อนาคตเด็กดอย ‘อ่างขางโมเดล'
"อ่างขางโมเดล" ต้นแบบนวัตกรรมการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เพิ่มสมรรถนะเสริมศักยภาพ "เด็กชายขอบ" ให้พร้อมเป็นทรัพยากรมนุษย์แห่งศตวรรษที่ 21
.........
ภาพของทีมงานที่กำลังเอาจริงเอาจังกับหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ตากล้อง นักแสดง หรือในบทบาทอื่นๆ ที่ปรากฎในวิดีโอเบื้องหลังกองถ่ายหนังสั้นเรื่อง ‘ไอ้เตี้ย’ ...ถ้าไม่บอกคงไม่รู้ว่า เด็กๆ เหล่านี้เป็นแค่นักเรียนชั้นประถม!
แต่มากไปกว่านั้นคือ ภาพยนตร์สั้นฝีมือนักเรียนโรงเรียนบ้านหลวง บนดอยอ่างขางนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากกิจกรรมการประกวดภาพยนตร์สั้น ป.1-ป.6 ภายใต้หัวข้อ “คนดี รู้จักพอ ไม่คอรัปชั่น”
ที่สำคัญ...นี่ไม่ใช่เรื่องแรก เด็กๆ เหล่านี้ได้สร้างผลงานระดับรางวัลมาแล้วหลายครั้ง เป็นตัวอย่างการแก้โจทย์ยากของการศึกษาไทย ณ โรงเรียนชายขอบ ที่เคยถูกมองว่าแร้นแค้น ขาดแคลนและด้อยคุณภาพ ให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างน่าชื่นชม โดยมีแรงหนุนเสริมจากโครงการ 'อ่างขางโมเดล’ ที่หวังผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาภายใต้บริบททางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
- คลี่ปัญหา...หาทางออก
การจัดการศึกษาโดยมีการกำหนดมาตรฐานกลางทั้งหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอนและการวัดผล ถูกมองว่าเป็นนโยบาย ‘ตัดเสื้อโหล’ ที่หลายครั้งนอกจากจะสร้างปัญหาให้กับผู้สอน ยังไม่ได้ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร นำมาซึ่งความพยายามที่จะออกแบบการศึกษาบนพื้นฐานความแตกต่างหลากหลาย ซึ่ง ‘อ่างขางโมเดล’ ถือเป็นต้นแบบที่ได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ริเริ่มแนวคิดดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนเหล่านี้มีความเป็นอิสระทางวิชาการ มีงบประมาณและงานบุคคล ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มโอกาสและคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก
สำหรับโรงเรียนทั้ง 5 แห่งในนาม ‘อ่างขางโมเดล’ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนเทพศิรินทร์ 9 โรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนบ้านผาแดง และ โรงเรียนสันติวนา แต่ละแห่งแม้จะมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีจุดเด่นในด้านการเรียนการสอนที่แตกต่างไป
“ทั้ง 5 โรงเรียนแม้จะมีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียงกันคือ ลาหู่ ไทใหญ่ จีนยูนนาน และปะหล่อง แต่ต่างก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง ควรการจัดการศึกษาที่ช่วยให้เขามีชีวิตดีขึ้น แม้จะอยู่บนดอย เด็กๆ เหล่านี้ก็เป็นคนไทย การปฎิรูปการศึกษาต้องไปให้ถึงตรงนั้น” ครูเรียม สิงห์ทร โรงเรียนบ้านขอบด้ง (ดอยอ่างขาง) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว ก่อนจะเล่าถึงสภาพปัญหาที่ผ่านมาว่า
ในอดีตแต่ละโรงเรียนมีปัญหาหลักร่วมกันคือ 1. พื้นฐานการสื่อสารภาษาไทยอยู่ในระดับอ่อน เนื่องจากไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร 2. ผู้เรียนมีความยากจนและมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ภาวะทุพโภชนาการ ไม่มีสัญชาติไทย
3. ความต้องการของผู้เรียนมุ่งเน้นการมีงานทำ ประกอบอาชีพ ภายหลังจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น เป็นมัคคุเทศก์ (จีน) ในกลุ่มผู้เรียนที่มีชาติพันธุ์จีนยูนนาน เป็นเกษตรกรในพื้นที่สูง และทำธุรกิจส่วนตัวในพื้นที่ (ค้าขาย) อันเนื่องจากพื้นที่อาศัยใกล้แหล่งท่องเที่ยว คือดอยอ่างขาง
4. การเรียนการสอนตามหลักสูตรและการประเมินผล ไม่สอดคล้องกับสมรรถนะผู้เรียน ไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และการทดสอบระดับชาติ O-NET, NT มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศในเกือบทุกสาระวิชา 5.ผู้เรียนชาติพันธุ์ โดยส่วนมากมีพื้นฐานทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ที่ได้รับการปลูกฝังมาอย่างดีจากครอบครัว สามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง
“ข้อเสนอของอ่างขางโมเดลจึงเป็นรูปแบบการบริการจัดการใหม่ทางการศึกษาระดับพื้นที่ ที่มีศรัทธาต่อศักยภาพนักเรียนและครูู สถานศึกษามีคุณภาพ สามารถดูแลนักเรียนและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนได้”
ครูเรียมบอก พร้อมอธิบายหลักการพื้นฐาน 5 ข้อ กล่าวคือ 1. พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น โดยเน้นศาสตร์พระราชา สร้างมาตรฐานหลักสูตร มีการทำวิจัยและพัฒนาหลักสูตรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ 2. จัดการเรียนการสอนเชิงรุก โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะที่พึงประสงค์ 3. เน้นการเรียนรู้ภาษาไทยให้อ่านออกเขียนได้ (โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์) 4. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่ออาชีพ 5. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าถึงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
- เสริมทักษะ..สานต่อความฝัน
หลังจากใช้ ‘อ่างขางโมเดล’ เป็นหลักไมล์การศึกษาของเด็กบนดอยมากว่า 2 ปี มีทั้งความก้าวหน้าและอุปสรรค โจทย์ยากคือการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนบนฐานชีวิตและอนาคตของเด็กๆ ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
“ที่ผ่านมาอ่างขางเป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของประเทศ กิจกรรมทางการท่องเที่ยวกลายเป็นรายได้หลักของชาวบ้านส่วนหนึ่ง แต่หลังจากมีการสั่งให้หยุดกิจกรรมท่องเที่ยวที่พักค้างแรมบนดอยอ่างขาง บรรยากาศโดยรอบพื้นที่จึงเงียบเหงา พ่อแม่ผู้ปกครองหลายครอบครัวย้ายลงไปทำมาหากินที่อื่น ลูกหลานที่เป็นนักเรียนก็ย้ายตามผู้ปกครองไปด้วย เด็กบางคนออกระหว่างเทอม จำนวนเด็กหายไปกว่าครึ่ง ขณะเดียวกันอ่างขางเป็นพื้นที่ชายแดน มีความเปราะบางเรื่องความมั่นคง เรื่องปัญหายาเสพติด หากไม่รีบแก้ไข ปัญหาใหม่อาจจะเกิดขึ้นกับเยาวชนในพื้นที่” ครูเรียมแสดงความกังวล
โครงการวิจัย ‘การจัดการศึกษากลุ่มเครือข่ายโรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร อ่างขางโมเดล เพื่อคุณภาพของผู้เรียนและการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน’ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบทของพื้นที่และโลก
“สกสว. เข้ามาสนับสนุนทุนวิจัยเชิงปฏิบัติการด้านการศึกษา โดยมีการปรับเป้าหมาย ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้เพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้อ่างขางโมเดล โรงเรียนจะต้องมองเชื่อมโยงโดยใช้การศึกษามาพัฒนาพื้นที่อ่างขาง ทั้งพัฒนาทักษะของเด็กสู่ศตวรรษที่ 21 พัฒนาการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน สร้างการเรียนรู้ให้เด็กกับชุมชน เนื่องจากปัจจุบันนี้ พื้นที่อ่างขางเองก็ไม่มีมีกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นโรงเรียนจะต้องทำหน้าที่พัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาคน ไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่อ่างขางด้วย”
เบญจวรรณ วงศ์คำ เจ้าหน้าที่บริหารงาน ภารกิจการบูรณาการแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อชุมชนและพื้นที่ สกสว. กล่าวถึงเป้าหมายของงานวิจัยที่เน้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานทั้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตร ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรม
ภายใต้แผนงานวิจัยนี้ได้มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชนและทรัพยากรบนดอยอ่างขาง เพื่อจัดทำ Social Mapping ร่วมกับชุมชน ก่อนจะนำมาออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมในแต่ละโรงเรียน
“เรามีการจัดประชุมผู้ปกครอง คนในชุมชน ให้สะท้อนความต้องการว่า ชุมชนอยากเห็นเด็กของอ่างขางเป็นอย่างไร อยากเห็นการศึกษาของลูกหลานเป็นอย่างไร”
หลังดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ก็คือ โรงเรียนทั้ง 5 แห่งภายใต้อ่างขางโมเดล สามารถสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ เช่น โรงเรียนผาแดง เปิดห้องเรียนสอนการเพาะพันธุ์อะโวคาโด้ ต่อยอดเป็นไอศครีมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
“ปีนี้โควิดช่วยผาแดง เพราะว่าคนจีนส่วนมากไปเป็นไกด์ เป็นล่าม ไปทำงานบริษัทจีน สุดท้ายเจอโควิดก็กลับมาบ้าน มาดูสวนของตนเอง ก็ไม่มีอะไรปลูกไว้ อะโวคาโด้เริ่มดังก็เลยมาขายกล้าอะโวคาโด้ บางบ้านแค่ขายกล้าไม่กี่เดือนได้ไปเป็นล้าน โรงเรียนก็เลยนำความรู้ตรงนี้มาส่งเสริมให้นักเรียน” เกียรติพงค์ อุ่นใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านผาแดง กล่าว
ขณะที่โรงเรียนสันติวนา เน้นการเรียนการสอนภาษาจีน พร้อมๆ กับการเพิ่มทักษะงานช่างไฟฟ้า วสันต์ หมื่นสอน ผู้อำนวยการ มองว่าการให้เด็กท่องจำนำไปสอบ ถ้าเป็นเด็กในเมือง อาจไปต่อยอดได้ แต่ไม่ใช่กับเด็กบนดอยเหล่านี้
“เด็กข้างบนวันหนึ่งเขาจะเดินออกจากวงจรของการศึกษา ไม่ค่อยมีไปถึงระดับมหาวิทยาลัย บางคน ป. 6 บางคน ม.3 ก็ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ถามว่าการเรียนตามหลักสูตรเดิมๆ พอมั้ย มันไม่พอสำหรับเขา เราก็เลยมาเน้นที่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ก็คือให้เด็กเขามีความรู้ด้านอื่นเพิ่ม นอกเหนือจากสาระหลัก
แน่นอนว่าเราคงต้องเน้นภาษาไทยในการสื่อสารให้อ่านออกเขียนได้ก่อน แต่ทีนี้ภาษาสากลถามว่าต้องเป็นภาษาอังกฤษไหม มันก็ไม่ได้จำเป็น เราก็เลยมาเน้นที่ภาษาสากลของเขาก็คือภาษาจีน พอเน้นตรงนี้ปุ๊บเด็กสามารถไปทำงานได้ทันที "
อีกหนึ่งโรงเรียนที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างทักษะยุคดิจิทัล ก็คือ โรงเรียนบ้านหลวง ที่นี่เปิดสอนถึง 4 ภาษา คือไทย อังกฤษ จีน พม่า และยังเพิ่มความรู้ด้านการผลิตสื่อ จนเด็กๆ สามารถสร้างภาพยนตร์สั้นผลงานระดับรางวัลเลยทีเดียว
“ผมมองว่าโลกทัศน์ชีวทัศน์ของนักเรียนเหล่านี้แตกต่างกัน ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน เขาต้องการรายได้ต่อเดือนต่อปีเท่าไร แล้วทำอาชีพอะไรจึงจะตอบโจทย์ หลักสูตรที่ต้องเรียนตามกระทรวงก็ต้องเรียน แต่หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรสมรรถนะที่จะตอบโจทย์อาชีพที่เขาจะทำในพื้นที่ของเขามันไม่มี เราต้องช่วยกันคิดว่าจะจัดหลักสูตรอย่างไร สุดท้ายก็เพื่อให้ทุกคนมีงานทำ” พลชาติ งามสม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหลวง กล่าว
ถึงวันนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป ดอยอ่างขางไม่เหมือนเดิม การศึกษาของเด็กๆ ที่มีความแตกต่างทั้งด้านชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม จะต้องนำพาพวกเขาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มิใช่ทิ้งไว้แค่ชายขอบสังคม เป็นการศึกษาที่ทำให้รู้จักและภาคภูมิใจในตนเอง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้
"อนาคตของอ่างขางเป็นสิ่งที่จะต้องมองไปพร้อมกับการพัฒนาคนและพัฒนาพื้นที่ ตอนนี้เราใช้อ่างขางโมเดลเป็นฐานในการสื่อถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม ให้คนได้รู้ ให้เขาได้ภาคภูมิใจ และรักษาฐานทรัพยากรตรงนี้ไว้เพื่อเป็นฐานชีวิตต่อไป" ครูเรียม กล่าวอย่างมีความหวัง