‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ หนังไทยคว้ารางวัลจาก ROTTERDAM FILM FESTIVAL 2021
หนังไทยประกาศศักดาในเวทีระดับโลกอีกเมื่อ ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ ของผู้กำกับ ‘ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์’ คว้ารางวัลขวัญใจนักวิจารณ์ (FIPRESCI Prize) จากเทศกาลภาพยนตร์ Rotterdam Film Festival 2021 มาครองได้
แม้ว่าทั่วโลกจะยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเทศกาลหนังนานาชาติน้อยใหญ่ยังต้องหันมาลดขนาดและปรับรูปแบบการจัดงานด้วยระบบออนไลน์ แต่วงการภาพยนตร์ไทยก็กลับคึกคักมีผลงานไปสร้างชื่อเสียงในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องติด ๆ กัน
ล่าสุดภาพยนตร์อิสระไทยเรื่อง ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ หรือ The Edge of Daybreak ของผู้กำกับ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ก็ได้เข้าร่วมประกวดชิงรางวัล Tiger Award ในเทศกาลภาพยนตร์ Rotterdam Film Festival 2021 ที่ประเทศเนเธอแลนด์ โดยเทศกาลในปีนี้จัดงานในส่วนของการประกวดและฉายหนังใหม่ ๆ ในช่วงวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ และจะจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของเทศกาลอีกครั้งระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน ทั่วทั้งเมืองร็อตเทอร์ดัม
สำหรับการประกวดรางวัล Tiger Award ประจำปีนี้ ก็มีหนังนานาชาติสดใหม่จำนวน 16 เรื่อง เข้าร่วมประกวด และมีตัวแทนจากประเทศไทยคือเรื่อง ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ มาร่วมลุ้นรางวัล และแม้ว่าในที่สุดจากการประกาศผลไปเมื่อช่วงดึกของคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเวลาประเทศไทย หนังจากประเทศอินเดียเรื่อง Pebbles ของผู้กำกับ Vinothraj P.S. จะคว้ารางวัลใหญ่ไป
แต่ ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ ก็มิได้ถึงกับกลับบ้านมือเปล่า เพราะหนังสามารถคว้ารางวัลขวัญใจนักวิจารณ์หรือ FIPRESCI Prize จากสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติ หรือ The International Federation of Film Critics มาครองได้พร้อม ๆ กับเสียงชื่นชมในมนต์สะกดอันลึกลับจากงานภาพและบรรยากาศที่อาศัยเทคนิคทางภาพยนตร์มานำเสนอภาพบาดแผลทางการเมืองในอดีตของประเทศไทยได้อย่างทรงพลัง
‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ นับเป็นหนังขนาดยาวเรื่องแรกของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ หลังจากที่เขาเคยสร้างหนังสั้นแนวทดลองจนประสบความสำเร็จในเวทีการประกวดทั้งในและต่างประเทศมาแล้วหลายเรื่อง โดยในเรื่องนี้ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ได้นำเสนอด้วยภาพขาวดำคอนทราสต์จัด สะท้อนสภาพจิตใจของสมาชิกในครอบครัวที่ผู้นำมีเหตุให้ข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองระดับชาติ เพื่อแสดงว่าคนข้างหลังเหล่านี้จะต้องได้รับผลกระทบอย่างไร
โดยในส่วนของเรื่องย่อได้ระบุไว้ว่าอาศัยบรรยากาศทางการเมืองของไทยในช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2510 และ พ.ศ. 2549 และจับเรื่องราวไปที่ พลอย บุตรสาวของไพลินและปราสาท ซึ่งเคยตกอยู่ในอาการโคมาหลังจมน้ำในคืนเดือนเพ็ญหลังจากที่บิดาของเธอหายสาบสูญไปนานกว่าสามปี ส่วนมารดาก็ประสบอาการทางจิตและได้ออกจากโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อพักฟื้น คืนหนึ่งในปี พ.ศ. 2549 พลอยได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับสามีนักการเมือง ณ คฤหาสน์ใหญ่ริมน้ำ ก่อนที่ฝ่ายสามีจะลี้ภัยการเมืองไปในคืนนั้น
อย่างไรก็ดี ในส่วนการเล่าเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ก็แทบจะไม่ได้มีเจตนาในการนำเสนอสถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา หนังดำเนินเรื่องราวโดยแทบจะไร้บทสนทนาจนบางครั้งก็ไม่อาจรู้ได้ว่าใครเป็นใคร กำลังอยู่ ณ แห่งหนไหนและช่วงเวลาใด เนื่องจากผู้กำกับ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ต้องการใช้องค์ประกอบจากภาพและเสียง รวมถึงการจับจ้องใบหน้าและพฤติกรรมของนักแสดงมารังสรรค์บรรยากาศแห่งฝันร้าย กับภาพขาวดำอันหม่นมืดเล่นแสงเงาที่ชวนให้รู้สึกถึงความอึมครึม ด้วยเจตนาที่ต้องการให้ผู้ชมได้ซึมซับความวิปโยคของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้ผ่านมิติเชิงภาพยนตร์มากกว่าจะร้อยเรียงเรื่องราว
ความชัดเจนในส่วนนี้เองที่อาจทำให้ ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ เป็นหนังที่ตามเรื่องราวได้ยาก และแทบไม่เห็นความเชื่อมโยงต่อบริบททางการเมืองที่ผู้กำกับได้แถลงไว้ แต่เป็นงานศิลปะนามธรรมที่มิได้มุ่งเน้นความเข้าใจ มากกว่าการได้เห็นภาพนิมิตอันวิปริตปั่นป่วนภายในของตัวละครภายใต้สภาวการณ์ทางการเมืองเหล่านี้
‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ จึงอาจมิใช่หนังแนวขนบสำหรับผู้ชมกลุ่มใหญ่ ที่ต้องการได้สาระเรื่องราวจากการดูหนังมากกว่าพลังงานในเชิงศิลปะ ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจที่หนังจะได้รับรางวัลจากสมาพันธ์นักวิจารณ์ฯ ผู้นิยมการสรรหารสชาติแปลก ๆ ใหม่ ๆ ในการชมภาพยนตร์อยู่เสมอ
- ฟังสัมภาษณ์ผู้กำกับ 'ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์' ได้ที่นี่
นอกเหนือจาก ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ แล้ว เทศกาลภาพยนตร์ Rotterdam Film Festival 2021 ยังมีหนังไทยอีกหนึ่งเรื่องเข้าร่วมประกวด แต่อยู่ในกลุ่มหนังสั้น นั่นคือเรื่อง ‘สาวไล่ฝน’ หรือ Lemongrass Girl ของผู้กำกับหญิง ป้อม บุญเสริมวิชา จากบทภาพยนตร์ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ งานตลกหน้าตายขำแบบหึ ๆ เล่าเรื่องราวความวุ่นวายในกองถ่ายภาพยนตร์อิสระไทย ขณะกำลังถ่ายฉากสำคัญนอกสถานที่แต่พระพิรุณกำลังจะมาเยือน
เดือดร้อนไปถึง ‘เปียโน’ หญิงสาวในกองที่ต้องเป็นธุระจัดการหาตะไคร้มาให้สาวพรหมจรรย์ในกองปักเพื่อไล่ฝน แต่จนแล้วจนรอดเธอก็หาสาวบริสุทธิ์มาช่วยประกอบพิธีกรรมไม่ได้ และต้องมาตั้งคำถามอยู่ในใจว่า เอ? แล้วเธอเองหละจะยังบริสุทธิ์อยู่ไหมนะ!
หนังมีการแตะประเด็นค่านิยมการรักษาพรหมจรรย์ของสาวไทยร่วมสมัยแบบหยิกแกมหยอกบอกกันด้วยสีหน้าท่าทางและการหัวเราะคิกคักแบบเบา ๆ และยกเอาการยืดถืองมงายในความเชื่อทางไสยศาสตร์มาเล่นล้อกับความคิดอ่านของคนทำงานรุ่นใหม่ ว่าสุดท้ายแล้วเมื่อไม่อาจแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ก็คงต้องหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยลูกช้างให้รอดพ้นจากวิบากกรรมเหล่านี้ด้วยเถิด!
สำหรับหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ได้ร่วมฉายในเทศกาลครั้งนี้ ก็ยังมีหนังนานาชาติในสาย Limelight ที่คัดสรรเอางานอิสระเด่น ๆ จากประเทศต่าง ๆ มาฉายโชว์โดยไม่ได้เข้าร่วมการประกวด โดยหนังที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเทศกาลจนชนะคะแนนโหวตได้รับรางวัล Audience Award ประจำปีนี้ไปได้แก่เรื่อง Quo Vadis, Aida? ของผู้กำกับหญิง Jasmila Zbanic จากบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา
เล่าเรื่องราวปวดหัวใจในช่วงการสังหารหมู่ที่ Srebrenica ผ่านล่ามสาวใหญ่ที่ต้องแปลภาษาท้องถิ่นให้เป็นภาษาดัชท์สำหรับเจ้าหน้าที่ UN จากเนเธอร์แลนด์ จนเมื่อสมาชิกฝ่ายชายในครอบครัวของเธอตกอยู่ในอันตราย เธอจะยังยึดถือจรรยาชีพในการแปลความอย่างตรงไปตรงมาอีกหรือไม่ และจะใช้วิธีการใดในการทำให้สมาชิกในครอบครัวของเธอรอดพ้นจากสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเหล่านี้
ส่วนหนังขาวดำจากรัสเซียเรื่อง Dear Comrades! ของผู้กำกับ Andrei Konchalovsky ก็สะเทือนใจไม่น้อยไปกว่ากัน กับเหตุการณ์แรงงานประท้วงในสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1962 ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังปกครอง เมื่อมารดาและบุตรสาวต้องมาอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกัน โดยฝ่ายมารดาเป็นสมาชิกสตรีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ฝ่ายบุตรสาวกลับไปเข้าข้างการเรียกร้องจากเหล่าคนงาน จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรงและบุตรสาวของเธอหายตัวไป ผู้เป็นมารดาจึงมิอาจนิ่งเฉยได้ ละทิ้งอุดมการณ์ทุกอย่างไปเพื่อตามหาบุตรีของเธอคืนมาให้ได้
นอกจากสองเรื่องนี้แล้วหนังเด่นเรื่องอื่น ๆ ในเทศกาลก็มักจะเล่าถึงชะตากรรมของเหล่าตัวละครสตรีเช่นกัน อย่างเรื่อง Beginning ของผู้กำกับหญิง Dea Kulumbegashvili จากจอร์เจีย เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับภรรยาสาวของผู้นำศาสนา ณ เมืองชนบทแห่งจอร์เจีย หลังถูกผู้ก่อการร้ายโยนระเบิดเพลิงอย่างอุกอาจ ในขณะที่ฝ่ายสามีกำลังวิ่งเต้นเพื่อหาเงินมาสร้างโบสถ์ใหม่ ฝ่ายภรรยาต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนแต่โดยลำพัง อันนำไปสู่การกระทำชำเราบังคับจิตใจที่ไม่อาจเยียวยาได้
ในภาวะอันไม่สงบนี้ หนังเล่าเรื่องราวชวนหดหู่ผ่านงานด้านภาพที่กำกับได้อย่างงดงามสะดุดตา มีทัศนียภาพในมุมมองของผู้หญิงที่สวยโดดเด่นกว่างานภาพของผู้กำกับชายโดยทั่วไป แม้ว่าเนื้อหาของมันจะหนักหน่วงและหม่นมืดมากขนาดไหนก็ตาม
ในขณะที่เรื่องสุดท้าย Sweat ของผู้กำกับ Magnus von Horn จากโปแลนด์ ก็เล่าเรื่องราวแสนจะร่วมสมัย เกี่ยวกับชีวิตของเน็ตไอดอลสายออกกำลังกายสาวสวยหุ่นดี ที่ชีวิตเธอได้เปลี่ยนไป เมื่อต้องตกอยู่ภายใต้ความสนใจจากยอด Like ของมหาชน จนทำให้เธอต้องหันมาทบทวนคุณค่าความหมายในตัวเอง เพราะทุก ๆ ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สายตาสาธารณะว่าเธอกำลังแฮปปี้มีความสุขขนาดไหน มันกลับไม่ได้ส่องสะท้อนความเป็นจริงภายในของเธอเอาเลย
หนังชวนให้ผู้ชมได้พิเคราะห์ถึงการใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนออนไลน์ว่ามันมีธรรมชาติที่แตกต่างกันขนาดไหน จนบางครั้งเราเองก็อาจสงสัยว่าความสุขที่แท้มันมาจากสิ่งใด จากยอด follower ยอด like ถล่มทลาย ซึ่งจะเลือนหายภายในเวลาไม่นาน หรือการได้ใช้ชีวิตสู่อนาคตที่จีรังและมั่นคง?