอก คุมได้แค่จิตใจของเรา ถ้าคนที่ไม่เคยฝึกคุมจิต จิตก็จะวิ่งไปตามสิ่งที่มากระทบ สมาธิต้องทำตลอดเวลาทุกขณะจิต จะได้มีสติ แค่นี้ก็ไม่ทุกข์ครับ
ดูเหมือนง่าย ?
ก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด พระพุทธเจ้านี่เก่ง ปัญหาคือต้องปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติได้ ก็เยอะ
การต่อสู้กันทางความคิดก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทย อาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไร
เวลาเราฟังใครพูด ต้องดูว่า ข้อ1. เขาพูดแบบเกลียดชังหรือทำลายหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ความคิด และมีระดับของมัน เพราะความคิดเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว จะไปบอกว่า เขาคิดผิดไม่ได้ แค่คิดไม่ตรงกับเรา ข้อ 2. ถ้าอยากรู้ว่า เชื่อถือได้แค่ไหน ต้องดูว่า ความคิดนั้นมาจากหลักการอะไร ทุกคนต่างมีเหตุผล แต่เหตุผลนั้นเป็นเหตุผลทางวิชาการหรือเปล่า บางคนก็บอกว่า ถ้าเป็นวิชาการจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ผมคิดว่าไม่ใช่
ถ้าผมบอกว่า คนใต้ดุ นั่นคือความเชื่อ แต่ถ้าผมอยากรู้ว่า คนใต้ดุจริงหรือเปล่า ผมต้องทำการสำรวจ หรือมีคนบอกว่าคนไทยใจดี แต่พออ่านหนังสือพิมพ์มีแต่ฆ่าข่มขืน เราก็บอกว่าคนไทยใจร้าย
คำพูดเหล่านี้ ถ้ามันไม่มีหลักการทางสถิติข้อมูลที่เชื่อถือได้ มันก็เป็นแค่ความเห็นของคนที่สรุปออกมา ทุกวันนี้เราเจอเรื่องแบบนี้เยอะมาก หรือการใช้เหตุผลที่ไร้สาระ อย่างเช่น เขาทำเลวได้ ฉันก็ทำเลวได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องกลับมาที่เรื่องการศึกษา
ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจมาทำเรื่องการศึกษาตั้งแต่แรก แล้วทำไมทุกเรื่องโยงกับเรื่องนี้?
แรกๆ ผมก็เหมือนคนทั่วไป คิดว่าเกิดมามีเงิน ก็ใช้ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทำประโยชน์บ้าง กระทั่ง 20 ปีที่แล้วมาทำเว็บ eduzones.com ก็เห็นอะไรเยอะในเรื่องการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ทำในหลายๆ อย่าง ผมเห็นแบบนั้นก็เลยเริ่มทำ
อย่างเช่น ครูแนะแนวไม่มีเครื่องมือ แล้วเขาจะแนะแนวได้อย่างไร ผมก็ทำเครื่องมือการค้นหาตัวเองตามหลักวิชาการ ก็เลยต้องค้นคว้า ปรึกษากับนักการศึกษาในหลายๆ ประเทศ กลายเป็นแอพฯที่มีคนใช้สิบล้านครั้งแล้ว
จากนั้นก็ได้โจทย์ใหม่ จะเปลี่ยนวิธีการสอนของครูอย่างไร ทั้งๆ ที่การศึกษาในโลกนี้ ทุกๆ 20 ปีในช่วง 100 ปี ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนครั้งหนึ่ง ปี 2542 ประเทศเราคิดจะเปลี่ยนวิธีการสอน แต่เปลี่ยนไม่ได้ ผมก็เลยมาศึกษาวิจัยเรื่อง Learning model รูปแบบการสอนสำหรับคนไทย
พอเริ่มมีคนสนับสนุนและเห็นด้วย ก็มีคนเชิญไปร่วมวางแผน ออกความเห็นก็เห็นว่า มีคนเก่งๆ ในเมืองไทยเยอะ แต่แนวทางไปสู่การปฏิบัติเราแย่ จึงเป็นที่มาการทำเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจ
ถ้าอย่างนั้นระบบการศึกษาแบบไหนจะทำให้ชีวิตดีขึ้น
ต้องมอง 3 เรื่องคือข้อ 1. ต้องมองเห็นอนาคต เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคนสู่อนาคต ข้อ 2. ต้องมี mindset จิตต้องคิดบวก อยากทำให้เด็กและเยาวชน คนในสังคม มีชีวิตที่ดีขึ้น และข้อ 3. ถ้าจะทำการศึกษาให้สำเร็จ ต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับคนที่ทำเรื่องนี้มาก่อน โดยไม่คิดว่า เขาแย่หรือเกลียดชังกัน
ทุกๆ 20 ปีในช่วง 100 ปี ระบบการศึกษาในหลายประเทศ ต้องเปลี่ยนแนวทางการสอน อยากให้ยกตัวอย่างสักนิด ?
เมื่อก่อนเกาะฮ่องกงมีเรื่องทุจริตมากมาย แต่ตอนนี้น้อยลง เพราะการศึกษามาเลเซียในรอบ 20 ปีเปลี่ยนระบบการศึกษาจากสอนแบบบอกเล่าเป็นการทำกิจกรรม ทำให้เด็กๆอยากไปโรงเรียนเพราะมีความสุข หรือในออสเตรเลีย เด็กๆ อยากไปโรงเรียน เพราะสนุก มีความหวังถ้าเขาไม่มีความสุข ไม่มีความหวัง แล้วจะเรียนรู้ได้ยังไง ยังไม่พอ ต้องดูอีกว่า ครูที่สอนหนังสือมีความสุขแค่ไหน เรื่องเหล่านี้เราไม่เคยใส่ใจเราวัดกันแค่ปริมาณ ไม่ได้วัดสิ่งที่ควรวัด
นักการศึกษาหลายรุ่นพยายามเปลี่ยนแปลงไม่ใช่หรือ
ผู้บริหารโรงเรียนเยอะมากที่อยากเปลี่ยน แต่ติดที่กฎระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่กระทรวงก็พยายามเปลี่ยนก่อนที่ผมจะเข้าไปช่วยทำงานในกระทรวง ผมไม่รู้เลยว่าคนในกระทรวงทำงานหนักขนาดนี้ แต่ไม่มีอะไรออกมาเลย ผมงงมาก ผมเริ่มเข้าใจกระบวนการ มันติดขัดตรงไหน
ปัญหาอยู่ตรงไหนคะ
การสื่อสารที่ไปไม่ถึง และวัฒนธรรมเรา ก็คืออุปสรรค มักคิดว่า ใครมีอำนาจก็เป็นคนสั่งการ แล้วมีคนทำตาม วัฒนธรรมเราไม่ส่งเสริมให้คนที่อยู่หน้าสุดได้ลงมือทำ เขาไม่กล้าเสนอเรื่องจริง เพราะเขากลัว จึงขาดความยืดหยุ่น ถ้ามองในแง่นโยบายคือ การกระจายอำนาจ แต่ถ้าคนรับอำนาจยังนิสัยแบบเดิม คือ อำนาจนิยม ก็หายนะเหมือนเดิม
อีกอย่างต้องแก้เรื่องวัฒนธรรมก่อน ผู้ใหญ่ต้องอ่อนน้อมให้เกียรติผู้น้อย ไม่ใช่รอให้ผู้น้อยให้เกียรติ เราทุกคนมีเกียรติเช่นกัน ครูต้องให้เกียรติเด็ก เราไม่เคยมีความคิดแบบนี้ เวลาทำงานร่วมกัน เราต้องช่วยให้เขาทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ไปสั่ง แล้ววัดความสำเร็จของเขา ควรเปลี่ยนจากวิธีการคิดสั่งแล้วประเมินผลเป็นการหาข้อมูลแล้วอำนวยการให้เป็นไปตามเป้าหมาย
คนเหล่านั้นต้องปรับตัวอย่างไร
ผมหันมาทำเรื่องการศึกษากว่า 20 ปี มีคนถามผมว่า ไม่ท้อบ้างหรือ...ผมไม่ท้อผมมีความสุขที่ได้ทำ ง่ายๆ เลย เมื่อ 8 ปีที่แล้วผมพูดเรื่องการตัดผมก็มีคนด่าอยากให้เด็กไว้ผมยาวหรือ ผมไม่ท้อที่มีคนด่าผม เพราะเมื่อใดที่เรานำเสนออะไรที่ไม่เหมือนเดิม มันเป็นการทำลายความเชื่อของเขาถ้าเขาเกลียดเราเป็นเรื่องปกติ แต่จิตเราต้องเมตตา
ตอนนี้คนในสังคมยังคิดว่าการตีเด็กจะทำให้เด็กได้ดี เราก็เอากรณีศึกษาในประเทศต่างๆ มาให้พวกเขาดู โลกมันเปลี่ยน บางคนก็บอกว่า “เด็กฝรั่งมีวินัย เด็กไทยไม่มี”
ผมก็ถามกลับว่า “ใช้วิธีตีมาตั้งแต่เด็ก คนไทยมีวินัยไหมไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นฝรั่งแล้วมีวินัยเลย” ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน สภาพแวดล้อมทำให้เขาเป็นเช่นนั้น แล้วเราควรสร้างสภาพแวดล้อมนั้นหรือเปล่า
อยากให้ยกตัวอย่างรูปแบบการศึกษาที่สร้างสรรค์สักนิด
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ ผมไปที่อุบลราชธานี โรงเรียนอินเตอร์มอนเตสซอรี่อยู่ในชนบท เด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข เด็กปฐมวัย 3 ขวบได้เล่น ได้สนุก หัวเราะ วัยนี้ยังไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือหรือได้เห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนได้เปลี่ยนวิธีการสอนแบบสร้างสรรค์
แม้จะมีหลายโรงเรียนสอนแบบสร้างสรรค์ แต่เป็นเรื่องตัวบุคคลจึงเป็นที่มาของโครงการ Good Classroom ที่ผมได้เผยแพร่ออกไป ให้กำลังใจครูและผู้บริหารที่กำลังเปลี่ยนแปลงบางโครงการของ Good Classroom คนเข้าร่วมหลักแสน
ผมเคยทดลองในโรงเรียนชนบทที่มีเด็กเกเรยากจน พ่อแม่ไม่สนใจลูก เพราะคิดว่า เด็กไม่รักเรียน เราทดลองให้ครูเข้าไปสอนภาษาอังกฤษสองระดับ มัธยมปีที่ 1 และปีที่ 3 เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดโอกาส ครูที่ไปสอน ไม่ได้มีเงินเดือน
สิ่งที่ครูคนไทยทำ ก็คือ เล่นกับเด็กอย่างเดียว แต่พูดภาษาอังกฤษทั้งหมด เด็กฟังไม่รู้เรื่องครูก็หัวเราะเด็กก็ชินกับภาษาอังกฤษ แล้วอุปกรณ์สื่อต่างๆ มีเยอะ ผลสรุปปีเดียว เด็กใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ฟังรู้เรื่อง
แล้วห้องเรียนแห่งอนาคตมีแนวทางอย่างไร
ห้องเรียนแห่งอนาคตเหมือนศูนย์วิจัย ข้อ 1 วิจัยเพื่อช่วยให้ครู Active Learning ได้ ถ้าเราทำแอพฯ และอนุญาตให้เด็กนำสมาร์ทโฟนไปใช้ในห้องเรียนได้ เด็กสามารถให้คะแนนเพื่อนได้ นี่คือแอพฯในอนาคตของห้องเรียนในอนาคตข้อ 2ห้องเรียนไม่มีหน้ากระดาน ไม่มีเวทีสำหรับครูก็ได้ แต่มีพื้นที่ให้เกิดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ข้อ 3 Learning Modelครูต้องเปลี่ยนจากการสอนหนังสือเป็นการทำกิจกรรม หรือสร้างเรื่องราว สร้างปัญหาให้เด็กค้นคว้า
ภาระกิจของห้องเรียนแห่งอนาคต คือ สร้างโมเดล ผมเชื่อแบบนั้น แต่ไม่ได้บอกให้ใครเชื่อ เราก็อบรมครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ทำไป 100 กว่ารุ่น กระทรวงศึกษาธิการก็สนใจเอาเรื่องนี้ไปขยายผล 4 ปีแล้ว ตอนนี้สามารถฝึกอบรมให้อาจารย์ต่างประเทศ ครูอินเตอร์ที่อยู่ในเมืองไทยมาเรียนเพื่อที่จะสอนและวัดผลด้วยวิธีใหม่เพราะกระบวนการสอนและวัดผลทั้งโลกเป็นแบบเดิม ใช้ไม่ได้แล้วในอเมริกาก็มีการสอนแบบโบราณเยอะ
ถ้าอย่างนั้นอาชีพในอนาคตต้องเป็นอย่างไร
ข้อมูลวิจัยที่ผมศึกษาอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาอาชีพในอนาคตเหมือนสายน้ำที่ไม่ได้แบ่งแยกยกตัวอย่าง อาชีพบรรณาธิการ ไม่สามารถทำแบบเดิม ไม่อย่างนั้นหมดอาชีพ หรือมีรายได้น้อยลงจึงเกิดบรรณาธิการ 0.5 หรือ 0.7 ฯลฯ หรืออาชีพแพทย์ ตำรวจ ก็ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว
วันนี้เราเห็นเด็กอายุ 8-9 ขวบมีรายได้ 400-500 ล้านบาทแฟนเพจผม โจ้อายุ 22 ปี มีความใฝ่ฝันและแรงบันดาลใจในเรื่องการทำดนตรี เขาเอาเวลาไปทุ่มเทกับดนตรี ทำแล้วไม่ได้ขายเฉพาะในประเทศไทย ต้องขายกับคนทั้งโลกโจ้ก็เลยทำจังหวะดนตรีขายในออนไลน์ เขากลายเป็นเอเจนซี่ให้คนทั้งโลกที่ทำดนตรีปีนี้ทำเงินกว่าร้อยล้านบาท
ต้องเตรียมตัวอาชีพแห่งอนาคตอย่างไร
ถ้าจะเข้าสู่อาชีพแห่งอนาคตต้องประกอบด้วย
1.ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น ในอนาคตไม่ใช่รู้แค่ศาสตร์เดียวเป็นแพทย์ก็ต้องทำงานร่วมกับนิเทศศาสตร์ได้ด้วย
2. เรื่องความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ ปัญหาใหญ่ในประเทศเรา คือไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ผมทำในเรื่องความคิดสร้างสรรค์
3. ต้องมีการบริหารร่างกายและจิตใจไม่ว่าเรื่องความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ฯลฯ สังคมเรายังไม่พัฒนาเรื่องเหล่านี้
และ4. ความรู้ไม่ใช่เนื้อหาตายแล้ว ที่ผ่านมาจำๆ กันมาเล่ากันเนื้อหาแบบนี้หาอินเทอร์เน็ตก็เจอแล้ว ความรู้ในความหมายของผมคือ การทำเรื่องความรู้มาเป็นปัญญาให้ได้ ถ้ามีความรู้แล้วไม่สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้น เนื้อหาความรู้เหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์
เด็กทั้งโลกเปรียบเสมือนผ้าขาว เพียงแต่เราจะเอาอะไรใส่ในสมองเด็ก ?
ผมเห็นต่าง ผมไม่เห็นว่าใส่ไปในสมองจะเป็นเรื่องดี ผมมีโอกาสร่างหลักสูตรการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญการศึกษามักคิดว่า สิ่งที่ตัวเองคิดสำคัญ เพื่อเอาไปใส่ในสมองเด็ก ตอนนี้กลายเป็นเนื้อหาเต็มสมองเด็ก ใช่สิ่งที่เด็กต้องการไหม...มันไม่ใช่ ผมมองว่า การศึกษาไม่ใช่การยัดอะไรใส่ในสมองเด็ก มันคือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กอยากหาอะไรใส่สมองตัวเอง ตั้งแต่ทำมาหลายสิบปี ช่วงนี้ถือว่าดี เพราะผมเห็นโอกาส
ทำงานในแวดวงการศึกษามานาน อาจารย์เลี้ยงลูกอย่างไร
ผมมีลูกคนเดียว ลูกสาว ผมไม่เคยให้ลูกกวดวิชา ไม่เคยบอกลูกว่าให้ตั้งใจเรียน ไม่เคยเอาเกรดลูกมาดู แล้วเทียบกับคนอื่น สิ่งที่ผมแคร์ที่สุดในวัยเด็กของเขาคือ เขาต้องรับผิดชอบ การเรียนหนังสือไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา ความรับผิดชอบของเขาคือ ถ้าเขาสัญญาต้องรักษาคำพูด ผมฝึกให้เขาตัดสินใจและรับผิดชอบ รับผลของมันด้วย
ผมไม่เคยปลุกลูกไปโรงเรียน ถ้าเขาไปสาย เขาต้องรับผิดชอบเอง ผมไม่แก้การบ้านที่ผิดๆ ให้ลูก เพราะถ้าเขาทำผิด ครูจะได้รู้ว่าเขาทำผิด ลูกก็ได้เรียนรู้ แม้ลูกจะโดดเรียน ผมก็ไม่เคยว่า นั่นคือการตัดสินใจของเขา และเขาต้องรับผลนั้น ถ้าเกรดการเรียนต่ำก็เป็นผลที่เขาทำ ลูกไม่ต้องมาเรียนเพื่อพ่อ นี่คือวิธีการเลี้ยงลูกของผม
แต่ผมสอนให้เขามีความเป็นมนุษย์ ต้องไหว้พี่เลี้ยง ให้เคารพคน แม้จะเห็นต่าง เมื่อเขาได้ตัดสินใจเยอะ เรียนรู้เยอะ ก็เติบโต ประสบการณ์จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ปิดเทอมผมพาลูกเที่ยวประเทศนั้นประเทศนี้ ไปชนบทได้เห็นเด็กในโรงเรียนยากจน พอโตขึ้นหน่อยให้ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ให้เขารุู้ว่า การทำประโยชน์ให้สังคม ทำให้เขามีความสุขได้เหมือนกัน พออายุ 15-16 ก็ทำงานได้แล้ว เขาทำในเรื่องครีเอทีฟอาร์ต คลิปวิดีโอ ทำแอพฯทำการ์ตูน ทำมาหากินตั้งแต่เรียนมัธยม
ตอนนี้อายุ 22 ยังเรียนอยู่ และทำงานไปด้วย แต่ตระเวนไปหลายๆ ประเทศ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้คิดแบบเราว่าจะทำงานอะไร ทำงานบริษัทไหน เขาเรียกตัวเขาเองว่า ดิจิตอล โนแมด(บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์) อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ บางปีอยู่ที่อังกฤษ บางปีอยู่เนเธอร์แลนด์ อีก 6-7 เดือนจะไปอยู่ที่โครเอเชีย
"""""""""""""""""
คุณอาจสนใจเรื่องนี้