‘มาชิมกัญ’...ชูรส ชูใจ
‘กัญชา’ พืชสมุนไพรเก่าแก่ที่ใช้กันทั่วโลกมาแต่โบราณ คนไทยก็เป็นชนชาติหนึ่งที่นำกัญชามาใช้ในวิถีชีวิต 'โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร' นำร่องนำ 'กัญชา' มาสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของอาหารในเมนู 'มาชิมกัญ' ที่ 'อภัยภูเบศร เดย์ สปา'
ตั้งแต่อดีตมาแล้วที่เราปลูก กัญชา ไว้ในสวนครัวใช้ปรุงรสอาหาร ใช้เข้าตำรับยาแผนไทยและยาพื้นบ้าน ใช้เสพเพื่อการผ่อนคลาย ฯลฯ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมการใช้สมุนไพร และองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย ได้นำร่องนำ กัญชา มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์จากส่วนที่ ปลดล็อก จากการเป็นยาเสพติดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเมนูอาหาร ซึ่งแต่เดิมคนไทยใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารมาก่อนแล้ว ทำให้กินข้าวอร่อยขึ้น อภัยภูเบศร เดย์ สปา จึงเริ่มต้นพัฒนา เมนูจากกัญชา บนพื้นฐานความปลอดภัยตามหลักฐานเชิงประจักษ์
มาชิมกัญ เมนูอาหารจากกัญชา ที่ อภัยภูเบศร เดย์ สปา ปรุงเมนูอาหารจากกัญชาตามภูมิปัญญาดั้งเดิม แนะนำให้ใช้ไม่เกินวันละ 5-8 ใบ สำหรับผู้ไม่เคยกินกัญชามาก่อน ควรกินในปริมาณน้อย เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นแรง หากมีอาการดังกล่าวควรแก้ด้วยการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง
เมนูจากกัญชา มีอาทิ รื่นเริงบันเทิงยำ 150.- เติมเต็มทุกคำ สุขล้ำทุกเวลา (5 ใบต่อจาน) เล้งแซ่บซดเพลิน 100.- ช่วยเจริญอาหาร (ใส่ครึ่งใบต่อถ้วย) ข้าวกะเพราสุขใจ 60.- กินมื้อไหนก็ไม่เบื่อ (ครึ่งใบต่อจาน) ขนมปังคิกคัก 90.- กินเสริมเวลาพัก แล้วจะรักทุกคำ (2 ใบต่อจาน) เครื่องดื่ม ได้แก่ ซู่ซ่าร่าเริง 75.- ทำจากน้ำคั้นกัญชาสดผสมชา 1 ใบต่อแก้ว
ยังมีขนมขบเคี้ยว เช่น คุกกี้รื่นเริง 40.- คุกกี้ธัญพืชผสมกัญชา 0.20 กรัม ต่อซอง, ชอร์ตเบรดพาเพลิน 25.- ชอร์ตเบรดงาขาวผสมกัญชา 0.16 กรัมต่อซอง, ปังกรอบขบขัน 20.- ปังกระเทียมผสมกัญชา 0.24 กรัม ต่อซอง
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้คำแนะนำการใช้กัญชาประกอบอาหารและปริมาณที่ใช้ เช่น ใบสดปรุงกับอาหารคาว เช่น ใบกัญชาชุบแป้งทอด ก๋วยเตี๋ยว ผัดกะเพรา ต้มเล้ง / อาหารว่าง เช่น ขนมปังหน้าหมู คุกกี้ / เครื่องดื่มเช่น ชาใส่น้ำกัญชาคั้นสด
ปริมาณที่ใช้ ตามภูมิปัญญาใช้วันละ 5-8 ใบ ในการปรุงอาหารใส่ครึ่งถึงสองใบ ต่อเมนู แนะนำเริ่มที่ขนาดต่ำ ๆ 1 ใบ ต่อวัน
ประโยชน์ที่คาดหวัง ช่วยเจริญอาหาร ช่วยผ่อนคลาย ช่วยนอนหลับ แต่ไม่มีผลรักษาโรค
ข้อควรระวัง เช่น การบดให้ละเอียด ก่อนนำมาผ่านความร้อนจะทำให้สารออกฤทธิ์มากขึ้น ความร้อนที่สูง ระยะเวลาในการปรุงที่นานขึ้น ปรุงร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้สาร THC (delta-9-tetra-hydrocanabinol) เพิ่มปริมาณมากขึ้นได้
ควรระวังการรับประทานในปริมาณมาก หรือหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับและไต, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาฟาร์ริน/ยาจิตเวช, ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง, หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร, เด็กอายุต่ำกว่า 25 ปี
สำหรับ ผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปากแห้งคอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว สามารถเกิดได้หลังรับประทาน 30 นาที ถึง 3 ชั่วโมง หลังรับประทาน, ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสผลข้างเคียง ซึ่งมาจากสารหลัก THC การรับประทานปริมาณมาก การรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์, ความร้อนที่สูง ระยะเวลาในการปรุงที่นานขึ้น การปรุงร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้สาร THC เพิ่มปริมาณมากขึ้นได้
สารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชา คือ THC (delta-9-tetra-hydrocanabinol) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือชาวบ้านเรียกว่า “สารเมา” และสาร cannabidiol (CBD) ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งในต่างประเทศนิยมใช้ในเมนูอาหาร ในกัญชาไทยจะมี THC มากกว่า CBD (ข้อมูล: โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร)
อภัยภูเบศร เดย์ สปา ตั้งอยู่ใน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี เปิดเวลา 8.30 - 15.00 น. สั่งอาหารโทร.037 217 127 หรือใช้บริการเดลิเวอรี่ในพื้นที่ปราจีนบุรี สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดรอติดตามเมนูพิเศษในรูปแบบอาหารว่างที่จะมีการพัฒนาต่อไป สอบถามโทร.037 211 088 ต่อ 3123