นิทรรศการ ‘ศิลปะ’ ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต
นิทรรศการผลงาน “ศิลปะ” ของศิลปินชั้นครู “ดำรง วงศ์อุปราช” สุดยอดจิตรกรรมภาพทิวทัศน์ที่เกิดจากการผสมผสานภาษาศิลปะสากลกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย ชวนให้ครุ่นคิดและหวนถึงอดีต
ผศ.ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ.2542 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของ อ.ศิลป์ พีระศรี ได้เรียนรู้แนวคิดการผสมผสาน ภาษาศิลปะแบบสากล กับ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย ตลอดจนประสบการณ์การศึกษาและการทำงานศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
ถ่ายทอดเป็นผลงาน จิตรกรรมภาพทิวทัศน์ ที่ชวนให้ครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งและหวนรำลึกถึงอดีต สะท้อนจิตวิญญาณของศิลปินที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ดำรงอยู่ด้วย ความเรียบง่าย (Simplicity) เงียบสงบ (Serenity) และ เสน่ห์อันน่าหลงใหล (Charm)
อาจารย์ดำรงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นครูในการใช้เฉดสีที่สมดุล โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมสีฝุ่น ผลงานจิตรกรรมหลายชิ้นของอาจารย์ดำรงได้รับรางวัลจากเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ รวมถึงรางวัลเกียรตินิยมอันดับ1 เหรียญทอง (จิตรกรรม) จากผลงาน “หมู่บ้านชาวประมง” ในปี พ.ศ.2503 เมื่ออายุเพียง 24 ปี
ลูกศิษย์และผู้สนใจท่านใดอยากชมผลงานศิลปะของ อ.ดำรง วงศ์อุปราช ขณะนี้ ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ กำลังนำผลงานของอาจารย์จัดแสดงเป็นนิทรรศการ ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต หรือ Damrong WONG-UPARAJ : A Retrospective of Versatility and Discipline
นิทรรศการครั้งนี้ นำเสนอตัวตนของ อ.ดำรง ผ่านแง่มุมของความสามารถอันรอบด้าน ซึ่งมีที่มาจาก ความกล้าคิด และ กล้าทดลอง จนกระทั่งค้นพบแนวทางเฉพาะตัว ควบคู่ไปกับความทุ่มเทตลอดระยะเวลามากกว่า 40 ปี เพื่อขับเคลื่อนวงการศิลปะของประเทศไทยทั้งในฐานะศิลปิน อาจารย์ นักเขียน นักวิชาการด้านศิลปะ ภัณฑารักษ์ ผู้บริหารจัดการหอศิลป์ และนักอนุรักษ์ศิลปะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน ทัศนศิลป์ สู่สาธารณชนวงกว้าง
นิทรรศการ ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต จัดแสดงผลงาน จิตรกรรมและภาพพิมพ์ จำนวน 70 ชิ้น ตัวอย่างบทความทางวิชาการ และ วิดีโอสัมภาษณ์เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน ทายาท และนักสะสม ซึ่งแต่ละท่านมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอาจารย์ดำรงในบทบาทและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
นิทรรศการชุดนี้ เปรียบเสมือนบันทึกการเดินทางตลอดช่วงชีวิตของอาจารย์ดำรง (พ.ศ.2479-2545) ซึ่งแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 4 ช่วงเวลาสำคัญ ได้แก่
1. แสวงหาตัวตนท่ามกลางกระแสศิลปะไทยสมัยใหม่ : Painting Thai Modernism (พ.ศ.2497-2505) ยุคสมัยแห่งการเรียนรู้รูปแบบศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ไหลบ่าจากต่างประเทศ
รวบรวมผลงานขณะเป็นนักศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่าง และมาเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก สถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้าน สร้างสรรค์ผ่านเรื่องราวชนบทไทยผสมผสานรูปแบบของศิลปะตะวันตก เช่น ผลงาน หมู่บ้านชาวประมง (พ.ศ.2503)
2. ตระหนักรู้ในความหลากหลาย : Discovering the Multiverse (พ.ศ. 2505 - 2518) เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างและอิสรภาพของการแสดงออกทางศิลปะ
รวบรวมผลงานจากการไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนกระทั่งเดินทางกลับมาประเทศไทย อาจารย์ดำรงเป็นทั้งศิลปิน อาจารย์สอนศิลปะ เขียนบทความวิชาการ ควบคู่กับการบริหารจัดการวงการศิลปะไทยในหลายด้าน
ผลงานในช่วงเวลานี้มุ่งเน้นไปที่ ศิลปะนามธรรม เป็นช่วงทดลองเพื่อค้นหารูปแบบเฉพาะตัว ทั้งลักษณะที่แสดงออกด้วยฝีแปรงที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และลักษณะนามธรรมสังเคราะห์ ออกแบบและจัดวางภาพด้วยรูปทรงและระนาบสีที่เรียบง่าย เทคนิคการปะติดวัสดุและเทคนิคภาพพิมพ์ สอดแทรกกลิ่นอายวัฒนธรรมไทยด้วยสัญลักษณ์ตัวอักษรและลวดลายท้องถิ่น จนกระทั่งพัฒนาสู่การวาดภาพชนบทและทุ่งนาด้วยการลดทอนรายละเอียด เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตในบรรยากาศของสีสันเรียบง่าย ดังที่ปรากฏในผลงาน ทุ่งนา นครปฐม (พ.ศ.2514) เป็นต้น
3. ชีวิตแห่งสมดุล : Living in Consensus (พ.ศ.2519 - 2520) จุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางศิลปะของอาจารย์ดำรง
รวบรวมผลงานเมื่อครั้งอาจารย์ดำรงได้รับทุนไปทำวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยใช้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเฉพาะตัวด้วย ปากกาสีและสีน้ำ ผ่านเส้นสีที่ละเอียดให้สอดประสานกันด้วยสมาธิอันนิ่งสงบ ตามหลักปรัชญาชินโตและเซน แสดงถึงวิถีการดำรงอยู่ของมนุษย์และธรรมชาติที่มีความเงียบและสมถะ ผลงานชิ้นที่น่าสนใจ เช่น วัดอิเซ่ (พ.ศ. 2519) Red Torii (พ.ศ. 2519) และ ฤดูใบไม้ร่วง-2 (พ.ศ.2520)
4. มุ่งมั่นค้นหาจิตวิญญาณอันนิ่งสงบ : Imagery of Serenity (พ.ศ. 2520 - 2545) เป็นการตกผลึกจากประสบการณ์อันหลากหลาย สู่การต่อยอดพัฒนาผลงานศิลปะและวิชาการเพื่อสะท้อนตัวตนที่แท้จริง
ผลงานในยุคนี้เปรียบเสมือนภาพแทนอุปนิสัย วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของอาจารย์ดำรงที่ค้นหาอย่างลึกซึ้งไปสู่ “ความสงบและสมถะ” ภาพบ้านไม้หลังเล็กในทิวทัศน์ชนบทอันกว้างใหญ่ปรากฏอยู่ในผลงานจิตรกรรมนับสิบนับร้อยชิ้น คล้ายกับการฝึกฝนจิตของศิลปินซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสมือนภาพแทนกาลเวลาที่หยุดนิ่งในใจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสังคมรอบตัว เพื่อเน้นย้ำถึงเจตจำนงอันมุ่งมั่นบนเส้นทางเฉพาะตัว
นิทรรศการ: ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต
ศิลปิน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรง วงศ์อุปราช
จัดแสดง: วันอังคารที่ 20 เมษายน - วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
สถานที่ : ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปกรุงเทพฯ
จัดโดย: มอนวิค และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้สนับสนุนนิทรรศการ: พิพิธภัณฑ์ของสะสม ณรงค์ วลีพร อิงค์ธเนศ (มอนวิค)
ผู้สนับสนุนโครงการ: คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ บริษัท ฟาย เปเปอร์ ทาเคโอะ (ประเทศไทย) จำกัด
พิธีเปิด: วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เวลา 15.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ
ผู้สนับสนุนหลักหอศิลปกรุงเทพฯ: บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ภัณฑารักษ์รับเชิญ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชญ มุกดามณี และอดุลญา ฮุนตระกูล