ไลฟ์สไตล์
ไม่ใช่อุกกาบาต! สดร. เผยวัตถุประหลาด อ.แม่แจ่ม คาดเป็นหินภูเขาไฟ
สดร. ชี้แจงกรณีมีผู้พบวัตถุประหลาดได้ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม คาดว่าเป็นหินภูเขาไฟ ไม่ใช่ "อุกกาบาต"
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาว่ามีชาวบ้านพากันค้นหา "หินอุกกาบาต" ในพื้นที่ป่าชุมชนเขตติดต่อหมู่บ้านแม่สะต๊อก บ้านนาฮ่อง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งพบเห็นลำแสงพุ่งตกจากฟ้าลงมาในบริเวณดังกล่าว ได้สันนิษฐานกันว่าเป็น "อุกกาบาต" และพากันออกตามหา ก่อนพบกับวัตถุประหลาดขนาดเท่าลูกฟุตบอล แต่เก็บไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ใครทราบ จนกระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดขึ้นมา ทางอำเภอแม่แจ่มจึงนำวัตถุดังกล่าวส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง
จากหลักฐานที่รวบรวมได้ พบว่าวัตถุที่พบมีลักษณะเป็นรูพรุน น้ำหนักเบากว่าหินและโลหะทั่วไป รูปร่างคล้ายวัตถุที่ถูกเผาไหม้ด้วยความร้อนจนหลอมละลายแล้วเย็นตัวลง หลังจากสังเกต และวิเคราะห์ด้วยลักษณะทางกายภาพ เบื้องต้นคาดว่า ไม่ใช่หินอุกกาบาต เนื่องจาก ลักษณะของอุกกาบาตจะไม่เป็นรูพรุน และอาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นหินประเภทหินอัคนีพุ (Extrusive Rock) หรือหินภูเขาไฟ (Volcanic Rock) ที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วในอดีต เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของลาวาเหลวพวกที่มีไอน้ำ แก๊สและสารละลายอื่น ๆ ปนอยู่มาก เมื่อลาวาขึ้นมาบนผิวโลกและเย็นตัวลง ฟองแก๊สเหล่านี้จึงทำให้เกิดโพรง ดูเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ
นอกจากนี้ จากข้อมูลแผนที่ธรณีวิทยาของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า หินอัคนีสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ รวมทั้งบริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องลำแสงพุ่งตกจากฟ้าในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนั้น คาดว่าเป็นดาวตก โดยปกติเราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ในทุกคืน เนื่องจากในอวกาศมีเศษฝุ่นละอองที่ดาวเคราะห์น้อย หรือ ดาวหาง เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีโอกาสสังเกตเห็นได้ ซึ่งในเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือฝนดาวตกวันแม่พอดี การที่มีผู้พบเห็นลำแสงดังกล่าวประกอบกับพบวัตถุปริศนา จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุกกาบาต
สดร.จึงแนะนำวิธีพิจารณาวัตถุต้องสงสัยเบื้องต้นจากรูปพรรณสัณฐาน ดังนี้
1. สังเกตรูปร่างของวัตถุ รูปทรงของอุกกาบาตส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่สมมาตร เนื่องจากขณะที่วัตถุเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศจะเกิดความร้อนสูง ส่งผลให้รูปร่างของอุกกาบาตเปลี่ยนไป จากรูปทรงกลมหรือเกือบกลม กลายเป็นรูปทรงไม่สมมาตร
2. สังเกตจากสีผิวชั้นนอกของวัตถุ ผิวของอุกกาบาตที่เพิ่งตกลงบนพื้นโลกจะเป็นสีดำสนิท แต่หากเป็นอุกกาบาตที่ตกอยู่บนพื้นโลกเป็นเวลานานแล้ว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสีที่เกิดขึ้นจากสนิม
3. สังเกตจากลักษณะของผิวชั้นนอก ลักษณะผิวของอุกกาบาต โดยเฉพาะอุกกาบาตหินจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากหินทั่วไปคือมี “เปลือกหลอม” (fusion crust) เป็นเปลือกบาง ๆ สีดำประกาย เกิดจากการเผาไหม้ขณะอยู่ในชั้นบรรยากาศ และมักจะมีสีเข้มกว่าหินทั่วไป ส่วนอุกกาบาตเหล็กจะมีสีดำคล้ำและมีร่องรอยปรากฏเป็นร่องหลุมโค้งเว้า (regmaglypt) คล้าย ๆ กับรอยนิ้วโป้งที่เรากดลงบนก้อนดินน้ำมัน
4. ก้อนวัตถุต้องสงสัยต้องไม่มีรูพรุน หรือฟองอากาศอยู่ด้านในเด็ดขาด เนื่องจากอุกกาบาตทุกประเภทก่อตัวขึ้นในอวกาศ ซึ่งในสภาพแวดล้อมนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่อุกกาบาตจะก่อตัวแล้วมีรูพรุน หากพบก้อนวัตถุที่มีลักษณะรูพรุนอาจจะเป็นตะกรันโลหะจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม หรืออาจจะเป็นหินบางประเภทที่พบบนพื้นโลก เช่น หินสคอเรีย (Scoria) เป็นหินภูเขาไฟ มีน้ำหนักเบาสามารถลอยน้ำได้ หรือหินไบโอไทต์ (Biotite) เป็นแร่ชนิดสีดำที่พบได้ทั่วไปในหินอัคนี
5. ตรวจสอบด้วยแม่เหล็ก โดยทั่วไปอุกกาบาตเกือบทุกประเภทจะดูดติดกับแม่เหล็กได้ หากวัตถุนั้นไม่ดูดติดกับแม่เหล็กก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าไม่ใช่อุกกาบาต แต่ถึงแม้วัตถุสามารถดูดติดแม่เหล็กได้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันคืออุกกาบาต 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าอาจจะเป็นอุกกาบาต
ขอบคุณข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ