ทำไมต้อง 'ตรวจสุขภาพ' ประจำปี วัยทำงานเลือกโปรแกรมแบบไหนดี?

ทำไมต้อง 'ตรวจสุขภาพ' ประจำปี วัยทำงานเลือกโปรแกรมแบบไหนดี?

เมื่อการ "ตรวจสุขภาพ" ประจำปี เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญน้อยเกินควร ทั้งๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดูแลสุขภาพก่อนจะป่วยร้ายแรง ชวนรู้ข้อดีการตรวจสุขภาพ และเช็คช่วงอายุแต่ละวัย ต้องเข้าโปรแกรมตรวจแบบไหนดี?

หลายคนได้ติดตาม "ยอดโควิดวันนี้" กับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์กันอยู่ทุกวัน และคงเห็นแล้วว่ายอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไม่หยุด ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเสียชีวิตเร็ว คงหนีไม่พ้นอาการแทรกซ้อนจาก "โรคประจำตัว" (เบาหวาน, ความดันสูง, โรคอ้วน, โรคหัวใจ, โรคปอด) คงจะดีกว่าถ้าเราใส่ใจ "ตรวจสุขภาพ" ประจำปีมากขึ้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเรื้อรังเหล่านี้

เชื่อหรือไม่? ก่อนหน้านี้มีรายงานพบว่าคนไทยเข้ารับการ "ตรวจสุขภาพ" ในแต่ละปีเพียงแค่ 2% เท่านั้น ซ้ำร้าย.. หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการ "ตรวจสุขภาพ" คือการค้นหาโรคและอาการเจ็บป่วยร้ายแรงผิดปกติ ทั้งที่ความจริงแล้ว เป้าหมายของการตรวจสุขภาพคือ เพื่อส่งเสริมสุขภาพในบุคคลปกติ และค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เอาเป็นว่า.. เราจะพาไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น

การ "ตรวจสุขภาพ" ประจำปี คืออะไร?

การตรวจสุขภาพประจำปี จัดว่ามีความจำเป็นต่อทุกคน เป็นการตรวจเช็คสุขภาพในขณะที่ผู้รับการตรวจยังสบายดี ไม่มีอาการป่วย ไม่มีความผิดปกติใดๆ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคในอนาคต หรือค้นหาโรคในระยะเริ่มต้น เพื่อหยุดยั้ง ป้องกัน และรักษาโรคได้ทันท่วงที

ส่วนคนที่ไปหาหมอเมื่อมีอาการเจ็บป่วย หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว หรือคนที่ไปหาหมอเพื่อตรวจรักษาโรค (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) นั้น ไม่เข้าข่ายว่าเป็นการ "ตรวจสุขภาพ" แต่เป็น "การตรวจวินิจฉัยโรค" หรือ "การตรวจรักษาโรค"

ทำไมต้องมีการ "ตรวจสุขภาพ" ประจำปี? 

เนื่องจากร่างกายคนเราอาจมีโรค/ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ที่ซ่อนอยู่ และมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก หากไม่ได้ตรวจสุขภาพแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่รู้ตัวว่าเริ่มป่วย เมื่อปล่อยไว้นานเข้า โรคที่ซ่อนอยู่นั้นก็จะกำเริบหนักและเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงทำเพื่อ

1) ค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกายโดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น ซึ่งถือว่าเป็น “ภัยเงียบ” เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, มะเร็งเต้านมระยะแรก, มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น ซึ่งตามหลักการรักษาแล้ว การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะที่มีความรุนแรงน้อย จะรักษาโรคได้ทัน ไม่ลุกลาม ลดภาวะแทรกซ้อน

2) หาปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เช่น กรรมพันธุ์, ดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, กินอาหารที่ไม่เหมาะสม, ขาดการออกกำลังกาย, เครียด, ภาวะน้ำหนักเกินหรือลงพุง,  สภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เมื่อพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง หมอก็จะให้คำแนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคตามมา

ใครควรเข้ารับการ "ตรวจสุขภาพ" บ้าง?

ทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา ควรได้รับการ "ตรวจสุขภาพ" ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพ ที่จำเป็นและเหมาะสม กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งมีแนวทางการตรวจสุขภาพแตกต่างกัน ได้แก่

  • กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี)
  • กลุ่มวัยทำงาน (อายุ18-60 ปี)
  • กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)
  • กลุ่มหญิงมีครรภ์

การตรวจสุขภาพควรตรวจตามความจำเป็น และให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ใช่ตรวจเหมารวมแบบเดียวกันหมดทุกคน การตรวจสุขภาพแบบเหมารวมเป็นการตรวจเกินความจำเป็น นอกจากทำให้สิ้นเปลืองแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากวิธีตรวจบางอย่างได้อีกด้วย

วิธี 'ตรวจสุขภาพ' ที่ถูกต้อง มีขั้นตอนยังไง?

การตรวจสุขภาพที่แม่นยำเพื่อคัดกรองและป้องกันโรค ต้องอาศัยวิธีการหลายอย่างแบบผสมผสาน จากนั้นแพทย์จะนำผลที่ได้มาแปลผลการวินิจฉัยโรค ไม่สามารถใช้ผลการตรวจเลือด หรือผลการถ่ายภาพรังสีเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยโรคได้ ดังนั้น ขั้นตอนในการตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง ประกอบด้วย

1. การซักประวัติโดยละเอียด : ครอบครัว กรรมพันธุ์ อาชีพ พฤติกรรม (สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่ไม่เหมาะสม)

2. การตรวจร่างกายตามระบบ : ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ชีพจร ตรวจผิวหนัง ตา หู คอ ช่องปาก ปอด หัวใจ ท้อง เป็นต้น

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการและรายงานผล : ทำโดยนักเทคนิคการแพทย์ แล้วนำผลการตรวจส่งไปให้แพทย์วินิฉัยต่อ

4. การอ่านผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ/ภาพรังสี : แพทย์วินิจฉัยตามผลตรวจและข้อมูลปัจจัยเสี่ยง

ตรวจสุขภาพประจำปี ควรตรวจโรคอะไรบ้าง?

หากดูตามบริบทของสังคมไทย พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตและทุพลภาพของคนไทยส่วนใหญ่ เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ดังนั้น การตรวจสุขภาพควรตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการไม่ออกกำลังกาย

กรณีของ "โรคมะเร็ง" ชนิดของมะเร็งที่ควรตรวจคัดกรอง ควรเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และรักษาให้หายขาดได้เมื่อพบในระยะแรก ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, โรคมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

"วัยทำงาน" ควร "ตรวจสุขภาพ" โปรแกรมแบบไหน?

การตรวจสุขภาพสำหรับกลุ่มวัยทำงานทั้งหญิงและชาย นอกจากการตรวจสุขภาพ ได้แก่ 

1. ตรวจตา (อายุ 40 ปี ขึ้นไป) : ตรวจวัดสายตาและตรวจ คัดกรองโรคต้อหิน/ภาวะความดันลูกตาสูง/ความ ผิดปกติอื่นๆ อย่างน้อย 1 ครั้ง

2. ตรวจอุจจาระ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) : เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง

3. ตรวจเลือด (อายุ 20 ปีขึ้นไป) : ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี ส่วนอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี ถัดมาคือตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจ 1 ครั้ง และอีกข้อคือไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ตรวจครั้งเดียว เฉพาะคนที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 

4. ตรวจเต้านม (หญิงอายุ 30-39 ปี) : ควรได้รับการตรวจเต้านมทุก 3 ปี จากแพทย์ และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุกปี

5. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป) : ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเก็บ เซลล์โดยวิธีพื้นฐาน (conventional pap smear) ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรด อะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี 

6. ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป) : ควรได้รับการตรวจลักษณะต่อมลูกหมากทางทวารหนักโดยแพทย์ หรือตรวจเลือดหาค่า PSA โดยตรวจทุกๆ 1-2 ปี 

*หมายเหตุ : ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจปัสสาวะ ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจปัสสาวะปีละ 1 ครั้ง

--------------------------------

อ้างอิง : 

ชุดความรู้ตรวจสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข