เกาหลีใต้ใช้ Soft Power ส่งเสริมการท่องเที่ยวออนไลน์

เกาหลีใต้ใช้ Soft Power ส่งเสริมการท่องเที่ยวออนไลน์

ถอดบทเรียนเกาหลีใต้นำพลัง “Soft Power” จากไอดอล “K-Pop” มาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวออนไลน์ยุค “โควิด-19” ที่ผู้คนยังเดินทางข้ามประเทศไม่ได้

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่น่าศึกษาเป็นแบบอย่างในเรื่องของการนำพลัง ‘ซอฟท์ พาวเวอร์’ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อประเทศ

โดย ‘ซอฟท์ พาวเวอร์’ อันทรงพลังที่สุดของเกาหลีใต้ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันดีก็คือ ภาพยนตร์ ซีรีส์เกาหลี และวงไอดอล K-POP ที่ตอนนี้ไม่ได้โด่งดังอยู่แค่ในแถบเอเชียเท่านั้น แต่ก้าวไกลไปถึงระดับโลก สามารถเทียบชั้นกับศิลปินฝั่งตะวันตกที่ครองความเป็นเจ้าโลกมาตลอดได้แล้ว

ตัวแทนทางวัฒนธรรมของเกาหลีในระดับโลกนำโดย ผู้กำกับ ‘บงจุนโฮ’ ที่พาหนัง ‘Parasite ชนชั้นปรสิต’ ไปคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองเมื่อปี 2563 และวง ‘บีทีเอส’ (BTS) ที่นอกจากจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่แล้วยังนำเพลงขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด HOT100 ได้แล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นความสำเร็จที่โหดหิน แม้แต่ศิลปินระดับโลกเองก็ใช่ว่าจะครองสถิตินี้กันได้ง่าย ๆ

ตอนที่เกิดวิกฤติ ‘โควิด-19’ ระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว ศิลปินเกาหลีก็ ‘นำเทรนด์’ จัดคอนเสิร์ต จัดงานแฟนมี้ตติงแบบไลฟ์สดผ่านแพลตฟอร์ม streaming ทำให้เกิดการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ตามมาทั่วโลก

161198357351

โดยเฉพาะวง ‘บีทีเอส’ ที่สร้างสถิติโลก (อีกแล้ว) ด้วยการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ MAP OF THE SOUL ON:E ขึ้น 2 วัน มีคนซื้อตั๋วเข้าดูรวมกันมากถึงเกือบ 1 ล้านคน (ขายตั๋วได้ 993,000 ใบ มีคนดูจาก 191 ประเทศทั่วโลก) เก็บเกี่ยวเม็ดเงินไปได้มหาศาลถึง 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 1,200 ล้านบาท)

สำหรับการระบาดของโควิดระลอกที่สอง เกาหลีใต้หันไปดึงพลัง ‘ซอฟท์ พาวเวอร์’ มาช่วยภาคธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการให้ศิลปินเคป๊อปที่มีฐานแฟนคลับอยู่ทั่วโลก มาทำรายการ ‘ส่งเสริมการท่องเที่ยวออนไลน์’ ซึ่งแตกต่างจากการทำสปอตโฆษณาการท่องเที่ยวที่ดูก็รู้ว่าทำมาขายของ

แต่รายการแบบนี้จะให้ไอดอลมาชวนทำอาหารท้องถิ่น หรือชวนไปเที่ยวเกาหลีใต้กันแบบเนียนๆ ตามสไตล์ของการดึงดูดด้วย soft power ที่กว่าจะรู้ตัว คนรับสาส์นก็ตกเป็นทาสสิ่งนั้นเข้าไปเต็มๆ แล้ว

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของการนำ soft power มาส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง ‘โควิด-19’ คือ การนำบอยแบนด์วง ‘Cravity’ มาจัด live streaming ขายตั๋วให้แฟน ๆ ซื้อเข้าไปดูไอดอลวงนี้ทำสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อของเกาหลีอย่าง ‘ต็อกบกกี’ โดยระหว่างที่สมาชิกในวงช่วยกันทำอาหารก็มีการพูดคุยกับแฟน ๆ อย่างเป็นกันเองไปด้วย เช่น เล่าว่าเวลาอยู่หอพัก (วงไอดอลเกาหลีจะพักอยู่หอเดียวกัน) พวกเขาทำอะไรกินกันบ้าง หรือถามความเห็นแฟน ๆ ที่สามารถแชตคุยกับศิลปินแบบสด ๆ ว่าจะแต่งจานอาหารอย่างไรดี ฯลฯ

161198434742

Airbnb Korea

ความล้ำลึกของเกาหลีใต้นั้นอยู่ตรงที่ว่า ระหว่างที่หลายคนมองว่าในสถานการณ์ที่ผู้คนยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ หรือแม้แต่จะเที่ยวในประเทศของเราเองก็ยังต้องระวังตัว แล้วจะส่งเสริมการท่องเที่ยวกันไปทำไม

แต่เกาหลีใต้ไม่คิดแบบนั้น แถมยังมีการไปชวนพาร์ทเนอร์ระดับโลกมาร่วมทำธุรกิจไลฟ์สด สัมผัสประสบการณ์ออนไลน์ (experience online) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ด้วย

อย่างเช่น Airbnb บริษัทให้เช่าที่พักอาศัยชื่อดังสัญชาติอเมริกัน และ Warner Music Korea ที่จับมือกันเป็นสปอนเซอร์อีเวนต์ไลฟ์สดต่อเนื่องเป็นเวลานาน 1 สัปดาห์ที่เรียกว่า ‘Inside K-pop’ ซึ่งมีศิลปินเคป๊อป หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาเป็นผู้ดำเนินรายการ

161198445778

คนที่จ่ายเงินซื้อตั๋วในราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 563 บาท) จะสามารถดูศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบมาทำอาหารเกาหลีให้ดูสดๆ ได้ดูเบื้องหลังการถ่ายรูป photo shoot ของศิลปินแบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรือเข้าเรียนคลาสเต้นเพลงดัง ๆ ของศิลปินเคป๊อปจากผู้เชี่ยวชาญ

วงไอดอลที่เข้าร่วมอีเวนต์นี้ก็มีอย่างเช่น วง Monsta X ที่จะมาโชว์ ‘ม็อกบัง’ (mukbang) (การมานั่งกินอาหารเมนูต่าง ๆ ให้ดูกันสดๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังฮิตในเกาหลีใต้)

161198443430

วง The Boyz ที่จะชวนแฟน ๆ ไปร้อยสร้อยข้อมือลูกปัดกันที่ hanok หมู่บ้านโบราณของเกาหลีใต้

161198448633

Kevin Woo อดีตสมาชิกวง U-KISS ที่ผันตัวเองไปเป็นตากล้องจะมาสอนเทคนิคการถ่ายภาพ, แดนเซอร์ชื่อดัง Freemind นั้นมาสอนเต้นเพลงของวง IZONE นอกจากนี้ยังมีคลาสสอนเทคนิคการแต่งหน้าแบบไอดอลเกาหลีอีกด้วย

แคทเธอรีน พาวเวลล์ Global He ead of Hosting ของ Airbnb บอกว่าสาเหตุที่ทางบริษัทตัดสินใจมาเป็นสปอนเซอร์รายการนี้ก็เพราะว่า Inside K-Pop เป็นเหมือน ‘พาสปอร์ตแบบเวอร์ชวล’ ที่จะพาคนไปสัมผัสกับมนต์ขลังของกรุงโซลในเวลาที่การท่องเที่ยวยังถูกจำกัด และได้เข้าถึงศิลปินเคป๊อปชื่อดังในแบบที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

แถมยังทำให้คนกลุ่มที่เรียกว่า ‘นักท่องเที่ยวในอนาคต’ (would-be travelers) ได้ต่อติดแล้วเอ็นจอยกับสถานที่ ๆ พวกเขาอยากไปแต่ยังไปไม่ได้ตอนนี้

เรียกว่าเป็นการกระตุ้นความอยากมาเที่ยวเกาหลีกันไปพลางๆ ระหว่างที่ยังเดินทางข้ามประเทศกันไม่ได้ แล้วพอโอกาสเปิดเมื่อไร เชื่อขนมกินได้เลยว่าการท่องเที่ยวเกาหลีจะระเบิดตูมเพราะคนที่อัดอั้นมานานแห่กันจองตั๋วไปหาไอดอลที่พวกเขาคลั่งไคล้อย่างแน่นอน