โค้งสุดท้าย “Winter Book Fest 2020” หนังสือหนักๆ ยังท็อปฟอร์ม
“การเมือง สังคม ประวัติศาสตร์” กำลังเป็นแนวหนังสือที่ฮอตไม่หยุด ทะลุความหนาวใน “Winter Book Fest 2020” ตั้งแต่เริ่มงานจนถึงช่วงปลายอย่างตอนนี้
จากการสำรวจของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล พบว่าหนังสือที่วัยรุ่นไทยให้ความสนใจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานั้น
อันดับแรก คือชุดหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา อันดับที่ 2 ชุดหนังสือที่เกี่ยวกับรัฐวิพากษ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์กลไกรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ ทหาร หรือว่าระบบราชการ อันดับที่ 3 เป็นหนังสือเกี่ยวกับกษัตรย์ศึกษา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และสุดท้าย คือหนังสือประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมในประเทศอื่นๆ
ไม่น่าแปลกใจที่ในงาน Winter Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือฤดูหนาว ประเภทหนังสือที่ฮอตสุดๆ จึงเป็นหนังสือแนว "การเมือง" "สังคม" "ประวัติศาสตร์" ซึ่งมาแรงมากๆ นักอ่านทั้งหลาย มีตั้งแต่วัยมัธยม วัยมหาวิทยาลัย จนถึงวัยทำงาน ไม่ได้ซื้อกันแค่เล่มสองเล่ม แต่ขนกันแบบยกเซ็ต หลายๆ สำนักพิมพ์ที่โดดเด่นในงานเชิงนี้ อาทิ มติชน, ฟ้าเดียวกัน, bookscape, Illuminations Editions, แสงดาว, Salt, Way of Book มีแต่คนรุมล้อม หาทั้งเล่มเก่าเล่มใหม่
ในมุมมองของ จรัญ หอมเทียนทอง ผู้อำนวยการงาน "Winter Book Fest" และเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว มองว่าการที่ "หนังสือการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์" เป็นกระแสหลักในงานครั้งนี้ เป็นเพราะความอยากรู้และการแสวงหาความจริง
“ประการแรก เป็นเพราะกลุ่มวัยรุ่นคือวัยที่กำลังแสวงหา คือต้องการแสวงหาความจริงจากสังคมในปัจจุบัน คนที่เติบโตมาในสมัยนี้คือคนที่ถูกให้ท่องคุณธรรม 12 ประการมาตลอด จากเด็กที่วันนั้นอาจจะอายุ 12 ปี ปัจจุบันก็ต้องอายุ 19 ปีแล้ว พวกเขาอาจจะเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในยุคของเขา แล้วจะหาความรู้ ความจริงจากไหน ก็ต้องจากหนังสือ เมื่อมีคนผลิตหนังสือตรงกับใจของเขา การอ่านก็ยิ่งเพิ่มขึ้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กในรุ่นปัจจุบันสนใจหนังสือแนวทางการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่เยาวชนสนใจ เขาจะรู้สึกว่า การเมืองอยู่รอบตัวเขา เขาคืออนาคตของชาติ และคงไม่ต้องการให้อนาคตของเขาเป็นดังเช่นปัจจุบัน
ไม่นานมานี้เราคิดว่าเด็กไม่สนใจบ้านเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทำให้เห็นว่าเราดูถูกพวกเขาเกินไป เขาสนใจ และจริงจังด้วย ในงานหนังสือครั้งนี้ จะเห็นภาพที่เด็กส่วนใหญ่ถือถุงหนังสือแนวสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ ความรู้ต่างๆ เยอะมาก เป็นภาพที่น่าสนใจอย่างยิ่ง”
ด้าน ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสนพ.ฟ้าเดียวกัน มองว่าประโยคที่ผู้ใหญ่พูดว่า “กลับไปอ่านประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่” กลายเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองมากขึ้นของเยาวชน
“คำพูดนี้ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ของบรรดาคนรุ่นเก่า ผู้มีอำนาจ เพื่อตอบโต้กับการตั้งคำถามของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้เป็นกระแสการกลับไปอ่านหนังสือแนวนี้มากขึ้น
ผมขออ้างถึงงานวิจัยของอาจารย์กนกรัตน์ ว่าหนังสือแนวประวัติศาสตร์วิพากษ์เป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจ แต่หนังสือเรียนกลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการและตอบคำถามดังกล่าวได้ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ สำนักพิมพ์อื่นๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถ้าสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะสามารถขยายพื้นที่ไปสู่นักอ่านได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน สื่อโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นช่องทางที่ทำให้คนได้รู้จักหนังสือมากขึ้น และเมื่อได้อ่านก็สามารถสร้างเป็นชุมชนการอ่านได้เช่นกัน”
ในวันที่มีเสวนาประเด็น “เด็กไทยอ่านอะไรอยู่ ความตื่นตัวของหนังสือว่าด้วยสังคม – การเมืองไทยในเยาวชน”
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt วิเคราะห์ว่า ตอนนี้โลกของเด็กรุ่นใหม่อยู่ใน Twitter และนั่นเป็นพื้นที่ของพวกเขา
“ช่วง 2-3 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ของการแนะนำหนังสือ โดยเฉพาะในส่วนของด้อมเกาหลี ซึ่งกลายเป็นแฮชแท็กต่อว่าศิลปิน-ดาราคนนั้นอ่านอะไรอยู่ เป็นกระแสอ่านตามคนดัง คนที่เราชอบ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่ารัก ถึงขั้นมีการสรุปว่าหนังสือเล่มนั้นๆ สนุกอย่างไร เกิดการถกเถียงกันใน Twitter ซึ่งกระแสตรงนี้ทำให้การอ่านหนังสือไม่ได้เป็นเรื่องของคนคนเดียว แต่ทำให้การอ่านกลายเป็นกิจกรรมรวมหมู่” สฤณี
ด้าน ญิษภา สุรธำรง แอดมินเพจแกเคยอ่านเล่มนี้ยัง หนึ่งในวิทยากรเล่าว่า ในมุมของเธอหนังสือที่ฮอตสุดๆ ช่วงนี้ หนีไม่พ้น “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีย์” โดยณัฐพล ใจจริง
“ส่วนหนึ่งเป็นความดีความชอบของรัฐบาลด้วย ธรรมชาติของการแบนหนังสือ คือยิ่งห้ามยิ่งยุ ถ้าไม่ไปล้อมจับพันเล่มตอนนั้น ก็คงไม่ขายดีจนถึงทุกวันนี้ และอ่านสนุกมากด้วย เล่าเรื่องเหมือนนิยายเลย”
"Winter Book Fest 2020" เทศกาลหนังสือฤดูหนาว มีถึงวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้ เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ รถไฟใต้ดิน MRT สถานีสามย่าน
ยังมีหนังสืออีกเพียบ ให้มาสอยไปอ่านช่วงปีใหม่กัน