จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย
หากถามถึง 'เบญจภาคี' ในวงการ 'ศิลปะไทย' มีหรือไม่, พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง TAAC กล่าวยกย่องอาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต คือหนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย จิตรกรเอกผู้เคยถูกปฏิเสธรับภาพวาดเข้าประกวดศิลปกรรมเด็ก เพราะคิดว่าเป็นภาพวาดฝีมือผู้ใหญ่
วงการ ‘พระเครื่อง’ ให้กำเนิดคำว่า เบญจภาคี หมายถึงพระเครื่อง 5 องค์ที่เป็นสุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่อง ทั้งหายากและมีมูลค่าจากเดิมหลักพันบาทในช่วงก่อเกิดกระทั่งทะยานสู่หลักหลายสิบล้านบาทในปัจจุบัน
หากถามถึง เบญจภาคี ในวงการ ศิลปะไทย มีหรือไม่
พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center (TAAC) บริษัทประมูลศิลปะชั้นนำของไทย กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย กล่าวว่า มีเช่นกัน
โดยศิลปินไทยท่านหนึ่งที่เปรียบเสมือน ‘เบญจภาคีในวงการศิลปะไทย’ คือ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ด้วยการสร้างงานรูปแบบเฉพาะตนที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการซึ่งผลิบานขึ้นจากความหลงใหลในศิลปกรรมไทย
ภาพกินรี ในจิตรกรรมชุด 'นางรำ'
ชุดภาพจิตรกรรมที่แพงที่สุดและหายากที่สุดของ อ.จักรพันธุ์ ได้แก่ ผลงานชุด ‘นางรำ’ ซึ่งภาพ 'กินรี' ที่เห็นอยู่นี้ เป็นหนึ่งในภาพชุดนางรำ
ซึ่งศิลปินถ่ายทอดเอกลักษณ์ความงาม เผยผิวพรรณของมนุษย์ในภาพวาดให้เปล่งปลั่งมีชีวิตชีวา ดวงตา ใบหน้า และสัดส่วน รังสรรค์ออกมาได้สวยงามดุจเทวดาเนรมิต การตัดเส้นอย่างละเอียด แม้แต่บนเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ก็ดูจะพลิ้วไหวได้จริงยามเมื่อขยับกาย ราวกับภาพเขียนนั้นมีชีวิตมีลมหายใจ
พิริยะ วัชจิตพันธ์ เล่าประวัติภาพวาดฝีมือ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ความสามารถเชิงจิตรกรรมของอาจารย์จักรพันธุ์เปล่งประกายตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียน ‘วชิราวุธวิทยาลัย’
พิริยะ กล่าวว่า “วชิราวุธวิทยาลัยมีหลักสูตรการสอนคล้ายโรงเรียนในยุโรปและอเมริกา เช้าเรียน บ่ายเล่นกีฬา อาจารย์จักรพันธุ์เป็นนักเรียนคนเดียวที่โรงเรียนไม่บังคับให้เล่นกีฬา ตอนบ่ายๆ ส่งเข้าห้องวาดรูป มีห้องสตูดิโอให้เสร็จสรรพให้วาดรูปตามใจชอบ เพราะเด็กคนนี้เก่งจัด ให้วาดรูปตามสบาย”
พร้อมกับนำชมผลงานภาพเหมือนบุคคล (Portrait) จำนวน 2 ภาพ วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพที่หนึ่งชื่อ สุภาพสตรี ภาพที่สองชื่อ สุภาพบุรุษ ผลงานทั้งสองภาพนี้ อาจารย์จักรพันธุ์ได้สร้างสรรค์ขึ้นตอนอายุ17 ปี ขณะเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย
ภาพที่ครั้งหนึ่งถูกปฏิเสธไม่รับเข้าประกวดระดับเยาวชน เพราะคิดว่าไม่ใช่ฝีมือเด็กวาด
“รูปในชุดนี้ได้รับการส่งเข้าประกวดในงานศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งในยุคหนึ่งมีการประกวดศิลปกรรมเด็ก โรงเรียนวชิราวุธฯ ส่งรูปของ อ.จักรพันธุ์ เข้าประกวด แต่โดนคัดออก หาว่าโกง คุณเอารูปผู้ใหญ่(วาด)มาส่ง กรรมการไม่เชื่อว่าเด็กวาด ไม่รับ
จนผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ต้องไปหา อ.ศิลป์ พีระศรี ไปเล่าว่าเด็กคนนี้วาดจริงๆ ถึงยอมรับในตอนนั้น แต่เลยเวลารับผลงานแล้ว เป็นยุคที่ อ.จักรพันธุ์ อยู่ ม.5-6 และเป็นยุคที่ อ.จักรพันธุ์ ได้เรียนต่อตัวต่อกับอาจารย์ศิลป์ขณะอยู่ที่วชิราวุธฯ
แต่น่าเสียดายเมื่อจบจากวชิราวุธฯ เข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ปีเดียวกันนั้นเอง อ.ศิลป์ เสียชีวิต อ.จักรพันธุ์จึงไม่ได้เรียนกับ อ.ศิลป์ ในมหาวิทยาลัย” พิริยะ กล่าว
ภาพ สุภาพสตรี และภาพ สุภาพบุรุษ เป็นภาพที่ อ.จักรพันธุ์ วาดคุณป้าและคุณลุงของอาจารย์เองเมื่อปีพ.ศ.2503 และพ.ศ.2504 ตามลำดับ
ภาพกินรี (พ.ศ.2542) ราคาเปิดประมูล 3.5 ล้านบาท
จากการประมูลภาพจิตรกรรมเท่าที่ผ่านมาในประเทศไทย ผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ขนาด 2 เมตร x 2.30 เมตร ทำสถิติราคาประมูลสูงสุดไว้ที่ 26 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกันเป็น ‘ตารางเซนติเมตร’ คนที่แพงที่สุดในประเทศไทย คือ อ.จักรพันธุ์
“เคยมีคนไปคุยกับ อ.จักรพันธุ์ ว่าเขามีงบประมาณ 1 ล้านบาท อยากให้อาจารย์วาดภาพพอร์เทรตให้ อ.จักรพันธุ์ตอบ ว่าคุณจะเอาไปทำไม รูปใหญ่เท่าแสตมป์
ผมเคยคำนวณราคาที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยคือแถวชิดลม ตารางวาละ 4 ล้านบาท หรือตารางเมตรละ 1 ล้าน แต่งาน อ.จักรพันธุ์ ตารางเมตรละ 60 กว่าล้าน แพงกว่าที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทย 60 เท่า” พิริยะ กล่าว
ผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center กล่าวด้วยว่า เคยมีภาพของอ.จักรพันธุ์ผ่านการประมูลแบบส่วนตัวด้วยมูลค่าเกือบ 40 ล้านบาท
‘ภาพกินรี’ สีพาสเทลบนกระดาษ ขนาด 33 x 23 เซนติเมตร เขียนเมื่อพ.ศ.2542 อ.จักรพันธุ์เซ็นชื่อไว้ตรงมุมล่างด้านซ้ายของภาพ รวมทั้ง ‘ภาพสุภาพสตรีและภาพสุภาพบุรุษ’ มีผู้นำเข้าร่วมในงานประมูล “STRATOSPHERE” Art Auction เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ค.2567 ราคาเปิดประมูล 3.5 ล้านบาท และ 1.2 ล้านบาท (ตามลำดับ)
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต พ.ศ.2561
อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เคยถวายการเขียนภาพให้ ‘รัชกาลที่ 9’ ทอดพระเนตร เป็นพระอาจารย์พิเศษถวายการสอนวิชาจิตรกรรมให้กับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2543 ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันได้ก่อตั้ง 'มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต' ซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ มูลนิธิ สถานที่ทำงาน และโรงละครหุ่นกระบอก ขึ้นที่บริเวณบ้านพัก ถนนเอกมัย กรุงเทพฯ