‘ถ้ำสีฟ้า’ มหัศจรรย์แห่ง ‘พบพระ’

‘ถ้ำสีฟ้า’ มหัศจรรย์แห่ง ‘พบพระ’

รู้จัก “ถ้ำสีฟ้า” ผ่านธรณีวิทยา ให้มากกว่าแค่สถานที่ท่องเที่ยวสุดมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์จนเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวห้ามพลาดของ “พบพระ” จังหวัดตาก

คิดว่าหลายคนคงเคยไป พบพระ พบพระที่เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตาก ไม่ใช่การไปพบกับพระสงฆ์หรือการไปพบเจอพระโดยบังเอิญ อำเภอพบพระเป็นอำเภอเล็กๆ ที่กั้นต่อระหว่างอำเภอแม่สอดกับอำเภออุ้มผาง ใครจะไปอุ้มผาง ไปเที่ยวน้ำตกทีลอซู เป็นต้องผ่านอำเภอพบพระ พบพระเป็นอำเภอต้นกำเนิดของแม่น้ำเมยเพราะมีลำห้วยลำธารหลายสายก่อเกิดจากพื้นที่ของอำเภอนี้ แล้วไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเมย แม่น้ำที่กั้นแบ่งพรมแดนไทยและเมียนมาร์อยู่ช่วงหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาหลายเผ่า แต่ที่ดูว่าจะมากหน่อยน่าจะเป็นกระเหรี่ยงและม้ง เพราะทางด้านตะวันตกและทางทิศใต้ของอำเภอพบพระ ติดกับรัฐกระเหรี่ยงในเมียนมาร์ การเป็นชนเผ่าคงมาถูกแบ่งกั้นเป็นชาติรัฐเอาตอนหลังนี่เอง ก่อนหน้าก็คงตั้งถิ่นฐานกันไปตามความสมบูรณของพื้นที่ทำมากิน ไม่ได้สนใจว่าเป็นพื้นที่ประเทศใด

อำเภอพบพระมีธรณีสัณฐานเป็นหินปูนเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับภาคตะวันตกทั้งหลายของบ้านเรา จะเห็นภูเขาหนปูนใหญ่น้อย กระจายกันอยู่ทั่วไปของพื้นที่ การที่ธรณีสัณฐานเป็นหินปูนถ้ามีน้ำตก ลำห้วยลำธาร ก็จะเป็นลำห้วยหินปูนไปด้วย น้ำตกที่ปรากฏก็จะเป็นน้ำตกหินปูน อย่างเช่นในเขตอำเภอพบพระก็ล้วนเป็นน้ำตกหนปูนทั้งหมด ทั้งน้ำตกนางครวญ น้ำตกพาเจริญ น้ำตกป่าหวาย น้ำตกเจดีย์โค๊ะหรือน้ำตกธารารักษ์ เหล่านี้ล้วนเป็นน้ำตกหินปูนทั้งหมด

161136380378

น้ำตกป่าหวาย

161136384684

น้ำตกพาเจริญ

161136392018

น้ำตกนางครวญ

อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า หินที่เราเห็นบนโลกเรานี้ มีที่มาอยู่ 2 ที่ใหญ่ๆ คือ ส่วนหนึ่งถูกพาออกมาจากใต้โลก ที่ยังคงมีความร้อนสูงหลอมละลายจนเป็นแมกมา แล้วก็หาทางปะทุออกมาบนพื้นผิวโลกในรูปของลาวา ก็คือบรรดาภูเขาไฟทั้งหลายหรือแม้กระทั่งรอยแตก รอยแยกตรงไหนแมกมาก็หาทางปะทุออกมาได้ทั้งนั้น ออกมาก็จะเป็นพวกหินแกรนิต หินบะซอลต์ทั้งหลาย หินพวกนี้ถ้าจะผุกร่อนก็จะเป็นทราย เราลองสังเกตลำห้วยที่มาจากป่าที่เป็นหินแกรนิตเป็นธรณีสัณฐาน น้ำจะใสพื้นเป็นทราย เช่น น้ำตกทางภาคตะวันออก น้ำตกลานสาง น้ำตกแม่สา น้ำตกคลองลาน น้ำตกทางเขาหลวง เมืองนครฯ เป็นต้น

หินอีกพวกคือหินที่มาสะสมตัวกันบนพื้นผิวโลก จากธาตุต่างๆ สะสมทับถมกันเป็นชั้นๆ เรียกว่าหินชั้น หรือหินตะกอน เช่น หินทราย หินปูนทั้งหลาย ขณะเดียวกัน ก็จะมีหินอีกพวกที่แปรสภาพมาจากหินที่อยู่บนพื้นโลกแล้ว ด้วยปัจจัยหลายอย่างกลายเป็นหินแปร

เจ้าหินปูนซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนประเภทหนึ่ง หินปูนนี้จะสะสมตัวกันในทะเลอายุหลายล้านปี เวลาสัตว์ทะเลในช่วงที่หนปูนกำบังสะสมตัวแล้วตายขึ้นมา ซากของมันจึงถูกฝังในหินปูนอย่างเช่นพวกสัตว์ทะเลโบราณทั้งหลาย (เราถึงไม่เห็นซากไดโนเสาร์อยู่ในหินปูน เพราะมันต่างยุคต่างสมัยกันนั่นเอง) ก่อนจะถูกยกตัวขึ้นมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาบ้าง แล้วคุณสมบัติของหินปูนก็คือ สามารถละลายน้ำได้ คือพวกแคลไซค์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของหินปูนนี้มันละลายน้ำได้ พอละลายน้ำ ก็ทำให้ภูเขาหรือธรณีสัณฐานที่เป็นหินปูนผุกร่อน สึกหรอ เป็นโพรง บางแห่งเป็นแผ่นดินยุบ เพราะโครงสร้างหนปูนมันยุบลงเพราะการสึกกร่อน

น้ำที่ละลายเอาแคลไซค์มาด้วย ก็จะไหลกันมาเป็นลำธาร มาเจอกิ่งไม้ใบไม้ก็จะค่อยๆ เกาะตัวกัน นานเข้าๆ ก็จะเป็นฝายกั้นลำธารน้ำที่ล้นจากฝายหินปูนกจะมีแรงตก กระแทกพื้นด้านล่าง กลายเป็นชั้นน้ำตกหินปูนต่างๆ น้ำตกในเขต อ.พบพระจึงเป็นน้ำตกหินปูนทั้งหมด

ภูเขาหินปูนที่ถูกยกตัวขึ้นมา อาจะมีรอยแตก ก็จะถูกน้ำฝนกัดกร่อนน้ำฝนนี้ก็ละลายเอาหินปูนบางส่วนออกไป ศัพท์ทางธรณีเขาเรียกภูมิประเทศหินปูนตะปุ่มตะป่ำไร้รูปทรงที่แน่นอนนี้ว่าภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst) ถ้ำในภูเขาหินปูนก็เกิดด้วยเหตุนี้

ในพบพระนั้นมีถ้ำที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า ถ้ำสีฟ้า ซึ่งเป็นถ้ำที่เกิดในภูเขาหินปูนเล็กๆ โดดเดี่ยวออกมา (แต่ด้านล่างใต้ดินที่ทับถมน่าจะเป็นหินปูนขนาดใหญ่) ปากถ้ำนั้นเป็นเพิงเว้าเข้าไป ปากถ้ำมีหินงอกหินย้อยบ้าง ด้านในจะมีอุโมงค์สูงและกว้างไม่มาก คดเคี้ยวเข้าไปราว 50 เมตร ก็จะไปเป็นหน้าต่างถ้ำอีกด้านหนึ่ง ความน่าสนใจก็คือ อุโมงค์ช่วงแรกที่เป็นหินปูนสีเทา มีชั้นสีขาวสลับไปมาเป็นลาย ดูแล้วสวยงาม มีแความยาวของอุโมงค์ที่เป็นลายแบบนี้ราว 20 เมตร ซึ่งจริงๆ จริงๆ สีฟ้าที่เราว่า ไม่ใช่สีฟ้าหรอกครับ แต่มันออกจะเป็นสีเทาหม่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นหินปูน คือไม่ว่าจะสีเทาหรือสีขาวเป็นหินปูนหมด เวลาเราดูรูปเป็นสีฟ้า ก็คงเป็นเทคนิคทางการถ่ายภาพ แต่งภาพทั้งหลายนั่นเอง

สวยไหม...สวย

แปลกไหม..แปลกดี

แล้วมันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร?

161136403872

ถ้ำสีฟ้า

161136408175

หินย้อยปากถ้ำ

161136432130

ปากถ้ำสีฟ้า

ผมไปถาม ผอ.นิวัติ บุญนพ ของกรมทรัพยากรธรณี ท่านอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้

อย่างที่ผมบอกไปแต่ต้นแล้วว่า หินปูนนั้นเป็นหินที่เกิดจากการสะสมตัวบนพื้นผิวโลก ไม่ได้ถูกนำขึ้นมาจากใต้โลกเหมือนพวกที่มากับลาวาทั้งหลาย แต่หินตะกอนมาสะสมตัวและถือกำเนิดบนพ้นโลกเกิดในขณะที่พื้นโลกยังมีน้ำปกคลุม หินปูนก็จะสะสมทับถมกันเป็นหมื่น แสน ล้านปี จนเป็นหินปูน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ แคลไซค์

ในทะเลมันก็มีความลึกตื้นที่ต่างกัน ตรงไหนที่ลึกมาก การเคลื่อนไหวใต้น้ำก็จะน้อย บรรดาตะกอนต่างๆ ที่ตกทับถมกันก็จะไม่ค่อยถูกรบกวน พวกดินหรือซากอินทรีย์ทั้งหลายที่ตกลงไปก็ทับถมกันไม่ถูกกระแสน้ำรบกวน ทำให้หินปูนในส่วนนี้ มีสีออกคล้ำ เนื้อละเอียด อย่างที่เราเห็น เขาเรียกว่า หินปูนเนื้อดิน ในขณะเดียวกัน ในระยะเวลาที่เกิดเป็นหิน มันไม่ได้เกิดในเวลาแค่ปีสองปี แต่เป็นหมื่น แสน ล้านปีอย่างที่บอกสภาพภูมิประเทศก็เปลี่ยน บางช่วงก็เกิดการขยับจากลึกก็อาจถูกขยับขึ้นมาเป็นที่ตื้น ซึ่งที่ตื้นก็จะมีการเคลื่อนไหวของน้ำ พัดพาเอาดินหรือสารอินทรีย์ออกไป ทำให้เหลือเป็นแคลไซค์สีขาวๆ นั่นเอง แล้วอย่างที่บอกว่า หินตะกอนมันเกิดจากการทับถมเป็นชั้นๆ เราก็ถึงเห็นว่ามันมีลายสลับกันแบบนี้

ถ้าถามว่ามันควรจะอายุเท่าไร อายุนี่ยังฟันธงไม่ได้ แต่หินปูนที่มากสุดก็ยุคออร์โดวิเชียน (ประมาณ 488-444 ล้านปี) บางพื้นที่ก็เป็นเพอร์เมียน (ประมาณ 299-251 ล้านปี)  แม้แต่ในยุคจูราสสิค (ประมาณ 200-145 ล้านปี) ก็ยังมีการเกิดขึ้นของหินปูนได้

เมื่อเป็นหินปูนที่มันสลับลายกันแบบนี้แล้ว แผ่นเปลือกโลกก็ขยับมาชนกัน แล้วดันหินปูนส่วนหนึ่งโป่งขึ้นมาเป็นภูเขาหินปูนต่างๆ บริเวณ "ถ้ำสีฟ้า" นี่ก็ด้วย ถูกดันขึ้นมาเป็นภูเขา แล้วถูกนำละลายออไปจนเป็นโพรง เผยเห็นเป็นอุโมงค์สลับลายนี่เอง อย่าลืมว่ากระบวนการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มันไม่ได้เกิดแค่ปีหรือสองปี มันใช้เวลาเป็นแสน เป็นล้านปีอย่างที่บอกไป

161136416997

โถงแรกของถ้ำ จะเห็นหินปูนเนื้อดน แสดงชั้นที่ซ้อนทับกันชัดเจน

161136421156

ลวดลายการสลับกันของแคลเซียม

161136427365

อุโมงค์ด้านใน แม้เห็นชั้นหินที่ซอนทับกันอยู่แต่ไม่เห็นชั้นแคบเซียมสีขาวสลับ

ทีนี้คงหายสงสัยกันแล้วว่ามันเกิดเป็นแบบนี้ได้อย่างไร มีอีกอย่างที่น่าสนใจคือ คราบของแคลไซค์ที่ เกาะกันเป็นแนวยาวตามผนังถ้ำด้านปากถ้ำ แนวจะออกเอียงๆ หน่อย    ปรากฏการณ์แบบนี้เคยเห็นที่ถ้ำภูผาเพชร จ.สตูล คือถ้ำนี้อาจจะเคยเป็นโถงหรือแอ่งที่น้ำละลายแคลเซียมมาขังอยู่ พอนานเข้าเจ้าแคลซียลก็จะเกาะผนังถ้ำจนเป็นคราบตามผนังถ้ำในแนวระนาบ แล้วต่อมา เกิดการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลก ทำให้ภูเขานี้ถูกยกตัวขึ้น แล้วเกิดรอยแตก ทำให้น้ำที่เคยขังอยู่ ไหลออกไป มันเลยทิ้งคราบแคลไซค์แบบเอียงๆ ให้เห็นตอนนี้นี่เอง

จริงๆ ที่ “พบพระ” ยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายอย่าง แต่กรณี “ถ้ำสีฟ้า” นี้มีให้เห็นไม่บ่อย ไปแล้วก็อยากให้ท่านผู้อ่านรู้ที่มาที่ไป นอกจากความสวยงามที่ปรากฏ การเดินทางไปไม่ยากครับ จากแม่สอดมุ่งหน้าพบพระ ก่อนจะถึงทางเข้าน้ำตกธารารักษ์ราว 200 เมตร จะมีทางแยกเข้าไปตามทางราดยาง ราว 12  กิโลเมตร ถ้ำนี้อยู่ติดถนน 

ไปพบพระที่เดียว ได้ความอิ่มใจของธรรมชาติ สายธารน้ำตกต่างๆ ทั้งยังได้ความรู้เรื่องธรณีติดกลับมากด้วย  ท่องเที่ยวไทยยุคใหม่ต้องมีความรู้ด้วย ไม่ใช่ไปสวยๆ แต่กลวงๆ

เที่ยวแล้วกลวง สู้นอนอยู่บ้านดีกว่า...