'บ้านปู่มเหสักข์' จากไม้สักยักษ์ สู่อุทยานฯต้นสักใหญ่
เปิดปมของ “ต้นสักใหญ่” ต้นไม้ประธานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าในพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่” อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
เร็วๆ นี้ไปเห็นภาพๆ หนึ่งที่มีคนเขาแชร์กันมาในอินเทอร์เน็ต เป็นภาพขาวดำดูเป็นภาพเก่า เป็นภาพที่รถบรรทุก บรรทุกท่อนซุงที่ความกว้างใหญ่เท่ากับความกว้างของรถสิบล้อ แล้วตัดมาแค่เท่าความยาวรถ สิ่งที่ผมเห็นแล้วผมคอมมนต์ไปในโพสต์นั้นคือ “เสียดาย”
เป็นความน่าเสียดายอย่างมากที่กว่าที่ไม้ต้นหนึ่ง (ซึ่งไม่รู้ว่าคือต้นอะไร) จะมีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางได้สองเมตรกว่า (เท่าความกว้างรถบรรทุก) ต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้ต้องกี่คนถึงจะโอบหมด แล้วถ้าขนาดต้นมันใหญ่ขนาดนี้แล้วลำต้นมันจะสูงใหญ่ขนาดไหน แต่ตัดออกมาแค่ 7 เมตรกว่าๆ เท่าความยาวรถบรรทุกสิบล้อ) กว่าที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง จะใหญ่โตได้ขนาดนี้ ผมว่าชั่วอายุคนก็อาจไม่ได้เห็น แต่ก็ถูกตัดแล้วนำมาใช้ประโยชน์เพียงน้อยนิด เห็นแล้วจึงได้แต่เสียดาย
ก่อนนี้ผมเคยพาไปดูต้นสนสองใบขนาดใหญ่ที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ที่มีเส้นรอบวงถึง 486 เซนติเมตร อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าสวนสนบ้านแปก ไปเห็นก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเป็นต้นสนสองใบที่ใหญ่มาก ไม่เคยเห็นต้นสนใหญ่เท่านี้มาก่อน นั่นก็ตะลึงไปแล้ว ครั้นไปที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ที่จังหวัดตาก ไปเห็นต้นกะบากใหญ่ นั่นเส้นรอบวงถึง 16 เมตร ต้นสูงถึง 50 เมตร อยู่ในป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้นป่าจึงทึบเหมือนป่าดงดิบ แต่ต้นกะบากที่นี่มันมีพูพอนช่วงตรงโคนด้วย เวลาเขาวัดก็คงวัดรวมพูพอนไปด้วย แต่ถึงกระนั้นลำต้นมันก็ใหญ่โตอยู่ดี ซึ่งดูจากเม็ดมันที่มีปีกออกสองข้างเหมือนลูกยางป่า ยางนา ผมไม่ได้เรียนวนศาสตร์มา เลยคาดว่ามันน่าจะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน ไปเจอต้นยางกล่องขนาดใหญ่ ที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา ก็ดีใจ เวลาที่ไปเจอต้นไม้ขนาดใหญ่ๆ ยิ่งถ้าเจออยู่ในป่า มันจะเป็นความอิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูก นอกจากจะชื่นชมแล้วยังอดทึ่งและศรัทธาไม่ได้ กว่าที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะเติบโตมาได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลากี่ปี คราวนี้ผมจะพาไปเยือน ต้นมเหสักข์ ที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเรา
มเหสักข์ หรือ สัก คือต้นเดียวกัน ซึ่งผมจะไม่ลงในรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ละ แต่จะบอกว่าไม้สักมีหลายชนิด มีสักทอง สักหิน สักหยวก สักไข่ สักขี้ควาย แต่ที่เราได้ยินและคุ้นหูและเป็นไม้ที่นิยมก็คือสักทอง เพราะเนื้อไม้จะเหลืองสวย เสี้ยนไม้จะตรงยาวไปตามแนวลำต้น บ้านเรานั้น “ไม้สัก” จะกระจายกันอย่างมากมายแถวภาคเหนือ ในอดีตเราตัดไม้สักแล้วส่งเป็นสินค้าออกสมัยผมเรียนชั้นประถม ยังเรียนอยู่เลยว่าประเทศไทยสินค้าส่งออกคือข้าวและไม้สัก บ้านเราถูกตัดไม้สักเป็นสินค้าส่งออกก็ครั้งบริษัทต่างชาติมาขอสัมปทาน ร่วมยุคกับสมัยล่าอาณานิคมของตะวันตก มีหลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือบริษัทหลุยส์ ตี เลียวโนเวน ท่านผู้อ่านจำแหม่มแอนนาได้ไหมครับ ที่ รัชกาลที่ 4 จ้างมาสอนหนังสือแก่เจ้าฟ้าทั้งหลาย แหม่มแอนนาเธอมีลูกชื่อหลุยส์ ตี เลียวโนเวน โตและวัยไล่เลี่ยกับรัชกาลที่ 5 พอ รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ นายหลุยส์ก็มารับราชการในไทยด้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงลาออกไปทำบริษัทค้าไม้ ทุกวันนี้ยังมีบ้านพักของนายหลุยส์อยู่ที่ ออป.ลำปาง ซึ่งบูรณะใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แล้วสัญลักษณ์ของบริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวน เป็นรูปเสาชิงช้า ก็เพราะตอนที่จะบูรณะเสาชิงช้า ในปี 2463 นั้น นายหลุยส์ได้บริจาคไม้สักมาให้นั่นเอง
ใครเคยเห็นภาพเก่าในอดีตที่ไม้สักมากมายที่ผูกเป็นแพล่องลงมาในแม่น้ำปิง แม่น้ำเจ้าพระยาคงได้หวนคิดไปว่าป่าไม้กี่แห่ง ต้นไม้มากมายมหาศาลเท่าไรที่ถูกโค่นตัดออกไป ครั้นได้ไปเห็น ต้นสักขนาดใหญ่ที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์แล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้
ต้นสักนี้ อาจจะเป็นต้นที่รอดมาจากการตัดในสมัยอดีตก็ได้ อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามทีที่ทำให้ต้นสักต้นนี้ที่มีขนาดลำต้นมีเส้นรอบวง 10.22 เมตร ความสูง 38.50 เมตร ว่ากันว่ามีอายุถึง 1500 ปี จึงน่าจะเป็นต้นสักที่มีอายุมากที่สุดในโลก (นอกนั้นถูกตัดไปหมดแล้ว) เดิมต้นสักต้นนี้อยู่ในการดูแลของวนอุทยานต้นสักใหญ่ ที่ขึ้นอยู่ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)
“มเหสักข์” อันดับ 1 ต้นไม้ใหญ่ทรงคุณค่า ได้รับคัดเลือกเป็น “สุดยอดต้นไม้มหัศจรรย์ของไทย”
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจและยินดีเป็นที่สุด เมื่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประกาศผลการคัดเลือก “10 สุดยอดต้นไม้มหัศจรรย์ของไทย” โดยอันดับ 1 คือ “มเหสักข์” ต้นสักใหญ่ ที่มีอายุมากที่สุดในโลกถึง 1,500 ปี ขนาดลำต้นมีเส้นรอบวง 10.22 เมตร ความสูง 38.50 เมตร อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ ต.น้ำไคร้ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ม.ค.41 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทอดพระเนตรต้นสักใหญ่นี้ และมีพระราชเสาวนีย์ ว่า "ให้บำรุงดูแลรักษาต้นสักใหญ่ ให้มีอายุยืนนานที่สุดเท่าที่จะทำได้" หลังจากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงเสด็จทอดพระเนตรต้นสักใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "มเหสักข์" หมายถึงเทวดาผู้ใหญ่ ไว้เมื่อวันที่ 29 ก.ย.52 เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อมาวนอุทยานต้นสักใหญ่ก็รวมกับอุทยานแห่งชาติคลองตรอนกลายเป็น อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ ทุกวันนี้ ถ้าท่านผู้อ่านได้เข้าไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองตรอน ก็จะเห็นบรรยากาศที่ร่มรื่นของต้นสักที่ปลูกกันขึ้นมาใหม่ และแน่นอนว่าจะเห็น เทวดาผู้ใหญ่ยืนตระหง่านเป็นประธานในพื้นที่
“อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่” นี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือการเดินป่าขึ้นยอดภูเมี่ยงซึ่งปีหนึ่งเปิดไม่กี่เดือนและต้องมีการจองกัน เหมือนเส้นทางเดินป่าสุดฮิตในหลายเส้นทางในอุทยานแห่งชาติทั้งหลายอย่างเส้นทางโมโกจู ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือ เส้นทางเขาช้างเผือก ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
แต่ที่นิยมเพราะไปง่าย คือการเดินช้าไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกคลองตรอน ระยะทางเดินเท้าเล่นๆ ราว 2กิโลเมตร จากหน่วยฯต้นขนุน ซึ่งเดิมที ตอนสำรวจจะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติคลองตรอน ก็มาใช้ที่นี่เป็นที่ทำการอุทยานฯ แต่พอไปรวมเป็นอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ เลยย้ายที่ทำการอุทยานฯไปที่นั่น ที่นี่ก็เลยเป็นแค่หน่วยพิทักษ์ไป
เส้นทางเดินที่ผมว่านี้ กว้างเหมือนถนนครับ เพราะรถยนต์คงเข้ามาได้แต่ตอนนี้ลำห้วยตรงหน่วย มีก้อนหินเกะกะอยู่เต็มลำห้วย รถเลยเข้าไปไม่ได้ ตัวน้ำตกคลองตรอนนั้นอยู่ในป่าร่มรื่น ชุ่มฉ่ำด้วยสายน้ำที่ตกลงมาหลายชั้น จึงเป็นน้ำตกที่สงบเงียบ น่าไปพักแรมอย่างมาก
แล้วในเส้นทางเดินขึ้นยอดภูเมี่ยง (มาเริ่มเดินที่ต้นขนุนนี้เช่นกัน) ก็ยังมีน้ำตกอีก 2-3 แห่ง ตลอดทางเดิน
เอาเรื่องต้นไม้ใหญ่มาเล่า เพราะจะบอกว่าการตัดฟันต้นไม้ ถากถางพื้นที่ป่า มันไม่ได้ส่งดีอะไรกับแผ่นดิน การมีป่า จึงเป็นหลักประกันได้ว่า แผ่นดินเราจะชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ พอมีน้ำจะเพาะปลูกอะไรก็ได้ แผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์ เอาต้นอะไรปักใส่ดิน เอาเมล็ดหยอดลงดิน ไม่นานก็งอกเงย งอกงาม ทรัพย์ในดิน
แต่ทั้งนี้ต้องมีป่า มีป่าไว้เพื่อให้น้ำ มีน้ำจึงมีชีวิต...