'ผุสดี นาวาวิจิต’ ผู้แปล'โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ จะอยู่ในใจเราตลอดไป
'โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง'ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นหนังสือในดวงใจของหลายๆ คน แปลโดย'ผุสดี นาวาวิจิต’และเมื่อวันที่3 มกราคม 2564 เธอก็จากโลกนี้ไปแล้ว
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เวลา 13.25 น. ผุสดี นาวาวิจิต นักแปลและล่ามมืออาชีพภาษาญี่ปุ่น บรรณาธิการเล่มสำนักพิมพ์ผีเสื้อผู้แปล โต๊ะโตะจัง...ในวัย 72 ปี จากไปด้วยอาการเลือดออกในลำไส้และช่องท้อง ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ
คนส่วนใหญ่รู้จักผลงานแปลวรรณกรรมของเธอจากเรื่องโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
ผุสดี เคยเป็นนักเรียนทุนศึกษาที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 ปี เธอเรียนด้านวรรณกรรมเยาวชน และวรรณกรรมอังกฤษและอเมริกัน และเคยทำงานวิทยุในญี่ปุ่น เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย เธอก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับประเทศไทยของสถานีเอ็นเอชเค ญี่ปุ่น
เธอมีผลงานแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นหลายเล่ม อาทิ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง, 4 ปีนรกในเขมร,บันทึกของผม ,โมโมจัง และโต๊ะโตะจังกับโต๊ะโตะจังทั้งหลาย ฯลฯ
จึงขอนำเรื่องราวที่เคยคุยกับอาจารย์ผุสดี มาเล่าให้อ่านอีกครั้ง
1.เธอเคยไปอยู่บ้านคนญี่ปุ่น
"คนญี่ปุ่นจะสอนอยู่สองเรื่องหลักๆ คือ เรื่องแรก...อย่าโกหก เพราะเขาคิดว่า การโกหกเป็นการเริ่มต้นของการเป็นโจร จะทำให้คนไม่เชื่อถือ และทำให้คนๆ นั้นหมดคุณค่าความเป็นมนุษย์
และเรื่องที่สอง...อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าเป็นคนไทยอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อย่างเพื่อนคนหนึ่งกำลังจะไปต่างประเทศ และเพื่อนอีกคนจะฝากซื้อของให้เจ้านาย ถ้าเป็นคนไทยการฝากซื้อของเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่า ทำอย่างนั้นจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาคิดว่า ทำไมต้องฝากซื้อของให้คนไม่รู้จัก
อีกเรื่องคือ ชาวตะวันตกหรือคนไทยเวลาทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่นจะไม่เข้าใจว่า ทำไมคนญี่ปุ่นพูดกำกวม ไม่พูด yes หรือ no ให้ชัดเจน ยกตัวอย่างคนญี่ปุ่นจะพูดว่าแล้วจะเก็บไปคิด นั่นหมายถึงกำลังจะปฎิเสธ
หรือเวลาคนญี่ปุ่นพูดว่า วันหลังไปเที่ยวบ้านฉันนะ ถ้าพูดแบบนี้หมายถึงไม่ต้องไปเลย เป็นการชวนโดยมารยาท เพราะคนญี่ปุ่นบ้านเล็ก เขาไม่ค่อยชวนใครไปเที่ยวบ้าน ยกเว้นสนิทสนมกัน วัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมีมรรยาทเยอะ เวลาไปเที่ยวบ้านคนญี่ปุ่นต้องมีของฝาก การซื้อของก็ต้องตั้งใจซื้อให้คนนั้นโดยเฉพาะ"
2. เธอเคยเจอคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ คนแปลโต๊ะโตะจัง... หลายครั้ง
“เรามีความสนใจในด้านสื่อมวลชนและเด็กเหมือนกัน มีโอกาสรู้จักเธอมานาน เวลาพูดถึงเด็กมีปัญหา คิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่ผู้ใหญ่โต๊ะโตะจัง เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนนี้ถูกไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ประถมปีที่ 1 เพราะไม่เหมือนเด็กคนอื่น เวลาวาดรูปจะวาดจนกระทั่งสีออกนอกขอบกระดาษจนติดโต๊ะ เธอชอบซักถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน เปิดปิดโต๊ะเล่นเพราะที่บ้านไม่มี
คุณครูก็เลยบอกว่า อย่าเปิดเล่น ถ้าจะเอาของใส่ค่อยโต๊ะเปิด เธอก็เปิดเอาดินสอใส่แล้วปิด-เปิดอยู่เรื่อยๆ คนก็คิดว่าเป็นเด็กมีปัญหา คุณครูจึงบอกแม่ของเธอให้พาไปเข้าโรงเรียนอื่น
เราคิดว่า ครูที่ดูแลเด็กเล็ก ต้องดูให้ออกว่า เด็กคนนี้มีความสามารถพิเศษอะไร พยายามเพิ่มความสามารถตรงนั้นให้เด็ก แทนที่จะให้เหมือนคนอื่น ก็ให้เขาดีเด่นในทางของเขา เพราะโต๊ะโตะจังเมื่อย้ายโรงเรียน ห้องเรียนที่นั่นเป็นตู้รถไฟ และมีเรื่องราวให้เด็กค้นหาตลอดเวลา”
3. เธอเล่าว่า วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นจะไม่เน้นสั่งสอนมากเกินไป
“อย่างเรื่องเด็กหญิงน็อนจังกับลูกหมาจิ้งจอก ก็สอนแค่ให้ช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า หรือโต๊ะโตะจังกับโต๊ะโตะจังทั้งหลาย เท็ตสึโกะเขียนขึ้นตอนเป็นทูตยูนิเซฟไปเยี่ยมเด็กๆ ประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาความยากจน เด็กๆ กลายเป็นผู้อพยพ เท่าที่เห็นเท็ตสึโกะเป็นคนที่กระตือรือร้น พูดเร็ว น่ารักมาก และมีงานที่ยุ่งมาก
เรื่องโต๊ะโตะจัง เป็นชีวิตจริงของเท็ตสึโกะในหลายช่วงอายุ เธอเขียนเรื่องเกี่ยวกับคุณแม่ น่าสนใจมาก ทางสถานีเอ็นเอชเคเคยเอาชีวิตคุณแม่เธอไปทำละครทีวี เธอสัมภาษณ์คุณแม่เอง
""""""""""""""""""""""
ภาพจากเฟซบุ๊ค สำนักพิมพ์ผีเสื้อ