ไฮไลท์งานศิลปะหาชมยาก จัดแสดงเคียง Porsche ในนิทรรศการและการประมูล Driven
The Art Auction Center เปิดให้เข้าชมงานศิลปะหาชมยากและทรงคุณค่าของ ถวัลย์ ดัชนี, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ดำรง วงศ์อุปราช, ประเทือง เอมเจริญ, ชาติชาย ปุยเปีย, ทองไมย์ เทพราม, มือบอญ, ก้องกาน ฯลฯ ในนิทรรศการและการประมูล Driven จัดแสดงพร้อมยนตรกรรม Porsche
The Art Auction Center บริษัทประมูลศิลปะในประเทศไทย จัดบิ๊กอีเวนต์ Driven นิทรรศการศิลปะและการประมูลผลงานศิลปะทรงคุณค่าและหาชมได้ยากในคราวเดียวกัน
ผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซที่นำออกประมูลครั้งนี้ ยังจัดแสดงเคียงข้างสุดยอดยนตรกรรมรถหรูรุ่นพิเศษที่แสดงถึงดีไซน์อันประณีตและสมรรถนะที่เป็นเลิศ โดย 911 Assistant ศูนย์บริการ Porsche ระดับแนวหน้าของประเทศ
นิทรรศการศิลปะและการประมูล Driven
พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Art Auction Center กล่าวถึงความน่าสนใจของนิทรรศการและการประมูล Driven ว่า
“การจัดแสดงศิลปะและยนตรกรรมคู่กันในนิทรรศการ Driven เป็นการผสมผสานที่แม้จะดูแตกต่าง แต่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว ด้วยต่างมีพลังดึงดูดใจในแบบของตัวเอง และสัมพันธ์กันด้วยความตั้งใจ ความประณีต และแรงบันดาลใจจากผู้สร้าง”
ในโอกาสนี้ ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ จะได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งในแง่โลกของศิลปะและโลกเทคโนโลยี ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ กับการได้พบค้นความงดงามที่ขยายขอบเขตออกไปมากกว่าผลงานศิลปะ และยังช่วยให้เราได้สัมผัสถึง 'แรงขับเคลื่อน' ซึ่งเป็นหัวใจของทั้งสองโลก
“Driven เปรียบดั่งพาหนะชั้นเยี่ยมที่จะนำพาทุกคนพุ่งทะยานไปสัมผัสประกายไฟแห่งพลังและจิตวิญญาณของศิลปิน งานนี้นับเป็นโอกาสทองของทุกคนที่จะได้สัมผัสผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมซึ่งหาชมได้ยากและร่วมการประมูล ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คุณได้ค้นหาและเป็นเจ้าของชิ้นงานซึ่งสะท้อนตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์”
นิทรรศการ Driven จัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นนำของวงการ จำนวน 133 รายการ ให้ได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิดก่อนการประมูล ลองไปดูกันว่ามีผลงานของศิลปินท่านใดบ้าง
พิริยะ วัชจิตพันธ์ บรรยายผลงาน Fishing Boat ของ ถวัลย์ ดัชนี
ถวัลย์ ดัชนี “Fishing Boat / ตังเก” (ปี 2510) สีน้ำมันบนผ้าใบ
พิริยะ วัชจิตพันธ์ กล่าวถึงผลงานศิลปะชิ้นนี้ว่าเป็นภาพกึ่งนามธรรมของเรือที่แสดงอยู่บนฉากหลังของสีเขียวและฟ้าตัดสลับกันอย่างนุ่มนวลอัดแน่นไปด้วยอารมณ์
เส้นสายที่ชับซ้อนทรงพลังและสีโทนฟ้าสุขุมถ่ายทอดความเงียบสงบและความลึกลับของท้องทะเล
การเล่นแสงและเงา ที่จับเอาจังหวะการเคลื่อนไหวของระลอกคลื่น ปาดป้ายด้วยเกรียงเรียงตัวสอดประสานในรูปร่างเรขาคณิตสไตล์คิวบิสก์
ผลงานชิ้นสำคัญนี้แขวนประตับ ณ ห้องอาหารขององค์กร JUSMAGTHAI ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม นับเป็นผลงานหายากที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างชัดเจน ในยุคที่ ถวัลย์ ดัชนี เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ
“ปลา” (ปี 2510) หมึกบนกระดาษ
ถวัลย์ ดัชนี “ปลา” (ปี 2510) หมึกบนกระดาษ
ห้วงเวลาสำคัญในชีวิตของ ถวัลย์ ดัชนี ที่ส่งผลต่อรูปแบบงานอันโด่งดังมากมาย คือช่วงที่ได้ไปศึกษาต่อ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับทุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายพอประทังชีวิต ไม่สามารถกินอยู่หรูหรา
การจะได้ลิ้มลองอาหารจานโตในภัตตาคารจึงเป็นได้เพียงสิ่งเพ้อฝัน แต่ด้วยต้นทุนฝีมือ จึงสามารถวาดโลกจากจินตนาการให้ออกมาเป็นภาพ สองมือแบแผ่ออกประหนึ่งแสดงตนว่าเป็นผู้ได้แหวะเนื้อเถือหนังปลาบนจานให้เหลือเพียงกระดูก
คู่รักจักรวาล (ปี 2537)
ประเทือง เอมเจริญ “Universal Lovers / คู่รักจักรวาล” (ปี 2537) สีน้ำมันบนผ้าใบ
ผลงานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ "จิตวิญญาณศิลปะ" เอกภพกว้างใหญ่มีถัดไปไร้สิ้นสุด ชั่วขณะที่ดวงดาวนับล้านกำลังสูญสลายแตกตับ บ้างระเบิดเพื่อก่อเกิดสายธารดาราใหม่ ท่ามกลางความอ้างว้างที่สสารกระจัดกระจายวุ่นวาย พลังของจักรวาลก็ดึงดูดเข้าหา นำพาคู่รักโคจรมาพบกัน
ประเทือง เอมเจริญ ถ่ายทอดความงามของปรากฏการณ์นามธรรมนั้น ด้วยคู่สีจัดจ้าน รายละเอียดเส้นสายบรรจงขับเน้นพลังของดาวฤกษ์ที่ปลดปล่อยสู่กันและกัน
หากเปรียบเป็นเส้นทางนับพันปีแสง ชีวิตมนุษย์นั้นยืนยาวเพียงแสงดาวตกที่คาดผ่านฟ้า แต่ในช่วงเวลาเพียงพริบตานั้น ความรักของเราได้พบพาน
ภูเขาทอง พ.ศ. 2504
ดำรง วงศ์อุปราช “Golden Mount / ภูเขาทอง” (ปี 2504) สีน้ำมันบนแผ่นไม้
พิริยะ วัชจิตพันธ์ กล่าวว่า ผลงานหายากชิ้นสำคัญของ ตำรง วงศ์อุปราช ที่ส่องประกายดังเพชรเม็ดงามชิ้นนี้ สร้างสรรค์ขึ้นในยุคที่ศิลปินชนะรางวัล ศิลปกรรมแห่งชาติ
ภาพนี้สะท้อนรายละเอียดอันประณีต ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวลวดลายขัดสานของไม้ ลายแผ่นกระดานของฝาผนัง และพื้นผิววัสดุมุงหลังคา ที่วาดอย่างพิถีพิถัน คงความสมจริง
นำเสนอภาพ 'ภูเขาทอง' ความงามของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนและวิถีชีวิตอย่างไทยที่กลั่นผ่านห้วงความคิดของศิลปิน อาศัยมุมมองนำเสนอในแนวตั้งแบบศิลปะสมัยใหม่ สะท้อนความเชื่อมโยงของชีวิตและศรัทธาทางศาสนาที่ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน
พระพุทธรูป ออกแบบโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต
จักรพันธุ์ โปษยกฤต “พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย” (ปี 2553) “สมเด็จพระพุทธเมตตามหาบพิตร” (ปี 2557) “พระพุทธมหาวชิราวุธานุสรณ์” (ปี 2556) เรซิน
พรสวรรค์ที่ครอบคลุมศิลปะแทบทุกแขนงของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะไทยปัจจุบันอย่างไร้ข้อกังขา ทั้งยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ออกแบบและตรวจการปั้นหล่อพระพุทธรูปในโอกาสสำคัญ
- พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย พระพุทธรูปปางมารวิชัย ออกแบบขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในการแสดงหุ่นกระบอก เรื่อง "ตะเลงพ่าย"
- สมเด็จพระพุทธเมตตามหาบพิตร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบบนฐานบัวออกแบบขึ้นในโอกาสพิเศษ ครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พระพุทธมหาวชิราวุธานุสรณ์ พระพุทธรูปปางสมาธิ ออกแบบขึ้นเนื่องในโอกาส 100 ปี โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
UNTITLED (ปี 2556) ของ ชาติชาย ปุยเปีย
ชาติชาย ปุยเปีย “UNTITLED” (ปี 2556) สีน้ำมันบนผ้าใบ
ธรรมชาติ เวลา ฤดูกาลผันผ่าน ชีวิตมนุษย์เวียนวน ก่อกำเนิดบุรุษบรรจบแล้วดับหาย ชาติชาย ปุยเปีย ถ่ายทอดความสันโดษ การแสวงหาและตระหนัก รู้ของจิตภาวะภายใน สะท้อนความคิดและอารมณ์ในใจ แสดงความสงบออกผ่านสีหน้าและการใช้สีในงาน
เหล่าผีเสื้อบินตอมดอมดม แทนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและเติบโตในมนุษย์ การเข้าใจ โอบรับและกลับคืนสู่สามัญนำมนุษย์หวนคืนสู่ธุลีดิน
BOY/เด็กชาย (ปี 2539)
ประยูร อุลุชาฎะ “BOY/เด็กชาย” (ปี 2539) สีพาสเทลบนกระดาษ
ปลายพู่กันจุดแต้มสีสันด้วยเทคนิค Pointillism (เทคนิคการสร้างสรรค์จิตรกรรมที่ใช้จุดเล็ก ๆ ต่างสีกันผสานอย่างกลมกลืน) สร้างมิติการรับรู้ภาพ ผ่านระยะต่าง ๆ ผสานความเป็นอิมเพรสชันนิสม์เข้ากับนามธรรมอย่างงดงาม ช่วยเสริมความเข้มข้นทางอารมณ์ให้กับภาพ
พื้นหลังที่ดูเคลื่อนไหวอย่างเลือนรางราวกับภาพในความฝัน ระยิบระยับได้ด้วยแสงกระจัดกระจาย ผ่านปริซึม มีภาพเด็กชายแทนความเป็นจริงที่ทั้งเป็นส่วนหนึ่งแต่ก็แบ่งแยกออกจากโลกรอบตัว สะท้อนถึงความไร้เตียงสาของขวบปีที่เรื่องราวของ ชีวิตยังรอการเข้าใจ
มือบอญ WHAAM!
มือบอญ “WHAAM!” (ปี 2565) สีอะคริลิก, สีกวอช, และสเปรย์เพ้นท์บนผ้าลินิน
ผลงานชิ้นนี้วิพากษ์ศิลปะแนวป๊อปอาร์ตได้อย่างแยบยลในรูปแบบการ์ตูนคอมิกที่ดูสนุกสนาน ด้วยกองทัพนกน้อยแสนน่ารักทำหน้าที่เป็นกบฏทางปรัชญา
ตั้งคำถามต่อแนวคิดการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยในยุคแห่งการชื่นชมทางวัฒนธรรม การพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของความคิดในผลงานที่ใครก็เข้าถึงได้
หรือนี่จะเป็นเพียงการยืมมืออัตถิภาวนิยมเข้ามายกระดับภาพลักษณ์สิทธิบริโภคนิยม ติดป้ายให้เป็นศิลปะชั้นสูง แทนที่ข้อเท็จจริงด้วยความเชื่อศรัทธาสร้าง ความจริง อันบิดเบือนขึ้นมา
มือบอญ อ้างอิงไอคอนของกระแสป๊อปอาร์ตลงในผลงาน ทั้งด้วยความยกย่องและตั้งคำถามไปพร้อมกัน
ผลงานชิ้นนี้เคยจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยว "WHAAM!" ที่ Black Book Gallery เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2565
ทองไมย์ เทพราม “Where did we come from? Why were we born? Where are we going?” (ปี 2565) สีอะคริลิกและดินสอบนผ้าลินิน
ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยขนาดใหญ่ของ ทองไมย์ เทพราม นำเสนอการตั้งคำตามใคร่ครวญถึงชีวิต การเดินทางของตัวละครสรรพสัตว์ เอกลักษณ์การใช้สีสัน สดใส จัดจ้าน การแรเงาที่สร้างมิติรูปร่างให้ชัดเจนปรากฏในผลงาน
อีกทั้งการนำหลักคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจในการสื่อสาร กล่าวถึงชีวิตที่ดำเนินไปตามวิถี เมื่อมีผู้ตื่นรู้และมีปัญญาเป็นแสงแห่งความรู้แจ้งนำทาง ย่อมมีผู้คนที่หลงย่ำเดินอยู่ในความมืด แต่เมื่อใดที่พวกเขาเลือกถอดผ้าผูกนั้นออก ตาของพวกเขาก็จะไม่มืดบอดอีกต่อไป
ก้องกาน - กันตภณ เมธีกุล “Shade of Summer” (ปี 2562) สีอะคริลิกบนผ้าใบ
อดีต ปัจจุบัน และกาลข้างหน้าเป็นสายธารที่เชื่อมต่อกันมายาวนาน ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักกับเวลา และจะดำเนินต่อไปเช่นนี้ แม้กาลอวสานจะมาถึง
ในโลกที่หมุนอยู่ภายใต้กรอบของสังคมกดดันให้ชีวิตต้องดิ้นรนแข่งขัน แต่กฎของเวลาคือผู้กำหนดที่แท้จริง เพราะมนุษย์นั้นมีอดีตเป็นความทรงจำ ความจริงคือ ปัจจุบัน และความหวังอยู่ในอนาคต
ก้องกาน นำเสนอแนวคิดด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์และสีสันของท้องฟ้าที่อบอุ่นใจ ผ่านตัวละครหญิงสาวที่พบเห็นได้ไม่บ่อยในงานของเขา
นิทรรศการและการประมูล Driven
นิทรรศการและการประมูล Driven
ลอยกระทง ของ ประหยัด พงษ์ดำ
นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะอันโดดเด่นจากศิลปินชั้นนำที่สะท้อนเอกลักษณ์และมุมมองเฉพาะตัว ที่น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น สมโภชน์ อุปอินทร์ กับงาน “TRIO”, ประเทือง เอมเจริญ “Natural Phenomenon / ปรากฎการณ์ธรรมชาติ”, กิตติ นารอด “London Bridges”, ประหยัด พงษ์ดำ “Loy Kratong (River Goddess Worship Ceremony) ลอยกระทง”, ทวี นันทขว้าง “Bird of Paradise” ฯลฯ
ทุกผลงานเปี่ยมไปด้วยความหมายและเรื่องราวที่น่าค้นหา รอให้ผู้ชมได้มาสัมผัสและสำรวจอย่างใกล้ชิด เปิดให้ชมระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 – 19.00 น. ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก, RCB Artery (ชั้น 1) และ ห้อง RCB Galleria 4 (ชั้น 2)
การประมูลผลงานกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก