เสน่ห์ 'คามิชิไบ' ศิลปะการเล่านิทาน สไตล์ญี่ปุ่น ที่คนไทยก็สนุกได้

เสน่ห์ 'คามิชิไบ' ศิลปะการเล่านิทาน สไตล์ญี่ปุ่น ที่คนไทยก็สนุกได้

ทำความรู้จัก "คามิชิไบ" ศิลปะการเล่านิทานแบบดั้งเดิมจากญี่ปุ่น ในกิจกรรม “The Art of Kamishibai เล่าศิลป์ คามิชิไบ” ของทีเค ปาร์ค ที่นำมาให้คนไทยได้รู้จักผ่านช่องทางออนไลน์

ช่วงกึ่งๆ ล็อกดาวน์ แบบนี้ ที่เด็กๆ ต้อง "เรียนออนไลน์" ส่วนผู้ปกครองหลายๆ คนก็ยังคงต้อง Work From Home กันต่อไป สภาพที่เกิดกันในหลายๆ ครอบครัวก็เลยออกแนววุ่นวายกันอยู่สักหน่อย ยิ่งถ้าบ้านไหนเป็นเด็กเล็ก ก็อาจจะหนักหน่อย 

แต่มองในทางกลับกัน นี่คือ นาทีทองที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างเต็มที่ ผู้ปกครอง หลายๆ บ้านเริ่มงัดกลเม็ด หาเทคนิคจัดการเจ้าตัวเล็กให้อยู่หมัด ไม่เบื่อกับการอยู่บ้านไปเสียก่อน ซึ่งการ “เล่านิทาน” ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี เพราะนอกจากจะมีเนื้อหาอยู่ในความสนใจของเด็กๆ แล้ว กูรูหลายเสียง ก็คอนเฟิร์มว่า การเล่านิทานนี่แหละที่จะเป็นตัวกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวได้โดยไม่ต้องไปวุ่นวายเสียเงินมากมายแต่อย่างใด 

สำหรับ ประเทศญี่ปุ่นเองเขาก็มีความโดดเด่นเรื่องการเล่านิทานที่สืบทอดเทคนิคมายาวนาน นั่นก็คือ ศิลปะการเล่านิทานจากแผ่นกระดาษ คามิชิไบ ซึ่งมีประวัติยาวนานย้อนกลับไปนับร้อยปีก่อน 

คามิชิไบ (Kamishibai) ในภาษา ญี่ปุ่นคำๆ นี้มีความหมายว่า ‘ละครกระดาษ’ หรือหากจะให้อธิบายเฉพาะเจาะจงลงไปกว่านั้น คามิชิไบก็คือศิลปะการเล่าเรื่องของนักเล่านิทานโดยมีรูปวาดบนแผ่นกระดาษช่วยเติมเต็มจินตนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

นักเล่านิทานคามิชิไบจะใช้กล่องไม้ที่มีบานพับแทนโรงละคร เมื่อมีผู้ชมมารุมล้อมมากพอบานไม้นั้นจะถูกเปิดออกเพื่อให้เห็นภาพวาดที่อยู่ด้านใน ในระหว่างการดำเนินเรื่องนักเล่านิทานจะค่อยๆ ดึงภาพที่ซ้อนกันอยู่ออกทีละรูป

นักเล่านิทานคามิชิไบจะใช้กล่องไม้ที่มีบานพับแทนโรงละคร เมื่อมีผู้ชมมารุมล้อมมากพอบานไม้นั้นจะถูกเปิดออกเพื่อให้เห็นภาพวาดที่อยู่ด้านใน ในระหว่างการดำเนินเรื่องนักเล่านิทานจะค่อยๆ ดึงภาพที่ซ้อนกันอยู่ออกทีละรูป

161138129845 ภาพ : amazon.co.uk

ในยุคแรกภาพวาดเหล่านั้นมักเป็นภาพที่นักเล่านิทานเป็นคนวาดด้วยตัวเอง นอกจากความสนุกสนานของเนื้อเรื่องแล้วเสน่ห์อย่างหนึ่งของคามิชิไบจึงยังขึ้นอยู่กับฝีมือการวาดภาพและลีลาการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

มีการบันทึกถึง ต้นกำเนิด “คามิชิไบ” ว่า เริ่มต้นขึ้นในยุคศตวรรษที่ 12 โดยเกิดขึ้นจากวัดแห่งหนึ่งที่พระสงฆ์ใช้ม้วนภาพวาดประกอบการเทศน์ เพื่อให้การแสดงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามีความน่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังได้ จนกระทั่งถึงยุคเอโดะ รูปแบบการเล่านิทานก็มีการพัฒนาขึ้น ภาพวาดบนกระดาษถูกห้อยเอาไว้บนเสาเพื่อให้ผู้เล่าสามารถเคลื่อนย้ายไปเล่านิทานตามสถานที่ต่างๆ ได้ และเมื่อมาถึงยุคเมจินอกจากภาพวาดแบบเต็มแผ่นทั่วไปแล้ว ยังมีคนคิดค้นสร้างหุ่นตัวละครที่เกิดจากการตัดกระดาษแปะเข้ากับเสาไม้ คล้ายๆ กับหุ่นละครเงาของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ความหลากหลายและแปลกใหม่ทำให้การเล่านิทานประกอบภาพค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในวงกว้าง

161138128386
ภาพ : tokyobling.wordpress.com

ในปี 1930 โลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจำนวนมากต้องตกงานอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ด้วยเหตุนี้คนจำนวนหนึ่งถึงได้เลือกผันตัวเองมาเป็นนักเล่านิทานคามิชิไบ และทำให้เป็นยุครุ่งเรืองของคามิชิไบ 

พวกเขาสร้างตู้ไม้เล็กๆ ที่เรียกว่า บุไต (Butai) ขึ้น แล้วติดมันเอาไว้หลังจักรยาน นักเล่านิทานจะเลือกพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน ขยับกรับไม้ (Hyōshigi) เสียงดังกริ๊บแกร๊บให้ผู้คนที่สนใจพากันล้อมวงเข้ามา จากนั้นก็จะเปิดขายลูกอม และสารพัดขนมจุกจิกเพื่อหารายได้

เมื่อพบว่ามีผู้ชมมากพอตู้บุไตก็จะถูกเปิดออกเผยให้เห็นภาพวาดฉากละคร ในช่วงที่รุ่งเรืองมากๆ นักเล่านิทานบางคนอาจต้องเปิดแสดงมากถึง 10 รอบต่อวัน โดยนิทานพื้นบ้านเรื่องฮิตที่ผู้คนในยุคนั้นนิยมหยิบยกมาเล่า ได้แก่ เจ้าหญิงคางุยะ, โมโมทาโร่ ไปจนถึงนิยายแนวดราม่า หรือซูเปอร์ฮีโร่ และเมื่อนวัตกรรมการพิมพ์เจริญขึ้น จากคามิชิไบที่สร้างสรรค์ด้วยฝีแปรง ก็เกิดเป็นธุรกิจภาพพิมพ์สีเพื่อให้นักเล่านิทานสามารถเช่าหรือซื้อหาไปประกอบอาชีพได้

161138159334
โนซากะ เอสึโกะ

โนซากะ เอสึโกะ และ นากามูตะ ริสึโกะ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการแสดงและการสร้างสรรค์คามิชิไบ กล่าวว่า ศิลปะการเล่านิทานในรูปแบบคามิชิไบ มีรูปแบบเฉพาะตัว เป็นการเล่าเรื่องราวโดยใช้ภาพวาดบนกระดาษ กระดาษแต่ละแผ่นมีเนื้อเรื่องแยกออกจากกัน การเล่าเรื่องผ่านแผ่นกระดาษที่จัดวางบนแท่นไม้ที่เปรียบเหมือนฉากนิทานแบบคามิชิไบ จะมีจังหวะการเล่าเรื่องและการเปลี่ยนฉากนิทาน ที่ชวนให้เด็กๆ มีส่วนร่วมและจดจ่อกับเรื่องราว ก่อเกิดการสื่อสารผ่านโลกนิทาน อันเป็นรากฐานให้เกิดความรู้สึกร่วมต่อโลกของนิทานระหว่างผู้เล่าเรื่องและผู้ฟังตัวน้อย

คามิชิไบยังคงได้รับความนิยมจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นความบันเทิงที่มีราคาถูก ผู้คนที่อดอยากแร้นแค้นจากสงครามอาศัยเรื่องราวสนุกสนานเหล่านี้ปลอบประโลมใจให้สามารถผ่านวันอันยากลำบากไปได้

กระทั่งการมาถึงของโทรทัศน์ในช่วงปี 1950 เจ้าจอสี่เหลี่ยมที่มีภาพเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องอาศัยมือคนขยับจนได้รับฉายาว่า ‘คามิชิไบไฟฟ้า’ ก็เข้ามาแทนที่ จนคามิชิไบรูปแบบเก่าเสื่อมความนิยมลง

นักเล่านิทานหลายคนต้องสูญเสียอาชีพที่เคยใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บ้างหันไปทำอาชีพอื่น บ้างก็อาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องหาทางต่อยอดในแวดวงงานโทรทัศน์ แม้ในท้ายที่สุดแล้วโรงละครเล็กๆ ที่สืบสานศิลปะพื้นบ้านแต่โบราณมาต่างต้องพากันปิดตัวลง ทว่าศาสตร์แขนงนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน กลวิธีเล่าเรื่องแบบคามิชิไบยังถูกนำกลับมาใช้ในการเรียนการสอน หรือในเทศกาลงานศิลปะต่างๆ อยู่เสมอๆ

เล่ามาถึงตรงนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า ตอนนี้เป็นโอกาสดี ที่คนไทยจะได้ร่วมสนุกไปกับการเล่านิทานสไตล์ญี่ปุ่นนี้ โดย TK Park ได้เปิดพื้นที่ออนไลน์ร่วมเรียนรู้ศิลปะการเล่านิทานแบบคามิชิไบแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ในกิจกรรม “The Art of Kamishibai เล่าศิลป์ คามิชิไบ” โครงการร่วมทุนระหว่างสถาบันอุทยานการเรียนรู้และ The Japan Foundation, Bangkok โดยครั้งนี้จะเป็นการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรรับเชิญ โนซากะ เอสึโกะ และ นากามูตะ ริสึโกะ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการแสดงและการสร้างสรรค์คามิชิไบ ที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติจากประเทศญี่ปุ่น มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเล่านิทาน กระตุ้นแรงบันดาลใจเพื่อสื่อสารสำหรับเด็กในยุคสมัยใหม่ พร้อมถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือการเล่านิทานโดยใช้เทคนิคคามิชิไบ เหมาะอย่างยิ่งกับครู อาจารย์ ผู้ดูแลเด็กเล็ก และผู้สนใจศิลปะการเล่าเรื่องสำหรับเด็กทุกท่าน

161138169690

บรรยายสดออนไลน์พร้อมกันในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2564 เวลา 13.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook: TKpark อุทยานการเรียนรู้ และ Youtube: TKpark Channel

หรือถ้าใครพลาดชมสม สามารถดูย้อนหลังได้ที่ tkparkclub จนถึง 31 ม.ค.64