ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เยาวราช กับงานดีไซน์แลกเปลี่ยนวัสดุ Bangkok Design Week
ย่ำอดีตเยาวราชในย่านเก่า ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ ชมงานดีไซน์จากการแลกเปลี่ยนวัสดุที่เคยถนัดของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ 39 สตูดิโอ สมาชิก D&O ในงาน Bangkok Design Week 2023
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงงานของ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 นิทรรศการผลงานออกแบบที่จัดแสดงในพื้นที่นี้มีชื่อว่า You Do Me, I Do You เป็นผลงานการออกแบบของสมาชิก สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ หรือ D&O (The Design and Objects Association)
ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่ร่วมสมัย ไปจนถึงล้ำจินตนาการน่าชม พอมาจัดวางในสถานที่ประวัติศาสตร์ซึ่งมีสถาปัตยกรรมย้อนยุคอย่าง ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ ยิ่งเพิ่มเสน่ห์และความน่าสนใจ
สถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ชุมชนเลื่อนฤทธิ์
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวัดตึก ถนนเยาวราช มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณหญิงเลื่อน ภริยาหลวงฤทธิ์ นายเวร ชาวบ้านสมัยนั้นจึงเรียกย่านนี้ว่า ‘เลื่อนฤทธิ์’
ต่อมาคุณหญิงเลื่อนได้ขายที่ดินให้ ‘พระคลังข้างที่’ ซึ่งได้พัฒนาที่ดินเป็นตึกแถวพาณิชย์แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นอาคารพาณิชย์ยุคแรกๆ ของไทยเช่นกัน
ตัวอาคารเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างแบบโคลอนเนด (Colonnade) คือมีทางเดินด้านหน้าติดต่อกันไปทุกตึกโดยตลอด ประตูชั้นล่างเป็นแบบบานเฟี้ยม เหนือประตูมีช่องลม กรอบหน้าต่างชั้นบนเป็นบานไม้มีกันสาด ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูให้มีสภาพดังเดิม
BaanchaaN X 5ivesis : การแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างโลหะและเศษหนัง
ส่วนแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ครั้งนี้มีคอนเซปต์ตามชื่อนิทรรศการ You Do Me, I Do You คือการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างสตูดิโอของสมาชิก D&O เช่น สตูดิโอที่เคยถนัดงานเหล็กก็อาจจะนำ ‘หวาย’ วัสดุหลักของสตูดิโอเพื่อนสมาชิกมาออกแบบ เหมือนการก้าวออกจาก comfort zone ของตนเองมาท้าทายความสามารถในการออกแบบ
PiN X Touchable : การแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างเหล็กและไหมพรม
สมาคม D&O เชื่อว่า แนวคิดนี้คือการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ต้องมองข้ามบรรทัดฐานของตนเองและพยายามสร้างโอกาส วิธีการออกแบบ การแก้ปัญหาใหม่ๆ ผ่าน ‘ดีไซน์’
“การทำงานออกแบบในลักษณะแลกเปลี่ยนวัสดุกัน ก็เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เราหวังว่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่สร้างแรงขับเคลื่อนต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและแนวปฏิบัติของงานออกแบบไทยในอนาคต” ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ PiN สมาชิกสมาคม D&O ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
พาวิลเลียนไม้เฌอร่า ออกแบบโดย กรกต อารมย์ดี
ช่วงกลางคืนมีการแสดงแสงไฟประกอบ (credit : ศรุตา เกียรติภาคภูมิ)
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแนวคิดหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวัสดุ ผ่านการทำงานร่วมกับ เฌอร่า (Shera) วัสดุทดแทนไม้ที่ปกติมีประโยชน์ใช้สอยเชิงสถาปัตยกรรมในการทำพื้น ผนัง และหลังคา
แต่ครั้งนี้สมาชิกของ D&O ได้ลองนำไม้เฌอร่ามาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ กรกต อารมย์ดี เจ้าของแบรนด์ Korakot นักออกแบบซึ่งสร้างชื่อเสียงจากการใช้ความรู้ความสามารถด้านงานหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยการผูกอวนของชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดเพชรบุรีบ้านเกิดมาใช้กับงานไม้ไผ่ ได้ลองใช้ไม้เฌอร่ามาเป็นวัสดุในการสร้างพาวิลเลียนสานขนาดใหญ่ที่มีความอ่อนช้อยจากเส้นโค้ง เป็นแลนด์มาร์คในพื้นที่จัดแสดงงาน
เฌอร่า X โยธกา
ขณะที่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ผสานงานถักชื่อดัง โยธกา (Yothaka) ได้ทดลองใช้เครื่องซีเอ็นซีฉลุเพื่อลดน้ำหนักไม้เฌอร่า และทำให้เกิดลวดลายที่สวยงามด้วยงานเชือกถักผสานลงไป กลายเป็นม้านั่งจากไม้ฝาเฌอร่าดีไซน์เก๋ที่ไม่เคยเห็น
PDM X Shera :โต๊ะลายหินอ่อน
แบรนด์ PDM (พีดีเอ็ม) เปลี่ยนการรับรู้ของไม้เฌอร่าด้วยการพิมพ์ลายหินอ่อนลงไปผิวไม้เฌอร่า แล้วออกแบบเป็นโต๊ะสไตล์จีน กลายเป็นโต๊ะที่เหมือนท็อปคือหินอ่อน วางคู่กับเก้าอี้แบบสตูออกแบบโดย โยธกา ใช้ซีเอ็นซีสกัดดับเบิ้ลเฌอร่าบอร์ดผสมกับงานเหล็ก
Masaya X Shera
Kenkoon X Shera
Kenkoon (เคนคูน) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคารในชิ้นเดียวกัน ได้ลองใช้ด้านตัดของไม้เฌอร่า เพิ่มการทำสี ท็อปด้วยงานสเตนเลสทำเป็นเคาน์เตอร์ครัวติดตั้งเตาปิ้งย่างบาร์บีคิวสำหรับงานปาร์ตี้ พร้อมอ่างชำระล้างขนาดใหญ่
นิทรรศการ You Do Me, I Do You จัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์และงานเชิงประติมากรรม จำนวน 29 ผลงาน จากการร่วมมือระหว่าง 39 สตูดิโอสมาชิก D&O เป็นผลงานการออกแบบใหม่และจัดแสดงเป็นครั้งแรก
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ You Do Me, I Do You
ประติมากรรมระหว่างงานเศษหนัง เชือก เหล็ก
พิเศษวันเสาร์ที่ 11 ก.พ.2566 เวลา 18.00 น. เชิญชม แฟชั่นโชว์ ผลงานของนักศึกษาจากภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กว่า 20 ผลงาน และการแสดงดนตรีสดประกอบ Fashion Show จากนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากนั้น ยังมีผลงานนักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรการออกแบบ (นานาชาติ) จากประเทศจีน และเวียดนาม ร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้ด้วย
ผลงานการแลกเปลี่ยนวัสดุ
งานปั้นกับแบรนด์เครื่องหอม
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 พื้นที่ ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น.
ที่จอดรถใกล้เคียง
- เวิ้งนาครเขษม ระยะทางประมาณ 200 เมตร ค่าจอดรถ 40 บาท/ชั่วโมง 06.00-22.00 น.
- อาคารรวมทนุไทย ระยะทางประมาณ 350 เมตร ค่าจอดรถ 45 บาท/ชั่วโมง เปิด 24 ชั่วโมง
- วัดจักรวรรดิ ระยะทางประมาณ 250 เมตร ค่าจอดรถ 30 บาท/ชั่วโมง เปิด 24 ชั่วโมง