เบื้องหลัง ‘ชุดคนไร้บ้าน’ โดย ปิยพร พงษ์ทอง
"ปิยพร พงษ์ทอง" ตอบข้อสงสัย ทำไม "ชุดคนไร้บ้าน" ในการแสดง ‘7’ นาฏศิลป์ร่วมสมัยเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงดูพะรุงพะรังและทุลักทุเลแบบนี้
อีกหนึ่งองค์ประกอบในการแสดงชุด ‘7’ นาฏศิลป์ร่วมสมัยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ออกแบบท่าเต้นโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น และเปิดการแสดงเมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม 2563 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ถนนวิทยุ คือ เครื่องแต่งกาย ที่ต้องส่งเสริมการสื่อสารเนื้อหาที่นำเสนอ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคของนักเต้นในการเคลื่อนไหวร่างกาย
พิเชษฐ กลั่นชื่น กล่าวถึงภาพรวมของ ‘เครื่องแต่งกาย’ หรือ costume สำหรับการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยเพื่อสิทธิมนุษยชน ‘7’ ไว้ว่า
“ถูกแยกไปตามฉากนั้นๆ คอสตูมหลักๆ มีอยู่ด้วยกันสองส่วน คือ ‘ชุดที่เป็นสัญลักษณ์’ เช่น ท้องฟ้า กับ ‘ชุดตามคาแรคเตอร์’ เช่น นางในวรรณคดี ชุดคนไร้บ้านที่ดีไซน์ขึ้นมาใหม่ เราจะเห็นว่า ‘ชุดคนไร้บ้าน’ มีของเยอะแยะไปหมดที่เขาต้องแบกต้องหิ้ว เป็นบ้านเคลื่อนที่ ทุกอย่างที่แบกไปก็นำมาเป็นที่นอนได้มาใช้ได้ในชีวิต”
ผู้ทำหน้าที่แปลงคอนเซปต์ภาพรวมเครื่องแต่งกายให้เป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริงสำหรับการแสดงชุดนี้คือ บัว-ปิยพร พงษ์ทอง ซึ่งเคยทำงานออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับการแสดงของ พิเชษฐ กลั่นชื่น มาแล้ว 5-6 โปรดักชั่น
ปิยพร พงษ์ทอง สำเร็จการศึกษาด้าน Costume Design จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วย London College of Fashion ประเทศอังกฤษ กลับมาทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ให้แบรนด์ Fly Now III
“ไม่ได้หยุดนิ่ง หาสิ่งที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ” คือสิ่งที่ บัว-ปิยพร กล่าวถึงวิธีการทำงานออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับนักเต้นในการแสดง ‘7’
บัวใช้คำเรียก พิเชษฐ กลั่นชื่น ด้วยความเคารพว่า ‘ครู’ โดยเล่าว่า ครูจะพูดถึงภาพรวมคอนเซปต์ใหญ่ของการแสดง จากนั้นก็ร่วมกันทำและหารูปแบบ ‘เครื่องแต่งกาย’ ไปด้วยกัน ไม่ได้กำหนดตายตัว วันนี้ดูแล้วว่าเครื่องแต่งกายควรเป็นแบบนี้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เครื่องแต่งกายก็ต้องเปลี่ยน
“เราทดลองหารูปแบบเครื่องแต่งกายที่ใช่ไปเรื่อยๆ นี่คือวิธีการทำงานของที่นี่ ไม่ได้หยุดนิ่ง หาสิ่งที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำแล้วพอใจแค่นั้น บางชุดออกแบบไว้แล้ว แต่ไม่ตอบโจทย์ ยกเลิกไปเลยทั้งชุดก็มี”
โดยเล่าถึงการออกแบบเครื่องแต่งกาย ชุดท้องฟ้า ในฉากที่สะท้อนเนื้อหา ‘สิทธิที่จะหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ’ ไว้ว่า
“บัวบอกครูว่าควรเป็นเมฆ ครูบอกไม่อยากให้เห็นนักเต้น เราก็มาคิด การแสดงนี้เป็นคอนเทมโพรารี่ ไม่ควรดำ ชุดควรเป็นแบบนี้ พอมู้ฟเมนต์(movement)แล้วจะเป็นอย่างไร คือฉากนี้บัวเห็นมู้ฟเมนต์ก่อนแล้วบัวก็คิดถึงเมฆหมอก เวลาซ้อนกันก็จะเหมือนท้องฟ้าเคลื่อน พอครูเห็นชุด ก็บอกว่า เอากางออกมั้ย จะได้เห็นเป็นแผงท้องฟ้า”
หรือแม้แต่เวลาพิเชษฐเต้นเพื่อทดลองหาความหมาย บัวก็ต้องทำงานไปด้วย โดยต้องคอยดูการซ้อม ดูว่า ‘ครู’ มีความคิดใหม่ๆ อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ และตนเองจะทำอะไรกับความคิดนั้นได้อย่างไร คิดแล้วนำเสนอ เช่นในฉากจบที่นำเสนอ สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือตกเป็นเหยื่อของการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พิเชษฐมีทั้งภาพที่ชัดแล้วว่าอยากได้เครื่องแต่งกายอย่างไรสำหรับนักเต้นชาย และภาพที่ยังไม่ชัดสำหรับนักเต้นหญิง
“ซีนจบ ครูอยากได้ภาพผู้ชายประมาณนี้ แต่ยังไม่มีภาพผู้หญิงว่าเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเป็นคนถูกจองจำ ครูบอกอยากได้ลายทาง บัวก็เสนอไอเดียโดยความหมายต่างๆ แทนที่จะเป็นเสื้อผ้าคนคุก ชุดนักโทษปกติ หรือคนที่โดนจับจองจำ ทำไมเราไม่ทำเป็นชุดเอี๊ยมเด็กผู้หญิง ตอนแรกครูก็ไม่เอา แต่พอลองไปลองมา มันเกิดเหตุการณ์โน่นนี่..มันได้ พอครูเห็น..ก็ได้ ก็เหมาะ มาลองซีน..ก็เวิร์ค ความจริงชุดนี้จะอยู่ในซีนอื่น”
เครื่องแต่งกายที่โดดเด่นอีกชุดคือ ชุดไร้บ้าน ดูพะรุงพะรังที่พิเชษฐ กลั่นชื่น สวมใส่ด้วยตัวเองในการแสดงฉากที่ว่าด้วยเรื่อง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เสียสิทธิและไร้ซึ่งคุณภาพชีวิตทุกด้าน
บัว-ปิยพร เล่าถึงการทำงานออกแบบ ‘ชุดคนไร้บ้าน’ ให้ฟังว่า
“เรามีโปรดักชั่นที่ทำมาก่อนหน้านี้ที่ไปแสดงที่เฟสติวัลโตเกียวที่ญี่ปุ่น บัวทำบอลลูนขนาด 3-4 เมตร 30 กว่าตัวให้นักเต้น เราใช้รีโชว์มาเรื่อยๆ จนผุพัง พอเป็นคอนเซปต์โฮมเลส(homeless คนไร้บ้าน) เราก็มองหาวัสดุ ตอนแรกเอาขยะมาทำ เอาเศษผ้ามารีไซเคิลไหม เราเห็นชุดบอลลูนนี้มันก็คือรีไซเคิล เอาสิ่งที่เรามีอยู่ที่นี่มาทำใหม่ ก็ตอบโจทย์
เหมือนอย่างที่ครูบอก เราไม่อยากเข้าใกล้คนไร้บ้าน เรามองว่าเขาเป็นตัวประหลาด ก็เหมือนเป็นขยะ เท็กซ์เจอร์ชุดนี้มีความเป็นเหมือนถังขยะ
บัวอยากได้ ร่ม ครูโอเคมั้ย ครูก็ถามว่าทำไมร่ม ทำไมไม่ทำเต็นท์ให้ผมเลย บัวมองว่าเป็นร่ม ตัวเขาเองคือบ้านที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ครูจะเล่น(กับร่ม)ไปเรื่อยๆ ก็ได้ หรือจะถอดออกก็ได้ เหมือนออกจากบ้าน
ครูบอกอยากได้ กรงนก ให้สื่อสารกับซีนอื่นๆ เราก็จะเสริมกันไปเสริมกันมา เราจะคิดจากคอนเซปต์ก่อน แล้วเรามาดูเรื่องฟังก์ชัน ถึงแม้จะมีความทุลักทุเล แต่นั่นคือธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนไร้บ้าน เราต้องการสื่อสารก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหาทางเทคนิค จะใส่ยังไง อันไหนจะพยุงได้ อันไหนจะมัดกับตัวให้อยู่ อะไรทำเพิ่มได้แล้วให้ภาพชัดขึ้น พอเห็นชุด..ครูก็รู้แล้วว่าจะมู้ฟยังไง”
ปิยพรรีไซเคิล ชุดบอลลูนเป่าลม ที่ทำจากพลาสติกมาเป็น ‘ชุดคนไร้บ้าน’ สวมใส่แล้วเกิดความร้อนอบอ้าวกับนักเต้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเจาะรูระบายอากาศให้
“ชุดบอลลูนนี้ออกแบบจากคอนเซปต์ M.I(X).G (ผู้อพยพ) เป็นโปรดักชั่นที่ไปร่วมกับนักเต้นที่ญี่ปุ่น ปี 2018 (Festival Tokyo 2018) คอนเซปต์คือเวลาเราเดินทางอพยพไปที่ไหน เราเหมือนเป็นคนประหลาดของคนที่นั่น คอนเซปต์ใกล้เคียงกับคนไร้บ้าน เราก็เลยนำชุดนั้นมารียูส คอนเซปต์เดียวกันกับโฮมเลสที่ไปไหนเขาก็เก็บขยะมาทำชุดของตัวเอง” บัว-ปิยพร อธิบาย
ส่วนผู้ชมการแสดง เมื่อเห็น ‘เครื่องแต่งกาย’ ชุดต่างๆ แล้วจะตีความสื่อถึงเหตุการณ์ใด-ข่าวใด..หรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละบุคคล
‘7’ เป็นการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยซึ่ง พิเชษฐ กลั่นชื่น นำสนธิสัญญาหลักด้าน “สิทธิมนุษยชน” 7 ฉบับ มาตีความและสื่อสารด้วยท่าเต้น เปิดการแสดงในงาน “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2563 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เนื่องใน “วันสิทธิมนุษยชน” 10 ธันวาคม ของทุกปี
การแสดงครั้งนี้ร่วมจัดโดย คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ใช้ ‘ศิลปะ’ เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
* * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ