9 จุดแสดงงาน Bangkok Design Week 2023 เจริญกรุง ตลาดน้อย เยาวราช พระนคร
ปักหมุด 9 พิกัดแสดงงาน Bangkok Design Week 2023 รวมงานออกแบบเมืองมิตรดี TCDC, สุริยาหีบศพ, โจรกรรมพื้นที่ร้าง, MRT สถานีวัดมังกร, ชุมชนเลื่อนฤทธิ์, ลานคนเมือง, โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ประปาแม้นศรี, หอประติมากรรมต้นแบบ
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมจัดเทศกาลฯ นี้ขึ้น ต้อนรับการเปิดเมืองอย่างเป็นทางการของกรุงเทพมหานคร
โจทย์ของ ‘งานออกแบบ’ ปีนี้คือ urban‘NICE’zation เมือง - มิตร - ดี แสดงงานออกแบบที่ต้องสร้างเมืองที่เป็นมิตรที่ดีผ่าน 6 มิติ ได้แก่
มิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มิตรที่ดีต่อคนเดินทาง มิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม มิตรที่ดีต่อธุรกิจ มิตรที่ดีต่อชุมชน และมิตรที่ดีต่อความหลากหลาย
นิทรรศการถ่ายทอดเรื่องราวตำนานบทใหม่ 'ตรากิเลน' ผ่านประติมากรรมศิลปะไทย-จีนโบราณ
พร้อมทั้งเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการรวมตัวของกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ แสดงศักยภาพผ่านงานดีไซน์ พร้อมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันคิด ค้น สร้างโมเดลงานออกแบบที่ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุก ๆ คน ไปพร้อมกัน
โดยการดึงสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์วิถีชุมชนมาเป็นต้นทุนยกระดับพื้นที่นำร่อง จำนวน 9 ย่าน สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก
นิทรรศการ DesignPLANT: BETTER CITY by DesignPLANT
ปักหมุด 9 จุดแสดงงาน Bangkok Design Week 2023 เส้นทางเจริญกรุง – ตลาดน้อย – เยาวราช – พระนคร
1. TCDC บางรัก
ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Centre (TCDC) จัดแสดงผลงานออกแบบหลายนิทรรศการ อาทิ
- DesignPLANT: BETTER CITY by DesignPLANT นักออกแบบจะเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเมืองได้อย่างไรบ้าง งานดีไซน์แบบไหนที่จะมีประโยชน์ต่อเมืองหรือต่อผู้คนในเมือง DesignPLANT: BETTER CITY ชักชวนนักออกแบบให้มองปัญหาและออกแบบการแก้ปัญหา เพื่อทำให้เห็นว่ายังมีความเป็นไปได้ภายใต้ความคิดสร้างสรรค์อีกมากมาย ผู้เข้าชมจะได้รับแรงบันดาลใจจากงานดีไซน์เพื่อเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม
- BANGKOK SPOKEN by อิสรภาพ นิทรรศการภาพถ่ายที่รวบรวมภาพถ่ายจากทั่วกรุงเทพฯ ทำให้เห็นถึงงานออกแบบที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้ชวนให้กลับมาตั้งคำถามว่า ในเมื่อคนเป็นหน่วยย่อยที่สุดของเมือง แล้วเราจะออกแบบเมืองที่ดีได้อย่างไรหากเราไม่เข้าใจผู้คน
BANGKOK SPOKEN by อิสรภาพ
WASTE IS MORE by MORE
- Seatscape & Beyond by One Bangkok ที่นั่งสาธารณะที่มอบประสบการณ์ใหม่แก่คนเมืองนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายโดย 10 ทีมผู้ชนะในโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ เพื่อยกระดับบริบทแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ
- WASTE IS MORE by MORE ค้นหาศักยภาพของ ‘ขยะ’ ในฐานะวัสดุ ‘ไม่ไร้ค่า’ ตามความคิดที่ว่า ‘ไม่มีของเสีย มีเพียงทรัพยากรที่มีคุณค่า’ เป็นความร่วมมือกันระหว่างวงการการออกแบบ วงการวิจัยและพัฒนาวัสดุ โรงงาน ผู้ประกอบการที่มีขยะอยู่ในมือ และผู้สนใจแนวคิดความยั่งยืน มาช่วยกันสร้างสรรค์และส่งต่อความคิด ส่งต่อความเป็นไปได้ต่างๆ
TCDC ตั้งอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 11.00-22.00 น.
การออกแบบงานศพของตนเอง
2. อาคารชัยพัฒนศิลป์ 11.00-22.00 น.
จัดแสดงนิทรรศการ Personalise one’s own Funeral by BoriboonxSuriya หรือ ‘การออกแบบงานศพของตนเอง’ นำเสนอไอเดียโดย สุริยาหีบศพ ซึ่งทำธุรกิจด้านการจัดหีบศพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 และ 'บริบูรณ์' แบรนด์ใหม่ในบริษัทสุริยาหีบศพ
‘บริบูรณ์’ นำเสนอไอเดียการจัดงานศพให้ตัวเองเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้คนที่มาร่วมงานศพ เปิดโอกาสให้คุณสามารถออกแบบงานศพของตัวเองได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองเพื่อสะท้อนบุคลิกและเอกลักษณ์ของตัวคุณเองได้อย่างเต็มที่ในวาระสุดท้าย (จำลอง) ของคุณ
‘การออกแบบงานศพให้ตัวเอง’ นำเสนอการจัดงานศพในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่แบบดั้งเดิมไปจนถึงรูปแบบที่ทันสมัยเหมาะสมสำหรับรสนิยมในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลง ความต้องการ และแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป
รูปแบบการจัดงานศพสมัยใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากห้องผู้ป่วยรวมในโรงพยาบาลที่มีโลงศพเปรียบเสมือนเตียงผู้ป่วย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของที่นอนพักพิงทั้งหมด 5 รูปแบบ ตั้งแต่วัยเด็กสู่วัยสร้างครอบครัว เกษียณ และช่วงบั้นปลาย เพื่อไปสู่คำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้ตายต้องการบอกเล่าในงานครั้งสุดท้ายของตัวเอง
ความตายมักมาอย่างไม่ทันตั้งตัว แล้วคุณอยากให้งานศพตัวเองมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ลานกีฬาริมน้ำสำหรับเด็กเล็กใกล้โบสถ์กาลหว่าร์
3. ลานกีฬาริมน้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่โบสถ์กาลหว่าร์
กลุ่ม WE!PARK นำเสนอแนวคิด Green Hacker คือการโจรกรรมพื้นที่ร้างให้เป็นมิตรกับเมือง ตามแนวคิด Guerrilla Garden หรือแนวคิดการทำสวนสาธารณะแบบกองโจร ซึ่งเป็นขบวนการ ‘ลักลอบ’ ทำพื้นที่สีเขียวบนที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อให้พื้นที่นั้นมีชีวิตชีวา
กิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1970s โดยกลุ่ม Green Guerrilla บนพื้นที่รกร้างทั่วเมืองนิวยอร์ก ความสำเร็จนี้ได้เป็นกระแสไปทั่วโลก โดยกลุ่ม Green Guerrilla ที่ปั้น Seed Ball ด้วยมะเขือเทศและปุ๋ยหมักก่อนนำไปหว่านบริเวณพื้นที่รกร้างทั่วเมืองนิวยอร์กจนเติบโต พร้อมทั้งแปลงโฉมที่ดินเปล่าไร้ชีวิตชีวาให้กลายเป็น Bowery-Houston Community Farm and Garden สวนผักชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง ความสำเร็จนี้ได้เป็นกระแสไปทั่วโลก
เนื่องจากพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของโบสถ์กาลหว่าร์อยู่ติดกับโรงเรียนกุหลาบวิทยา ซึ่งมีเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6
กลุ่ม WE!PARK จึงออกแบบพื้นที่ร้างริมน้ำแห่งนี้เป็น ‘ลานกีฬา’ ออกกำลังเบาๆ สำหรับเด็กนักเรียนชั้นเล็กๆ ซึ่งยังไม่สามารถไปเล่นกีฬาเต็มรูปแบบเหมือนรุ่นพี่ นักออกแบบจึงนำรูปทรงกระจกสีของโบสถ์กาลหว่าร์มาวาดเป็นรูปกราฟิกสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม บนพื้น ให้เด็กๆ ได้สนุกกับการกระโดดคล้ายการเล่นตั้งเต ในลักษณะบอร์ดเกมขนาดใหญ่ที่วาดลงบนพื้นคอนกรีต
รวมทั้งได้พูดคุยกับน้องๆ นักเรียน ว่าอยากได้ลานกีฬาแบบไหนที่ใช้งานจริง และจะพิจารณาให้กลายเป็นลานกีฬาต้นแบบสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ อีกหลายแห่งตามความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งบางแห่งอาจต้องการพื้นที่สวนป่า
ตามหามังก้อน
4. MRT สถานีวัดมังกร
รู้จักเยาวราชไปกับหลากหลายรูปแบบการเดินทางสัญจรย่านเยาวราชในอดีต (History of Yaowarat's transportation) ผลงานการสร้างสรรค์ของนักศึกษา สาขาการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รื้อฟื้นและตามรอยเรื่องราวของการเดินทางที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของย่านเยาวราช ผ่านสื่อ Interactive บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางสัญจรในอดีตของย่านเยาวราช-สำเพ็ง 4 ชิ้นงาน
- ๒๕๑๑ เยาวราช สื่ออินเตอร์แอคทีฟ เล่นเกมโดยเลือกจับคู่ชิ้นส่วนเพื่อประกอบเป็น ‘รถราง’ แล้วคอยดูผลลัพธ์เมื่อเลือกชิ้นส่วนได้ถูกต้องครบถ้วน
- ตามหามังก้อน (มังกร) สื่อโมชั่นกราฟิกคาแรคเตอร์มังก้อน (Manggon) ซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในย่านนี้มานานหลายร้อยปี ได้ตื่นจากการหลับใหลเพื่อมาสำรวจย่านเยาวราชเปลี่ยนไปอย่างไร และได้เปลี่ยนร่างตัวเองเป็นรถรางพาทุกคนย้อนอดีตกลับไปดูว่าย่านนี้เคยมีพาหนะรูปแบบใดบ้าง
- ล่องเรื่องท่าเรือราชวงศ์ สื่อโมชั่นกราฟิกเล่าเรื่องศูนย์กลางการค้าและท่าเรือสำคัญในอดีตที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านการขนส่ง-ค้าขายสินค้า ผู้ชมสามารถหมุนพวงมาลัยเรือเพื่อชมภาพจำลองเรือโบราณในอดีต
- ล้อโต๊ะ x รางเวลา
Bangkok Design Week 2023 ชุมชนเลื่อนฤทธิ์
5 ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ 11.00-22.00 น.
จัดแสดงนิทรรศการ You do me I do you by D&O association ท้าทายนักออกแบบให้ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ด้วยการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างสตูดิโอ เช่น เหล็กไปสู่โรงงานหวาย นักออกแบบจึงได้ทำงานกับวัสดุที่ตนเองไม่คุ้นเคย ในขณะที่นําหลักการและสไตล์การออกแบบเฉพาะตัวของพวกเขามาปรับใช้และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ นำเสนอโดยสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (The Design and Object Association)
นิทรรศการนี้รวบรวม 29 ผลงาน ผ่านการร่วมมือระหว่าง 39 สตูดิโอ โดยมี Pavilion ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ออกเเบบโดย คุณกรกต อารมณ์ดี
People Pavilion 2023
6. ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 11.00-21.00 น.
จัดแสดงผลงาน People Pavilion 2023: Clover by Bangkok Tokyo Architects x Duck Unit การจัดวางกลุ่มโครงสร้างน้ำหนักเบาในรูปลักษณ์คล้ายใบของต้นโคลเวอร์ เมื่อรวมตัวกันทำให้เกิดพื้นที่กว้างหนึ่งพื้นที่
หลังคาเอียงลาด ทำจากผ้าใบกันแดดปกติ ทำให้เกิดร่มเงา มีแสงสว่าง โปร่ง เสาแต่ละต้นคือท่อน้ำประปาติดตั้งให้มั่นคงด้วยถุงทรายและก้อนหิน ผู้คนเดินไปมาได้สะดวก สามารถจัดกิจกรรมหมุนเวียนภายในพื้นที่ได้หลายรูปแบบ เปรียบเสมือน playing room ตามประโยชน์ใช้สอยเดิมของพื้นที่ลานคนเมืองแห่งนี้ เช่น เวิร์คช็อป ดนตรีเปิดหมวก การเต้นรำ
ลักษณะของแต่ละเสาที่เชื่อมต่อกันมีรูปแบบและความสูงต่างกันไป ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมและการเชื่อมต่อที่หลากหลาย หลังจากจบงานแล้วสามารถเคลื่อนย้ายหรือประกอบขึ้นใหม่สำหรับการใช้งานแบบต่างๆ ได้
ธรรม-ทอง เล่าเรื่องย่านผ่านเรื่องทอง
7. โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
จัดแสดงงานออกแบบธีม ธรรม-ทอง เล่าเรื่องย่านผ่านเรื่องทอง ซึ่งย่านบำรุงเมืองของพระนครเป็นทั้งแหล่งทำเครื่องทอง แหล่งรวมช่างตีทองคำเปลว และการค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์ นิทรรศการจึงเล่าทั้งสามเรื่องนี้
ภายในโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจจัดแสดงงานอินสตอลเลชั่น ด้วยการแขวนผืนผ้าที่เกี่ยวเนื่องการเครื่องสังฆภัณฑ์ อาทิ จีวร ผ้าโปร่ง
ที่ขอบหน้าต่างของอาคารโรงพิมพ์ จัดแสดงเครื่องมือของช่างทำทอง พร้อมกับเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการทำทองจากชุมชนทำทองจริงๆ ร่วมกับเสียงกระดิ่งหรือระฆังตามระเบียงโบสถ์
ขณะที่ประติมากรรมทรงกลมขนาดใหญ่สื่อถึง ‘ดวงจันทร์’ เพื่อเล่าเรื่อง ทองคำเปลว ที่บางครั้งก็หายไปและกลับมาเหมือนข้างขึ้นข้างแรม เพราะถึงแม้ย่านนี้ไม่เหลือช่างทำทองคำเปลวแล้ว แต่ปัจจุบันนอกจากบริบทเพื่อศาสนาและงานไทยประเพณี ทองคำเปลวกลับเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย อยู่ในบ้านคน อยู่ในการตกแต่งอาหาร และยารักษาโรค
การออกแบบแสงเสียงบนหอเก็บน้ำ ประปาแม้นศรี
8. ประปาแม้นศรี
จัดแสดงงานออกแบบชื่อ 32°F (32 องศาฟาเรนไฮต์) เชิญดื่มด่ำเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์ ‘หอเก็บน้ำ’ แห่งแรกในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ข้ามผ่านกาลเวลาและได้กลายเป็นพื้นที่ปิดในปัจจุบัน
ย้อนการเกิดขึ้นของอาคารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ คืนความมีชีวิตให้กับอาคารเก่าอันทรงคุณค่า ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์โดยจัดแสดงการออกแบบแสงสว่างทางสถาปัตยกรรมโดย FOS Design Studio พูดเรื่องปัญหาโลกร้อน
หอประติมากรรมต้นแบบ
9 หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร
พื้นที่นี้จัดแสดงผลงานการปั้นงานต้นแบบของ อ.ศิลป์ พีระศรี ปั้นงานเพื่อการศึกษาและการขยายสเกล ขณะเดียวกันก็ทิ้งร่องรอยของการทำงานเอาไว้ น่าสนใจที่จะศึกษา อาทิ ประติมากรรมรัชกาลที่ 1 เพื่อประดิษฐาน ณ สะพานพระพุทธยอดฟ้า
อาจารย์ศิลป์ปั้นต้นแบบไว้ แต่ในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีโรงปั้นหล่อที่จะปั้นประติมากรรมใหญ่ขนาดนั้นได้ อาจารย์ศิลป์จึงต้องเดินทางกลับไปอิตาลีพร้อมประติมากรรมต้นแบบ เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อไปคุมการปั้นหล่อกลับมา
ประติมากรรมต้นแบบรัชกาลที่ 1 ผลงาน อ.ศิลป์ พีระศรี
สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร
โครงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (ต่อมาเป็นกรมพระยา) อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรมคิดแบบอย่าง เป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์และหล่อด้วยทองสำริด ขนาดสูงตั้งแต่ฐานถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร
การสร้างประติกรรม รัชกาลที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นที่ 'อาจารย์ศิลป์' มองว่าในสยามควรจะมีโรงปั้นหล่อมาตรฐาน และเริ่มถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ
บรรยากาศภายในหอประติมากรรมต้นแบบ
ภายในหอประติมากรรมต้นแบบยังมีงานประติมากรรมต้นแบบซึ่งปั้นโดยลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ศิลป์ อาทิ อ.พิมาน มูลประมุข, สนั่น ศิลากร
เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 11.00-21.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ 11-12 ก.พ.2566 มีการแสดงร่วมสมัยให้ชม
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 จัดแสดงระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น.
ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)