กว่าจะมีวันนี้ของ'เอ๋-อรวรรณ บุตรโพธิ์' นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติ
กว่าจะเป็นนักกีฬายกน้ำหนักคนพิการทีมชาติไทยได้ เธอต้องฝ่าฟันมากกว่าคนปกติ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเธอก็คือ คุณพ่อที่คอยให้กำลังใจ และพยายามให้เธอใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
เพื่อต้อนรับเดือนแห่งสตรีที่จัดขึ้นภายใต้ธีม #ChooseToChallenge (เลือกที่จะท้าทาย) จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักและเปิดมุมมองแนวคิดของผู้หญิงแกร่งอีกคนหนึ่งที่จะมาเป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คน
นั่นก็คือ เอ๋-อรวรรณ บุตรโพธิ์ นักกีฬายกน้ำหนักคนพิการทีมชาติไทย หนึ่งในนักกีฬาคนพิการจากทั่วโลก ที่ซิตี้กรุ๊ป รวมถึงซิตี้ ประเทศไทย ให้การสนับสนุน
เธอเลือกที่จะผลักดันตัวเองออกไปทำในสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ รวมถึงกล้าเผชิญกับทุกความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต โดยไม่เอาข้อด้อยที่ตนเองมีมาเป็นข้ออ้าง เพราะเธอเชื่อว่า ถ้าตัวเราเองไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย ชีวิตเราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งเดิม ๆ ที่มีอยู่ได้
- ต้องปรับเปลี่ยน“Mindset”
การเกิดมาพร้อมความแตกต่างของร่างกาย เธอยอมรับว่า ตอนแรก ๆ ก็รู้สึกว่าแปลกแยก เพราะมีร่างกายไม่เหมือนคนอื่น แต่สุดท้ายก็ได้เรียนรู้และยอมรับว่า แม้มีร่างกายไม่เหมือนคนปกติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เพราะสามารถทำในสิ่งต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับคนที่มีร่างกายปกติ
บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคอยผลักดันเธอให้มีความกล้าตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นก็คือคุณพ่อ สนับสนุนให้เรียนหนังสือ เพื่อให้ได้มีความรู้ติดตัว และสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง
อีกทั้งเมื่ออายุ 15 ปี คุณพ่อของเธอผลักดันให้มีความกล้าก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน โดยไม่ต้องมีครอบครัวคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ด้วยการส่งไปศึกษาที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ และสถานที่แห่งนี้คือ จุดเริ่มต้นของความท้าทายในชีวิตด้านการเป็นนักกีฬา
- ต้องหาจุดแข็งให้เจอ
เมื่อมาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน สถานที่แห่งนี้ตอกย้ำความคิดที่ว่า คนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ก็สามารถเล่นกีฬาเหมือนคนทั่วไป ทำให้เธอมีโอกาสได้ลองเล่นกีฬามากมาย อาทิ บาสเกตบอล วีลแชร์ รวมถึงยกน้ำหนัก
เธอชื่นชอบกีฬายกน้ำหนักมากที่สุด เพราะสภาพร่างกายที่แข็งแรง และเห็นตัวอย่างของรุ่นพี่นักกีฬาคนพิการยกน้ำหนักทีมชาติไทยหลาย ๆ คนประสบความสำเร็จ ทำให้ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางนักกีฬายกน้ำหนัก
แม้ตอนแรกจะยังมีความกลัวและไม่กล้าอยู่บ้าง แต่เมื่อตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางนี้แล้ว เธอก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ และในที่สุดก็สามารถเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศ
และประสบความสำเร็จในการคว้าเหรียญรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งการได้รับรางวัลเป็นแรงผลักดันทำให้ต้องมองถึงการแข่งขันในระดับที่สูงมากขึ้น
แน่นอนว่าความตั้งใจมุ่งมั่นตลอดระยะการเป็นนักกีฬา ก็ทำให้สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันระดับภูมิภาคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชนะเลิศเหรียญทอง 5 สมัย กีฬาอาเซียนพาราเกมส์ และชนะเลิศเหรียญทอง 2 สมัยกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ ตลอดจนเป็นตัวแทนนักกีฬาคนพิการยกน้ำหนักทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์
- ตัวแทนประเทศแข่งกีฬาพาราลิมปิก
ความภูมิใจอีกครั้งในชีวิตคือ การได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสองซิตี้แอมบาสซาเดอร์นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย สำหรับมหกรรมกีฬาพาราลิมปิก 2021 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คู่กับ“เรวัตร์ ต๋านะ” นักกีฬาวีลแชร์เรสซิ่ง คนพิการทีมชาติไทย
ในชีวิตโอกาสดี ๆ ไม่ได้มีเข้ามาง่ายๆ เนื่องด้วยตอนที่เลือกตัดสินใจมีครอบครัวและมีลูก ก็มีความคิดจะหยุดหน้าที่การเป็นนักกีฬาอย่างถาวร แต่การเข้ามาสนับสนุนของซิตี้ในครั้งนี้ ทำให้รู้กภูมิใจที่มีคนเห็นความพยายามในการเป็นนักกีฬา
สุดท้ายนี้หากใครที่ยังมีความรู้สึกกลัวหรือไม่กล้าในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองรู้สึกไม่คุ้นเคย อยากให้ทุกคนลองเปิดใจและลองลงมือทำดูสักครั้ง แม้อาจจะต้องประสบกับปัญหา แต่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกๆ คนต้องพบเจอ เมื่อมีปัญหาก็พยายามหาทางลงมือแก้ไข ไม่อยากให้เอาความรู้สึกหรือข้อด้อยมาเป็นข้ออ้างในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ