10 กันยายน 'วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก' กับ 10 เรื่องที่ควรรู้!
ชวนรู้ที่มา "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" วันที่ 10 กันยายน ของทุกๆ ปี พร้อมเช็คตัวเองกับแบบประเมินว่าคุณมีภาวะเสี่ยงต่อการ "ฆ่าตัวตาย" หรือไม่?
รู้หรือไม่? องค์การอนามัยโลกคาดว่าในแต่ละปีจะมีคน "ฆ่าตัวตาย" สำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที และการฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคน ตลอดจนมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าอย่างมหาศาล
เนื่องใน "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" 10 กันยายน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมารู้จักที่มาและความสำคัญของวันดังกล่าว เพื่อตระหนักถึงปัญหาการ "ฆ่าตัวตาย" ในสังคมทั่วโลก นำไปสู่การสอดส่องดูแลคนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อนฝูง และช่วยป้องกันการ "ฆ่าตัวตาย" ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. WHO เป็นผู้กำหนด "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก"
"วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" ตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหน่วยงานที่กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) และได้กำหนดให้มีการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักให้ทั่วโลกให้ความสนใจกับการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘ฟังด้วยใจ’ ประตูทางออกที่อาจช่วยให้ 1 ชีวิตรอดจาก 'ฆ่าตัวตาย'
- เผย 4 เดือนแรกปี 63 แนวโน้มฆ่าตัวตาย จากปัจจัยเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
- เตือนโรคซึมเศร้าจะครองโลกปี 2030
2. ผู้คน 800,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีประชากรกว่า 800,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี ซึ่งปัญหาฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่นำผู้คนไปสู่การเสียชีวิตก่อนวันอันควร และในแต่ละครั้งที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) จะมีความพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) มากกว่า 20 ครั้ง แต่ทั้งนี้ ปัญหาฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ ถ้ามีความตระหนักและเหยื่อผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที
3. Working Together to Prevent Suicide
สมาคมเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International association for suicide prevention) เป็นองค์กรสาธารณะกุศล ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มวิชาชีพหลากหลาย ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ครอบครัวและเหยื่อผู้พยายามฆ่าตัวตาย รวมไปถึงสื่อสารมวลชน เป็นต้น ได้ร่วมกำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่สามที่ใช้ธีม (Theme) ในการรณรงค์ว่า “Working Together to Prevent Suicide”
4. ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า
องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)
5. ผู้ทำร้ายตนเองมีโอกาสทำซ้ำถึง 100 เท่า!
องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ผู้ทำร้ายตนเองมีจำนวนมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่าผู้ทำร้ายตนเองจะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเอง จะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
6. ปัญหา "ฆ่าตัวตาย" เกิดจากหลายสาเหตุ
ปัญหาฆ่าตัวตายจัดเป็นความรุนแรงทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งมีหลายสาเหตุมาเกี่ยวข้อง อาทิเช่น ปัญหาทางด้านชีวภาพ จิตวิทยา สังคม และเศรษฐกิจ (Psycho-sociological and economic factors) ที่สามารถป้องกันได้
โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือการเจ็บป่วยทางจิตเวช การศึกษาทางการแพทย์พบว่า ผู้ฆ่าตัวตาย สําเร็จประมาณ 9 ใน 10 มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่งขณะทําการฆ่าตัวตาย
7. ปัญหาการ "ฆ่าตัวตาย" ในไทย
การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยเปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2561 เอาไว้ว่า จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน แบ่งเป็นชาย 3,327 คน คิดเป็น 80% และเป็นหญิง 810 คน คิดเป็น 20%
8. วัยแรงงานไทย "ฆ่าตัวตาย" มากที่สุด
พบว่าคนไทยวัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด 74.7% รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 22.1%และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี 3.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย
โดยปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิดพบ 48.7% ความรัก หึงหวง 22.9% และต้องการคนใส่ใจ ดูแล 8.36% ปัญหาการดื่มสุรา 19.6% มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง 6% และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต 7.45% โรคซึมเศร้า 6.54% และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ 12%
9. "ดอกสะมาเรีย" สัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทย
ดอก ‘สะมาเรีย’ สีขาว หรือที่บ้านเราเรียกว่า ‘บัวดิน’ นั้นเป็นสัญลักษณ์วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี ดอกสะมาเรียสื่อความหมายถึงมิตรภาพและความหวังใหม่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนมนุษย์
10. หน่วยงานช่วยเหลือและป้องกันการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนี้คนไทยสามารถตรวจเช็คตัวเองได้ว่าเข้าข่ายเสี่ยงต่อการ "ฆ่าตัวตาย" หรือไม่? สามารถเข้าไปทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า แบบประเมินโรคซึมเศร้า และ แบบประเมินการฆ่าตัวตาย ได้ที่นี่ >> www.thaidepression.com นอกจากนี้ยังสามารถขอความช่วยเหลือได้จากหน่วยงานเหล่านี้
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธรณสุข
- สายด่วนสุขภาพจิต1323
- ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ
- โครงการป้องกันผู้มีภาวะซึมเศร้า
- โครงการช่วยเหลือผู้ที่ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
- สมาคมสะมาริตันส์ ป้องกันการฆ่าตัวตาย
---------------------------
อ้างอิง :
https://www.iasp.info/wspd2020/