'โอ้กะจู๋' ฝันเล็กที่ยิ่งใหญ่
ถอดรหัสความสำเร็จ "โอ้กะจู๋" ธุรกิจร้อยล้านของสามเพื่อนรัก ที่เริ่มต้นด้วยคอนเซ็ปต์ “ปลูกผักเพราะรักแม่”
โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล(สวมเสื้อลายสก๊อต) และ อู๋-ชลากร เอกชัยพัฒนกุล
ความฝันเล็กๆ ของเด็กชาย 3 คนที่เป็นเพื่อนรักในวัยเรียนสมัยมัธยมฯ โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล, อู๋- ชลากร เอกชัยพัฒนกุล และ ต้อง-วรเดช สุชัยบุญศิริ ว่าจะทำอะไรด้วยกัน โดย “โจ้” มุ่งไปทางเกษตร ฝันปลูกผักไร้สาร “อู๋” เรียนด้านธุรกิจ-การตลาด เพื่อนอีกคน เรียนด้านวิศวะฯ พวกเขาค่อยๆ สร้างฝันเล็กๆ ให้เติบโตอย่างมั่นคงโดยไม่เร่งรีบ จนกระทั่งมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าจับตามอง ‘จุดประกาย’ ชวนมาทำความรู้จักกับ “อู๋-โจ้” ผู้ก่อตั้ง “ร้านโอ้ กะ จู๋” เพื่อนซี้ที่สร้างธุรกิจจากความรักและการค้นพบตัวตน
- ก่อนอื่นอยากให้เล่าถึงที่มาตั้งแต่แรก
อู๋-ชลากร: จุดเริ่มต้นคือพวกผมเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ชั้น ม.3 พอม.5 โรงเรียนดาราวิทยาลัย(เชียงใหม่) วิชาแนะแนว อาจารย์พาไปมหาวิทยาลัย ดูว่าคณะบริหาร คณะเกษตร คณะวิศวะ เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ตอนไปที่คณะเกษตร ก็คุยเล่นกันว่า อีกหน่อยเราน่าจะหาอะไรเกี่ยวกับการเกษตรทำด้วยกัน เพราะพื้นฐานครอบครัวของผมกับโจ้เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ที่ลำพูนบ้านโจ้เขาปลูกหอม ลำไย ส่วนผมตั้งแต่รุ่นอาม่าก็จะดองผักขาย ก็ไม่ได้คิดว่าเราจะมาทำจริงๆ สุดท้ายโจ้ก็ได้เข้าไปเรียนที่คณะเกษตร ผมเรียนคณะบริหาร พอเรียนจบโจ้ก็มาหาประสบการณ์ในกรุงเทพฯ ปีหนึ่ง แล้วก็กลับไป บอกว่าพร้อมแล้วนะ เริ่มอยากลองปลูก ก็ไปปรึกษากับคุณพ่อ(ชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล) ผมว่ามีไอเดียอยากจะปลูกผัก คุณพ่อก็เมตตาให้ยืมที่นาทำโรงเรือนแรกของเราไซส์ 6 คูณ 30 ตารางเมตร ตอนนั้นเรายังไม่ค่อยมีทุน
- ตอนแรกเริ่มนั้นปลูกผักอะไรบ้าง
เป็นผักทั่วไปเลยครับ ถั่วฝักยาว แตงกวาญี่ปุ่น ถั่วพู แล้วก็มีผักสลัด ได้ผลผลิตมาก็แบ่งให้คนในครอบครัว กินกัน แบ่งให้เพื่อน เราเริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2010 ปลูกผักอยู่ประมาณเกือบ 3 ปี กว่าจะเปิดร้าน เรียกว่าลองผิดลองถูก ศึกษาหาวิธีการหลายอย่าง ข้าวออร์แกนิกเราก็ปลูก คุณพ่อบอกว่าลองดูก่อนว่าชอบไหม โจ้เขามีพื้นฐานทางนี้อยู่แล้ว เพาะเห็ดด้วยนะ ทำไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเราก็รู้แล้วว่าต้องปลูกยังไง ดูแลยังไง ผลผลิตก็เริ่มมีมากขึ้นๆ ก็เลยมาคิดว่าทำยังไงที่จะส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ได้กินผักปลอดสารพิษ ก็เลยคิดกันว่าเราจะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ มีอาหารฝรั่ง เริ่มต้นเราก็คิดไว้แบบนี้
- ก็เลยเป็นจุดกำเนิดของร้าน “โอ้ กะ จู๋”
เริ่มต้นจากเป็นคาเฟ่เล็กๆ ขายกาแฟ ขายสลัด อยู่ตรงอำเภอสันทราย เชียงใหม่ เป็นสาขาแรก มีรถคอกหมูกับเรือนไทยเล็กๆ มีแค่นั้นเลย ตรงนั้นเป็นที่ของครอบครัวผม (อู๋) เมื่อก่อนที่ตรงนั้นเงียบเหงาวังเวงไม่มีใครอยากไป เปิดร้านวันแรกขายได้พันกว่าบาท เราก็ไม่ได้ทำใหญ่มากอยู่แล้ว ช่วงนั้นอินสตาแกรมกำลังดัง ลูกค้ามาก็ถ่ายรูปแชร์ เราเปิดร้าน 21 พฤษภาคม 2557 พอช่วงปลายปี มีลูกค้าต่างจังหวัดมาใช้บริการเยอะ
- จะเรียกว่า “โอ้ กะ จู๋” ธุรกิจฝันเป็นจริงได้หรือเปล่า
โจ้-จิรายุทธ: ผมก็ไม่รู้นะว่าตอนนั้นถ้าเรายึดติดกับความฝัน แล้วทำเต็มที่กับมันไปตั้งแต่แรก เราอาจจะผิดหวังก็ได้ แต่เรารู้ตัวว่าทุกๆ อย่างมันต้องค่อยๆ เดิน เริ่มจากเล็กๆ แล้วเราค่อยๆ โต
อู๋-ชลากร: ป๊า สอนเสมอว่าให้ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ โต พอเราทำได้สเต็ปหนึ่งก็ลองดูซิว่าเราจะค่อยๆ พัฒนาต่อยอดไปยังไง ค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ แรกๆ ก็แค่เริ่มปลูกผัก 1 แปลง แล้วก็เริ่มไปขายส่ง ต่อมาก็คิดว่าจะต่อยอดยังไงให้ยั่งยืน แทนที่จะให้ลูกค้าไปกินที่อื่น ก็ให้เขามากินในฟาร์มเรา ก็เลยตั้งใจเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆ พอประสบความสำเร็จมีคนสนใจเยอะ ก็ต่อยอดขึ้นไปอีก เริ่มขยายร้าน ทีละเล็กทีละน้อยเหมือนดอกไม้ค่อยๆเริ่มบานทีละดอกสองดอกจนกลายเป็นดอกไม้ช่อใหญ่ ตอนนี้ผมว่าเริ่มเป็นช่อแล้วนะครับ
- การเปิดสาขาแต่ละแห่งพิจารณาจากอะไร
สาขาสองเราไปเปิดที่โครงการนิ่มซิตี้เดลีเพราะคิดว่าอยู่ในเมืองตรงที่คนเข้าถึงง่าย ใกล้กับสนามบินเชียงใหม่ กลายเป็นสาขาที่โอเค นั่งท่องเที่ยวแวะสะดวก ลองขยายสาขาในเชียงใหม่ก่อนเพื่อที่จะดูว่าเรารับมือได้ไหม ปัญหาที่จะเจอเราแก้ไขได้ไหม พอเปิดสาขาสองได้ปีกว่าๆ ก็เริ่มคิดที่จะมากรุงเทพฯ เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเราเป็นนักท่องเที่ยว คนกรุงเทพฯก็เรียกร้องว่าเมื่อไหร่จะมาเปิด ด้วยความที่เราเป็นคนบ้านนอกก็ไม่รู้ว่ามาแล้วจะสู้กับยักษ์ใหญ่ที่นี่ได้ไหม เราก็ค่อนข้างเสียเปรียบนิดหนึ่ง เพราะผักเราก็ปลูกที่เชียงใหม่ มีค่าโลจิสติกส์ ค่าขนส่ง มาแล้วคุ้มที่จะเสี่ยงไหม
สุดท้ายมาเดินเล่นที่สยามสแควร์ เจอตรงข้างๆ ฮาร์ทร็อคคาเฟ่ ว่างอยู่ประมาณ 2 ล็อคครึ่ง ก็คุยกันเอาไหมๆ พอเจอค่าเช่าก็หงายหลังเลย สุดท้ายคุยกัน กัดฟันลองเปิดสาขาที่นี่ดู เริ่มจากร้านเล็กๆ ปรากฏว่าลูกค้าตอบรับดี ตอนนี้ในกรุงเทพฯถ้ารวมเดลิเวอรี่ด้วยก็ประมาณ 10 สาขา ตอนนี้มีสาขาแค่เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ความจริงแพลนเราปีหน้าจะไปจังหวัดอื่นแต่ด้วยโควิด-19 เราคงจะชะลอไว้ก่อน อาจจะเป็นปี 2565 เริ่มไปต่างจังหวัด หรือไม่รอดูสถานการณ์ต้นปีหน้าอีกทีหนึ่งก่อน
- ช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบไหม
กระทบเยอะเลยครับ ตอนแรกรัฐสั่งปิด ผมก็คิดว่าตายแล้วลูกน้องเราตั้งเยอะทำไงดี พอรัฐบอกว่าเดลิเวอรี่ได้ แต่ห้ามนั่งทานในร้าน เราก็รู้สึกดีขึ้นมานิดหนึ่ง แต่มีปัญหาตรงที่พนักงานบริการจะไม่มีงานเลย ก็เลยคิดว่าใครที่มีมอเตอร์ไซด์ มาเป็นไรเดอร์ส่งของ พนักงานในครัวไม่มีปัญหาเพราะเขาต้องทำงานอยู่แล้ว โชคดีที่เรามีการจอยพาร์ทเนอร์กับเดลิเวอรี่อยู่แล้วช่วงโควิด ผมกับโจ้ก็สแตนบายอยู่ที่กรุงเทพฯ
- อยากให้พูดถึงความหมายของคอนเซปต์ “ปลูกผักเพราะรักแม่”
ปลูกผักเพราะรักแม่ เริ่มมาจากตอนที่เราเริ่มปลูกผักกัน คิดว่า..เรากล้าไปซื้อผักคะน้าในตลาดมาให้แม่กิน โดยที่เรามั่นใจไหมว่าคะน้านั้นไม่มียาฆ่าแมลง เรากล้าจะไปซื้อข้าวที่ผ่านการสีมาแล้วและใส่ไซยาไนด์มาเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น แล้วเอามาหุงให้แม่ทานไหม ก็เลยเป็นที่มาว่า จริงๆ เราน่าจะปลูกผักแล้วทานเอง คือแม่เปรียบเสมือนตัวแทนของครอบครัว เวลาใครมีปัญหาทุกคนจะวิ่งเข้าหาแม่ ในเมื่อเราทุกคนรักแม่ ก็ต้องให้เขาทานของที่ปลอดภัยจริงๆ ก็เลยเป็นสโลแกนคำว่า “ปลูกผักเพราะรักแม่”
- จากแปลงผักเล็กๆ ปัจจุบันมีกี่แห่งแล้วคะ
ตอนนี้ผมมีแปลงผักอยู่ 4 ที่ ตรงสันทราย ดอยสะเก็ด และสารภี ทั้งหมด 200 กว่าไร่อยู่ในเชียงใหม่หมดเลย ผักสลัด 20 กว่าชนิดเราปลูกเองหมดเลย แต่ผักกินผลเรามีพันธมิตรช่วยปลูกให้ เช่น แตงกวา แครอท บีทรูท ฟักทอง ฯลฯ ก่อนมากรุงเทพฯเราก็ขึ้นไปที่แม่กลาง ตรงดอยอินทนนท์ ส่งเสริมให้เกษตรกรทิ้งสารเคมีมาปลูกแบบอินทรีย์ แต่ดอกไม้กินได้ผมปลูกเอง
- มีโครงการส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ ผมเคยคุยกับเกษตรกรที่เขาปลูกแบบอินทรีย์มาก่อน แต่ก็ต้องท้อเพราะคนในเมืองบอกว่าผักไม่สวย ได้คุยกับเกษตรกรเขาบอกว่าคนในเมืองแปลกเนอะ ชอบกินผักสวยๆ ที่ข้างในมีแต่ยา อนาคตผมอยากจะส่งต่อพืชผักออร์แกนิก ที่เกษตรกรปลูกให้ถึงมือคนในเมืองผ่านไลน์แอด เช่นวันนี้มีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ใครต้องการบ้าง อยากได้ก็จองมา เราก็ส่งให้ จากเกษตรกรส่งตรงให้ลูกค้าเลย เราพยายามทำมาพักหนึ่งแล้วแต่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้
- กว่าจะมาเป็นวันนี้เจออุปสรรคไหม? เคยท้อหรือเปล่า แล้วแก้ไขอย่างไร
เนื่องจากเกษตรขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ แม้จะมีพยากรณ์อากาศแต่เราก็ควบคุมไม่ได้ บางทีก็เหนือความคาดหมาย ลมแรง พายุฝนตกหนัก ทำฟาร์มแรกๆ พื้นที่ใหม่เราก็ไม่คุ้น ปลูกไม่กี่เดือนโดนพายุหอบโรงเรือนใจแป้วเลย มูลค่าผักเสียหายไม่กี่หมื่น แต่มูลค่าทางจิตใจของเราเสียหายหนักมาก ถ้าทำคนเดียวผมว่าถอดใจแน่นอน พอพร้อมใจกันไปต่อก็สร้างโรงเรือนใหม่เอาแบบแข็งแรงกว่าเดิม
ปี 2560 เจอพายุฤดูร้อนอีก โรงเรือนพังไปเกือบ 200 หลัง เสียหายเป็นล้าน เราเริ่มมีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ ก็เลยทำใจปลูกกลางแจ้งไประยะหนึ่ง โชคดีที่ช่วงนั้นเปลี่ยนฤดูฝนน้อยลง พอเก็บผักได้มีเงินหมุนเวียนเราก็มีทุนสร้างโรงเรือนใหม่ เป็นเหล็ก 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้มีโรงเรือน 600 หลัง จะพัฒนาไปเป็นสมาร์ทฟาร์ม จากเดิมโรงเรือนมีแค่หลังคาอย่างเดียว จะอัพเกรดเป็นโรงเรือนหมุนเวียนอากาศ หน้าร้อนอุณหภูมิข้างในจะเย็นกว่าข้างนอก 3-5 องศา ป้องกันแมลงได้
- หุ้นส่วนอีกคนเป็นใครคะ?
ชื่อ “ต้อง-วรเดช สุชัยบุญศิริ” เรียนม.ปลายมาด้วยกันนี่แหละครับ ช่วงแรกที่เราเริ่มทำก็มีผมกับโจ้ พอตัดสินใจจะเปิดร้าน โจ้ก็ชวนต้องมา ต้องเขาจบวิศวะจักรกลเกษตรที่ลาดกระบัง และเขาก็มีความรู้เรื่องเครื่องจักร มาช่วยดูเรื่องปุ๋ยออร์แกนิกที่เราผลิต เรานำเศษวัชพืชที่เหลือใช้ในร้าน ชุมชนมีกิ่งไม้ใบไม้เอามาส่งที่เรา เอาเข้าเครื่องจักรผลิตปุ๋ย เพราะเราอยากจะส่งเสริมเรื่องลดการเผา เป็นที่รู้กันเลยเดือนพฤศจิกายน เชียงใหม่เริ่มมีควันมาแล้ว ตอนนี้ก็จับมือกับชุมชน เทศบาลสันทรายที่เราอยู่ ชาวบ้านมีเศษกิ่งไม้ใบไม้ เปลือกแตงโม ฯลฯ มาส่งเรา 1 กระสอบแลกกับปุ๋ยที่เราทำ 1 กระสอบ เราซื้อเครื่องจากยุโรปแพงมากเหมือนกัน(ราคาประมาณ 10 ล้านบาท) ก่อนหน้านั้นเราใช้จอบ ใช้มือรดน้ำ พอปริมาณมากขึ้น ก็เลยหาเครื่องมือมาทุ่นแรง
- ลงทุนเยอะแบบนี้จะคุ้มค่าเหรอคะ
ถามว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนไหม ไม่คุ้มครับ แต่มันสามารถตอบโจทย์เราได้ ในเรื่องช่วยเหลือชุมชน ลดมลพิษ ในระยะยาวมันโอเค เราก็ได้ภาพที่ดีด้วยว่าเราช่วยเหลือชุมชน ช่วยลดขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้มาได้ 4-5 ปีแล้วครับ สองวันผลิตได้ 10 ตัน ตู้หนึ่งสามารถเข้าได้ 15 ตัน ผมว่าในแต่ละจังหวัดอย่างริมน้ำเจ้าพระยามีจังหวัดละเครื่อง เอาเศษผักตบมาทำปุ๋ยแล้วเอาไปแจกจ่าย ย่นระยะเวลาในการสับ ในการหมักไปเยอะเลยครับ เมื่อก่อนเราหมัก 60 วัน ถ้าเป็นใบไม้สดใช้เวลา 3-4 เดือน การปลูกผักในฟาร์มของผมต้องอาศัยปุ๋ยหมักเป็นหลักเลย จากวันหนึ่งใช้ไม่กี่สิบกิโล เป็นร้อยกิโล ตอนนี้ใช้วันละ 1 ตันเลยครับ ถ้าไม่มีเครื่องนี้ผมก็ไม่สามารถผลิตผักออกมาเสิร์ฟได้เพียงพอ เหมือนมันมาเสริมซึ่งกันและกันครับ เราสามคนก็แบ่งหน้าที่กันดู
- ถ้าอยากประสบความสำเร็จแบบ “โอ้ กะ จู๋” ควรมีคุณสมบัติอย่างไร
โจ้-จิรายุทธ: ตั้งแต่สมัยเรียน คำว่า “เกษตรต้องอดทน” ตลอดระยะเวลา 5 ปีกว่าเราต้องทำงานกันหนักมาก กว่าจะเริ่มลงตัว ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นะครับ แต่ก็ดีกว่าช่วงแรกๆ มาก ตอนแรกใช้เวลาอยู่ในร้านวันหนึ่งเกิน 15 ชั่วโมง บางวันอยู่ในฟาร์มตั้งแต่ตอนเช้า ตกเย็นเข้ามาที่ร้าน จนร้านปิดเก็บของเรียบร้อย ตอนเช้าก็ต้องมาก่อนพนักงาน ป๊าก็ปลูกฝังว่าเราเป็นเถ้าแก่ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง
อู๋-ชลากร: ผมก็เห็นคล้ายๆ โจ้ เราตั้งความฝันไว้แล้วก็ต้องค่อยๆ เดิน ค่อยๆ ไปให้ถึงความฝันอย่างช้าๆ แต่มั่นคง เพราะถ้าเราตัดสินใจไวเกินไป ใจร้อนเกินไป ก็อาจจะต้องกลับมาแก้ไข ค่อยๆ ไปดีกว่า ก็คุยกันกับโจ้ว่าเวลาจะเปิดสาขาเราค่อยๆ ทำดีกว่าเนอะ ถ้าเปิดทีเดียว 10 สาขา ถ้ามีสาขาไหนไม่เวิร์คอาจจะผิดพลาดเรื่องการบริการ คุณภาพ หรือผลผลิตไม่พอก็เสียชื่อ เรามองว่าเราเป็นเด็กบ้านนอก ไม่ได้มองว่าเราเป็นยักษ์ใหญ่ไม่ได้แข่งกับใคร
โจ้-จิรายุทธ: บางคนก็บอกว่าเราประสบความสำเร็จเร็วเพราะมีต้นทุนที่ดี แต่ที่คุณพ่อยกที่ให้ทดลองทำท่านบอกว่าเหมือนกับส่งเราเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก โดยการลงมือทำ เราโชคดีตรงที่เขาเห็นด้วย แต่ถ้าเรามีต้นทุนที่ดีแล้วเราไม่อดทน ไม่ได้ตั้งใจทำ มันก็สูญเปล่า ถ้าเรามีต้นทุนที่ดีมุ่งมั่นตั้งใจทำก็จะประสบผลได้
อู๋-ชลากร: น้องๆ ที่มีความฝัน ลงทุนครั้งแรกกับพื้นที่เกษตรไม่ต้องเยอะ พวกผมลงทุนแค่หลักหมื่น ป๊าเริ่มให้โอกาสพวกเราเริ่มแค่เงิน 5 หมื่น จ้างรถไถ สร้างระบบน้ำ ห้องน้ำ ทั่วไปก็เช่าที่ไร่หนึ่งไม่กี่พันบาท ถ้าใครจะเริ่มจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมายมหาศาล อุปสรรคมีแน่นอน แต่เราต้องอดทนครับ