วรัญญู พูลเจริญ นักวิทย์หนึ่งเดียวในไทย ผู้ผลิต'วัคซีนโควิด'จากโปรตีนพืช

วรัญญู พูลเจริญ นักวิทย์หนึ่งเดียวในไทย ผู้ผลิต'วัคซีนโควิด'จากโปรตีนพืช

พัฒนา "วัคซีนโควิด" ต้นแบบ 6 ชนิด เพื่อหาวัคซีนที่ดีที่สุด และนี่คือ เรื่องราวอีกมุมของคนต้นคิด ผู้ผลิตวัคซีนโควิดจากพืชใบยาคนแรก และคนเดียวของประเทศไทย

ขณะที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดรอบใหม่ในเมืองไทย(เดือนธันวาคม 2563) และไม่รู้ว่าสาธารณสุขบ้านเราจะหยุดยั้งได้แค่ไหน ส่วนอีกฟากหนึ่งของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ไทยก็พยายามผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทั้งอาจารย์ นักเทคโนโลยีชีวภาพทางพืช นักวิทยาศาสตร์ เป็นคนต้นคิดในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด -19 จากโปรตีนพืชคนแรกและคนเดียวในประเทศไทย 

เมื่อพัฒนาและทดลองมาถึงจุดหนึ่ง อาจารย์วรัญญู (กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์) และผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ (ประธานกรรมการบริหาร) จึงตั้งบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด  ทำงานแบบสตาร์ทอัพ โดยอยู่ในความดูแลของ CU Enterprise 

ที่ผ่านมา สองผู้ก่อตั้งบริษ้ทและทีมงานกว่า 20 ชีวิต มีผลงานชุดทดสอบ COVID-19 : ชุดตรวจแอนติเจนและแอนติบอดีของไวรัสโควิด-19 เพื่อใช้ตรวจหาเชื้อและรู้ผลอย่างรวดเร็วใช้อยู่ทั่วประเทศ 

เหตุใด รศ.ดร.วรัญญู ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโปรตีนจากพืช อันดับต้นๆ ของเมืองไทย ยอมลงทุนร่วมกับอาจารย์สุธีราด้วยเงินทุนของตัวเอง เพื่อทำบริษัทใบยา ทั้งๆ ที่ไม่มีความสนใจเรื่องธุรกิจ

“เคยมีบริษัทธุรกิจมาคุยกับพวกเรา แต่มีเงื่อนไขว่า วัคซีนโดสแรกต้องเป็นของธุรกิจเขา พี่ๆ ที่จุฬาฯที่มีไอเดียเรื่องนี้บอกว่า อยากให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเท่าเทียมกัน เราก็เลยมีแคมเปญนี้ ช่วยกันบริจาค 500 บาทหนึ่งล้านคน เพราะไม่มีเงินทุนทำวิจัยต่อ ”อาจารย์วรัญญูเล่า

ถ้าอย่างนั้นลองอ่านสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ ต้นคิดวัคซีนโควิดจากโปรตีนพืช ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปี คิดและลงมือทำ...

160871380688  

(รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ) 

ก่อนจะคุยถึงวัคซีนโควิด ขอถามสักนิดว่า ทำไมมาเรียนด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางพืช

เคยอ่านเจอมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ทำเรื่องกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชมาเที่ยวตลาดน้ำ แล้วเห็นแม่ป้อนกล้วยลูก ก็เลยเกิดไอเดีย น่าจะเอากล้วยมาทำเป็นวัคซีน เพราะกล้วยปลอดเชื้อโดยธรรมชาติ พอเขากลับไปอเมริกาก็เริ่มต้นผลิตวัคซีนจากพืช

ตอนที่ได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา จึงเลือกไปทำวิจัยกับ Professor Charles Arntzen ที่ Arizona State University  เขาทำวัคซีนจากโปรตีนพืช ตอนนั้นอเมริกาส่งทหารไปอัฟริกา อีโบล่าระบาดรุนแรง สิ่งที่พวกเขากลัวมากคือ ถ้าประเทศไหนเอาเชื้อโรคมาปล่อย อเมริกาจะแย่ 

ตอนนั้นเรามีโอกาสทำงานจากทุนวิจัยของรัฐบาลอเมริกา เพื่อพัฒนาวัคซีนอีโบล่า ซึ่งได้ทำงานวิจัยในโครงการนี้ 6 ปี อเมริกาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืช โดยมีการให้ทุนกับบริษัท Medicago เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนให้ได้ล้านโดสในช่วงหนึ่งเดือน

160871402998

(ทีมงานใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด) 

การทำวิจัยโปรตีนจากพืชในอเมริกาเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนที่เราจะเรียนจบ อาจารย์ที่นั่นส่งไปฝึกอบรมทำวิจัยเพิ่ม เราก็เลยได้ไปทำงานในบริษัท Mapp Biopharmaceutical พัฒนายารักษาอีโบล่าจากพืช เป็นครั้งแรกที่นำไปใช้มนุษย์ เพราะอีโบล่าเป็นไวรัสที่รุนแรงมาก คนติดเชื้อ 90 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต ปรากฎว่าคนเหล่านี้นได้ใช้ยาที่ผลิตจากโปรตีนพืชครั้งแรก ในจำนวนนั้น 6 ใน 9 คนรอดชีวิต แต่ไม่ได้ทำเป็นการค้า ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ตอนนั้นยังไม่มียารักษาอีโบล่าหรือ

ถ้าใครติดเชื้ออีโบล่าส่วนใหญ่รักษายาก โอกาสเสียชีวิตเยอะ บริษัทยาในอเมริกาพัฒนายามาถึงเฟส 3 ปรากฎว่าโรคนั้นหายไปแล้ว

อยากให้เล่าถึงการทำวัคซีนจากโปรตีนพืชสักนิด ?

เทคโนโลยีการผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืช คือ ใส่ยีนเข้าไปในพืช แล้วใช้กระบวนการผลิตของพืช ผลิตโปรตีนที่เราต้องการ โปรตีนที่ได้จึงมีความบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้

พืชที่เราปลูก ไม่ได้ใส่สารพันธุกรรม เป็นพืชธรรมชาติ จนกว่าจะโตเหมาะสม เราก็ฉีดอะโกรแบททีเรียม(การถ่ายโอนดีเอ็นเอ )เข้าไป หลังจากนั้น 4-5 วัน เราก็ตัดพืชมาสกัดโปรตีนที่ต้องการนำไปทดสอบ ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกว่า วันไหนพืชจะผลิตโปรตีนได้มากที่สุด  

160871412359

กระบวนการผลิตโปรตีนจากพืชนำไปใช้ผลิตยาอะไรบ้าง 

ศ.ทพ.ดร. ประสิทธิ์ ภวสันต์ อาจารย์คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ เป็นคนแรกในประเทศไทยที่ให้โอกาสเราได้ผลิตโปรตีน osteopontin ใช้ในการกระตุ้นการสร้างกระดูกฟัน 

ปกติในร่างกายสร้างโปรตีนหลากหลายชนิด แล้วมีโปรตีนตัวหนึ่งสามารถกระตุ้นทำให้เซลล์แบ่งตัวกลายเป็นเซลกระดูกได้ ถ้าเราแก่ลง ร่างกายจะผลิตโปรตีนแบบนี้น้อยลง เราก็ไปศึกษาว่าโปรตีนตัวนี้มีโครงสร้างอย่างไร เพื่อสร้างเลียนแบบร่างกาย เนื่องจากโปรตีน osteopontin เป็นโปรตีนที่ร่างกายผลิต เราก็เอายีนตัวนี้ใส่ในพืชผลิตออกมา ปรากฎว่ากระตุ้นการสร้างกระดูกได้ดี 

และต่อมาอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ สนใจเรื่องยารักษามะเร็ง เราก็ลองผลิต anti-PD1 monoclonal antibody ยา nivolumab ร่วมกับ ศ.พญ.ดร. ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ และอาจารย์ นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ทำออกมาแล้วทดสอบ ปรากฎว่ากระตุ้นเซลล์ในร่างกายได้ 

แต่ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำไปทดสอบในหนูทดลองที่มีโปรตีนของมนุษย์ ซึ่งการทดสอบในหนูทดลองประเภทนี้จะต้องใช้เงินเยอะมาก ทดลองครั้งหนึ่งใช้เงินหลักล้านบาท ก็เลยยังไม่ได้ทำ เพราะต้องรอทุนวิจัย 

ตอนนี้นอกจากยามะเร็งจากพืช ยังคงมียาอื่นๆ ยารักษาอีโบล่า โรคพิษสุนัขบ้า โรคมือเท้าปาก ก็มีการทำวิจัย แต่ยังไม่ได้ทดลองต่อในระดับสัตว์ทดลอง

สำหรับนักวิจัย เมื่อยังไม่ได้ทุนวิจัยในการทำวิจัยขั้นต่อไป ก็จำเป็นที่จะต้องขอทุนเพื่อทำวิจัยเรื่องอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำงานวิจัยได้ต่อ งานวิจัยก็เลยเดินไปถึงสุดทางคือการเอาไปใช้ได้ยาก

ทำไมอาจารย์พยายามดิ้นรนให้มีการผลิตยาออกมาให้ได้

เราพยายามไปคุยกับอาจารย์ในจุฬาฯว่า พวกเขามีปัญหาอะไร สิ่งที่เราทำแก้ปัญหาได้ไหมตอนที่เราจบมา อาจารย์ประสิทธิ์ ภวสันต์ บอกว่า อยากทำอะไรก็ทำ ให้เงินวิจัยมาด้วย พอทำออกมาได้ ก็ขอทุนวิจัยทำงานร่วมกับอาจารย์ เพราะถ้าเราอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีเงินทำวิจัย

พัฒนาโปรตีนจากพืชเป็นยารักษามะเร็ง ผลเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ยารักษามะเร็งกลุ่มโปรตีนราคาแพงมาก มีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงต่ำ ในยุโรปอเมริกาโดสละสองแสนกว่าบาท ต้องใช้ทุกสองอาทิตย์ในช่วงสองปี แล้วคนไทยกี่คนที่เข้าถึงยา จึงอยากผลิตจากโปรตีนพืชเพื่อรักษามะเร็ง ทำออกมาแล้วทดสอบ ปรากฎว่ากระตุ้นเซลล์ในร่างกายได้ แต่ก็ต้องหยุด เพราะการทดลองแพงมาก 

ทดสอบครั้งหนึ่งราคาเป็นล้าน แล้วทุนวิจัยให้อาจารย์ใหม่ๆ แค่หลักแสนก็ไปต่อไม่ได้ มียามะเร็งหลายตัวที่ทำไปแล้วจบแค่เฟสทดลองในสัตว์ ทั้งๆ ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ยารักษาอีโบล่า พิษสุนัขบ้า เราก็ทำ แต่ไม่สามารถทดลองต่อได้ เมื่อไปต่อไม่ได้ก็เขียนโครงการทำวิจัยใหม่

เมื่อวิจัยต่อไม่ได้ ท้อไหม 

ไม่ท้อนะคะ ก็ถามตัวเองว่า เมื่อไปต่อไม่ได้ แล้วชีวิตเราต้องทำแบบนี้จนเกษียณหรือ ประเทศเราไม่ได้มีเงินมากมายที่จะทำเอง เราฝึกนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ด้านการพัฒนายา ค่าวิจัยราคาแพงมาก แต่จบแล้วต้องไปทำงานร้านยาหรือโรงพยาบาล แล้วทำไมประเทศเราต้องจ่ายเงินเพื่อการเรียนการสอนการวิจัยเพื่อพัฒนายามากขนาดนี้ และไม่มีงานรองรับคนจบด้านนี้

ถามว่า ประเทศเรามีโรงงานผลิตยากี่แห่ง และส่วนใหญ่ไม่พัฒนายาเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราสอนให้นักศึกษาเภสัชพัฒนายา แต่ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตยารองรับ ขณะที่ในอเมริกามีบริษัทไบโอเทคเยอะมาก ที่นั่นคนจบวิทยาศาสตร์มีงานที่ดี สนุก และมีรายได้ดี

แต่นักศึกษาไทย จบด้านเภสัชหรือวิทยาศาสตร์ ใครจะมารับเงินเดือนสองหมื่นในระบบราชการเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราเคยจ้างคนจบปริญญาโทวิทยาศาสตร์ ได้เงินเดือนสองหมื่นกว่าบาท ทำวิจัยไปเรื่อยๆ สุดท้ายขอลาออกไปขายกางเกงยีน เราก็โทษเขาไม่ได้

160871466522

(รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ)

และเมื่อท่านอธิการบดี จุฬาฯ มีนโยบายทำสตาร์ทอัพ เปิดโอกาสให้อาจารย์ทำโมเดลธุรกิจเองได้ ตอนนั้นมีพี่ๆ ศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่เข้าใจธุรกิจมาคุยกับเรา เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจเลย คุยกันเป็นปี ต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน

จริงๆ แล้วเราอยากเอาเทคโนโลยีไปให้คนอื่นทำ ไม่ได้อยากทำเอง อยากสอนหนังสือแล้วอบรมคนออกไปทำงาน เราก็เลยไปคุยกับบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐหลายแห่ง

ผลเป็นอย่างไรบ้าง

เคยไปเสนอแพลตฟอร์มผลิตยาจากโปรตีนพืชให้หลายหน่วยงานที่ทำด้านนี้ เราบอกไปว่าทำได้หลายอย่าง ต้นทุนการผลิตถูก ไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศ แล้วประเทศเราเป็นเกษตรกรรมปลูกต้นไม้ได้ เขาก็ตั้งคำถามว่า "ทำได้จริงๆ หรือ" คงทำได้แค่งานวิจัยตีพิมพ์ผลงาน ไม่มีใครเคยทำ แต่เขาก็ไม่ผิด เพราะยังไม่มีบริษัทยาแห่งไหนทำ

160871484214

จนเป็นที่มาของการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพใบยา โดยจุฬาฯ ให้การสนับสนุน ? 

ตอนนั้้นคิดแค่ว่า เราอยากจะลองผลิตโปรตีนจากพืชเพื่อเอาไปใช้ให้ได้จริงๆ และลองผลิตโปรตีนที่สามารถเอาไปใช้ทางการค้าได้จริงๆ ถ้าเมื่อไหร่เกิดโรคระบาด จะเปลี่ยนมาผลิตยาเพื่อคนในประเทศ เราไม่คิดว่าโรคระบาดจะมาเร็วขนาดนี้ เราได้คุยกับอาจารย์สุธีรา ผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีนี้เลย ขณะที่เราไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย อาจารย์สุธีราเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเภสัชเศรษฐศาสตร์(Pharmacoeconomics) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการประเมินการเข้าถึงยา

อาจารย์บอกว่า จากการทำวิจัยของอาจารย์ ไม่ว่าอาจารย์จะคิดโมเดลราคายาอย่างไร ถ้าเราไม่พัฒนาและผลิตยาเอง คนไทยก็จะไม่สามารถเข้าถึงยา เพราะราคายาต่างประเทศแพงมาก

ตอนที่โควิดระบาด เราก็ผลิตโปรตีนชิ้นส่วนของไวรัสที่เกี่ยวข้องกับโควิด เราเอาโปรตีนตัวนี้มาพัฒนาเป็นชุดตรวจแอนติบอดี้ มีการใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นชุดตรวจคัดกรองแรกๆ ของไวรัสโควิดที่ผลิตโดยคนไทย สามารถตรวจได้รวดเร็ว เพียงแค่ใช้ตัวอย่างเลือดที่ปลายนิ้วใช้เวลาอ่านผลไม่เกิน 10 นาที 

สตาร์ทอัพบริษัทใบยามาจากเงินลงทุนของอาจารย์ทั้งสอง ? 

เงินของเราสองคนก็เอาไปขยายพื้นที่ผลิตพืช ตอนแรกๆ ก็หลักล้าน พอไวรัสโควิดระบาด ก็ต้องลงเงินเพิ่มรวมๆ 5-6 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินอาจารย์สุธีรา เงินของเราน้อยกว่า ถ้าเราคนเดียวคงมาไม่ถึงวันนี้ การบริหารรูปแบบนี้เราให้หุ้นจุฬาฯ ฟรีๆ  10 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเป็นอาจารย์จุฬาฯ ใช้เวลาจุฬาฯทำงาน สมัยก่อนจุฬาฯจะให้อาจารย์ทำวิจัยแล้วจดทรัพย์สินทางปัญญา รอให้คนมาซื้อ แต่ประเทศไทยมีคนมาซื้อน้อยมาก จึงเปลี่ยนแนวทางให้อาจารย์ทำบริษัท

พี่ๆ CU Innovation Hub จะสอนเราสองคนเยอะมาก  และCu innovation hubเป็นเหมือน Sand box ให้กับนักวิจัยในจุฬา ให้เราได้เรียนรู้การนำงานวิจัยไปทำเป็นธุรกิจ

แม้นักวิจัยอย่างเราจะล้ม ธุรกิจไปต่อไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เจ็บมาก เพราะอย่างน้อยๆ ก็เป็นอาจารย์มีเงินเดือน และสามารถทำงานวิจัยต่อไปได้อีก พี่ราเมศวร์ ศิลปพรหม ผู้อำนวยการฯจะเดินมาคุยกับเราทุกอาทิตย์

พี่เขาบอกว่า “ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราทำ ทำได้จริงๆ มีมูลค่าเป็นพันล้านหมื่นล้าน แล้วแค่ล้านหนึ่งเราไม่กล้าลงทุน ใครจะเชื่อ” แรกๆ ก็บอกว่า “ไม่เอาค่ะๆๆ ”

เราเกิดในครอบครัวที่พ่อเป็นหมอ รับราชการกระทรวงสาธารณสุข กว่าจะเก็บเงินได้สัก 6 แสนบาทก็เกือบทั้งชีวิต และจะไม่เอาเงินพ่อแม่มาลงทุน อาจารย์สุธีราเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ส่วนเราเชื่อมั่นอยู่แล้วว่า เทคโนโลยีนี้ทำได้

เงินหลักล้านนี่ทำอะไรไม่ได้เยอะหรอก โจทย์ของเราคือ ต้องการนักลงทุนมาช่วยต่อยอด ถ้าเราไม่ลงสักบาทเลย เขาจะมั่นใจได้ยังไง ตอนที่ทำชุดตรวจคัดกรองโควิดก็มีขอทุนบ้าง รุ่นพี่จุฬาฯ บริจาคเงินมาช่วยพัฒนาชุดตรวจและพัฒนาวัคซีน จึงได้ทดลองในหนูในลิง

เห็นบอกว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด มีอาจารย์ให้ความช่วยเหลือเยอะมาก ?

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม (ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19)ช่วยเรื่องการทดสอบในหนูทดลอง  ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ก็ช่วยเหลือด้านการทดสอบในลิง และ รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

และทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ก็ช่วยเหลือด้านการทดสอบไวรัสโควิด ซึ่งต้องมีห้องแล็บที่ปลอดภัยสูง คนที่จะเข้าไปต้องใส่ชุดนักอวกาศ ทางใบยาไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากทุกคนในประเทศ 

จนรู้ว่า ผลการทดสอบในหนูและลิงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งการติดเชื้อโควิดได้ จึงอยากทดสอบวัคซีนในมนุษย์ด้วย เราปักธงไว้ที่เดือนมิถุนายน 2564 และเรามีทีมเยอะขึ้นกว่า 20 คน

เมื่อไม่มีเงินวิจัยทดลองเพื่อทำงานต่อ อาจารย์ทำอย่างไร

รุ่นพี่ จุฬาฯ มาเทรนการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพว่า “ไม่ต้องคิดว่าเงินมาจากไหน ให้คิดว่าเงินมีเยอะมาก ห้ามคิดว่าเงินคือข้อจำกัด”  เพราะโจทย์วันนี้คือต้องการผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุด เราต้องการเงินเฟสนี้  500 ล้านบาทเพื่อทดสอบในมนุษย์ 

ในฐานะนักวิจัย เรามุ่งไปที่เป้าคือทำอย่างไรให้สามารถทำให้เราทดสอบวัคซีนนี้ได้ในมนุษย์ตามเวลาที่ตั้งไว้ ส่วนในเรื่องเงินนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของ CEO และทีมที่ปรึกษา

 วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จากพืชใบยา นอกจากเราที่ทำในประเทศไทย ยังมีการทดลองในอเมริกา ยุโรป อัฟริกาใต้ ล่าสุดMedicago บริษัทที่อเมริกาและแคนาดา ทดลองผ่าน clinical trial phase 1 กำลังจะทดลองเฟส 2-3

เราเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ขณะที่บริษัทในต่างประเทศเริ่มผลิตยามาหลายสิบปี แม้กระทั่งที่อาจารย์เกียรติกำลังทำ ก็ร่วมกับต่างประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง  เพราะเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA) ซึ่งเป็นการตัดต่อสารพันธุกรรม ที่หลายๆบริษัททำนั้น ผ่านการทดสอบในมนุษย์เฟส 3 แล้ว  

ส่วนในด้านของรัฐบาล โจทย์ของรัฐคือ ต้องหาวัคซีนมาให้คนไทยใช้เร็วที่สุด ก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินในการจองวัคซีนของบริษัทต่างๆ เพื่อทำให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด

ถ้าวัคซีนโควิด-19 ของใบยาฯ ประสบความสำเร็จ จะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหน

จากการทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่า จะมีประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 21 วัน ส่วนจะสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้นานแค่ไหน จะป้องกันได้ 100% หรือไม่  ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

จะทำยังไงให้คนไทยมั่นใจว่า นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ผลิตวัคซีนได้

ในอเมริกา เกาหลี แคนาดา ก็ใช้เทคโนโลยีแบบนี้ เราในฐานะนักวิจัย ก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำการทดลองให้เห็นว่า เทคโนโลยีนี้ทำได้  ถ้าทดสอบผ่านเฟสหนึ่งได้ อย่างน้อยคนไทยก็จะมั่นใจว่า วัคซีนจากโปรตีนที่ผลิตจากพืชปลอดภัย

ส่วนจะได้ผลในการป้องกันโรคหรือไม่ ต้องรอเฟส 3 ถ้าผ่านเฟสนั้นไปแล้ว คนไทยจะมั่นใจในเทคโนโลยีของเรา และในอนาคต เราก็สามารถผลิตยาหรือวัคซีนชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง อีโบล่า มือเท้าปาก พิษสุนัขบ้า เป็นต้น 

ถ้าวันนี้อีโบล่าเกิดในบ้านเรา เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีที่เรามีมาผลิตยารักษาได้  ซึ่งการพัฒนาวัคซีนไวรัสโควิดครั้งนี้  ก็ทำให้เราและคนในทีมได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตัวเองไปอีกเยอะมาก

 

 

160871489460


ทำไมอยากให้เทคโนโลยีการผลิตยาจากโปรตีนพืช เกิดขึ้นในเมืองไทย

อยากให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองได้ แม้เทคโนโลยีนี้จะไม่เกิดในช่วงชีวิตเรา แต่ก็เกิดในรุ่นลูกศิษย์เรา เราได้เห็นลูกศิษย์ที่เก่งกว่าเรา ทำให้เรามีแรงในการทำงาน เรามั่นใจว่า ประเทศเราต้องดีขึ้น 

มีโรคมากมายในโลกนี้ ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องก้น ไม่ว่าเทคโนโลยีแบบไหนจะดีแค่ไหน ก็ต้องศึกษา เทคโนโลยีจากโมเลกุลโปรตีนพืชสามารถทำออกมาได้เร็ว ต่อให้ไม่ได้ผล เราก็รู้เร็ว เปลี่ยนได้เร็ว การทำวัคซีนโควิดเราใช้ฐานความรู้ไวรัสซาร์สและเมอร์สมาพัฒนา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ทำแบบนี้

แล้วทำไมปฎิเสธบริษัทที่จะลงทุนให้

เคยมีบริษัทธุรกิจมาคุยกับเรา แต่วัคซีนล้านโดรสแรกต้องเป็นของธุรกิจนั้น ซึ่งพี่ๆ จุฬาฯที่มีไอเดียเรื่องนี้บอกว่า อยากทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนนี้อย่างเท่าเทียม เราก็เลยมีแคมเปญนี้ คือ ช่วยกันบริจาค 500 บาทหนึ่งล้านคน ก็จะได้เงินทำงานต่อได้ อย่างน้อยๆ ก็มีคนหนึ่งล้านคนอยากให้พวกเราเดินหน้าต่อและเชื่อว่า เราทำได้

ในเมื่อต้องการใช้เงินเยอะมาก แล้วทำไมจำกัดแค่ 500 ล้านบาท 

เราไม่ต้องการรายได้ของบริษัทฯ แต่เราต้องการใช้เงินเพื่อการทดลอง แม้มีคนไม่เชื่อ แต่เราไม่ท้อ เพราะมีคนช่วยเยอะ แคมเปญนี้ส่วนใหญ่ช่วยกันทำฟรีๆ ทุกวันนี้เราและอาจารย์สุธีราไม่ได้รับเงินเดือนจากบริษัทที่เราตั้งขึ้น เพราะเราอยากให้คนเรียนวิทยาศาสตร์มีเงินเดือนที่เหมาะสม เราอยากให้คนเก่งๆ ทำงานในประเทศเรา 

160871490862

ถ้าถึงวันนั้น สตาร์ทอัพใบยาฯ มีรายได้มากมาย จะเดินหน้าอย่างไร

ตอนเริ่มทำไม่ได้อยากรวย แต่ตอนนี้อยากรวย ซึ่งเป็นคำตอบเดิม คือ อยากให้เด็กไทยที่อยากรวยแล้วต้องเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เพราะตอนนี้ไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากให้ลูกเรียนวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่ในอเมริกาและยุโรป คนเรียนวิทยาศาสตร์บริษัทจะอยากได้ไปทำงานเยอะมาก ถ้าเมื่อไรคนไทยคิดแบบนี้เยอะๆ ประเทศเราก็จะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีเยอะขึ้น ทำให้ประเทศเราพัฒนา