‘โดนัท’ กับ ‘กาแฟ’ เมนูคู่แท้คนอเมริกัน

‘โดนัท’ กับ ‘กาแฟ’ เมนูคู่แท้คนอเมริกัน

เครื่องดื่มขมๆ กับขนมหวานๆ เป็นของคู่กันฉันใด “โดนัท” กับ “กาแฟ” ก็เป็นคู่แท้ของชาวอเมริกันฉันนั้น

คอกาแฟในแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องขนมหรือของว่างเพื่อกินเป็นอาหารคู่กับกาแฟในช่วงเร่งด่วนหรืออาหารว่างเบาๆ ในช่วงพักเบรค หลายประเทศนิยมพวกเบเกอรี่, ครัวซองต์, วาฟเฟิล, ขนมปังปิ้ง, เค้ก, คุกกี้, แพนเค้ก, แซนด์วิช และขนมหวานท้องถิ่นต่างๆ อย่างในเมืองไทยเรา หากมีโอกาสไปตลาดสดยามเช้า ผู้เขียนชอบซื้อปาท่องโก๋หรือไม่ก็ขนมครกมากินกับกาแฟร้อนๆ

แน่นอนว่าแต่ละคนมี "รสนิยม" ในการบริโภคอาหารไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและขนบวัฒนธรรม แต่ที่สหรัฐอเมริกานั้น เมื่อเอ่ยถึง กาแฟ แล้วมักจะมีชื่อ โดนัท ขนมแป้งทอดรูปวงกลมที่มีรูอยู่ตรงกลาง ลอยตามมาด้วยทุกครั้งไป ทั้งสองเป็นเครื่องดื่มกับของว่างที่กินคู่กันมานานแล้ว ร้านกาแฟนสหรัฐก็มีโดนัทขาย ส่วนร้านโดนัทก็ขายกาแฟเป็นเครื่องดื่มหลักเสียด้วย กลายเป็น "เมนูคู่แท้" ที่ว่ากันว่าเข้ากันได้อย่างลงตัวในวิถีอันเร่งรีบแห่งสังคมอเมริกัน

จึงเป็นเรื่องที่น่าค้นหาเป็นอย่างยิ่งว่า ไฉนคนอเมริกันนิยมชมชอบดื่มกาแฟคู่เคียงกับโดนัท (Coffee and Doughnuts) เป็นอาหารยามท้องว่าง ไม่ใช่แค่ชอบธรรมดา แต่แทบกลายเป็น "สัญลักษณ์" หนึ่งในเชิงวัฒนธรรมการกินอาหารของประเทศนี้เลยทีเดียว แล้วยังแพร่กระจายเข้าไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งภูมิภาคยุโรป

162825803545

กาแฟกับโดนัท ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารอเมริกัน / ภาพ : Iryna Ogarkova on Unsplash

อาจเพราะคุณสมบัติในด้านที่ให้ทั้งพลังงาน, ความสดอร่อย และอิ่มท้องได้เร็วด้วยน้ำตาลกับคาร์โบไฮเดรต ทำให้ “กาแฟ”กับ “โดนัท” ในรูปลักษณ์ของเครื่องดื่มร้อนที่ให้กลิ่นหอมกรุ่น และขนมหวานมีรูเนื้อนุ่มละมุนลิ้น กลายเป็นของคู่กันไปในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงแคนาดาด้วย ส่วนใหญ่บริโภคแทนอาหารกันเลยทีเดียว 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เวลาชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดแนวแอคชั่นหรือแนวสืบสวนสอบสวน เรามักจะเห็น ตำรวจอเมริกัน แวะเข้าร้าน “กาแฟ” หรือร้าน “โดนัท” แล้วหิ้วถ้วยกาแฟพร้อมกล่องโดนัท มานั่งดื่มกินกันในรถสายตรวจ เพราะผู้กำกับหนังได้สอดแทรกพฤติกรรมการกินอาหารของตำรวจที่พบเห็นเป็นประจำไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย

ระหว่างช่วงพัก "ค๊อฟฟี่ เบรค" ไม่ว่าจะเป็นในการประชุมหรือทำงานทั่วภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกา ก็มักมี “กาแฟ” กับ “โดนัท” หรือคุกกี้บ้างมาคอยให้กินกันเป็นของว่าง ในทุกๆ เทศกาลงานเฉลิมไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ก็ขาดไม่ได้เลยที่จะมีอาหารและเครื่องดื่มสองชนิดนี้รวมอยู่ด้วย

ตัวผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่า การจับคู่กันนี้จะเรียกว่า วัฒนธรรมกิน “โดนัท” คู่กับ “กาแฟ” หรือวัฒนธรรมการดื่มกาแฟควบโดนัท แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ซื้อง่ายมีขายทั่วไป ตามเมืองขนาดใหญ่แทบจะเจอทุกตรอกซอกซอยหรือหัวมุมถนน  

เคยมีการสำรวจเมื่อปีค.ศ.1989 โดยเอ็นพีดี กรุ๊ป บริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นแนวหน้าในนิวยอร์ค พบข้อมูลที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจว่า อาหารมื้อเช้าของอเมริกันชนนั้น ในสัดส่วนมากถึง 41-42 เปอร์เซ็นต์ จะมีกาแฟรวมอยู่ในมื้อเช้าด้วย และก็มีสัดส่วนราว 14.2 เปอร์เซ็นต์ ที่มีโดนัทรวมอยู่ด้วย

ด้วยความเร่งรีบของสังคมในประเทศอุตสาหกรรม ประกอบกับแรงขับเคลื่อนทางการตลาด เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนส่งให้กาแฟกับโดนัท เข้าสู่ระดับขั้นของวัฒนธรรมการกินแบบสมัยนิยมในสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจแฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันที่เสนอบริการอาหารเร่งด่วนแนวนี้กำเนิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ที่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงโด่งเป็นที่รู้จักกันดีมีสาขาไปทั่วโลกก็อย่าง คริสปี้ ครีม (Krispy Kreme ), ดังกิ้น โดนัท (Dunkin’ Donuts) และ มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut ) ขณะที่แคนาดาก็มีอยู่หลายแบรนด์ ที่มีชื่อเสียงมากก็เห็นจะเป็น ทิม ฮอร์ตันส์ (Tim Hortons)

162825810736

กาแฟขายดีไม่แพ้โดนัท ตามร้านโดนัทใหญ่ๆของสหรัฐ / ภาพ : Mikail Duran on Unsplash

เห็นภาษาเขียนของคำว่า “โดนัท” ตามร้านโดนัทดังๆ ของสหรัฐแล้วก็ให้นึกเอะใจว่า ทำไมเขียนเป็นภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน มีทั้ง Doughnut และ Donut เลยต้องไปค้นหามาจึงได้คำอธิบาย ดังนี้

Doughnut เป็นคำดั้งเดิมของ “โดนัท” ด้วยขนมชนิดนี้ทำขึ้นจากการนำแป้งสาลีกับน้ำมานวดให้เข้ากันแล้วหมักกับยีสต์ เรียกกันว่า แป้งโด (dough) อย่างร้าน Krispy Kreme ก็ยังคงใช้คำดั้งเดิมนี้อยู่ ส่วน Donut เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ราวกลางศตวรรษที่ 20 หลังจากแฟรนไชส์โดนัทอย่าง Dunkin’ Donuts และ Mister Donut หันมาใช้คำตามรูปแบบการออกเสียง

ตามปูมประวัติกาแฟโลกให้ข้อมูลว่า กัปตันจอห์น สมิธ นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งอาณานิคมเวอร์จิเนีย เป็นผู้นำเมล็ดกาแฟจากตุรกีเข้ามายังแผ่นดินสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1607 เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของประเทศไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ ยกเว้นบางรัฐทางตอนใต้ที่สามารถปลูกกาแฟได้  แต่ผลผลิตก็ยังนับว่าน้อยอยู่มากๆ จำเป็นต้องสั่งนำเข้ามารองรับการบริโภคในประเทศ

แต่นับจากวันแรกที่กาแฟเดินทางมาถึง ความนิยมติดใจในรสชาติก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นเครื่องดื่มร้อนที่คู่กับอาหารว่างแทนที่ชาไปในไม่ช้า

แม้จะผูกพันลึกล้ำกับวัฒนธรรมอาหารสมัยใหม่ของสหรัฐ แต่ “โดนัท” ก็ไม่ใช่ขนมที่เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นในประเทศนี้อีกเช่นกัน ต้นกำเนิดของขนมแป้งทอดมีรูตรงกลางคล้ายกับห่วงยางชนิดนี้ มีหลายตำนานทีเดียว บ้างก็ว่าต้องย้อนหลังไปถึง "ยุคกรีกและโรมัน" โน่นเลยทีเดียว บ้างก็ว่า "ชาวดัตช์" เป็นผู้นำเข้ามายังอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อ 4 ร้อยปีก่อน เนื่องจากขนมมีรูปทรงกลมเล็ก ขนาดเท่าถั่ว วอลนัท (walnut) จึงเรียกเสียใหม่ว่า โดนัท (Doughnut) ทั้งๆ ที่ขนมนี้ไม่มีถั่วเป็นส่วนผสมเลย 

เรื่องเล่านี้สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า ขนมแป้งทอดชนิดนี้ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป ทั้งในอังกฤษ, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ในยุคทศวรรษ 1400 ตอนนั้นยังเป็นขนมแป้งทอดกลมๆ ไม่มีรูอย่างในปัจจุบัน

ทำไมโดนัทจึงมีรูตรงกลาง และมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่? ก็มีหลายตำนานเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ดูจะยกเครดิตให้กับเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อเด็กหนุ่มกลาสีเรือชาวอเมริกันชื่อ "แฮนสัน เกรกอรี" จากรัฐเมน เป็นคนแรกที่ “เจาะรูแป้งทอด” ขณะอยู่ในเรือขนส่งมะนาว เนื่องจากไม่สบอารมณ์ที่เห็นขนมแป้งทอดที่เสิร์ฟให้คนเรือ มีลักษณะสุกกรอบเฉพาะด้านขอบ แต่ตรงกลางด้านในมักจะแฉะแบบสุกไม่ทั่ว จึงคว้านส่วนกลางของแป้งออกไปจนเป็นรูวงกลมๆ เพื่อทำให้ทอดได้ง่ายขึ้นและสุกทั่วทุกซอกมุม

ความจริงเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของ “โดนัท” นั้นมีมากมายทีเดียว แต่ละเรื่องก็ต่างกัน มากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดาของเรื่องเล่าในตำนาน เอาแค่กรณีนายเกรกอรีนั้น บ้างก็ว่าไม่ใช่เด็กหนุ่มแต่เป็นถึงกัปตันเรือ แล้วก็ไม่ได้ทำโดนัทบนเรือ แต่เห็นมารดาของเขากำลังทอดโดนัทอยู่ที่บ้าน เลยคิดวิธีเจาะรูช่วยให้ขนมแป้งทอดสุกง่ายขึ้น

ไม่ว่าจะมีความเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันมีร้าน “โดนัท” ที่ขาย “ขนมมีรูคู่กับกาแฟ” ประมาณ 18,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ช่วงที่ขนมโดนัทได้รับความนิยมอย่างมากกลายเป็นธุรกิจร้านรวงคับคั่งอย่างสมัยนี้ก็เกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1920 หลังจากมีการประดิษฐ์คิดขึ้นเครื่องทำโดนัทอัตโนมัติเป็นครั้งแรกในนิวยอร์ก

แล้วไฉนกาแฟกับโดนัทจึงมาจับคู่กันได้...หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คร่าวๆ ก็ราวปีค.ศ.1945 ร้าน “โดนัท” ที่เปิดตั้งแต่รุ่งเช้าจนปิดก็ดึกดื่นค่อนคืนและเปิดตอนเย็นไปปิดอีกทีก็รุ่งเช้า ได้กลายเป็นธุรกิจที่มาแรงและคึกคักมาก ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนอเมริกันจำนวนมากที่แวะเวียนเข้าไปนั่งกิน “โดนัท” กับ “กาแฟ” เป็นอาหารเช้า หรือไม่ก็หิ้วใส่กล่องออกไปกินข้างนอกร้าน เป็นได้ทั้งอาหารที่ทำให้อิ่มและอาหารว่างเบาๆ ด้วยสนนราคาที่ต่ำกว่าราคาอาหารทั่วไป

162825815779

ร้านโดนัทที่ขายกาแฟด้วยมีราว 18,000 แห่งทั่วสหรัฐ / ภาพ : Arthur Zim from Pixabay

ในจำนวนกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ ถือว่า "ตำรวจสายตรวจ" นั้นเป็นขาประจำของร้านโดนัทเลยทีเดียว ส่วนใหญ่จะเข้าไปซื้อพร้อมด้วยกาแฟในช่วงออกปฏิบัติหน้าที่ยามดึก   แม้จะเป็นอาหารง่ายๆ แต่ก็ช่วยเติมพลังให้กับร่างกาย แก้หนาวได้ดี สามารถอยู่ทำงานได้ตลอดคืน ก็อย่างว่าแหละครับ สมัยก่อนไม่ได้มีร้านสะดวกซื้อเหมือนสมัยนี้ จะซื้อ “กาแฟ” กันทีก็ต้องไปตามร้าน “โดนัท” พอจิบเครื่องดื่มร้อนๆ ให้อุ่นท้องแล้วก็ต้องหาอะไรมากินเพื่อรองท้องเสียหน่อย เลือกไม่ได้ก็ต้องหยิบขนมมีรูนั่นแหละมากิน 

ไม่นานนัก ร้านโดนัทกลายเป็น "จุดนัดพบ" ของตำรวจสายตรวจยามค่ำคืน แล้วก็เริ่มเป็นกระแสของการกิน “กาแฟ” คู่กับ “โดนัท” หรือจะเรียกว่าโดนัทเคียงกาแฟก็ได้เช่นกัน ความนิยมค่อยๆ แพร่ขยายทีละน้อยๆ ไปทั่วสหรัฐอเมริกา คนจะเยอะหน่อยก็ช่วงเช้าและช่วงดึก ส่งผลให้บรรดาร้านโดนัทต้องนำกาแฟมาบรรจุเป็นเมนูประจำแทบจะทุกร้านทุกแบรนด์ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า 

โดยทั่วไป ราคาโดนัทธรรมดาๆ ในสหรัฐอเมริกาตกชิ้นละ 0.9 ดอลลาร์ (29 บาท) ขณะที่อเมริกาโน่แก้วเล็กขนาด 10 ออนซ์ ราคาประมาณ 1.5 ดอลลาร์ (50 บาท) ถ้าเป็นไซส์ใหญ่ขึ้นมาหน่อยขนาด 20 ออนซ์ ก็ตกแก้วละ 2.0 ดอลลาร์ (66 บาท)

ล่าสุด ในปีค.ศ.2020 ผลสำรวจของกลุ่มเอ็นพีดี กรุ๊ป ระบุว่า ในรอบ 1 ปี จากเดือนตุลาคมปี 2018 จนถึงเดือนเดียวกันปี 2019 มีออเดอร์กาแฟในร้านโดนัททั้งสิ้น 2.1 ล้านแก้ว ขณะที่มีออเดอร์โดนัทเพียง 805 ล้านชิ้นเท่านั้น รายงานยังบอกอีกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ของออร์เดอร์ในร้านโดนัทมีกาแฟรวมอยู่ด้วย

แล้วในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคใน "กลุ่มคนรุ่นใหม่" หันมาสนใจในสุขภาพร่างกายและรายละเอียดของอาหารกันมากขึ้น แนวโน้มเช่นนี้ทำให้เกิด ร้านโดนัทแบบพิเศษ (Specialty donut) ขึ้นมาเป็นร้านทางเลือก เน้นคุณภาพในระดับสูงของวัตถุดิบที่นำมาใช้และเอาใจใส่มากๆในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค นำไปสู่ความหลากหลายด้านรสชาติและส่วนผสมที่ใช้ทำขนมแป้งทอดมีรู

อย่าง "Vegan donut" โดนัทที่ไม่มีส่วนผสมใดๆ จากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ, นม และไข่ เน้นวัตถุดิบที่ทำจากผัก, ผลไม้ และธัญพืช หรือ "Sourdough donut" โดนัทที่ทำจากยีสต์ข้าว

162825830490

กาแฟกับโดนัทของร้าน "จอห์นนี่ โดนัทส์" ในแคลิฟอร์เนีย / ภาพ : instagram.com/johnnydoughnuts/

ร้านรวงที่นำเสนอบริการ “โดนัท” แบบพิเศษนี้ มักจะปรับเปลี่ยนแนวทางกาแฟมาเป็น กาแฟแบบพิเศษ (Specialty coffee) ด้วย อย่างเช่นโดนัทในลอนดอนที่ชื่อ "ครอสทาวน์" (Crosstown) ก็สั่งเมล็ดกาแฟมาจากโรงคั่ว คาราวาน ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส์ (Caravan Coffee Roasters) ที่อยู่ในลอนดอนเช่นกัน ขณะที่ร้านกาแฟพิเศษควบโดนัท "จอห์นนี่ โดนัทส์" (Johnny Doughnuts) ในแคลิฟอร์เนีย เลือกใช้กาแฟจากโรงคั่ว อิเควเตอร์ ค๊อฟฟี่ (Equator Coffees) จากย่านเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ร้านกาแฟพิเศษก็พยายามหาทาง "จับคู่" เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านโดนัทพิเศษ รวมไปร้านเบเกอรี่อื่นๆ ด้วย บางร้านก็มีวิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้า ด้วยกับจับคู่ที่ “กาแฟ” กับ “โดนัท” ซึ่งเห็นว่าช่วยเสริมรสชาติซึ่งกันและกันให้โดดเด่นขึ้นมา เช่น "กาแฟเอธิโอเปีย" กับ "โดนัทไส้บลูเบอร์รี่"

162825825093

ร้านกาแฟพิเศษมักขายขนมหรือเบเกอรี่ในแบบพิเศษเช่นกัน / ภาพ :  Petr Sevcovic on Unsplash

“กาแฟ” กับ “โดนัท” ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินอาหารของคนอเมริกันมานานแล้ว พร้อมๆ กับสถานภาพการเป็นเมนู "คู่แท้" ในวิถีการบริโภคแบบเร่งด่วน ทว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนเรานั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้สอดรับบริบททางสังคม กาแฟกับโดนัทก็ไม่ต่างไปจากนี้...ต่างลื่นไหลไปตามวิถีการบริโภคอันเชี่ยวกราก