ถอดบทเรียนเคส ‘รองอธิบดีกรมควบคุมโรค’ รู้ทัน ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’

ถอดบทเรียนเคส ‘รองอธิบดีกรมควบคุมโรค’ รู้ทัน ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’

เช็คสัญญาณของอาการ "หัวใจวายเฉียบพลัน" จากเคสรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่เกิดขึ้นในงาน "วิ่งมาราธอน" พร้อมทั้งรู้ทันอาการ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนจะสายเกินไป

การจากไปของ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หนึ่งในทีมสู้โควิดประเทศไทย ที่เสียชีวิตจากภาวะ "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน" เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 โดยหมดสติในงาน "วิ่งมาราธอน" ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเกี่ยวกับ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน กันอีกครั้ง

160672394266

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นฆาตกรอันดับ 3 ที่คร่าชีวิตผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง และทุกชั่วโมงคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน 2 ราย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมสาเหตุ และการเช็คสัญญาณของอาการ หัวใจวายเฉียบพลันพร้อมทั้งวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้รู้ทันอาการนี้ก่อนสายเกินไป

160672395947

  • สาเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน

สถิติของผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำกิจกรรมการแจ้ง อย่างเช่นการเดินป่าขึ้นเขา หรือ วิ่งมาราธอน

กระทรวงสาธารณสุข อธิบายสาเหตุของหัวใจวายเฉียบพลันว่า เกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งร่างกายมีภาวะไขมันมากเกินไป จนพอกเป็นตะกรันเกาะผนังหลอดเลือด จนทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและตายอย่างเฉียบพลัน ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ ก็จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

  • เช็คสัญญาณอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

โดยอาการของผู้ป่วยจะมี อาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ อาจจะปวดร้าวไปถึงคอ ขากรรไกร ไหล่ หรือแขนด้านซ้าย จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หายใจถี่ มีเหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย หมดสติ ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณวิกฤติของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ใกล้บ้านโดยด่วน แต่ถ้าลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

  • วิธีการเติมเต็มหัวใจให้แข็งแรง

หากไม่ต้องการตกอยู่ในภาวะของ "หัวใจวายเฉียบพลัน" การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้อง สามารถป้องกันหัวใจวายเฉียบพลันได้ คือ

1.รับประทานอาหาร ลด หวาน มัน เค็ม อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เค้ก เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส อาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด และอาหารปิ้งย่าง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูงจนไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ และเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

2.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "อ้วน" ก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง และเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดจากการมีไขมันในหลอดเลือดมาก ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตติดขัด กระทั่งหัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย และไม่ออกกำลังกายมากเกินไป การออกกำลังกายมากเกินไปจะเพิ่มภาระให้ระบบหัวใจและปอดต้องทำงานอย่างหนัก กระทั่งสูญเสียความสามารถในการทำงาน กล้ามเนื้อหัวใจตายลงไปในที่สุด ฉะนั้นหากออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อยเกินพอดี (เหนื่อยหอบจนไม่สามารถพูดคุยได้แม้แต่คำสั้นๆ) แนะนำให้ชะลอการออกกำลังกาย และหยุดออกกำลังกายทันที

160672410334

4.ไม่สูบบุหรี่ คนที่สูบบุหรี่จัดๆ จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว มีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง จนเกิดภาวะหัวใจขาดออกซิเจน เส้นเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

5.ความเครียดและการทำงานหนักมากเกินไป เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติมากที่สุด เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงมีไขมันมาเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดได้ โดยเฉพาะคนที่มีความเครียดมากๆ

  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบเห็นคนหัวใจวายเฉียบพลัน

เมื่อเรารักษาหัวใจตัวเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้ว แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หากจะเกิดกรณีหัวใจวายเฉียบพลันฉุกเฉินต่อผู้คนอื่นๆ ทุกนาทีมีค่าเสมอ ดังนั้นวิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็จำเป็นต้องเรียนรู้เช่นเดียวกัน

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ

  • พยายามเรียก หรือเขย่าตัวว่า ผู้ป่วยยังมีสติอยู่หรือไม่
  • หากผู้ป่วยยังมีสติอยู่ควรให้อยู่นิ่งๆ งดการเคลื่อนไหว งดการใช้แรงจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ
  • ติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น หรือโทรติดต่อ 1669 หรือโรงพยาบาล หรือทีมกู้ภัยใกล้เคียงทันที
  • หากผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้เอง ให้ปฐมพยาบาลด้วยการเป่าลมเข้าปอดด้วยวิธีเป่าแบบปากต่อปากพร้อมกับดันหน้าผากและดึงคาง หรือการเป่าแบบปากต่อปากขณะยกขากรรไกรล่าง แต่ละแบบให้เป่าครั้งละ 2 วินาที แล้วถอนปากออกมาให้ลมหายใจออกผ่านกลับออกมาทางปาก โดยขณะช่วยหายใจทางปากให้ใช้มือบีบจมูก ไม่อย่างนั้นแล้วลมจะไม่เข้าปอด
  • กดหน้าอก เริ่มด้วยการหาตำแหน่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก วางนิ้วมือทั้งสองถัดจากจุดนั้นขึ้นไป แล้ววางมือทาบอกบนอีกมือหนึ่ง โดยอาจประสานนิ้ว หรือไม่ก็ได้ จากนั้นกดหน้าอกแล้วปล่อย ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง เวลากดอย่างอแขน โน้มตัวไปข้างหน้าให้ช่วงไหล่อยู่เหนือร่างผู้หมดสติเพื่อให้ทิศของแรงกดดิ่งลงสู่หน้าอก
  • เป่าลมเข้าปอด 2 ครั้ง สลับกับกดหน้าอก 30 ครั้ง อย่างน้อย 4 รอบ ถ้ายังไม่ได้สติก็ทำซ้ำอีก 4 รอบ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว หรือจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง
  • หากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillators: AED) สามารถนำมาใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

เครื่อง AED ทำงานด้วยการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจให้บีบตัวเป็นจังหวะ ควรปฏิบัติตามคู่มือที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ และระหว่างใช้งานควรทำการปั้มหัวใจเพื่อกู้ชีพควบคู่กันไป เมื่อกู้ชีพผู้ป่วยได้แล้ว ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าพักฟื้นและจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ