‘พิเชษฐ กลั่นชื่น’ กับภาษาร่างกายเพื่อ 7 ทศวรรษแห่ง ‘สิทธิมนุษยชน’

‘พิเชษฐ กลั่นชื่น’ กับภาษาร่างกายเพื่อ 7 ทศวรรษแห่ง ‘สิทธิมนุษยชน’

“พิเชษฐ กลั่นชื่น” นำสนธิสัญญาหลักด้าน “สิทธิมนุษยชน” 7 ฉบับ มาสื่อสารด้วยท่าเต้นออกมาเป็นการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยชื่อ “7” ในงาน “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เนื่องใน “วันสิทธิมนุษยชน” 10 ธ.ค.ของทุกปี

วันที่ 7-8 ธันวาคม 2563 จะเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ศิลปะ มีความเชื่อมโยงกับ สิทธิมนุษยชน อย่างปฏิเสธไม่ได้ นอกจากทั้งสองสิ่งนี้จะมีความเป็นสากลเช่นเดียวกันแล้ว ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ‘ศิลปะยังได้รับการดัดแปลงให้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงปัญหาและความเป็นไปในสังคม รวมทั้งสะท้อน เรื่องราวและความรู้สึกของผู้คนที่ถูกกดทับด้วยค่านิยมดั้งเดิมที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่บิดเบี้ยว และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ชาติพันธุ์ สีผิว สถานะทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ

ในทางกลับกัน เป็นการยากที่ ‘ศิลปะ จะเจริญรุ่งเรืองได้ในสังคมที่ปิดกั้นหรือควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก

แต่หากสังคมใด ยกย่อง-เชิดชูสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเต็มที่แล้ว ศิลปินย่อมแสดงออกซึ่งความคิดและความรู้สึกต่อความเป็นไปในสังคมผ่านงานของพวกเขาได้อย่างเสรี อันจะยังประโยชน์ให้แก่ทั้งผู้เสพงานศิลปะและสังคมในวงกว้าง

การเต้นรำแบบ contemporary dance หรือ นาฏศิลป์ร่วมสมัย เป็นทั้งการแสดงออกและศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถก้าวข้ามทั้งกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรมได้ในเวลาเดียวกัน

ในต่างประเทศ นักออกแบบท่าเต้นมืออาชีพ จำนวนมาก ใช้ศิลปะการเต้นรำแบบ ’นาฏศิลป์ร่วมสมัยเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงความอยุติธรรมในสังคมหรือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ทั้งที่เขาต้องประสบด้วยตัวเอง และที่ผ่านการบอกเล่าโดยผู้อื่น

ในเมืองไทย พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้รับการคัดเลือกจาก ‘คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย(อียู)’ และ ‘กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม’ ให้เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน ผ่านการแสดงนาฎศิลป์ร่วมสมัย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ วันสิทธิมนุษยชน ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี และส่งเสริมให้สังคมไทยมีความตื่นตัวต่อ ‘สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน’ ที่มนุษย์ทุกคนมีเสมอกันมาตั้งแต่กำเนิด

160714612922

พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินนักเต้นโขนและนักเต้นร่วมสมัยไทย

พิเชษฐ กลั่นชื่น เป็นนักเต้นชาวไทยผู้สามารถนำนาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงร่วมสมัยมาผสมผสานกันได้อย่างงดงามและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะต่างยุคสมัยโดยที่ไม่ละทิ้งหัวใจและภูมิปัญญาของวัฒนธรรมแบบเก่า

เส้นทางการเป็นนักเต้นร่วมสมัยมืออาชีพของเขาเริ่มต้นเมื่ออายุ 16 ปีด้วยการฝึกโขนจาก ‘ครูไชยยศ คุ้มมณี’ หนึ่งในพ่อครูโขนอาวุโสที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งของไทย

พิเชษฐได้รับเกียรติให้ไปแสดงในฐานะนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นชาวไทยในเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติทั้งในอเมริกาเหนือ เอเชีย และยุโรป ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลกมากมาย อาทิ รางวัล Routes’ ECF Princess Margriet Award for Cultural Diversity จาก European Cultural Foundation ในปีพ.ศ.2551 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ศิลปินหรือนักคิดที่มีส่วนช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง

ในปีพ.ศ.2557 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สาขาศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier of the French Arts and Literature Order) จากรัฐบาลฝรั่งเศส จากผลงานสรรค์สร้างซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะนานาชาติ และในปี 2556 ก็ได้รับรางวัล John D. Rockefeller 3rdAward จาก Asian Cultural Council สำหรับคุณูปการที่สำคัญต่อการสร้างความเข้าใจ การปฏิบัติ-การศึกษาด้านทัศนศิลป์ หรือศิลปะการแสดงของเอเชียในระดับนานาชาติ

สำหรับการแสดงนาฎศิลป์ร่วมสมัยเพื่อสื่อสาร ‘สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน’ พิเชษฐตั้งชื่อการแสดงชุดนี้ว่า ‘7’ มีทั้งหมด 7 ฉาก เท่ากับจำนวนสนธิสัญญาที่ไทยให้สัตยาบันไว้ รวมระยะเวลาการแสดงประมาณ 2 ชั่วโมง

160714628439

'นก' จะเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิและเสรีภาพ และอิสรภาพ เป็นสัญลักษณ์ของการเล่าเรื่องทุกฉาก (ภาพจากรอบ rehersal)

:: นำ ‘สิทธิมนุษยชน’ มาตีความและออกแบบเป็นท่าเต้น-สื่อผ่านสัญลักษณ์ ‘นก’

“เราจำลองบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเชิงคอรีโอกราฟี่ขึ้นมา(Choreography) ศิลปะทำหน้าที่ในการจำลองและสร้างจินตนาการผ่านหลักการของศิลปะลงไปในพื้นที่ของเวที นี่คือสิ่งที่เป็นหน้าที่ของคนสร้างงานศิลปะในโรงละคร  เรามีอุปกรณ์ การเต้น สถานการณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง

ผมสารภาพนะครับ ว่าจริงๆ ยากมากกับการพูดถึงเรื่องหนักๆ ขนาดนี้ 7 ท็อปปิก(topic -หัวข้อใหญ่) ผมว่าท็อปปิกหนึ่งก็หนึ่งโปรดักชั่น โฟกัสแต่ละท็อปปิกเป็น 7 โปรดักชั่น ที่นี้เราก็มานั่งดูว่าเราจะสรุปรวมทั้ง 7 สนธิสัญญามาให้รับรู้ทั้งหมดได้อย่างไร

จึงนำมามาสู่กระบวนการสร้างสัญลักษณ์ในโชว์นี้ที่เราจะเห็นอยู่ตลอดเวลา คือ ‘นก

นกจะเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิและเสรีภาพ และอิสรภาพ เป็นสัญลักษณ์ของการเล่าเรื่องทุกฉาก แต่ว่าการเข้ามาเกี่ยวข้องของนกจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสนธิสัญญานั้นๆ”

:: ออกแบบ 'ภาษาร่างกาย' โดยศึกษาเนื้อหาแต่ละสนธิสัญญา

“เราดูแต่ละสนธิสัญญาจะมุ่งเน้นอะไร เวลาเราลงรายละเอียด..จะเยอะ เราจึงจับประเด็นใหญ่ของสนธิสัญญา ดูว่าอันไหนเราอยากหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาพูดเป็นหลัก

เช่นสนธิสัญญาว่าด้วย ผู้พิการเราพยายามสร้างความรู้สึกหรือรูปแบบอีกแบบของผู้พิการขึ้นมา แล้วใช้สิ่งที่เรามีความแม่นยำหรือคุ้นชิน คือการใช้ร่างกาย

เราทำรีเสิร์ชของผู้ใช้วีลแชร์ (เก้าอี้มีล้อสำหรับผู้พิการขา) เวลาที่เขาต้องเคลื่อนที่โดยขาด้านล่างใช้การไม่ได้และไม่มีวีลแชร์ เขาเคลื่อนที่อย่างไร และเราเก็บรายละเอียดเหล่านั้นมาสร้างเป็นท่าเต้นทั้งหมดในซีนนี้ เพื่อให้เห็นว่าคนพิการมีชุดของภาษาร่างกายของเขาเองอีกแบบ

เราคุ้นชินกับชุดภาษาของเรา เวลาเราเห็นเขาเรารู้สึกถึงความน่าสงสาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับเวลาเราเห็นคนเขียนหนังสือสวย เราก็ชื่นชม แต่ถ้าเห็นคนเขียนไม่สวย เราก็ปฏิเสธว่ามันไม่สวย

เรามองเป็นชุดองค์ความรู้อีกชุดในฐานะนักเต้นคนที่สนใจเรื่องร่างกาย เรามองว่าเป็นความงามอีกแบบ นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่สำคัญมาก ว่าเขามีชุดความงามของเขา

ประเด็นที่สองที่สำคัญคือ ในหลักการของศิลปะในโรงละคร เรายังคงมีความเชื่อว่า บุคคลที่จะอยู่ในโรงละครได้และเป็นนักแสดงได้ ต้องหน้าตาดี ร่างกายถูกฝึกมาสวยและสมบูรณ์ เราจะปฎิเสธคนกลุ่มนี้(ผู้พิการ)ให้ขึ้นไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงบนเวที เป็นหลักการที่ผมขอใช้คำว่าเก่าและโบราณมาก ซึ่งในแวดวงศิลปะที่โลกตะวันตกทำในปัจจุบัน เรามีอีกชุดความคิดหนึ่งเรียกว่า ดิสเอเบิล เธียเตอร์ (disable theater) สำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ มีโปรดักชั่นเฉพาะผู้มีร่างกายท่อนบน แล้วเขาสร้างชุดมูฟเมนต์อีกแบบให้เรา เป็นอีกชุดของภาษาที่เราต้องมองและยอมรับกติกา”

  160714659325

"ผมมองว่าชาติพันธุ์คือมนุษย์ทั้งโลกแทนนกที่บินอยู่บนท้องฟ้า" : พิเชษฐ กลั่นชื่น

:: การนำเสนอ ‘สิทธิที่จะหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ’

“เราแทนค่าด้วย ‘สีของนก เราใช้นกที่มีสีที่แตกต่างกันและความเป็นอิสระ คือสัญลักษณ์ของ ชาติพันธุ์

ชาติพันธุ์ในความหมายของผมคือผมมองกว้างกว่านั้น ผมไม่ได้มองแค่ชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่มีสี่กลุ่ม ผมมองว่าชาติพันธุ์คือมนุษย์ทั้งโลกแทนนกที่บินอยู่บนท้องฟ้า เรามองเห็นความเป็นอิสระและเสรีภาพในทุกภาคส่วนของความเป็นมนุษย์”

160714688079

การแสดงออกเพื่อนำเสนอ ‘สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือตกเป็นเหยื่อของการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี’

:: การตีความ "สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานฯ"

“สนธิสัญญาข้อนี้มีประเด็นมุ่งเน้นไปที่ ‘เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน กักขังหน่วงเหนนี่ยว ย่ำยีศักดิ์ศรี คำถามคือเจ้าหน้าที่รัฐทำสิ่งนี้ได้อย่างไร หรือทำไมกล้าทำสิ่งนี้  คำตอบคือสิ่งเดียวครับ คือเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นกฎเสียเอง

ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎและกติกา ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นกฎเสียเอง เป็นผู้ตัดสินเสียเอง และเป็นเจ้าของการชี้ผิดชี้ถูกของกฎกติกานั้น นั่นแหละครับเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเบี่ยงเบนความถูกต้องของหลักการ

ในฉากนี้ เราจะมองเห็นว่าเสรีภาพและอิสรภาพจากนกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่ต้น เจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นนกเสียเอง เขาแปลงร่างเป็นนกยักษ์ เป็นผู้กำหนดเสรีภาพเอง กำหนดทิศทางเอง”

160714894069

พิเชษฐ กลั่นชื่น ให้สัมภาษณ์ที่โรงละครช้าง ย่านทุ่งครุ

:: '3 นาง' จากวรรณกรรม เรียกร้อง ‘สิทธิของสตรีที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติฯ’

พิเชษฐ หยิบเรื่องราวของ 'สตรี' ที่ถูกกระทำในวรรณกรรมเรื่อง 'รามเกียรติ์' มาพลิกมุมมองในอีกด้าน เพื่อนำเสนอการสื่อสารในฉาก ‘สิทธิของสตรีที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันไม่ว่าในรูปแบบใด’

“เรามีเด็กผู้หญิงสองคนพูดคุยกันว่ารู้จักรามเกียรติ์ไหม เด็กจะพูดคุยว่ารู้จักรามเกียรติ์ในแง่มุมไหนบ้าง ตัวละครตัวไหนที่เขาชอบบ้าง ระหว่างที่พูดคุยกันอยู่ จะมีตัวละครที่แต่งชุดนางในรามเกียรติ์ 3 ตัว ขึ้นมาบนเวที สีดา เบญกาย สำมนักขา ทุกคนจะมีป้ายถือไว้แทนคำพูด 

นางสีดา เขียนว่า ‘ฉันถูกคนที่เป็นพ่อสั่งฆ่าในวันที่ฉันเกิด ฉันถูกคนที่เป็นพ่อบุญธรรมจับฝังไว้ในดิน 16 ปี ฉันถูกผู้ชายคนที่บอกว่ารักฉัน จับฉันขังไว้ในสวนขวัญ 14 ปี และฉันถูกผู้ชายที่แต่งงานด้วยขังไว้อีก 285 ปีในวรรณกรรมรามเกียรติ์

นางเบญกายชูป้าย ‘ฉันถูกข่มขืนในสงครามเพราะถูกหนุมานข่มขืน แต่เราเวลาอ่านวรรณกรรม เรารู้สึกสนุกสนานที่ผู้หญิงถูกกระทำแล้วรู้สึกว่าลิงทำถูก ซึ่งผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมทุกคนยอมรับกติกานี้

นางสำมนักขา ชูป้ายบอกว่า ‘ฉันหลงรักผู้ชายคนหนึ่ง แล้วเขามองว่าความรักที่ฉันมีอยู่เป็นความผิด สองคนพี่น้องตัดสินฉันด้วยการตัดจมูกฉัน ตัดหูฉัน ตัดขาฉัน

สามคนชูป้ายพร้อมกันว่าเราขอเรียกร้องสิทธิอยากให้ถอดถอนเราออกจากวรรณกรรมรามเกียรติ์ เป็นผู้หญิงสามคนที่เรียกร้องสิทธิของตัวเอง

ทำไมเป็นผู้หญิงสามคนนี้ เพราะประเทศนี้เป็นประเทศที่ทุกคนรู้จักวรรณกรรมรามเกียรติ์เป็นอย่างดี และเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมหรือชีวิตของเราอย่างหนักมาก การพูดถึงผู้หญิงเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะขณะที่เด็กสองคนถามว่ารู้จักรามเกียรติ์ไหม..รู้จัก ถามว่าชอบตัวละครตัวไหน ชอบ...สีดา เห็นไหมครับวัฒนธรรมที่สอน กับความเป็นจริงที่เราอ่านวรรณกรรม เป็นคนละเรื่อง

เป็นการเสนอมุมมองของเราเองในฐานะที่เราอยู่กับศิลปะที่เป็นโขนละคร และส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาข้อที่สองพูดด้วยประเด็นเรื่อง ‘สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม อันนี้ถือว่าเป็นวัฒนธรรรมที่เราพยายามจะบอกว่าวัฒนธรรมต้องถูกทำความเข้าใจใหม่หรือเปล่า หรือวัฒนธรรมมีส่วนกดทับคนในสังคมในความคิดในการดำเนินชีวิตมากน้อยแค่ไหน”

160714764467

พิเชษฐ กลั่นชื่น ในเครื่องแต่งกาย 'คนไร้บ้าน'

:: การทำงานทุกฉากผ่านการพูดคุยกับใครบ้าง

“ลำดับที่หนึ่ง วันที่ผมได้รับโจทย์จาก ‘อียูให้ทำเรื่องนี้ ผมรีเสิร์ชสารคดีและสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง มีใครเจอปัญหาในเรื่องสิทธิเหล่านี้บ้างในสังคม แล้วเราก็หยิบตัวอย่างในสิ่งที่เขาเจอ เช่น ในสนธิสัญญาข้อที่หนึ่ง (สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) ก็จะมีข้อย่อยอยู่ข้างใน เช่นเรื่อง สิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เราพบคู่แต่งงานผู้ชายด้วยกัน เขาก็พูดถึงว่าเขาเจอปัญหาอะไรบ้าง ประสบเหตุอะไรบ้างกับคนรอบตัว เป็นข้อมูลที่เราเก็บจากความจริงทั้งหมด แล้วเราก็นำมาใช้

เราเก็บข้อมูล แต่เราไม่ได้ใช้บนเวทีทุกคน แต่มีคนหนึ่งที่เราเก็บมาใช้ พูดถึงสิทธิมนุษยชนฉบับที่สอง (สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) เป็น คนไร้บ้าน จะเป็นฉากที่สามของโชว์ ผมไม่ได้เรียงการแสดงตามสนธิสัญญา เราเอาคลิปเสียงจริงของเขามาใช้บนเวที เขาพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับตัวเอง เช่น เขาบอกว่าเขาไม่มีบัตรประชาชน เขาทำงานไม่ได้ และในเชิงวัฒนธรรมที่ค่อนข้างรุนแรงมาก เขาพูดว่าเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยพระ

เรามีความไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเป็นสูงมาก เขาก็อธิบายว่าทำไมเขาไม่อาบน้ำ ทำไมเขาไม่นอนตอนกลางคืนแต่นอนตอนกลางวัน ดูเหมือนคนขี้เกียจ

เขาบอกว่าตอนกลางคืนอันตราย เขาต้องตื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะมีคนมาทำร้ายตอนกลางคืน แต่กลางวันมีคนเดินไปเดินมาตลอดเวลา เขานอนได้

เขาไม่อาบน้ำเพราะคนจะได้ไม่มายุ่งกับเขาและไม่โดนทำร้าย เพราะความสกปรกทำให้คนถอยห่าง เพราะเขาไม่มีพื้นที่ ไม่มีกรอบที่จะป้องกัน เขาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

เขาอธิบายกฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจของเขาเองที่น่าสนใจ ว่าว่าเขาจะอยู่ได้อย่างไรในขณะที่เขาเป็นคนไร้บ้าน เขาบอกเลยว่าเดือนนี้ถึงเดือนนี้มีเทศกาลเทกระจาดที่ตรงนี้ คุณจะหาเงินได้จากตรงนี้ เดือนนี้ถึงเดือนนี้เป็นงานบวช คุณจะไปเก็บตังค์ที่เขาโปรยทานได้ที่นี่ เดือนนี้ถึงเดือนนี้ไม่มีงาน คุณต้องไปที่ตรอกเล้าหมูเพื่อไปทำงานกับช่าง”

160715011639

สัญลักษณ์ในโชว์นี้ที่เราจะเห็นอยู่ตลอดเวลา คือ ‘นก’

:: ความรู้สึกที่ได้นำเสนอผลงานชิ้นนี้

“ความท้าทาย...คือทำอย่างไรผมจะรวม 7 ประเด็นนี้อยู่บนเวทีให้ได้ ผ่านความเข้าใจในลำดับหนึ่ง สอง สาม สี่...ของคนดูให้ได้ สำหรับผม..การทำให้คนรับรู้ว่ามีสิทธิ 7 ข้อนี้อยู่ และ 7 ข้อนี้เรามีสิทธิ์ต่างๆ คือประเด็นที่ผมต้องการสำหรับตอนนี้”

160714787711

ภาษาร่างกายผสานการใช้อุปกรณ์ เพื่อสื่อสารเนื้อหา

:: ภาษาท่าเต้นที่นำมาใช้เพื่อสื่อสารในการแสดงชุดนี้

“ต้องอธิบายว่า ภาษาท่าเต้นแยกออกเป็นหลายๆ ส่วน พอเราพูดถึงงานประเพณี งานแบบโมเดิร์นดานซ์ งานแบบร่วมสมัย จะมีชุดภาษาการเต้นที่แตกต่างกัน

ยุคแรก คือการเต้นที่เป็นแบบ งานประเพณี ชุดของภาษาการเต้นหรือร่างกายจะทำงานสอดคล้องกับดนตรีและภาษา เช่น รามเกียรติ์ ต้องมีดนตรีต้องมีเนื้อร้องก่อน ถึงจะรำได้ เราดูเอาเรื่องราว

ยุคที่สองเป็น โมเดิร์นดานซ์ เป็นยุคของช่วงอุตสาหกรรม จึงเป็นระบบเทคนิคทั้งหมด เป็นความมหัศจรรย์ เป็นการฉีกขา เป็นการกระโดด เป็นการสร้างเทคนิคใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ชุดของภาษาไปในทางเทคนิค เราดูเอาความงาม

ยุคที่สาม การเต้นแบบร่วมสมัย เราดูเอาประสบการณ์ ชุดเทคนิคร่างกายที่ใช้..เปิดกว้างมาก คุณสามารถนำวิธีการคลาสสิก(งานประเพณี)มาใช้ก็ได้ วิธีการแบบโมเดิร์นดานซ์มาใช้ก็ได้ หรือเอาสิ่งที่เรียกว่า ‘พฤติกรรมที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมาใช้ก็ได้ ที่เราเรียกว่าฟิสิกส์คอลเธียเตอร์

แต่ละซีนจะหยิบภาษาท่าเต้นมาใช้แตกต่างกัน ผมยกตัวอย่าง ‘สิทธิคนพิการเราใช้เทคนิคเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นฉากที่หนึ่ง(สิทธิเชื้อชาติ)มีความเป็นเทรดิชั่นอยู่สูงมาก คือเป็นลอยๆ ฝันๆ ทำให้คนรู้สึกมีความสุข ฉากสุดท้าย(สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานฯ) จะบวกรวมความเป็นโมเดิร์นดานซ์ คอนเทมโพรารี่และเธียเตอร์ มีเรื่องราว อุปกรณ์ เทคนิคการเต้น”

160714910516

:: สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ

สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับที่ประเทศไทยให้สัตยาบันนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครอง

(1) สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

(2) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

(3) สิทธิของสตรีที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันไม่ว่าในรูปแบบใด

(4) สิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครอง ร่างกาย ชีวิต เสรีภาพและสวัสดิภาพ

(5) สิทธิที่จะหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ

(6) สิทธิของคนพิการ

(7) สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือตกเป็นเหยื่อของการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

นี่เป็นครั้งที่สองที่ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ครั้งแรกเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2562 ในรูปแบบการจัดนิทรรศการศิลปะสื่อผสมภายใต้ชื่อ The Art of Human Rights (ศิลปะกับสิทธิมนุษยชน) โดยมีสองศิลปินคลื่นลูกใหม่ นักรบ มูลมานัส และ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะตัดแปะ (collage art) และศิลปะการจัดวาง (installation art) เพื่อสื่อสารถึงหลักการของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิเด็ก ความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย สิทธิในการทำงาน สิทธิคนพิการและบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนเสรีภาพในการนับถือศาสนาเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก จัดแสดงเป็นเวลา 10 วัน

160714754488

:: รอบการแสดง

สำหรับการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย ‘7’ โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น และนักเต้นจาก Pichet Klunchun Dance Company รวม 11 คน มีกำหนดเปิดการแสดงในงาน 7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน’ ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ถนนวิทยุ เวลา 18.00 น. วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563 รอบสื่อมวลชน นักการทูต ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผู้แทนจากภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่าง ประเทศ และนักศึกษาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมี ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย พร้อมทั้งนาย เรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ร่วมเปิดงาน

รอบ วันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2563 เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลัง การแสดงผู้ชมจะได้ร่วมสนทนากับคุณพิเชษฐอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่เกี่ยวกับความเชื่อมต่อระหว่างศิลปะการเต้นรำกับสิทธิมนุษยชน  ผู้สนใจเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซต์ engage.eu  ผู้โชคดี 50 ท่านเชิญรับของที่ระลึกพิเศษจากสหภาพยุโรป

 * * *