เคลียร์ชัด 'ประกันรายได้' ยางพารา 'บัตรเขียว-บัตรชมพู' ได้สิทธิทุกคน!
ไขประเด็นโครงการ "ประกันรายได้" เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ทำไมถึงไม่สามารถจ่ายเงินส่วนต่าง ครั้งที่ 1 ได้ตามกำหนดเวลาภายใน พ.ย.2563? และใครได้สิทธิบ้าง?
ไขประเด็นปัญหา "ประกันรายได้" ให้กับชาวสวนยาง หรือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ทำไมถึงยังไม่สามารถโอนเงินส่วนต่างครั้งที่ 1 ได้ภายในกำหนดเวลาเดือนพฤศจิกายน 2563? และเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มบัตรสีชมพู หรือเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีสิทธิในโครงการนี้หรือไม่?
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงประเด็นความล่าช้าของการจ่ายเงินส่วนต่าง ครั้งที่ 1 ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,042.82 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยาง 1.8 ล้านราย
โดยตามความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างราคายางเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ ต.ค.63 - มี.ค.2564 แต่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ ธ.ก.ส. ยังไม่สามารถโอนเงินส่วนต่างครั้งที่ 1 ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนตามกำหนดเวลา เนื่องจากสำนักงบประมาณติดขัดประเด็นเรื่องเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มบัตรสีชมพู
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สรุปให้เป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 1 คือ เกษตรกรชาวสวนยางทั้งบัตรสีเขียวและบัตรสีชมพูที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และผ่านการตรวจสอบรับรองเรียบร้อยจะได้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 ทุกคน
- เปิดไทม์ไลน์ขั้นตอน "ประกันรายได้" ยางพารา
- นายกรัฐมนตรีได้แจ้งผลการหารือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.63
- กยท.มีหนังสือประสานไปยังสำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ เพื่อจะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรชาวสวนยางต่อไป
- กยท.ส่งรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วให้กับ ธ.ก.ส.ชุดแรก
- พร้อมโอนเงินส่วนต่างครั้งที่ 1 ภายในสัปดาห์หน้า ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จากรัฐบาล
- ในเดือนมกราคมปีหน้าก็จะโอนจ่ายสำหรับงวดต่อไปจนครบ 6 งวด 6 เดือน ตามกรอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการประกันความเสี่ยงด้านรายได้ในภาวะที่ราคายางมีความผันผวน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ในกรณีที่ราคายางตกต่ำ ในช่วงวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ทั้งเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง โดยมีหลักเกณฑ์และข้อกำหนด ดังนี้
ราคายางที่ใช้ประกันรายได้แต่ละชนิด (บาท/กิโลกรัม)
1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม
2.น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม
3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม