คิกออฟ! 'รถดมไว' ใช้สุนัขคัดกรองผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' ออกปฏิบัติงานภาคสนามได้แล้ว
จุฬาฯ เปิดตัว "รถดมไว" ใช้สุนัขคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 คิกออฟเริ่มออกปฏิบัติการได้แล้ว พร้อมดึงศักยภาพน้องหมา "สุนัขดมกลิ่น" ให้สามารถดมกลิ่น คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แม่นยำถึง 96%
วันที่ 18 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอความคืบหน้าของโครงการสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 โดยล่าสุดสามารถคิกออฟ "รถดมไว" ออกปฏิบัติงานภาคสนามได้แล้ว
โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับบริษัทเชฟรอนประเทศไทย สํารวจและผลิต จํากัด และบริษัทพีคิวเอ แอสโซซิเอส จํากัด จัดงานเปิดตัว “รถดมไว เพื่อนําสุนัข ดมกลิ่นคัดกรอง COVID-19 ออกปฏิบัติงานภาคสนาม” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 ณ อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะ สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเป็นเกียรติในงาน
งานเปิดตัวในครั้งนี้เริ่มด้วยการชมการตรวจคัดกรองตัวอย่างเหงื่อมีการโดยสุนัขลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ที่ได้รับการฝึกดมกลิ่นผู้ติดเชื้อ COVID-19 บน ”รถดมไว” ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยเคลื่อนที่สำหรับการปฏิบัติงานของสุนัขคันแรกของประเทศไทย
ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า โครงการสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 โดยมีบริษัท เชฟรอนฯ เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย และบริษัท พีคิวเอ แอสโซซิเอท จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการฝึกสุนัข สามารถดึงศักยภาพของสุนัขให้สามารถดมกลิ่นได้แม่นยำถึง 96% จึงมีการลงพื้นที่ เริ่มจากหน่วยงานเล็กๆ เพื่อปรับตัวและปรับวิธีการเก็บตัวอย่าง หลังจากนั้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำสุนัขดมกลิ่นให้บริการตรวจโควิด-19 แก่บุคลากรจุฬาฯ
การพัฒนา “รถดมไว” ในครั้งนี้เป็นการตอบสนองความสำคัญของการตรวจคัดกรองเชิงรุก ซึ่งเหงื่อของผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะส่งกลิ่นที่สุนัขสามารถรับรู้ได้ หากสุนัขดม "กลิ่นเหงื่อ" แล้วพบว่าผลของตัวอย่างเป็นบวก สุนัขจะนั่งลง ขั้นตอนการตรวจจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถตรวจได้มากถึงรอบละ 12 ตัวอย่าง ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ
ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ออกแบบ”รถดมไว” เปิดเผยว่า การออกแบบรถคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งกับสุนัขและผู้ปฏิบัติงาน ตามมาตรฐานแพทย์และมาตรฐานกรมควบคุมโรค มีแท่นตรวจคัดกรองที่สร้างในระดับที่พอดีกับสุนัข พื้นที่ในรถแบ่งออกเป็น 4 ห้อง เหมาะกับการใช้งาน
นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อํานวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวขอบคุณจุฬาฯ ที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมและกรมควบคุมโรคเสมอมา รถดมไวเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาช่วยตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้
อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สํารวจและผลิต จํากัด กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทเชฟรอนฯ ที่มีความพร้อมและความตั้งใจที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความร่วมมือกับจุฬาฯ เป็นการตอบโจทย์และขยายผลการทำงานโดยให้สุนัขลงพื้นที่ปฏิบัติงาน
“รถดมไว” มีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ อุปกรณ์การดมและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร (7×2.4 เมตร) ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องเอนกประสงค์ ห้องพักสุนัขสำหรับให้สุนัขพักในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน ห้องเตรียมตัวอย่างสำหรับรับตัวอย่างที่เก็บจากภายนอกเข้ามาเตรียมเปลี่ยนถ่ายภาชนะ ห้องปฏิบัติงานสำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างที่วางบนแท่นวางตัวอย่าง
จุดเด่นและความพิเศษของ “รถดมไว” ถูกออกแบบเพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและลงตัว มีเครื่องปรับอากาศให้ความเย็นแก่สุนัข นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่และสุนัขที่ปฏิบัติงานบนรถ
ขอบคุณภาพและข้อมูล : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย