หนี “โควิด” ไปเที่ยว “โคราช”
เก็บกระเป๋า ตั้งการ์ด ตะลุย “โคราช” สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
แนวรบโควิด-19 ยังน่าหวาดหวั่น จะไปไหนทีก็หวาดเสียว เราจึงอาสาพาไปเที่ยวนครราชสีมา “เมืองย่าโม” โคราชบ้านเอง ดินแดนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ อุดมสมบูรณ์ด้วยวิถีชีวิตและภูมิปัญญา มากมายด้วยทรัพยากร สมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากฐานมรดกภูมิปัญญา ที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ผลักดันส่งเสริม
ราวๆ 3-4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ บนถนนมิตรภาพมุ่งหน้าสู่ภาคอีสานคือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่จะเที่ยววันเดียวจบก็ฟินได้ หรือจะค้างคืนก็ดื่มด่ำความเป็นโคราชได้อย่างเต็มที่
- กราบสักการ “อนุสาวรีย์ย่าโม”
ตามธรรมเนียมเมื่อมาเยือนดินแดนย่าโม กับการสักการะ “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” หรือ “อนุสาวรีย์ย่าโม” ที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนราชดำเนินกับถนนชุมพล อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่เป็นทั้งแลนด์มาร์คและเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวโคราช อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท้าวสุรนารี วีรสตรีไทย และถือเป็นอนุสาวรีย์ที่ยกย่องความดีของวีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศ
อนุสาวรีย์นี้สร้างจากทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืนมือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ภายในบรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า “คุณหญิงโม” เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช คุณหญิงโมได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพเจ้าอนุวงศ์ที่ยกทัพเข้าตีกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็น "ท้าวสุรนารี"
ในวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน ของทุกปีจะมีงานวันฉลองชัยชนะของท้าวสุรนารี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
- เมืองโคราชกับ Art เหมียวๆ
หลังจากสักการะย่าโม ในบริเวณเดียวกัน ช่วงนี้จะสังเกตได้ว่ามีแมวเหมียวตัวใหญ่ยักษ์ ทั้งนั่งทั้งนอนรอให้ทุกคนไปถ่ายรูปด้วย ประติมากรรม “แมวโคราชเล่าเรื่องเมืองศิลปะ” หรือ “แมวมงคล” ทั้ง 3 ตัว นี้ เกิดขึ้นจากงาน “มหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2020” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน – 5 กันยายน 2021 เพื่อต้อนรับการเตรียมตัวเป็น “โคราชเมืองศิลปะ”
ประติมากรรม “แมวโคราชเล่าเรื่องเมืองศิลปะ” 3 ตัว 3 ท่าทาง ตั้งโชว์ให้ชาวโคราชได้มาชมงานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวของเมืองโคราชในลานสวนสาธารณะข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถ้าสังเกตที่ตัวแมวจะได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นโคราชอย่างมีศิลปะ
นอกจากนี้ยังจะมีผลงานศิลปะ ของศิลปินนานาชาติจากทั่วโลกที่จะมาร่วมจัดแสดงในงาน “ไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2021” ที่จะมีขึ้นปีหน้า
- นกฮูกในตำนาน “ด่านเกวียน”
มา “โคราช” ไม่นึกถึง “เครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียน” ก็คงไม่ได้ หรือถ้าเห็นเครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียนแล้วไม่ถึงโคราชก็คงไม่ได้เช่นกัน ในอดีต “บ้านด่านเกวียน” เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ที่ชื่อว่า “ด่านเกวียน” เพราะเคยเป็นที่พักกองคาราวานเกวียนสินค้าที่ขึ้นล่องระหว่างโคราช-เขมร ชาวบ้านส่วนมากมีอาชีพทำการเกษตร จนกระทั่งชาวข่า (ชนเผ่าตระกูลมอญ-เขมร) เข้ามาทำงานก่อสร้างโบสถ์ และได้นำดินมาปั้นเป็นภาชนะ เผาเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน กลายเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน
ความพิเศษของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อยู่ตรงดินเหนียว เป็นดินเนื้อละเอียด ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูลเท่านั้น ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า กุด หรือแม่น้ำด้วน เป็นดินมีคุณสมบัติพิเศษ ง่ายต่อการขึ้นรูป ทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย และเมื่อถูกเผาไฟจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีน้ำตาลแดง สันนิษฐานว่าเกิดจากธาตุเหล็กในเนื้อดิน
ที่บ้านของ “เมี้ยน สิงห์ทะเล” ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2561 ประเภทเครื่องดิน (เครื่องปั้นดินเผา) จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ไม่ว่าใครได้เห็นต้องทึ่งในความสวยงาม ละเอียดลออ ผลงานที่เป็นซิกเนเจอร์คือเครื่องปั้นดินเผารูปนกฮูก ที่เกิดจากการปั้นอย่างพิถีพิถัน แม้กระทั่งเส้นขนของนกฮูกและแววตาที่ดูเสมือนมีชีวิต
นกฮูกของเขามีแววตาที่สุกใส ลวดลายทุกส่วนสมจริง คมชัด และสวยงามมาก โดยมีขนาดตั้งแต่ 25 เซนติเมตรไปจนถึง 1 เมตร และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ แต่ยังคงคาแรคเตอร์นกฮูกเอาไว้ เช่น โคมไฟ เป็นต้น
ความรู้เชิงช่างของเขา ตกทอดสู่รุ่นลูกอย่างลูกไม้ตกใต้ต้น เพียงแต่เป็นลูกไม้ที่งอกงามในแบบฉบับของตัวเอง เพราะลูกทุกคนของเขาก็สร้างสรรค์งานดินเผาที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ อาทิ พลวัฒน์ สิงห์ทะเล ลูกชายคนเล็กถนัดปั้นงานสไตล์ญี่ปุ่น และคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ทั้งการปั้นและการเผา เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีเพียงหนึ่งเดียว
- ปราสาทหินพิมายในกาลเวลา
หากจะเลือกสถานที่หนึ่งที่เป็นทั้งแลนด์มาร์ค และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางประวัติศาสตร์เมืองโคราช “ปราสาทหินพิมาย” คือสถานที่นั้น เพราะนอกจะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังมีรูปแบบศิลปกรรมขอมแบบบาปวนและนครวัด เชื่อว่าเป็นต้นแบบในการสร้างนครวัดในเขมร
ปราสาทหินแห่งนี้ตั้งอยู่กลางเมืองพิมาย มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญทางตอนเหนือของลาวและทางตอนใต้ของขอม ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคที่อาณาจักรขอมแผ่อิทธิพลมายังภูมิภาคนี้ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761) มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม
ภายในบริเวณปราสาทหิน มีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น คลังเงิน, สะพานนาค, พระระเบียง, ปรางค์ประธาน, ปรางค์พรหมทัต, ปรางค์หินแดง, สระน้ำหรือบาราย, ประตูชัย, กุฏิฤๅษี และท่านางสระผม
- รำโทนพันปีแห่งบ้านมะค่า
เสียงเครื่องดนตรีที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่กลับสร้างบรรยากาศที่บริเวณหน้าปราสาทหินพนมวัน บ้านมะค่า ให้ครื้นเครงได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ถึงแม้วิถีชีวิตของชาวบ้านมะค่าจะมีอาชีพหลัก คือ ทำนา มีอาชีพเสริม คือ เย็บผ้า ตีมีด แต่ความที่ชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และคนส่วนมากเป็นคนโคราชดั้งเดิม ยังใช้ภาษาไทยโคราช จึงยังมีการละเล่นพื้นบ้าน หนึ่งในนั้นคือ “รำโทนพันปี” ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปู่ย่าตายายมักจะเล่นกันในช่วงตอนเย็น ขณะพักผ่อนจากการทำไร่ไถนา
“ย่าปิ๊ก” วิทธวัชชัย จำปาโพธิ์ เล่าว่า โทนทำมาจากเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน หน้าโทน ขึงด้วยหนังสัตว์ เช่น หนังงูเหลือม หนังตัวเงินตัวทอง หนังตะกวด เพราะหนังสัตว์เหล่านี้มีความยืดหยุ่นมากเป็นพิเศษ
การแสดงรำโทนของโคราชเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบชาวบ้านที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีทั้งแสดงเพื่อความบันเทิง และประยุกต์เพื่อแสดงในงานเทศกาลสำคัญของท้องถิ่นด้วย
สำหรับชื่อกลุ่ม “รำโทนพันปี” นั้นย่าปิ๊กบอกว่าไม่ได้หมายความว่าสืบสานกันมาเป็นพันปีแต่อย่างใด ทว่าเป็นอายุอานามของสมาชิกที่รวมกันก็น่าจะแตะๆ พันปี จึงเป็นที่มาชวนอมยิ้มของกลุ่มนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสความสนุกสนานเฮฮาของการแสดงรำโทนพันปี แนะนำให้ติดต่อล่วงหน้าที่เบอร์ 08 6256 9843
- ครื้นเครง “เพลงโคราช”
ถ้าไม่นับหมี่โคราช ก็คงมี “เพลงโคราช” นี่แหละที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวโคราชที่ต่อท้ายชื่อด้วยคำว่า “โคราช” ถึงกาลเวลาจะผ่านไปแค่ไหน แต่มนต์เสน่ห์ของการละเล่นนี้ยังเปี่ยมล้น เพลงโครงราชยังถูกขับขานตราบทุกวันนี้ ด้วยเอกลักษณ์ที่การร้องรำเป็นภาษาโคราช
ดั้งเดิมเพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก การแสดงมหรสพต่างๆ มีเพลงโคราชเพียงอย่างเดียวก็เอาอยู่ แต่ก็เป็นไปตามยุคสมัย เพลงโคราชเปลี่ยนแปลงไปทั้งเนื้อหา รูปแบบการแสดง และกระแสความนิยม
ที่วัดศาลาลอย เป็นแหล่งรวมครูเพลงโคราชเอาไว้อย่างมากมาย เพราะที่นี่เป็นที่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี และชาวโคราชเชื่อกันว่าย่าโมชื่นชอบเพลงโคราชมาก จึงมีการจ้างเพลงโคราชแสดงถวายย่าโม โดยเฉพาะเพื่อแก้บน
ครูเพลงโคราชอย่าง ลำไย พานิชย์ และ บุญสม สังข์สุข เล่าว่า สมัยก่อนเพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก เพราะในการแสดงมหรสพต่างๆ มีการละเล่นเพลงโคราชเพียงอย่างเดียว ผู้ที่มาชมเพลงโคราชสมัยก่อนก็มีเวลากันมาก นั่งฟังเพลงกันตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า เมื่อหมอเพลงเล่นเพลงลา จะมีปี่พาทย์ ฆ้อง กลอง บรรเลงรับ และหมอเพลงจะรำตามกันไปยังบ้านเจ้าภาพ เจ้าภาพก็จะนำเงินค่าหมอเพลงมาให้ พร้อมเลี้ยงข้าวปลา อาหาร ต่างๆ ให้ทุกคนรวมทั้งผู้ชมที่ตามมา ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้าน
เนื้อหาของเพลงโคราชขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น ส่วนมากจะเล่าเรื่อง นิทานชาดก และเคร่งครัดมากในเรื่องสอนศีลธรรม หมอเพลงโคราชในอดีต ทำหน้าที่เป็นผู้แพร่ข่าวสาร เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์กว้างไกล พบเห็นเหตุการณ์และผู้คนหลากหลาย เพลงโคราชและคนฟังเพลงโคราชในอดีต จึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเป็นคนในสังคมเดียวกันจึงเข้าใจปัญหาของกันและกัน แต่เพลงโคราชรุ่นใหม่ มักเล่นตามคำเรียกร้องของผู้ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน และสนุกสนาน ด้วยเหตุนี้ เพลงโคราชค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง
ถึงแม้ว่าความนิยมจะไม่เท่าอดีต แต่ถ้าตั้งใจฟังเพลงโคราชให้ดี จะพบว่านี่คือศิลปะชั้นสูง ทั้งการแต่งเนื้อเพลงที่มีสัมผัสซับซ้อนมาก แม้แต่คนที่สนใจบทกวีก็ยังจับทางสัมผัสในเพลงโคราชได้ยากหากเพิ่งฟังใหม่ๆ รวมถึงเทคนิคกับพลังเสียงของครูเพลงที่ต้องยกนิ้วให้เลยทีเดียว
- ตะวันลับฟ้าที่ “ผายายเที่ยง”
“เขายายเที่ยง” เป็นชื่อที่หลายคนเคยได้ยิน แต่ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักสถานที่นี้จริงๆ ยังไม่ต้องนับถึงการไปเยือนให้เห็นกับตาเจอกับตัวว่าที่นี่มีดีอย่างไร
แน่นอนว่าการเที่ยวเขายายเที่ยงที่ง่ายที่สุด คือ การขึ้นไปชมวิวและสูดอากาศบนอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง ซึ่งมีกังหันลมยักษ์คอยต้อนรับทุกคนอย่างเด่นตระหง่าน ส่วนที่สันเขื่อนลำตะคอง มีจักรยานให้เช่าปั่นเที่ยวรอบอ่างแบบเพลินๆ หรือจะออกสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านเขายายเที่ยงที่เป็นเส้นทางป่าปลูกพื้นฟูระยะสั้น
แต่อีกจุดที่เป็นไฮไลท์คือ “ผายายเที่ยง” ไม่ถึงกับเป็นสถานที่ลับ ทว่าต้องตั้งใจเข้าไปสักหน่อย เพราะเส้นทางไม่ได้เรียบหรือสะดวกสบายนัก แต่ต้องบอกเลยว่าเมื่อขึ้นไปถึงยอดสูงสุดของเขายายเที่ยงได้แล้ว วิวที่ปรากฏเบื้องหน้าจะทำให้ลืมความลำบากที่เพิ่งผ่านมาเมื่อสักครู่ไปหมดสิ้น
สำหรับช่วงเวลาที่สวยที่สุดบนผายายเที่ยงน่าจะเป็นช่วงเย็น เพราะบนนั้นเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตก โดยจะมองเห็นดวงอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขา มีเงาสะท้อนผืนน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง หรือแม้แต่นาทีที่อาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว แสงทไวไลท์ที่ระเบิดเต็มท้องฟ้าคือช่วงเวลาสุดโรแมนติกเลยทีเดียว