‘ว่าวมังกร’ ตัวใหญ่สุดในโลก เปิดตัวที่เทศกาลว่าวนานาชาติ ‘เหวยฟาง’
จีนเปิดตัว “ว่าวมังกร” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ เทศกาลว่าวนานาชาติเหวยฟาง ครั้งที่ 38 ณ เมือง “เหวยฟาง” ที่ได้ชื่อว่า "เมืองแห่งว่าวของโลก" เชื่อมโยงเมืองโบราณสู่โลกภายนอก
สมาพันธ์ว่าวนานาชาติและเทศบาลเมืองเหวยฟาง (International Kite Federation and Weifang Municipal People's Government) เปิดฉาก เทศกาลว่าวนานาชาติเหวยฟาง ครั้งที่ 38 (38th Weifang International Kite Festival) อย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ณ เมืองเหวยฟาง มณฑลซานตงทางภาคตะวันออกของจีน โดยมีการเปิดตัว ว่าวมังกร ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยาว 280 เมตร ณ สนามว่าวนานาชาติเหวยฟางปินไห่
นักเล่นว่าวมืออาชีพ 500 คน และ 118 ทีม ได้ส่งว่าวกว่า 1,600 ตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าของเมืองเหวยฟาง ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น เมืองแห่งว่าวของโลก โดยว่าวรวม 1,628 ตัวจากมณฑล เขตเทศบาล และเขตปกครองตนเองของจีน 31 แห่ง รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ได้เข้าร่วมการแข่งขันและการแสดงภายในงาน และมีประชาชนกว่า 200,000 คนเข้าร่วมพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน
เว็บไซต์ huawei.com ระบุว่า เหวยฟาง เป็นเมืองโบราณในคาบสมุทรซานตง (Shandong) ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิด ว่าว เมื่อราว 2,400 ปีก่อน มีตำนานเล่าว่า ‘ม่อจื๊อ’ นักปรัชญาชาวจีนได้ประดิษฐ์ว่าวขึ้นมาเพื่อใช้ส่งสาร
ปีนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่จริง เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 แต่ก็ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการแสดงและการแข่งขันทางออนไลน์ เนื่องจากผู้จัดงานได้ส่งคำเชิญออนไลน์ไปยัง 140 ประเทศและดินแดน โดยเฉพาะประเทศในโครงการ Belt and Road และเผยแพร่วิดีโอพิธีเปิดให้ได้รับชมกันอย่างทั่วถึง
"เทศกาลว่าวเหวยฟางได้นำเสนอภาพของเมืองเหวยฟางสู่โลกภายนอก ซึ่งช่วยให้เมืองเหวยฟางกลมกลืนกับทั่วโลก และเมืองเหวยฟางยินดีต้อนรับมิตรจากทั่วทุกมุมโลกสู่เทศกาลว่าวของเรา" เถียน ฉิงหยิง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเทศบาลเมืองเหวยฟาง กล่าวในพิธีเปิดงาน
ขณะที่ จาง เจียนเว่ย ผู้อำนวยการศูนย์บริการงานเทศกาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ว่าวมังกรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีส่วนประกอบ 76 ชิ้น สูง 4.2 เมตร กว้าง 3.6 เมตร และยาว 280 เมตร โดยช่างฝีมือ 26 คน ใช้เวลา 48 วันในการสร้างว่าวมังกรสุดอลังการนี้ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดตัวว่าวที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งมีความยาว 7,700 เมตร และลอยอยู่ในอากาศนานถึง 6 ชั่วโมง
หลิว เป่ยเจี้ยน รองประธานสมาพันธ์ว่าวนานาชาติ กล่าวว่า เทศกาลว่าวเหวยฟางเชื่อมโยงเมืองเหวยฟางกับทั่วโลก และสื่อถึงความรักสงบของชาวเมืองเหวยฟางได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งไฮไลท์ของเทศกาลปีนี้คือ การบินโดรน 1,000 ตัว เมื่อวันที่ 18 เมษายน ซึ่งดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า 100,000 คน
นอกจากนั้นยังมีการแสดง วัฒนธรรมว่าวในรูปแบบของเพลงและการเต้นรำ เป็นครั้งแรก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้จัดงานเทศกาลกับคณะเต้นรำและร้องเพลงมณฑลจี๋หลิน
ขณะเดียวกัน ผู้จัดงานได้เชิญศิลปิน 50 คนมาออกแบบว่าวและจัดนิทรรศการภาพวาดสีน้ำมัน ซึ่งผสมผสานภาพวาดสีน้ำมันเข้ากับว่าวเป็นครั้งแรก
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่จะจัดขึ้นหลังเทศกาลนี้ ได้แก่ การแข่งขันศิลปะการต่อสู้นานาชาตินัดกระชับมิตร การแข่งขันศิลปะการต่อสู้นานาชาติแบบโอเพ่น และการแข่งขันกีฬาเต้นรำนานาชาติ
ปัจจุบัน ‘เหวยฟาง’ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองในมณฑลซานตง มีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2016 มีประชากรราว 9 ล้านคน ถือเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 32 ของจีน
โดยเมื่อปี 2014 เหวยฟางได้ตั้ง หน่วยงานด้านสมาร์ทซิตี้ ขึ้นมาเพื่อดูแลด้านการบริหารจัดการเมือง ส่งเสริมด้านดิจิทัล และสร้างเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับอนาคต โดยเปิดตัว แอพพลิเคชั่น Weifang V แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลสาธารณะต่างๆ อาทิ การศึกษา การดูแลสุขภาพ การขนส่ง การท่องเที่ยว และการติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ไว้ในที่เดียวให้ชาวเมืองใช้งานได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว
จากกระแสความนิยม โมบายล์เพย์เมนต์ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าง WeChat และ Alipay เหวยฟางได้นำมาต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์ม Cloud Pay บริการทางการเงินออนไลน์ ที่พร้อมให้บริการบนแอพ V ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถชำระค่าบริการด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา สาธารณูปโภค บริการจากภาครัฐ รวมถึงค่าบริการต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารคู่ค้าในการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้อยู่อาศัย รวมถึงบริการทางการเงินต่างๆ แก่ผู้ค้าปลีกระบบออนไลน์ในประเทศอีกด้วย
ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 ฝ่ายดูแลด้านความปลอดภัยสาธารณะของมณฑลซานตง ได้ยอมรับให้มีการใช้งานแพลตฟอร์ม Zhiji ในเมืองเหวยฟางอย่างเป็นทางการ โดยผู้ใช้จะต้องทำการยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยด้วยโทรศัพท์มือถือเพื่อรับรหัส ID อิเล็กทรอนิกในรูปแบบของ QR โค้ด ซึ่งจะโยงข้อมูลกับระบบสำมะโนด้านความปลอดภัยสาธารณะ และด้วย e-ID นี้ ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวอีกต่อไป นับเป็นการคิดค้นทางนวัตกรรมครั้งสำคัญในด้านการยืนยันตัวตนผ่านออนไลน์และถือเป็นครั้งแรกของจีน โดยกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะได้อนุมัติและเริ่มใช้งานอย่างจริงจังแล้ว
ทั้งนี้ เมืองเหวยฟางมีผู้ประกอบธุรกิจว่าวเกือบ 300 ราย รวมถึงบริษัทส่งออก 39 แห่ง และมีบุคลากรทำงานในอุตสาหกรรมกว่า 80,000 คน โดยมีการส่งออกว่าวไปยังกว่า 50 ประเทศและดินแดน ครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 85% และครองส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศ 75%
เป็นเมืองโบราณที่ก้าวไปกับโลกดิจิทัลอย่างกลมกลืน