ไม่ใช่แค่ 'วัคซีนโควิด' เช็ค 5 วัคซีนสำคัญที่ 'วัยทำงาน' ควรฉีด
นอกจาก "วัคซีนโควิด" แล้ว ชวนคนไทยรู้จัก 5 วัคซีนสำคัญที่ "วัยทำงาน" ควรฉีดเพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจจู่โจมคุณแบบไม่ทันตั้งตัว
ตอนนี้หลายคนคงได้จองฉีดวัคซีนโควิด ในช่องทางต่างๆ ของภาครัฐแล้ว และได้คิวในการเข้ารับการฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน 2564 ตามเป้าหมายป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แล้วรู้หรือไม่? นอกจาก "วัคซีนโควิด" แล้ว ยังมีวัคซีนอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคร้ายที่อาจขึ้นกับ "วัยทำงาน"
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปรู้จักความสำคัญของวัคซีนชนิดอื่นๆ อีก 5 ชนิดที่วัยทำงานควรฉีดป้องกันโรค ดังนี้
- วัคซีนคืออะไร? ทำไมคนเราต้องฉีดวัคซีนหลายตัว
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ในบทความวิชาการชิ้นหนึ่งว่า วัคซีน (Vaccine) คือ สารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ ซึ่งวัคซีนส่วนใหญ่ทำมาจากเชื้อโรค แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้ว ทำจากสารของเชื้อโรคที่ตายแล้ว นำมาฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
2. ทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอ ทำให้เชื้อโรคสลบ พิษจะได้ไม่รุนแรง เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายคนเรา ร่างกายเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- การฉีด "วัคซีน" เป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง
มีข้อมูลจากกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค ระบุว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง มีความคุ้มค่า นานาประเทศ ทั่วโลกใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือป้องกันควบคุมโรคที่เป็นปัญหาสําคัญอย่างได้ผลดี
สําหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้ดําเนินแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2520 ด้วยการให้วัคซีนตามกําหนดให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนและเด็กนักเรียน ต่อมาพบว่าในวัยผู้ใหญ่หรือ "วัยทำงาน" ก็มีภาวะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคบางโรคต่ำลง จึงมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนในวัยผู้ใหญ่ด้วย
โดยระดับคําแนะนําการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสําหรับผู้ใหญ่ กรมควบคุมโรคแบ่งระดับคําแนะนํา เป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 : วัคซีนจําเป็นสําหรับผู้ใหญ่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หมายถึง วัคซีนที่ผู้ใหญ่ควรได้รับ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรให้
ระดับที่ 2 : วัคซีนแนะนําสําหรับผู้ใหญ่ หมายถึง วัคซีนจําเป็นที่ผู้ใหญ่ควรได้รับ แต่ผู้รับวัคซีนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง
ระดับที่ 3 : วัคซีนทางเลือก หมายถึง วัคซีนที่ประชาชนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ รับบริการ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง
โดยวัคซีนหลักๆ ที่ผู้ใหญ่ทั่วไปควรได้รับการฉีดวัคซีน ดูได้จากตารางข้างล่างนี้
(dT=ป้องกันโรคคอตีบ, Tdap=ป้องกันบาดทะยัก/คอตีบ/ไอกรน, MMR=ป้องกันหัด/คางทูม/หัดเยอรมัน, HB=ป้องกันตับอักเสบบี, HA=ป้องกันตับอักเสบเอ, PrEP=ป้องกันติดเชื้อเอชไอวี, Varicella=ป้องกันอีสุกอีใส, HPV=ป้องกันมะเร็งปากมดลูก, Flu=ป้องกันไข้หวัดใหญ่, PCV13=ป้องกันปอดอักเสบ, PPSV23=ป้องกันปอดอักเสบ, Zoster=ป้องกันงูสวัด, LAJE=ป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี)
- สรุป 5 วัคซีนที่ "วัยทำงาน" ควรฉีดให้ครบ
ส่วนชนิดวัคซีนที่ "วัยทำงาน" ควรให้ความสำคัญและเข้ารับการฉีดครบโดสนั้น เราขอสรุปวัคซีนหลักๆ มาให้ทราบกัน 5 ชนิด โดยมีข้อมูลจาก นพ.ณัฐพล โรจน์เจริญงาม แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน โรงพยาบาลสมิติเวช ที่เคยระบุเอาไว้ในบทความวิชาการ ดังนี้
1. วัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก
ควรรับการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ต่อเนื่องจากในวัยเด็ก เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีการลดลงตามอายุที่มากขึ้น
2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้ในช่วงแรกเกิด แต่ในผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 หากตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนี้ เพราะร่างกายเราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบีขึ้นมาเองได้ เพื่อเป็นการป้องกันโรคมะเร็งตับ โดยปกติการให้วัคซีนนี้จะให้ทั้งหมด 3 เข็มในระยะเวลา 6 เดือน และไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนซ้ำอีก
3. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
แต่เดิมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ถูกแนะนำให้ฉีดเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ภูมิต้านทานน้อยเท่านั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดในวงกว้าง ประชากรทั่วไปที่ถึงแม้จะใช่กลุ่มเสี่ยงก็ควรฉีด เพราะเป็นการช่วยจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในวงแคบลง โดยปกติมีข้อแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไปคือ ควรรับวัคซีนชนิดนี้อย่างน้อยปีละครั้ง
4. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR)
สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคหัด ได้แก่ ไม่เคยฉีดวัคซีน ไม่เคยเป็นโรคหัดมาในอดีต หรือตรวจไม่พบภูมิต้านทานต่อโรคหัด หรือในหญิงที่วางแผนจะมีบุตร ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ 1 เข็ม และกระตุ้นอีก 1 เข็ม ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์
5. วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV
ในกลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งก่อโรคมะเร็งปากมดลูก โดยกลุ่มที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนผู้หญิงที่มีอายุเกิน 26 ปีก็จะยังได้รับประโยชน์จากวัคซีนนี้ โดยควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนการรับวัคซีน
--------------------------
อ้างอิง :
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล