‘โดม ปกรณ์ ลัม’ ชีวิตคือการบาลานซ์ ‘6 Was 9’
ย้อนมองพัฒนาการวงการเพลงไทย จากยุค 90 ถึงปัจจุบัน ผ่านการพูดคุยกับ "โดม ปกรณ์ ลัม" ที่กลับสู่รากเหง้าไปทำเพลงแนว “ซินธ์ร็อค” ที่ตัวเองถนัดอีกครั้งในเพลง "ซัดฟาง"
ด้วยความ ‘หล่อขั้นเทพ’ หันมาจับงานแสดงมากกว่างานเพลง เลยทำให้หลายคนหลงลืมไปหรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘โดม ปกรณ์ ลัม’ เป็นนักร้องแนวอิเล็กทรอนิกส์ร็อค หรือซินธ์ร็อคมาก่อน แถมวงโนโลโก้ (Nologo) ของเขา ยังถือเป็นวงร็อกที่โดดเด่น และทำผลงานได้อย่างมีคุณภาพในยุค 90
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ ‘โดม ปกรณ์ ลัม’ มีเวลากลับมานั่งทบทวนตัวเอง และหวนคืนสู่รากเหง้าเดิมของเขาอีกครั้ง นั่นคือ การปล่อยเพลงแนวเดิมที่ตัวเองรักที่ชื่อ ‘ซัดฟาง’ ออกมา ซึ่งมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดีในหมู่คนฟังที่คิดถึงผลงานเพลงแนวนี้ของโดมเช่นกัน
- ห่างหายจากการทำเพลงไปกี่ปี?
หลังจากงานเดี่ยวของตัวเองโดมไปทำ Nologo อยู่ 4 อัลบั้ม กินระยะเวลาประมาณ 6 ปีที่อยู่กับแกรมมี่ แล้วช่วง gap (ช่องว่าง) ระหว่างที่ Nologo แยกย้ายแล้วยังไม่ได้ทำเพลง ผมก็เริ่มไปทำเพลงละครที่ตัวเองเล่น หลัง ๆ คนก็เลยจะเห็นแต่เพลงรัก เพลงละครที่โดมเล่นซะมากกว่า ทั้งที่จริงแล้วในใจตัวเองยังโหยหาที่จะทำ (เพลงซินธ์ร็อค) อยู่ ก็เท่ากับว่าเว้นไป 8 ปีครับ
ต้องขอบคุณโควิดรอบแรกครับที่ทำให้เรามีแรงกระตุ้น คือพอมันมีเวลาว่างเยอะเราก็มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้เข้าสตู จากเดิมที่เข้าน้อยมาก พอเข้าไปเปิดคอม เอาฮาร์ดดิสก์เก่า ๆ มาดู เจอเพลงที่เรายังไม่ได้ปล่อย บางเพลงมีแต่โครง เมโลดี้ บางเพลงมีเนื้อกีตาร์เปล่า ๆ รวบไปรวมมามีถึง 3 เพลงที่มันน่าจะเหมาะกับปี 2021 เราก็ทำต่อให้จบ โควิดยังลากต่อไปอีกครึ่งปีก็ได้มาอีก 4 เพลง ตอนนี้มี 8 เพลงที่จะรวมเป็นอัลบั้ม ‘6 Was 9’ ที่คาดว่าจะปล่อยในเดือนมีนาหรือเมษานี้ครับ
- ได้แรงบันดาลใจมากจากไหน?
หนึ่งเลยคือโควิดอย่างที่บอก สองคือตรงนี้มันอยู่ในสายเลือดของเราอยู่แล้ว พอเราได้กลับไปจับเครื่องดนตรี ได้เปิดโปรแกรม เอาดรัมแมชชีน คีย์บอร์ดมาเล่น ไอเดียมันก็เกิดขึ้นมาทันทีเลยครับ ในขณะที่ล็อกดาวน์อยู่บ้านเราก็ทำเพลงได้ถึงดึกดื่นเลยเพราะไม่ต้องกังวลว่าวันพรุ่งนี้จะมีงานอย่างอื่น
ผมว่าแรงบันดาลใจมันเกิดจากการคอนเซนเทรท (concentrate) เรื่องเดียวนานๆ มันเกิดการดำดิ่งไปสู่ชิ้นงานครับ
- เพลง ‘ซัดฟาง’ มาจากไหน คืออะไร?
ด้วยวัยครับที่ทำให้เราอยากทำเพลงซักเพลงที่พูดถึงอะไรที่มันเข้มข้นตามวัยวุฒิของเรา ผมรู้สึกว่าเราเอาปัญหาสังคมเรามาพูดดีกว่า แต่จะพูดยังไงให้ไม่เครียดก็เลยออกมาเป็น ‘ซัดฟาง’ ที่ออกมาแนวเสียดๆ ตลกร้ายนิดนึง
ต้องขอบคุณพี่ ‘คงเดช จาตุรันต์รัสมี’ มาก (ผู้รับหน้าที่เขียนคำร้อง) พี่คงเดชเป็นผู้กำกับ นักแต่งเพลงที่ผมเคารพ ร่วมงานกันมาตั้งแต่โดมยังอยู่อาร์เอสเลยครับ ก็คุยคอนเซปต์กันว่าสภาพสังคมเราตอนนี้มันมัวเมา มอมเมาไปหมดแล้ว บางทีเห็นผิดเป็นชอบ ฯลฯ ก็เลยคิดว่าถ้า ‘ฟาง’ เปรียบเหมือนคอนเทนต์ที่ไม่ดีในสังคม เรื่องราวที่มันแย่ ๆ เช่น เฟคนิวส์ การปลุกปั่นต่าง ๆ ผมว่ากินเข้าไปแล้วยิ่งบั่นทอน นอกจากจะไม่เจริญปัญญาแล้วมันยังฉุดคุณให้ถอยหลัง ยิ่งกว่าสัตว์สี่เท้าที่กินของพวกนี้กัน แต่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การเมือง ฝักฝ่าย ผมพยายามพูดถึงสังคมมากกว่า
- อะไรที่ทำให้หลงรักแนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ไม่หันไปทำฮิพฮอพที่คนยุคนี้นิยมกัน?
เรามีพื้นฐานการฟังเพลงแบบนั้นมาครับ อย่างโดมเนี่ยเนื้องานในวงการเพลงคนอาจจะคุ้นกับอัลบั้มแรกสมัยเด็กน้อยที่ออกกับอาร์เอส แต่จริงๆ แล้วผมเป็นดีเจเปิดแผ่นตามคลับตามงานมาก่อน แน่นอนว่าเพลงที่เปิดก็เป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสมัยนี้อาจจะเรียกว่า EDM แต่ในยุคนั้นเป็นเพลงเทคโน เพลงเฮาส์อะไรพวกนี้ ซึ่งโครงสร้างของเพลงที่เราชอบมันเป็นแบบนั้น
พอเราฟอร์มวงขึ้นมาตอนหมดสัญญากับอาร์เอส….จริงๆ มันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่อัลบั้ม 3 แล้วครับ อัลบั้ม Question ที่เริ่มมีเพลง ‘หน้ากาก’ ซึ่งชุดนั้นโดมเริ่มได้เป็นโค-โปรดิวเซอร์แล้ว เฮียฮ้อให้โอกาส ซึ่งต้องขอขอบคุณเฮียมากครับ ชุดนั้นมีส่วนร่วม 5 เพลงที่มาอยู่ในอัลบั้ม
พอมาถึงชุดสี่ Naked ที่มีเพลง ‘ผ่าเหล่า’, ‘เวลา’ ชุดนั้นได้เป็นโปรดิวเซอร์แล้วครับ ผมว่าเชื้อไฟมันติดมาตั้งแต่ตอนนั้นว่าเรารักเราชอบตรงนี้ และด้วยความที่ว่าเราทำงานมาตั้งแต่เด็ก เด็กคนอื่นอาจจะไปมหาวิทยาลัย มีเพื่อนวัยเดียวกัน แต่โดม เพื่อนก็คือโปรดิวเซอร์เลยครับ เราต้องขลุกอยู่กับเค้าบ่อยเพราะตอนนั้นออกอัลบั้มทุกปี ปีละชุดๆ ออกเสร็จก็ทัวร์ คือศิลปินในยุคนั้นยังไม่เยอะ ไม่ว่าใครจะออกมา ยังไงก็ต้องมีงาน แล้วเราโชคดีที่ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดีก็เลยทัวร์กันไม่หวาดไม่ไหว เพราะฉะนั้นเราก็จะขลุกอยู่กับพี่ ๆ นักดนตรีแบ็คอัพ พี่ๆ โปรดิวเซอร์จนพวกนี้มันหล่อหลอมเราให้อยากรู้งานในสตูดิโอ จนเป็นที่มาของการไปเรียนซาวด์เอ็นจิเนียร์แล้วกลับมาเปิดสตูดิโอของตัวเองจนต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันโดมเป็นเจ้าของค่ายเพลง ‘ไอคอนนิค เรคคอร์ด’ (Iconic Records) ภายใต้บริษัท ไอคอนนิค คลับบิ้ง สตูดิโอ จำกัด)
โดมเกิดมาจากตรงนั้น โดมชอบวง Depeche Mode ชอบ New Order, Duran Duran, Eurythmics เป็นคนฟังแบบซินธ์เวฟ อิเล็กทรอนิกส์ อีกข้างนึงเราก็ชอบกรันจ์ เราชอบ Soundgarden, Nirvana, Pearl Jam เลยรู้สึกว่าอิเล็กทรอนิกส์ร็อคมันคือคำตอบของเรา
มันมีซินธิไซเซอร์ซึ่งล้ำสมัย มันสังเคราะห์บางอย่างที่เครื่องดนตรีทำไม่ได้ แต่ความหนักหน่วงของร็อคมันก็ขับเคลื่อนคอนเสิร์ต ขับเคลื่อนคน มีกีตาร์ดิสทอร์ชั่นหนัก ๆ บวกกับซินธิไซเซอร์แล้วก็กลองที่มันเป็นกลองไฟฟ้าที่ไม่ใช่กลองจริง ผมว่ามันมีเอเนอร์จี้ครับมันเลยทำให้เราหลงใหลไปกับมัน
- ไม่หวั่นไหวไปกับการทำเพลงตามกระแส?
ผมมองว่าเราชอบแบบไหน เรายืนอยู่ในจุดที่เราชอบดีกว่า อย่างทุกวันนี้ใครจะคิดว่าฮิพฮอพจะขึ้นมาเป็นเมนสตรีม จะแมส กลายเป็นเพลงกระแสหลัก ร็อคหายไปเลยทั้งที่ 20 ปีที่แล้ววงไทเทเนี่ยมทำงานหนักมาก ฮิพฮอพก็ยังเป็นแค่ใต้ดิน ผมว่าดนตรีมันน่าจะเป็นลูปของการรีไซเคิล
ผมว่าเราอยู่ในแนวที่เรารัก เราถนัด ที่เราเชื่อมัน สุดท้ายแล้วดนตรีมันยังคงอยู่แล้วก็วนเวียน ผมว่าพอฮิพฮอพไปแล้วมันก็มีแนวอื่นมา
- อยู่ในวงการเพลงมานานเกือบ 30 ปี คุณ ‘ตกผลึก’ ยังไงบ้าง?
ไม่อยากใช้คำว่า ‘ตกผลึก’ เลยครับเพราะว่าพอผ่านไปทุกปีมันก็เปลี่ยนตลอด ออกอัลบั้มแรกมาจนถึงวันนี้ 26 ปี ออกมาประมาณ 10 อัลบั้มพอดีครับ มันเปลี่ยนไปตลอด มันเปลี่ยนที่เรา คนเราเปลี่ยน วิธีคิด มุมมองเราเปลี่ยนไป เราในทุกวันนี้ (ปี พ.ศ. 2564) บาลานซ์และเข้าใจโลกมากขึ้น
ตอนเด็ก ๆ เราไม่เข้าใจแล้วชอบสร้างคำถามให้ตัวเอง ทำไมต้องเป็นอย่างงี้ ทำไมไม่เป็นอย่างงั้น ขวางโลกหน่อยๆ ด้วย แต่ตอนนี้เราเข้าใจว่าทุกอย่างมีสองด้าน มีต่ำสุด มีสูงสุด วันนี้แย่มากเลยแต่มันไม่ใช่จะแย่ตลอดไปหรอก วันดีๆ กำลังจะมา ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ผมก็เลยพูดถึงเรื่องพวกนี้ แล้วก็การให้กำลังใจด้วย เพราะทุกอย่างมันไม่แน่นอน เป็นเรื่องของการมองสิ่งที่มันไม่จีรังยั่งยืน คุณอย่าไปลุ่มหลงกับสิ่งที่มันสวยงามวันนี้ เพราะมันไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งมันก็เป็นที่มาของอัลบั้มใหม่ของผมที่ชื่อ ‘6 Was 9’ (ซิกส์ วอส ไนน์)
‘6 Was 9’ (หกเคยเป็นเก้า) มันมีเพลงหนึ่งของจิมมี่ เฮนดริกซ์ ชื่อ ‘If 6 Was 9’ ที่พูดถึงเรื่องอื่นเลย เพียงแต่ผมชอบคำว่า ‘6 Was 9’ มันมีความเป็นสองด้านของโลกนี้ เหมือนหยินหยางน่ะครับ รวมถึงสิ่งที่ต้องบาลานซ์กันด้วย
มันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตด้วยที่ต้องบาลานซ์ ไม่จำเป็นที่ต้องแบกโลกเอาไว้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำถามกับทุกเรื่องก็ได้ บางเรื่องเราก็ต้องเข้าใจว่า มันไม่จำเป็นต้องเข้าใจ มันก็จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ รักก็จะเป็นในมุมแบบนี้ เพลงที่ให้กำลังใจก็มี
- ทำไมไม่ทำออกมา 9 เพลง เหมือนชื่ออัลบั้ม?
อาจจะมี hidden track แต่จะอยู่ในอัลบั้มไวนิลครับ ดิจิตอล อัลบั้มไม่มี
- การทำเพลงจากยุคนั้นมาถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปแค่ไหน?
ผมว่ายุคนี้มันเจ๋งมาก ๆ เลยครับ น้องๆ ยุคนี้เก่งสุดๆ มันเป็นยุคทองของคนที่สนใจดนตรี ตอนนี้คุณมีช่องทางในการสื่อสารกับแฟนเพลงหรือปล่อยผลงานอย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีค่ายเพลง ขอแค่มีเพลงที่ดีคุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้ กลุ่มก้อนของคนฟังเพลงแต่ละแนวชัดเจนมาก และมีพื้นที่ให้กับทุกสไตล์ด้วย ซึ่งสมัยก่อนยากมาก ถ้าไม่ใช่ป๊อปที่เป็นเมนสตรีมแล้วทุกอย่างอันเดอร์กราวด์ (ใต้ดิน) หมด คนฟังแทบจะไม่มี
ทำเพลงมาเรื่อยๆ แล้วมันไม่ซัคเซส (ประสบความสำเร็จ) ซักทีเนี่ย มันท้อนะครับ สำหรับหลาย ๆ คน ผมเห็นเพื่อน ๆ พี่ๆ นักดนตรีในยุคนั้นเลิกกันไปเลย มันใช้เงินทุนมากสมัยก่อน เดี๋ยวนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกลงมากแล้วดีขึ้นมาก สมัยก่อนถ้าไม่มีนายทุนแล้วจะไปทำอัลบั้มหมดเป็นล้านนะครับ เฉพาะค่าห้องอัดก็ 3-4 แสนแล้วจะทำยังไงล่ะ ถ้าเกิดทำมาแล้วเจ๊งอีก ทำเจ๊งติดกันซัก 2-3 ทีก็ท้อแล้ว แต่ยุคนี้ไม่ใช่ น้อง ๆ มีคอมพิวเตอร์ก็ทำเพลงที่บ้านได้ ควอลิตี้ก็ออกมาดีด้วย
จริงๆ แล้วผมอิจฉานะครับ สมัยเราผ่านมาตั้งแต่ทุกอย่างเป็นเทป จนมาในยุคที่ก้าวผ่านจากอะนาล็อกเป็นดิจิตอล ตอนนั้นแย่มาก เพลงกลายเป็นของฟรี ทุกคนโหลด มีลิงค์แชร์อยู่ในเว็บบอร์ด เพลงออกเมื่อเช้า มาทั้งอัลบั้มเลย ตอนนั้นทุกคนมึนกันหมดว่าจะไปยังไงต่อ มองไม่เห็นอนาคตเลยครับ
จน transfer (เปลี่ยนผ่าน) มาถึงยุคดิจิตอลเต็มตัว เริ่มมีระบบสตรีมมิง มียูทูปที่สามารถมีส่วนแบ่งกันอย่างชัดเจน ธุรกิจเพลงก็กลับมาพีคอีกรอบนึง นี่คือสิ่งที่ไม่มีในยุคเรา เราต้องทนทุกข์กับการเปลี่ยนผ่านมาร่วมสิบปีนะครับ ช็อตแรกก็คือเทปผีซีดีเถื่อน ช็อตที่สองคือโหลดบิตทอร์เรนท์ เป็นไฟล์แชร์ริงกัน รวมมาถึงพวกเว็บบอร์ดต่าง ๆ ที่เอาลิงค์มาแปะให้โหลด ตอนนั้นหนักครับ แต่ตอนนี้กลับมาดีแล้ว
- ในเรื่องของการทำเพลงมันดีตรงที่ใครอยากทำอะไรก็ได้ แต่ขณะเดียวกันความหลากหลายพวกนี้ก็ทำให้ไม่มีอะไรที่พีคสุดๆ เหมือนเมื่อก่อนรึเปล่า?
ผมว่าอันนี้เป็นคำถามที่ดีมากเลยนะครับ เพราะว่ายุคมันเปลี่ยนจนเดี๋ยวนี้ไม่สามารถมีศิลปินท่านใดท่านหนึ่งที่จะครองใจคนทั้งประเทศได้แล้ว ที่มันจะขับเคลื่อน ต้องตัดผม ต้องใส่เสื้อผ้าตามกันทั้งประเทศ ไม่มีอีกแล้วครับ ผมว่าจะเป็นเรื่องของคนเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่เชื่อในความเป็นตัวฉันแบบนี้ แล้วฉันก็จะฟังศิลปินแบบนี้
แต่ผมว่ามันกลับดีนะครับเพราะว่าเรามี fan base (ฐานแฟนเพลง) ที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าการเป็นศิลปิน ถ้ามีแฟนตัวยง hardcore fan ซัก 5,000 คนก็พอแล้วครับ ถ้า 5 พันคนนี้เค้าไปดูคอนเสิร์ตคุณทุกงาน ซื้ออัลบั้มคุณทุกอัลบั้ม ถ้าปีนึงเค้าจ่ายเงินให้ศิลปินคนนึงที่เค้ารัก คิดซะว่าคนละ 1,000 บาท อาจจะจากการซื้อบัตรคอนเสิร์ต ซื้อของ merchandise หรือ streaming ถ้ามีซัก 5 พันคน คนละพันก็ 5 ล้านแล้วนะครับ ถือว่าทำให้ธุรกิจกลับมารันไปได้
อย่างสมัยก่อนเราไปเล่นคอนเสิร์ตมันก็จะมีคน 80 เปอร์เซ็นต์ที่สนุกกับเรา อีก 20 เปอร์เซ็นต์อาจจะมาเที่ยวเฉย ๆ ไม่ได้เอ็นจอยกับเพลงแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันจะถูกสกรีนไปด้วยแนว กลุ่มก้อนที่ชัดเจน บวกกับเทศกาลดนตรียุคนี้เยอะมากครับ สมัยก่อนไม่มีเลย ถ้าจะเล่นก็ต้องไปฮอลล์อย่างเดียว งานเล็ก ๆ ก็คือไปเล่นตามผับตามเธค เดี๋ยวนี้เรามีเทศกาลดนตรีที่ชัดเจนแต่ละแนวทั้ง เร็กเก้ ฮิปปี้ ร็อค แจ๊ส โซล มีเฟสติวัลฮิพฮอพ อีดีเอ็มก็เยอะมาก ผมว่ามันเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดครับตอนนี้
- คุณมีหลากหลายบทบาท แล้ว ‘โดม ปกรณ์ ลัมภ์’ ณ ปี 2564 คืออะไร?
ผมมีหมวกหลายใบมาก แต่ตอนนี้ถอดออกหมดเลย เหลือแต่ใบที่เป็นนักร้อง ผมกลับมาโฟกัสเพราะอยากทำเพลงที่ตัวเองชอบจริงๆ ฝากแฟนๆ ทุกคนด้วยสำหรับเพลง ‘ซัดฟาง’ ที่ออกไปแล้ว รวมถึงอัลบั้ม ‘6 Was 9’ ที่คาดว่าน่าจะวางในช่วงมีนาคม-เมษายนนี้ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ส่วนช่องทางในการรับชม ผมแยกเปิดยูทูปใหม่มาเลยหนึ่งช่อง (ช่อง Dome Pakorn Lam) สำหรับอัพเดทเพลงโดยเฉพาะ จะไม่เกี่ยวกับคอนเทนต์ที่เป็นรายการเลย ฝากกดไลค์กดแชร์ด้วยนะครับ