ประปาแม้นศรี Bangkok Design Week แสงสีเสียงบนหอเก็บน้ำแห่งแรกของพระนคร
ครั้งแรกของการนำพื้นที่ปิดร้าง “ประปาแม้นศรี” เข้าร่วมแสดงงาน Bangkok Design Week 2023 ชุบชีวิตพื้นที่ปิดร้างในเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในรูปแบบ living room ทีมนักออกแบบสร้างสรรค์ 6 ชิ้นงาน ดีไซน์แสง สี เสียง ประติมากรรม พูดปัญหาโลกร้อน
หนึ่งในพื้นที่ไฮไลต์ของ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ตั้งอยู่บน ถนนบำรุงเมือง ย่านพระนคร บริเวณแยกแม้นศรี ใครผ่านไปบริเวณนี้ก็จะเห็น ‘หอเก็บน้ำ’ สูงตระหง่านโผล่พ้นความสูงของอาคารพาณิชย์ขึ้นมาอย่างโดดเด่นสะดุดตา
พื้นที่นี้คือ ประปาแม้นศรี หรือที่ตั้งของ ‘การประปานครหลวง’ แห่งแรก จุดกำเนิดของการประปาในประเทศไทย ตามพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงวางรากฐานกิจการประปาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
หอเก็บน้ำ 'ประปาแม้นศรี' ในงาน Bangkok Design Week 2023
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของ ‘ประปาแม้นศรี’ คือ หอเก็บน้ำ ถือเป็นหอเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกในพระนคร และมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีความสวยงามเฉพาะตัวในยุครัชกาลที่ 5
พื้นที่ตั้งหอเก็บน้ำของ 'ประปาแม้นศรี' ปิดร้างมานานเกือบ 20 ปี หลังการประปานครหลวงย้ายสำนักงานใหญ่แห่งนี้ไปอยู่ที่สามเสน
ในงาน 'เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566' หรือ Bangkok Design Week 2023 ชุบชีวิตพื้นที่ปิดร้างของ ‘ประปาแม้นศรี’ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในรูปแบบของ living room หรือพื้นที่นั่งเล่น
มีงานดีไซน์หลายลักษณะของนักออกแบบที่มาร่วมกันทำงานยังพื้นที่นี้ ทั้งการแสดงแสง สี เสียง ศิลปะจัดวาง (art installation) ซึ่งต่างก็มีคอนเซปต์เกี่ยวข้องกับเรื่องของ ‘น้ำ’ และ Climate Change หรือ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ ประกอบด้วย 6 ชิ้นงาน
Mapping บน 'หอเก็บน้ำ' ประปาแม้นศรี
งานชิ้นแรก : 32 องศาฟาเรนไฮต์
เป็นการแสดงแสงด้วยเทคนิค Mapping ออกแบบโดย FOS design studio ฉายภาพขึ้นไปตรงบริเวณส่วนยอดบนสุดของ ‘หอเก็บน้ำ’ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ของ 'ประปาแม้นศรี' ที่ยืนหยัดข้ามเวลามาแล้วกว่า 100 ปี
ตัวแทน FOS design studio กล่าวถึงคอนเซปต์ ‘32 องศาฟาเรนไฮต์’ ไว้ว่า เนื่องจากพื้นที่นี้เกี่ยวกับการประปา หรือ ‘น้ำ’ จึงนำมาเชื่อมโยงกับปัญหา โลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่ง 32 องศาฟาเรนไฮต์ คือจุดเยือกแข็งของน้ำก่อนละลาย
“เราได้โจทย์ว่าเป็นประปา เราก็นึกถึงน้ำ เป็นอะไรได้บ้าง เรานึกถึงละลาย เรื่องโลกร้อน เหมือนน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย เราก็พยายามทำให้ดูเหมือนกำลังละลาย โยงกับสถาปัตยกรรมยุคหนึ่งเริ่มละลาย เริ่มไม่มีแล้ว น่าจะอนุรักษ์หรือเปล่า”
ภาพของการ Mapping พูดเรื่องการทิ้งขยะลงทะเล ไม่แยกขยะทิ้งไปในสภาพแวดล้อม เรื่องราวของปัญหาโลกร้อน
ใต้ ‘หอเก็บน้ำ’ หอนี้ ยังมีประติมากรรมก้อนน้ำแข็งที่สื่อถึงจุดเยือกแข็ง 32 องศาฟาเรนไฮต์ และมี ร้านกาแฟ Invisible Coffee Room บริการเมนูกาแฟทั้งเอสเพรสโซ กาแฟดำ กาแฟดริป ด้วยเมล็ดกาแฟประเทศไทย เอธิโอเปีย ฮอนดูรัส มีเครื่องดื่มเมนูพิเศษและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่กาแฟ ให้นั่งผ่อนคลายอิริยาบถ
การแสดงแสงไฟร่วมกับการออกแบบเสียง ณ 'หอเก็บน้ำ' หอที่ 2
ส่วน ‘หอเก็บน้ำ’ หอที่สอง มีการแสดงแสงไฟร่วมกับการออกแบบเสียง เป็นเสียงดนตรีแนว Ambient คือเสียงบรรยากาศโดยรอบ สื่อถึงความเป็นธรรมชาติ เปิดพื้นที่สำหรับความคิด
“เป็นเสียงน้ำจากธรรมชาติที่บันทึกมาจากป่าต้นน้ำที่เชียงใหม่และกาญจนบุรี แล้วเรานำมาผสมผสานกับดนตรี เพื่อเล่าถึงว่าการที่เรามีน้ำ ทำให้เรามีชีวิตเกิดขึ้น”
วัสดุโปร่งแสงที่มีความเบาบางขึงระหว่างหอเก็บน้ำ
งานชิ้นที่ 2 : การลื่นไหล
งานออกแบบชิ้นนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า A Place, A Situation and the Negotiation of Flow(s) ออกแบบโดย SP/N ผลงานทดลองเกี่ยวกับ ‘การสร้างขอบเขต’ โดยใช้วัสดุจากในย่าน ที่นอกจากก่อให้เกิดการปิดกั้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการลื่นไหลของพื้นที่ภายในเมืองอีกด้วย
ชวนทุกคนเดินเข้าไปด้วยกัน ไหลตามระนาบ วัสดุที่โปร่งแสง บางเบา ราวเคลื่อนไหวตามแรงลมได้ ขึงเป็นแนวคู่ขนานระหว่างหอเก็บน้ำเก่าแก่ 2 หอ สร้างคอนเทนต์ให้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเดินไประหว่างวัสดุและถ่ายภาพนิ่ง
ตัวแทน SP/N กล่าวว่า ความใสและความขุ่นของวัสดุโปร่งแสงที่มีความเบาบางนี้ให้แสงสะท้อนต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวันที่แสงจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนไปตั้งแต่เช้าจรดค่ำ รวมทั้งแสงไฟที่จัดแสดงยามค่ำคืน ล้วนเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน
“วัสดุนี้ทำหน้าที่เสมือนตัวเองเป็นการสะท้อนของน้ำหรือเปล่า เป็นไกด์ไลน์เบาๆ ที่อยากชวนมาหาความหมาย อยู่ที่แต่ละคนที่เข้าชมงานจะตีความ”
ภาพถ่ายหอเก็บน้ำจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
งานชิ้นที่ 3 : The Portrait of Water Tank
นิทรรศการภาพถ่ายที่ต้องการนำเสนอความหลากหลายของการออกแบบ ‘แทงค์น้ำ' เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนเปิดประสบการณ์และสนุกกับการสังเกตสิ่งของธรรมดารอบตัวมากขึ้น
จัดแสดงเป็นภาพถ่ายขนาดประมาณ A2 จำนวนประมาณ 20 รูป ติดตั้งในพื้นที่ของการประปาแม้นศรี สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการประปาไทย
โดย ‘แทงค์น้ำ' หรือหอถังน้ำ เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่เราคุ้นเคย พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันจนอาจไม่เคยให้ความสนใจกับมันเท่าไรนัก นอกเสียจากว่าใช้เป็นแลนด์มาร์คในการบอกทาง เช่น "เข้ามาในซอยนี้มาเจอแทงค์น้ำสูงๆ บ้านฉันอยู่ตรงนั้นแหละ"
นิทรรศการภาพถ่าย ‘หอเก็บน้ำ’ ออกถ่ายภาพโดย Foto_Momo ซึ่งตัวแทนกล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า สนใจสถาปัตยกรรมแทงค์น้ำที่แตกต่างกันไปในหลายรูปทรง
“ถึงแม้เราจะเห็นเป็นสิ่งก่อสร้างธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน แต่พอเราได้เดินทางค้นหารูปทรง พบว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีรูปทรงไม่ซ้ำกัน ถ่ายมาทั่วประเทศ คัดมาบางรูป เช่นสร้างด้วยเหล็กในยุคก่อนๆ มีทั้งรูปทรงกลม รูปทรงสามเหลี่ยมคว่ำ รูปทรงลูกบาศก์ มีวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป และปัจจุบันหอเก็บน้ำหลายแห่งก็ไม่ได้ใช้งานแล้ว”
ฟอนต์บำรุงเมือง
งานชิ้นที่ 4 : ฟอนต์บำรุงเมือง
นิทรรศการว่าด้วย Typography (การออกแบบตัวอักษร) และป้ายบนถนนบำรุงเมืองโดยกลุ่ม ‘เซียมไท้’ ที่เดินเท้าเสาะหาและเก็บรูปแบบตัวอักษร หรือ font ที่พบละแวก ‘ถนนบำรุงเมือง’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘ประปาแม้นศรี’ พบรูปแบบตัวอักษรมีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ในนิทรรศการนี้ กลุ่มเซียมไท้ (นักออกแบบตัวอักษรที่รวมกลุ่มกัน) นำตัวอักษรและสระจำนวน 11 ตัวที่เกิดขึ้นต่างยุคมาประกอบเป็นคำว่า ‘มิตรบำรุงเมือง’ แล้วเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานได้ลองสนุกกับการนำตัวอักษรและสระทั้ง 11 ตัว มาเรียงให้เกิดคำใหม่ๆ ตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละท่าน
A Garden Too Secret
งานชิ้นที่ 5 : A Garden Too Secret
คือสวนลับที่จะทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับพื้นที่สีเขียวแบบตัวต่อตัว โดยในพื้นที่นั้นจะอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ที่เขียวชอุ่มและความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ เปิดประสบการณ์ให้เห็นว่าพืชสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของเมืองได้อย่างแท้จริง
ความประทับใจในสวนแห่งนี้ยังอยู่ที่การออกแบบแสงและองค์ประกอบอื่นๆ เช่น หมอก ซึ่งทำให้รู้สึกดื่มด่ำกับความชุ่มชื้นมากขึ้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่หาได้ยากในเขตเมือง
รวมทั้ง ‘เสียง’ ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันเมื่อเข้าชมตอนกลางวันและตอนกลางคืน บางคนอาจรู้สึกน่ากลัว ตื่นเต้น สงบ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
A Garden Too Secret ออกแบบและจัดวางโดย 2 สถาปนิก Alexandra Polyakova งานของเธอสำรวจความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างตัวตนของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ซึ่งการถ่ายภาพผสมผสานกับการติดตั้งเชิงพื้นที่ และ Stefano Dal Piva ปกติแล้วงานของเขามุ่งเน้นไปที่ระบบสถาปัตยกรรมและภาษาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของสถานที่ อัตลักษณ์ และสิ่งแวดล้อม
นิทรรศการ Hands and Hammer
งานชิ้นที่ 6 : Hands and Hammer
นิทรรศการงานหัตกรรม ชุมชนบ้านบาตร ซึ่งงานฝีมือเก่าแก่คู่ย่านแม้นศรี แต่นิทรรศการ Hands and Hammer นำเสนองานปั้นมือที่ทำขึ้นโดยใช้เทคนิค บาตรพระ แบบดั้งเดิม แต่ปรับรูปแบบแผ่นเหล็กให้เกิดรูปทรงใหม่ที่น่าตื่นเต้น
ศิลปินตั้งใจที่จะเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับวิธีการทำบาตรแบบเดิมๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถกรรมของชุมชนบ้านบาตร
เป็นผลงานของศิลปินเซรามิกไทย สุกาญจนา กาญจนบัตร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานในสตูดิโอของศิลปินเซรามิกส์ในฐานะเด็กฝึกงานประมาณ 3 ปีทั้งในไทยและญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 ก่อนเปิดสตูดิโอของตัวเองชื่อ Trampoline Studio ในอีกสองปีต่อมา มีความสนใจในการใช้รูปทรงและโครงสร้างที่เรียบง่ายในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตนเอง
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 พื้นที่ ประปาแม้นศรี จัดแสดงระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น.
ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร