ลูกจ้างรู้ไหม!? แค่ ‘โพสต์บ่น’ บนโซเชียล ก็โดน ‘ไล่ออก’ ได้
ถึงที่ทำงานมันแย่ แต่แค่ ‘โพสต์บ่น’ ก็โดน ‘เลิกจ้าง’ ได้นะ! ต้อนรับ “วันแรงงาน” 1 พฤษภาคม 2564 ด้วยกฎหมายลูกจ้างต้องรู้ ไม่อยากถูก “ไล่ออก” แบบไม่ได้เงินชดเชย โพสต์แบบไหนถึงจะรอด
ต้อนรับ "วันแรงงาน" 1 พฤษภาคม 2564 “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนดูข้อกฎหมายน่ารู้ โพสต์บ่น โพสต์ด่า แบบไหนเข้าข่ายผิดกฎหมาย แบบไหนที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยก็ได้ และการโพสต์ “คำแบบไหน” ที่พนักงานเงินเดือนอย่างเราๆ สามารถทำได้บ้าง?
เพราะแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างหลากหลาย แต่ในเรื่องของ “การตั้งสเตตัสถึงที่ทำงาน” อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างอิสระขนาดนั้น
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า "โซเชียลมีเดีย" ที่พูดถึงในประเด็นนี้นั้นไม่ใช่แค่ “เฟซบุ๊ค” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงแพลทฟอร์มสาธารณะอื่นๆ ด้วย เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม รวมถึง ติ๊กต๊อก เป็นต้น
ต่อให้เจ้านาย หรือ ที่ทำงานของเราจะแย่แค่ไหน แต่การจะโพสต์บ่นใดๆ ก็ตามบนที่สาธารณะ ซึ่งในที่นี้ก็คือ "โซเชียลมีเดีย" นั้น สิ่งที่เหล่าลูกจ้างทั้งหลาย ต้องทราบก็คือว่า “การโพสต์ถึงที่ทำงานบนโซเชียลมีเดีย” เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119" และ "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583” ดังนี้
- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมวด 11 ค่าชดเชย มาตราที่ 118-122
“มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด” ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้
- คดีตัวอย่าง (อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560)
ลูกจ้างโพสต์บนเฟสบุ๊กว่า “เมื่อไหร่จะได้ในสิ่งที่ควรได้ว๊ะ...ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้แดกดินแดกลมนะ”
และ “ใครที่เกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลัง โดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หยุดซะเถอะความเกลียด ความโกรธ ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียว เพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยจริงๆ ก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะที่ชีวิตเขาต้องมาเจอลูกน้องเกลียดและเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าหมxย...ลูกค้าเกลียดวันที่ลูกค้าเต็ม...ตลอด 3 ปีมานี้เขาบอกว่าขาดทุนตลอด อยู่ได้ไงตั้ง 3 ปี...งง...ให้กำลังใจกันได้ดีมากขาดทุนทุกเดือน”
จากข้อความข้างต้น ศาลพิจารณาว่า เข้าข่ายโดนข้อหา ดังนี้
- โดนข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 119(2) : เพราะข้อความดังกล่าวอยู่ในฐานที่ลูกจ้างตั้งใจทำให้นายจ้างเสียหาย นายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องชดเชยและบอกล่วงหน้า
- ผิด ป.พ.พ. มาตรา 583 : เพราะกระทำสิ่งที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่การงานของตนให้ถูกต้องและสุจริต ซึ่งมาตรานี้ได้ให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้า
ทั้งนี้ ไม่โดนข้อหา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 119(1): เพราะไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่เป็นการบ่น
กรณีนี้ไม่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท แต่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย จากการพิจารณาถึง “เนื้อหาในข้อความที่บ่นถึงว่านายจ้างเป็นคนไม่ดี”
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการโพสต์ถึงที่ทำงานบนโซเชียลมีเดีย
ไม่ว่าคุณจะโกรธเจ้านาย ไม่พอใจบริษัทหรือออฟฟิศมากแค่ไหน ก่อนจะโพสต์ระบายอะไรลงไป มีข้อควรรู้เกี่ยวกับการโพสต์ถึงที่ทำงานบนโซเชียลมีเดีย แบบปลอดภัย ไม่เสี่ยงโดนไล่ออก ดังนี้
1. เฟสบุ๊กเป็นสื่ออนไลน์สาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความและแสดงความคิดเห็นที่ลูกจ้างอย่างเราโพสต์ไว้ได้
2. หากโพสต์ในทำนองที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่านายจ้างเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยที่ไม่ดี นายจ้างจะไม่สามารถทำการเลิกจ้างได้ เช่น ช่วงนี้งานล้นมาก งานโหลดไม่ไหว ต้องรีบปิดงบฯ เหนื่อยสุดๆ (การตัดพ้อส่วนตัวโดยไม่กล่าวถึงที่ทำงาน)
3. หากข้อความที่โพสต์มีลักษณะในการระบายอารมณ์ความไม่พอใจ แต่หากมีความหมายที่ทำให้เข้าใจว่า นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้าง ทำให้นายจ้างดูเป็นคนที่ไม่ดี เอาเปรียบลูกจ้าง ทำให้ภาพลักษณ์นายจ้างเสียหาย หรือทำให้เสียหายหนัก ก็ไม่สามารถโพสต์ได้
4. หากลูกจ้างคิดว่า “การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่เป็นธรรม” ตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลฯ มาตรา 49 ตามหลักการมาตรา 119 แล้ว ถือเป็นการกระทำที่เป็นธรรม เพราะ “การเลิกจ้างจากการโพสต์ให้นายจ้างได้รับความเสียหายบนโซเชียลมีเดีย เป็นเหตุอันสมควร” แล้ว
5. ในบางองค์กร การใช้โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังในการคัดกรองเพื่อรับเข้าทำงานและดำรงตำแหน่งงาน เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับทางกฎหมายหรือความปลอดภัย หากโพสต์แต่เรื่องอบายมุก สถานที่ท่องเที่ยงกลางคืน หรือแหล่งอโคจร อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ชี้ชัดในการไม่พิจารณารับเข้าทำงานได้
อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ , พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560