Follow Your heART ประมูลศิลปะครั้งยิ่งใหญ่ รวมงานศิลปะหายากศิลปินชั้นครู
เปิดประวัติผลงานศิลปะสุดหายากของศิลปินไทยชั้นครูใน Follow Your heART งานประมูลผลงานศิลปะของปรมาจารย์ศิลป์หลายแขนง ครั้งนี้ครั้งเดียวที่อาจได้ชมในที่สาธารณะ ร่วมด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินรุ่นใหม่มาแรง รวมแล้วกว่า 200 ชิ้น
Follow Your heART เป็นงานประมูลผลงานศิลปะครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง จัดโดย The Art Auction Center (TAAC) บริษัทประมูลศิลปะชั้นนำของไทย กำหนดจัดประมูลวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 เดือนแห่งความรัก จึงตั้งชื่องานประมูลครั้งนี้ว่า Follow Your heart
Follow Your heART อ่านว่า ‘ฟอลโล ยัวร์ ฮาร์ต ฟอลโล ยัวร์ อาร์ต’ มีความหมายคือการตามหาผลงานศิลปะที่คุณรัก หรือตามหาผลงานศิลปะเพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญให้คนที่คุณรัก
พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง TAAC
“การที่เราให้งานศิลปะเป็นของขวัญ น่าจะเป็นการให้ของขวัญที่ยั่งยืน การให้ดอกไม้อาจเหี่ยวเฉาในสามวันห้าวัน แต่ผลงานศิลปะและผลงานภาพดอกไม้ที่เรานำมาจัดแสดงให้ชม สามารถเก็บไว้ได้ตลอดกัลปาวสาน นอกจากคุณค่าและมูลค่ายังอยู่ บางชิ้นมูลค่าจะทวีคูณขึ้นไปอีกมากมายในอนาคต” พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง TAAC และกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย กล่าวถึงคอนเซตป์ ‘ฟอลโล ยัวร์ ฮาร์ต ฟอลโล ยัวร์ อาร์ต’ ในการจัดประมูลครั้งนี้
สำหรับนักสะสมงานศิลปะ นอกจากความยิ่งใหญ่ของผลงานศิลปะที่นำมาเปิดประมูล ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินชั้นครูของวงการศิลปะเมืองไทย ศิลปินระดับครูหลายท่านยังเป็นลูกศิษย์ซึ่งเคยเรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยตรง
นิทรรศการ Follow Your heART
สำหรับคนรักงานศิลปะทั่วไป แค่ได้มาเดินชม ก็ถือเป็นโอกาสดีมากๆ เพราะผลงานศิลปะที่นำออกประมูลครั้งนี้หลายชิ้น ไม่เคยจัดแสดงในที่สาธารณะมาก่อน เพราะเป็นผลงาน private collection ของนักสะสม ไม่สามารถเข้าไปขอเดินชมในบ้านของเขาได้
และนี่อาจเป็นแค่ครั้งเดียวที่ผลงานชิ้นสำคัญของครูศิลปะเมืองไทยจัดแสดงในที่สาธารณะ เมื่อถูกเปลี่ยนมือไปสู่ผู้ประมูลท่านใหม่ อาจไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้วหากไม่นำออกประมูลอีก ฉะนั้นเพียงได้มาเดินชมก็ถือว่าคุ้มแล้วที่ได้เห็นผลงานที่มีความพิเศษมากๆ
ภาพ Felines ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
หนึ่งในผลงานศิลปะจำนวน 200 ชิ้นที่หายากมากๆ ซึ่งนำออกประมูลครั้งนี้คือภาพ Felines ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผลงานหายากเนื่องจากท่านหญิงมิได้ทรงพำนักในเมืองไทย
คุณพิริยะกล่าวถึงความเป็นมาของภาพ Felines ว่า ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ทรงวาดภาพนี้เมื่อปีค.ศ.1970 เป็นงานยุคแรกๆ ขณะท่านหญิงทรงพำนักในเมืองแอนนอท (Annot) ประเทศฝรั่งเศส
บรรยากาศของเมืองแอนนอทเป็นภูเขาหิน มีความสลับซับซ้อนของชะง่อนผา เป็นแรงบันดาลใจให้ทรงวาดภาพนี้
พิริยะ วัชจิตพันธ์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพ Felines
ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ ไม่ได้ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่ทรงจบปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ หลังจากนั้นทรงศึกษาการวาดรูปด้วยองค์เอง ฝึกฝนจนมีความสามารถสูง
ธีมการวาดภาพที่ท่านหญิงทรงโปรดคือ Surreal (แนวเหนือจริง) ทรงนำชะง่อนผาที่เห็นรอบตัวมาทำเป็นฉากที่เหนือจริง
ขณะเดียวกัน ท่านหญิงทรงมีความรักในสัตว์เลี้ยงเป็นอันมาก ทรงเลี้ยงสุนัข แมว นก ซึ่งไม่ได้ขังไว้ในกรง แต่ปล่อยให้บินไปมาในที่ประทับในเมืองแอนนอท และทรงนำมาวาดเป็นตัวละครในภาพที่มีรูปร่างอย่างมนุษย์ เพราะทรงมองสัตว์เลี้ยงต่างๆ เป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว
“ภาพจิตรกรรมชิ้นนี้มาจากฝรั่งเศส เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อประมูลในงานนี้โดยเฉพาะ” คุณพิริยะ กล่าว ราคาเปิดประมูล 430,000 บาท
Blossoming Time สร้างสรรค์โดย อินสนธิ์ วงค์สาม พ.ศ.2503
ผลงานภาพพิมพ์ที่น่าสนใจมากๆ อีกชิ้น คือ Blossoming Time (ฤดูใบไม้ผลิ) สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อพ.ศ.2503 โดย อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2542 และเป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี
ตอนเป็นวัยรุ่น ‘อินสนธิ์ วงค์สาม’ ต้องการไปคารวะหลุมศพอาจารย์ศิลป์ที่เมืองฟลอเรนซ์โดยขี่สกู๊ตเตอร์ออกเดินทางจากประเทศไทยไปอิตาลี ระหว่างเดินทางก็ทำภาพพิมพ์ขายเป็นค่าน้ำมันรถและค่าอาหาร
“ภาพ Blossoming Time เคยประกวดในงานศิลปกรรมแห่งชาติและได้เหรียญรางวัลเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์ศิลป์เคยพูดถึงภาพนี้ว่า อินสนธิ์มีความสามารถพิเศษตรงที่สามารถมิกซ์เอาต้นไม้ นก มาดูเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จริงๆ คือนกที่กำลังตื่นในตอนเช้า บินออกไปหาอาหารกิน เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ ดูเผินๆ เหมือนเป็นต้นไม้ แต่มีนกเยอะแยะไปหมด” คุณพิริยะ กล่าว
ผลงาน อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ในงานประมูลครั้งนี้
ผลงานศิลปะที่หายากมากๆ และเป็นที่หมายปองของผู้ตั้งใจสะสมงานศิลปะ คือภาพที่วาดโดย เฟื้อ หริพิทักษ์ ถ้ากล่าวว่าอ.ศิลป์ พีระศรี เป็นบิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย อ.เฟื้อถือเป็นครูใหญ่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยก็ว่าได้
คุณพิริยะเล่าถึงประวัติชีวิตช่วงหนึ่งของอาจารย์เฟื้อ ว่าท่านก็เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอ.ศิลป์ พีระศรี ได้รับการส่งตัวไปเรียนศิลปะที่ประเทศอินเดีย ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สองพอดี ไทยเข้ากับญี่ปุ่น อ.เฟื้อถูกจับเป็นเชลย ติดคุกที่นั่นเป็นเวลาหลายปี
เมื่อสงครามยุติ อ.ศิลป์ก็ส่งอ.เฟื้อไปเรียนการวาดภาพสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ต่อที่ประเทศอิตาลี
เมื่อเรียนสำเร็จกลับมา เฟื้อ หริพิทักษ์ ส่งงานเข้าประกวดศิลปกรรมแห่งชาติก็ได้เหรียญทองทุกครั้ง ถ้าต้องการประสบความสำเร็จด้านการเป็นศิลปิน ท่านทำได้สบายๆ แต่ท่านไม่ทำ
ท่านมองว่า การวาดภาพเพื่อขาย ไม่ใช่กิจของศิลปิน ท่านเอาเวลาทั้งหมดไปบูรณะและคัดลอกงานจิตรกรรมฝาผนัง ตามความคิดที่ว่า หากไม่ทำในวันนี้ วันหนึ่งลูกหลานในอนาคตข้างหน้าจะไม่เห็น เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังจะผุพังไปตามกาลเวลา
“ท่านใช้เวลาทำในสิ่งที่ไม่ได้เงิน ท่านจึงยากจนและตายอย่างลำบาก แต่ทุกคนบูชาท่าน เพราะท่านรักศิลปะจริงๆ”
ผลงานศิลปะของอาจารย์เฟื้อจึงมีน้อยและหายากมากๆ เพราะท่านทำงานศิลปะอยู่ช่วงเดียวคือตอนไปอินเดียและกลับจากอิตาลี จากนั้นก็คัดลอกงานจิตรกรรมฝาผนังมาโดยตลอด
งานที่นำออกประมูลครั้งนี้ชื่อ No.1436 อ.เฟื้อสร้างสรรค์ขึ้นขณะเรียนศิลปะอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
“ตอนนั้นท่านไม่ใช้กล้องถ่ายรูป ด้วยความเป็นศิลปิน ท่านใช้สมุดสเก็ตช์ เห็นอะไรประทับใจระหว่างการเดินทางก็จะวาดภาพด้วยการสเก็ตช์ออกมา ลายเส้นของอาจารย์เฟื้อถือว่าแม่นยำ ฉับไว และรวดเร็ว มีอารมณ์และมีพลังมากๆ” คุณพิริยะ กล่าว
ภาพลายเส้นของ อ.ศิลป์ พีระศรี
อีกหนึ่งผลงานหายากเป็นผลงานของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เอง เนื่องจากท่านสอนลูกศิษย์ให้เป็นศิลปิน จึงไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะส่วนตัวไว้มากมาย ผลงานที่เห็นกันชัดๆ คือการออกแบบสร้างอนุสาวรีย์
แต่ในงานประมูลครั้งนี้เป็นความพิเศษจริงๆ เพราะมีผลงานศิลปะของ อ.ศิลป์ พีระศรี รวมอยู่ด้วย เป็นภาพที่วาดด้วยปากกาลงบนกระดาษเพื่อใช้เป็นภาพประกอบหนังสือการเรียนศิลปะเล่มแรกของประเทศไทยชื่อ ‘ทฤษฎีแห่งองค์ประกอบ’ ตอนนั้นสะกดว่า ‘ทริสดีแห่งองค์ประกอบ’
โดยเป็นช่วงเวลาที่ ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ เพิ่งเริ่มก่อตั้งโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และอนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งในปีพ.ศ.2487 เพื่อทำหนังสือสอนศิลปะ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี รับอาสาเป็นคนเขียนรายละเอียดและภาพประกอบ เพื่อใช้สอนในมหาวิทยาลัยและเผยแพร่แก่สาธารณชนที่สนใจ
ภาดวาดลายเส้นฝีมืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี ภาพนี้มีขนาด 42 x 30 เซนติเมตร เปิดประมูลด้วยราคา 600,000 บาท
ภาพดอกกุหลาบ วาดโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต
อีก 1 ชิ้นงานที่อยู่ในการประมูลครั้งนี้ เป็นผลงานศิลปะที่ถือว่าเป็นสุดยอดของศิลปินบ้านเราคือภาพวาดของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต หามาครอบครองยากไม่รู้จะเปรียบเปรยความยากนั้นอย่างไร เดินไปซื้องานท่านก็ไม่ขาย
“ประเทศไทยวันนี้ ศิลปินท่านใดราคาแพงที่สุดในประเทศ เราไม่รู้ เพราะศิลปินบางคนวาดภาพใหญ่เท่าบ้านแล้วบอกราคาเท่านี้ แต่บางคนวาดเล็กนิดเดียวแต่ราคาเท่านี้ แต่ถ้าเราวัดกันเป็นตารางเซนติเมตร คนที่แพงที่สุดในประแทศไทย คืออาจารย์จักรพันธุ์
เคยมีคนไปถามอาจารย์ มีงบห้าแสนถึงแปดแสนบาท ขออาจารย์วาดให้สักรูป อาจารย์พูดทีเล่นทีจริงให้คนๆ นั้นฟังว่า คุณจะเอารูปฉันไปทำไม ราคาขนาดนั้นมันเล็กเท่ากับแสตมป์”
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ถือว่ามีพรสวรรค์ระดับหาคนที่จะเกิดมาใหม่ให้มีความสามารถแบบนี้ยากมาก
“ปกติคนที่วาดภาพลายไทยมักวาดภาพพอร์เทรตเหมือนจริงแบบตะวันตกได้ไม่ดี และคนที่วาดพอร์เทรตดีๆ แบบตะวันตกก็วาดลายไทยไม่ได้ แต่อาจารย์จักรพันธุ์วาดได้หมด ลายไทยของอาจารย์ที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าสกุลช่างแบบจักรพันธุ์มีสไตล์ชัดเจนและสวยงามพิเศษอ่อนช้อย ขณะเดียวกันท่านก็วาดพอร์เทรตมนุษย์ให้งดงามยิ่งกว่าตัวจริงมหาศาล”
ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ที่อยู่ในงานประมูลครั้งนี้ คือภาพดอกกุหลาบ ซึ่งวาดขึ้นเมื่อพ.ศ.2535 เป็นภาพสีน้ำบนกระดาษขนาด 37 x 26 เซนติเมตร พร้อมลายเซ็นชื่อของอาจารย์ เปิดประมูลที่ราคา 850,000 บาท
“ภาพนี้เป็นผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ที่พิเศษสุดๆ ดูเหมือนเรียบๆ ไม่มีอะไร แต่ใครได้รูปนี้ไปดีใจไปจนตาย อาจารย์ไม่ได้วาดสีน้ำอย่างคนอื่นที่ร่างภาพก่อนด้วยดินสอ แต่ท่านมีภาพอยู่ในหัว ท่านจุ่มสีแล้วระบายลงบนกระดาษเลย ปล่อยให้น้ำซึมไปเดี๋ยวนั้น ภาพของอาจารย์จึงสะอาดไม่มีรอยดินสอเลย”
ภาพวาดด้วยแท่งถ่านของ อังคาร กัลยาณพงศ์, ภาพขวาผลงาน ชลูด นิ่มเสมอ
สำหรับผู้ชื่นชอบผลงานของท่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ ก็มีให้ชมและประมูลเช่นกัน ความจริงท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พ.ศ.2532 แต่ท่านก็มีความสามารถในการวาดภาพด้วยเทคนิคที่ไม่เป็นสองรองใคร
นั่นก็คือการวาดภาพด้วยเครยอง (crayon) หรือการใช้แท่งถ่านตวัดลงบนกระดาษ ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย เพราะการใช้สันของแท่งถ่านตวัดลงบนกระดาษ ถ้าไม่แม่นจะไม่ได้ภาพที่มีเส้นคมอย่างนี้ และเมื่อตวัดไปแล้วซ่อมไม่ได้
ภาพที่นำออกประมูล ท่านอังคารวาดไว้เมื่อปีพ.ศ.2545 ขนาด 30 x 40 เซนติเมตร เปิดประมูลด้วยราคา 180,000 บาท
พิริยะ วัชจิตพันธ์ อธิบายงานศิลปะยุคสงครามเวียดนาม
ผลงานศิลปะที่น่าสนใจอีกกลุ่มคือ ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเวียดนามเมื่อ 60 ปีก่อน คุณวิริยะเล่าว่า สมัยนั้นทหารอเมริกันใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพ ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็เริ่มรณรงค์เรื่องการท่องเที่ยวไทยและเผยแพร่ภาพลักษณ์เมืองไทย พร้อมกับจัดงานประกวดศิลปะ
ภาพที่ชนะรางวัลในยุคนั้นคือภาพสไตล์หมู่บ้านชาวประมง ตลาดน้ำ ซึ่ง ททท. อยากเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ฝรั่งเวลามาเมืองไทยยุคนั้นจึงมักซื้อภาพวาดลักษณะนี้กลับไปเป็นที่ระลึก ภาพจึงตกอยู่ในมือลูกหลานชาวต่างชาติซึ่งพ่อแม่หรือปู่ย่ามาเมืองไทยยุคนั้น
ภาพวาดโดย ม.ล.ปุ่ม มาลากุล
สมัยนั้นมีศิลปินวาดภาพสไตล์นี้เยอะแยะไปหมด แต่คนที่วาดและประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดท่านหนึ่งคือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ท่านไม่ได้มีความสามารถเฉพาะการวาดภาพวิวสีน้ำมันเทคนิคยุโรปแต่มีเนื้อหาแบบไทยเท่านั้น
ม.ล.ปุ่มยังเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือท่านเป็นสถาปนิกด้วย ยุคนั้นใครมาเมืองไทยแล้วได้ภาพวาดฝีมือ ม.ล.ปุ่ม กลับไป ถือว่าวิเศษสุดๆ
ในการประมูลครั้งนี้มีผลงานภาพวาดของ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล อยู่ 3 ภาพ ไม่มีชื่อภาพ แต่เป็นภาพกระท่อม ภาพบ้านพักในป่า ภาพหมู่บ้านชาวประมง ราคาเปิดประมูลอยู่ระหว่าง 100,000-200,000 บาท
ภาพวาดโดย ม.ล.ปุ่ม มาลากุล (ซ้าย), ภาพวาดโดย คิด โกศัลวัฒน์
ศิลปินอีกท่านหนึ่งที่ถือว่ามีชื่อเสียงเช่นเดียวกันในยุคนั้นคือ คิด โกศัลวัฒน์ มีสไตล์การวาดภาพคล้าย ม.ล.ปุ่ม แต่เส้นสายของอาจารย์คิดค่อนข้างหนักแน่น ใช้สีที่เข้มข้นมากกว่า
ภาพวาดผลงานของ ‘คิด โกศัลวัฒน์’ ที่นำออกประมูลครั้งนี้คือภาพ Klong Rung Sit สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 40 x 70 เซนติเมตร วาดไว้เมื่อพ.ศ.2515 เปิดประมูลที่ราคา 150,000 บาท
ร่วมด้วยภาพหมู่บ้านชาวประมงที่วาดโดยศิลปินลูกศิษย์โดยตรงของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี คืออาจารย์ อวบ สาณะเสน ท่านเป็นศิลปินซึ่งมีความสามารถพิเศษในการวาดภาพคล้ายสไตล์ตะวันตก และมีความครึ้มเหมือนอยู่ในภวังค์
ภาพวาดโดย สวัสดิ์ ตันติสุข
ศิลปินอีกท่านที่มีวิธีสร้างสรรค์ผลงานไม่เหมือนใครคือ สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม พ.ศ.2498 และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)ประจำปีพ.ศ.2534 ลูกศิษย์สายตรงของ อ.ศิลป์ พีระศรี
นอกจากมีความสามารถวาดภาพสีน้ำและสีน้ำมัน การวาดภาพของ ‘สวัสดิ์ ตันติสุข’ ยังมีสไตล์พิเศษไม่เหมือนใคร ตรงที่ท่านไม่ได้วาดในสตูดิโอ แต่จะนำกระดาษและสีน้ำออกไปวาดในสถานที่จริง
ยกตัวอย่างภาพชายทะเลที่มีเรือประมงที่นำออกประมูลครั้งนี้ อาจารย์สวัสดิ์ก็นั่งอยู่ริมทะเล ถ้ามีละอองคลื่นหรือฝนตกลงมากระทบกระดาษ ก็จะผสานไปกับฝีแปรงที่ท่านวาด เป็นธรรมชาติที่เพิ่มเข้าไปในภาพโดยท่านไม่ตั้งใจ แต่ออกมาลงตัวและสวยงาม
“ภาพเหล่านี้ชาวต่างชาติซื้อไปในยุคนั้น แต่คนไทยซื้อกลับมา เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีค่าในยุคหนึ่งของบ้านเราที่ศิลปินสร้างสรรค์ไว้” พิริยะ กล่าว
(แถวบนจากซ้าย) ผลงาน 2 ภาพ ของ อนันต์ ปาณินท์, อำนาจ วชิระสูตร, (แถวล่างจากซ้าย) ผลงาน 2 ภาพ ของ พิชัย นิรันต์, อานันต์ ปาณินท์, ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ในงานประมูลยังมีผลงานศิลปะของ อานันต์ ปาณินท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)ประจำปีพ.ศ.2562 มีทั้งผลงาน ‘ภาพนิ่ง’ ที่ท่านวาดในสตูดิโอเป็นส่วนใหญ่ และที่พิเศษคือมี ‘ภาพวิวทิวทัศน์’ ซึ่งท่านไม่ค่อยได้วาดภาพแนวนี้
ภาพทิวทัศน์ของ อานันต์ ปาณินท์ มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือภาพวาดเหมือนอยู่ในเงาหมอก มีความเลือนลาง เหมือนอยู่ในความฝัน
ภาพของศิลปินแห่งชาติชั้นครูอีกท่าน คือ พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)ประจำปีพ.ศ.2546 ลูกศิษย์โดยตรงของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี
พิชัย นิรันต์ ชอบวาดภาพดอกไม้และภาพที่มีคติแฝงเกี่ยวกับธรรมะ เช่น ภาพดอกบัวที่ยังไม่ผุดออกมา ภาพฟอสซิล ภาพวัฎจักรเวียนว่ายตายเกิด
ภาพพิมพ์ยุคแรกโดย ถวัลย์ ดัชนี ราคาเปิดประมูล 200,000 บาท
ในงานประมูลผลงานศิลปะ Follow Your heART ยังมีผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินชั้นครูอีกหลายท่าน ช่วง มูพินิจ, ม.จ.การวิก จักรพันธุ์, ถวัลย์ ดัชนี, ชลูด นิ่มเสมอ, ประหยัด พงษ์ดำ, นิติ วัตุยา, จรูญ บุญสวน, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, มานิตย์ ภู่อารีย์, ประทีป คชบัว, ประสงค์ ลือเมือง, ไพโรจน์ วังบอน, เฉลิม นาคีรักษ์, วสันต์ สิทธิเขตต์ ฯลฯ
เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ โดย 'ตะวัน วัตุยา' ราคาเปิดประมูล 160,000 บาท
ประติมากรรม UOY MA I (I AM YOU) ผลงานของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร
บางส่วนของผลงานศิลปะโดยศิลปินรุ่นใหม่ร่วมในการประมูล
ร่วมด้วยผลงานศิลปินดาวเด่นแห่งยุคสมัยครบครันทั้ง ซันเต๋อ, อเล็กซ์ เฟซ, MUEBON (มือบอญ), กฤช งามสม, ลำพู กันเสนาะ, ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, เชิดศักดิ์ เม้ยขันหมาก รวมถึง เป๊ก (Pex) กับงานชุด น้องมะลิ (MARI WONDER GIRL), วิศุทธิ์ พรนิมิตร กับน้องมะม่วง, ผลงานชิ้นพิเศษของ ก้องกาน ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ
งานประมูลศิลปะ Follow Your heART กำหนดจัดขึ้นใน วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ณ ห้องประมูล ณ RCB Galleria 1 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0 2233 7939 และโทร.06 5097 9909
หาโอกาสไปชมก่อนนักสะสมเก็บเข้ากรุส่วนตัว