10 ตุลาคม 'วันสุขภาพจิตโลก' แคมเปญปีนี้ 'ลงทุนสุขภาพใจให้มากขึ้น'

10 ตุลาคม 'วันสุขภาพจิตโลก' แคมเปญปีนี้ 'ลงทุนสุขภาพใจให้มากขึ้น'

'วันสุขภาพจิตโลก' 10 ตุลาคม ชวนรู้ความสำคัญและที่มาของ "สุขภาพจิต" พร้อมส่องแคมเปญการณรงค์วันสุขภาพจิตโลกของปี 2020 ที่มีการมุ่งเน้นไปที่สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และการลงทุนด้านสุขภาพจิตให้มากขึ้น

รู้หรือไม่? กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เคยเปิดเผยข้อมูลด้าน "สุขภาพจิต" ของคนไทย ในช่วงโควิด-19 เอาไว้ว่า คนไทยเกิดปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง  ประกอบกับข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เคยพยากรณ์ไว้ว่าในราวปี 2030 "โรคซึมเศร้า"  จะกลายเป็นสาเหตุของภาระโรคภัยของทุกประเทศในระดับโลก และได้ประมาณตัวเลขให้ไว้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นเหตุการตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี

ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้คนในยุค 2020 มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้านจิตใจมากกว่าในอดีต เพื่อเป็นการรับมือและป้องกันอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา "สุขภาพจิต" ให้มากขึ้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และเนื่องในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เป็น "วันสุขภาพจิตโลก" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาคุณไปรู้จักความสำคัญของวันสุขภาพจิตโลก รวมถึงมีวิธีเช็คอาการเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าคุณอาจเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิตใจ มาฝากกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

160223045163

  • วันสุขภาพจิตโลก มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

วันสุขภาพจิตโลก ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม เป็นวันสากลสำหรับการให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตทั่วโลกการตระหนักรู้และการต่อต้านการตีตราทางสังคม มีการเฉลิมฉลองครั้งแรกในปี 1992 จากการริเริ่มของ World Federation for Mental Health ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพจิตระดับโลกที่มีสมาชิกและผู้ติดต่อในกว่า 150 ประเทศ

เมื่อวันนี้เวียนมาถึง บรรดาผู้สนับสนุนหลายพันคนจะมาร่วมเฉลิมฉลองโครงการสร้างความตระหนักรู้ประจำปี ให้ความสนใจกับความเจ็บป่วยทางจิตและผลกระทบที่สำคัญต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก ในบางประเทศวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งการรับรู้ เช่น "สัปดาห์สุขภาพจิต" ในประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

  • ทำไมต้องมีธีมประจำปี "วันสุขภาพจิตโลก"?

วันสุขภาพจิตโลก เป็นการริเริ่มของรองเลขาธิการ Richard Hunter ในปีแรกที่มีการเฉลิมฉลองนั้นยังไม่มีธีมงาน และไม่มีหัวข้อเป้าหมายการรณรงค์ที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ มีเพียงการส่งเสริมและสนับสนุนด้านสุขภาพจิต  และการให้ความรู้แก่สาธารณชนเท่านั้น

ต่อมาในปี 1994 มีการเฉลิมฉลองวันสุขภาพจิตโลกโดยใช้ธีมงานเป็นครั้งแรก  ตามคำแนะนำของเลขาธิการ Eugene Brody ในเวลานั้น โดยหัวข้อธีมดังกล่าวก็คือ “การปรับปรุงคุณภาพบริการสุขภาพจิตทั่วโลก”

ต่อมาวันสุขภาพจิตโลกได้รับการสนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างความตระหนักในประเด็นสุขภาพจิต ผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก องค์การอนามัยโลกยังให้การสนับสนุนการพัฒนาสื่อทางเทคนิคและวิธีการสื่อสารเพื่อให้ความรู้ขยายออกไปในวงกว้างให้มากขึ้น

  • "วันสุขภาพจิตโลก" ปี 2020 ความท้าทายในวิกฤติโควิด-19

วันสุขภาพจิตโลก ในปีนี้ (10 ตุลาคม) ทาง WHO ระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไปอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีความท้าทายมากมายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก ที่ต้องดูแลสุขภาพของผู้ป่วยในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงประชาชนวัยทำงานทั่วไปก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเช่นกัน เพราะเป็นการไปทำงานด้วยความกลัวที่จะนำโรค โควิด-19 กลับบ้านไปด้วย

ส่วนนักเรียนนักศึกษาเอง ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนจากที่บ้าน อีกทั้งกลุ่มคนผู้ใช้แรงงานและผู้คนอีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในความยากจนหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมด้านมนุษยธรรมที่เปราะบาง และได้รับการคุ้มครองที่จำกัดอย่างยิ่งจาก COVID-19 และโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสุขภาพจิตหลายคน ในช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหาการถูกแยกห่างจากสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

160223045189

  • ธีมและเป้าหมายของ "วันสุขภาพจิตโลก" ปี 2020

จากภาวะฉุกเฉินและวิกฤติ COVID-19 ดังกล่าว WHO คาดว่าความต้องการการบริการด้าน "สุขภาพจิต" และการสนับสนุนทางสังคมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่เดือนและหลายปีข้างหน้า การลงทุนในโครงการสุขภาพจิตทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนทุนทรัพย์เรื้อรังหลายปีมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เป้าหมายของการรณรงค์วันสุขภาพจิตโลกในปีนี้ คือ "Increased investment in mental health" หรือ "เน้นการลงทุนด้านสุขภาพจิตให้เพิ่มขึ้น"

  • "วันสุขภาพจิตโลก" ปี 2020 ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยเองก็มีการจัดกิจกรรมใน "วันสุขภาพจิตโลก" เช่นกัน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและโรคภัยต่างๆ เกี่ยวกับจิตใจของคนไทย โดยกรมสุขภาพจิตได้มีการจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2563 World Mental Health Day 2020 

กิจกรรมภายในงานมีทั้งการลงนามความร่วมมือการทำงานเพื่อเฝ้าระวังและเชื่อมโยงการดูแลช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ / การเสวนา บ้านพลังใจ เพราะบ้านเป็นพลังของใจ / ME Talk ม้านั่งสีขาวกับเรื่องราวของฉัน เป็นเวทีทอล์คโชว์เรื่องสุขภาพจิต โดยมีจิตแพทย์ นางงาม นักเคลื่อนไหวอิสระ และเหล่าคนดัง มาร่วมสร้างพลังใจให้คนไทยเข้มแข็ง เป็นต้น

160223045286

  • 7 วิธีเช็คตัวเองเบื้องต้นว่า "สุขภาพจิต" ยังดีอยู่หรือเปล่า?

นพ.กฤษดา ศิรามพุช  ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีตระหนักรู้เบื้องต้นสำหรับคนทั่วไป เพื่อสังเกตสัญญาณอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ หรือ "โรคซึมเศร้า" ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนี้

1. อารมณ์เปลี่ยนไป อ่อนไหวในเรื่องเล็กน้อย ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่าย ผิดกับเมื่อก่อน

2. ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ ไม่อยากไปเจอเพื่อนฝูง เลิกเข้าวัด ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากไปยิมอย่างเคย

3. เรื่องบนเตียงลดลง ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม โดยเฉพาะเรื่องใหม่ๆ เช่น เพิ่งวางของไว้ก็ลืม 

4. ใจลอย ไม่อาจจดจ่อกับสิ่งเดิมๆ ได้ เช่น อ่านหนังสือได้ประเดี๋ยวก็วาง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง 

5. การนอนผิดปกติ อาจนอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับเลยก็ได้ อ่อนเพลียไม่มีแรงเหมือนคนไร้พลังจากข้างใน 

6. น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่ม จากภาวะกินผิดปกติไปจากเดิม

7. การปฏิบัติตัวกับคนรอบข้างไม่เหมือนเดิม อาจเก็บตัวมากขึ้น พูดน้อย ขี้หงุดหงิด หรือทะเลาะกับคนรอบข้างบ่อยๆ 

หากมีอาการข้างต้นเหล่านี้มากกว่า 4-5 ข้อ ก็อาจเป็นไปได้ว่าสุขภาพจิตใจของคุณเริ่มไม่ดีแล้ว ควรหาทางแก้ไขด้วยการปรึกษาเพื่อนสนิท ครอบครัว หรือไปพบแพทย์ และรับการรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งโรคภัยด้านจิตใจก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือน่าอายอย่างที่คิด

-------------------------

อ้างอิง : 

who.int/campaigns/world-mental-health-day

en.wikipedia.org/wiki/World_Mental_Health_Day

FB : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข