Remote Working วิถีการทำงานยุคใหม่
"Remote Working" วิถีการทำงานยุคใหม่ ที่เข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม ความท้าทายจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัว และตอบโจทย์สำคัญทำอย่างไรให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก?
ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องดิ้นรนหาหนทางหรือวิธีการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิมๆ เพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อไป
ดังนั้น จึงได้เห็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และการทำงานทางไกล (Remote Working) เกิดขึ้น ซึ่งการทำงานทางไกลนั้นต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ก่อนหน้าอาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น การทำงานทางไกลจึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นมาตรการสำคัญ
โดยหากยังอยู่ในภาวะปกติวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กรจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ด้วยโควิด-19 ทำให้ทุกคนจำเป็นต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) การทำงานทางไกลจึงเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุดและยังสามารถตอบโจทย์ธุรกิจไม่ให้เกิดการชะงักได้
นั่นแสดงว่าโควิด-19 คือตัวเร่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดเร็วขึ้น รวมถึงเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีการทำงานขององค์กรธุรกิจ และยังมีอีก 3 เหตุผลที่ตอกย้ำให้เชื่อได้ว่าการทำงานทางไกลจะถูกผสานเข้าเป็นวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรยุคใหม่
เหตุผลข้อแรกคือ วิธีคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นมิลเลนเนียล (millennials) นั้น แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน ชาวมิลเลนเนียลคือผู้ที่เกิดในระหว่างปี 2523-2543 ปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังเติบโตและกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในองค์กรธุรกิจ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบริษัท และพวกเขานี่เองที่จะเป็นกลุ่มผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงาน
จากผลศึกษาของมหาวิทยาลัย Bentley พบว่า 77% ของคนยุคมิลเลนเนียล มีความคิดว่าชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นจะทำให้งานของพวกเขามีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งองค์กรโดยทั่วไปจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานหากมีพนักงานมากกว่า 1 ใน 3 ต้องการความเปลี่ยนแปลงนั้น และเมื่อนำมาประกอบกับแนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาจะเดินทางและสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจได้ดีว่าทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งเป็นความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่
เหตุผลข้อที่สองคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิต และการทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด ไม่ว่าจะด้วยระบบอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงจากการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานบริการไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ เห็นได้จากการเติบโตทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กที่เก็บไว้ในกระเป๋าอย่างโทรศัพท์มือถือสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ได้ภายในเสี้ยววินาที และทำให้ตระหนักดีอีกว่าอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นและเสถียรขึ้น ได้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนบนโลกแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสุดก็ตาม
และเหตุผลข้อสุดท้ายคือ โลกไร้พรมแดน ซึ่งเราได้เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกันบนโลกใบนี้ และในความเป็นจริง เรายังพบด้วยว่าบริษัทระดับโลกได้ใช้ระบบการทำงานทางไกลกันมาหลายทศวรรษแล้ว เพราะบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มักจะมีทีมงานกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น บริษัทในสิงคโปร์ หากมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ก็จะเน้นใช้การทำงานทางไกลเป็นหลัก เป็นต้น
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตอันใกล้ การทำงานทางไกลและการทำงานจากที่บ้านจะไม่ใช่เพียงมาตรการชั่วคราวที่หลายๆ องค์กรธุรกิจนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น แต่กำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ ภายใต้การใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาตอบโจทย์การทำงานในยุคใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งจะเป็นยุคของชาวมิลเลนเนียลอย่างแท้จริง