‘กฎหมาย’ เด็กไทยเข้าใจให้เป๊ะผ่านแอนิเมชัน ‘ซีรีส์’ ชุมชนประชาธรรม
หนุนเยาวชนไทยเข้าใจ “กฎหมาย” และกระบวนการยุติธรรม สกธ.จัดทำ “ซีรีส์” แอนิเมชันชุด “ชุมชนประชาธรรม” จำนวน 7 ตอน
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม (สกธ.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัว ซีรีส์ แอนิเมชันชุด ชุมชนประชาธรรม ในโครงการจัดทำสื่อสร้างสรรค์ มีด้วยกัน 7 ตอน ชูแนวคิดประมวลองค์ความรู้หลักนิติธรรมและคุณธรรมแห่ง "ศาสตร์พระราชา" ที่เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มาจัดทำสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งเผยแพร่ไปยังเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า โครงการผลิตสื่อสร้างสรรค์ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ชุมชน สังคม ด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในด้านหลักความยุติธรรรม อันเป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการน้อมนำ เพื่อการพัฒนา การส่งเสริม หลักนิติธรรม (Rule of Law) หลักคุณธรรม และนำไปสู่การสร้าง สังคมแห่งการเคารพกฎหมาย (Culture of Lawfulness)
สำหรับการจัดทำสี่อเผยแพร่ครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้แนวคิดของการจัดทำสื่อสร้างสรรค์เพื่อมอบให้กับประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นกล้าของสังคม ได้เข้าใจ และรับรู้ถึงหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม และหลักความยุติธรรม ที่เป็นรากฐานอันสำคัญของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในการสร้างให้สังคม ชุมชนไทย อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้กฎ กติกา
สื่อสร้างสรรค์นี้จัดทำในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชันซีรี่ส์ ผ่านแนวคิดของ ”ชุมชนประชาธรรม” ซึ่งต้องการสร้างให้เป็น ชุมชนต้นแบบ ในการใช้หลักความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกัน ในบทภาพยนตร์แอนิเมชัน มีตัวละครที่สะท้อนภาพเหตุการณ์ของสังคมที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสื่อที่เหมาะสมสำหรับเผยแพร่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
เนื้อหาของซีรีส์มุ่งหมายให้เกิดการปลูกฝัง คุณธรรมและจริยธรรมตามหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งความสงบสุขอย่างยั่งยืน สื่อสร้างสรรค์นี้ยังแทรกเนื้อหาเพื่อสร้างสังคมสงบสุขและสมานฉันท์ อาทิ
- กฎหมายที่สำคัญในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเชื่อมโยงในภารกิจของกระทรวงยุติธรรมในด้านการสร้างการรับรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
- การรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง
- ความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคม
- การรู้เท่าทันภัยของอาชญากรรมและโทษของยาเสพติด
- การให้โอกาสผู้ที่เคยพลาดพลั้งเป็นผู้กระทำผิดของสังคม
- การแก้ไขความขัดแย้งด้วยกระบวนการไกล่เกลี่ย
โครงการนี้สำเร็จได้ด้วยการได้รับความอนุเคราะห์จาก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่ให้เกียรติรับเป็นที่ปรึกษาโครงการ รวมถึงผู้สนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อันได้แก่ ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และ คณะทำงานติดตามและประเมินผลฯ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้กระทรวงยุติธรรมมีสื่อที่สามารถนำไปต่อยอดยังกลุ่มเป้าหมายในภารกิจของกระทรวงยุติธรรมทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ต่อไป
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการจัดทำสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสื่อสารแนวคิดหลักนิติธรรม คุณธรรม และ จริยธรรม ในศาสตร์พระราชาสู่เด็กและเยาวชนไทย “ของขวัญจาก ‘ศาสตร์พระราชา’ คุณค่า ‘ยุติธรรม’ สู่เด็กและเยาวชนไทย” เป็นการสื่อสาร ‘แนวคิด’ หรือ ‘องค์ความรู้’ ศาสตร์พระราชาอันทรงคุณค่าและมีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการสื่อสารในรูปแบบ แอนิเมชัน ซีรีส์ ที่จะส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายหลักของกระทรวงยุติธรรม คือ การสร้างการรับรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เข้าใจได้ง่าย ได้เรียนรู้องค์ความรู้ผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ เกิดขึ้นในชีวิตจริง และให้ใช้ประโยชน์จากแนวคิดที่ได้รับรู้ให้ เปรียบเสมือนได้รับ “ของขวัญที่ยิ่งใหญ่”
“เพราะแม้ว่าจะมีกฎหมายที่ดีขนาดไหน หากคนในชุมชนไม่รักษากฎกติกา อย่างมั่นคงแล้ว กฎหมายที่ว่าดีเหล่านั้น ก็ไม่สามารถรักษาความสงบสุข โดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างสังคมที่สงบสุขได้”
กฎหมายกับประชาชนเป็นของคู่กัน และกฎหมายก็มีความสำคัญกับทุกคน ฉะนั้นจึงควรปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทของหน้าที่พลเมือง ในการรักษากฎของสังคม ซึ่งนั่นก็คือ “กฎหมาย” ที่จะเป็นการสร้างรากฐานแห่งวัฒนธรรมเคารพกฎกติกา หรือ culture of lawfulness เพื่อการอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง ก่อให้เกิด ความสงบสุข เรียบร้อย และปลอดภัย ทั้งกับคนในชุมชน สังคม และ ประเทศชาติ ตามหลักนิติธรรม ม.ล.ปนัดดา กล่าวและว่า
“สำหรับโครงการนี้ ก็จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทย รวมถึงคนไทย ทุกคน ได้เห็นถึงความสำคัญของ การเคารพกฎหมาย โดยปลูกฝัง ผ่านซีรีส์ ชุด ‘ชุมชนประชาธรรม’ ทั้งหมด 7 ตอน - ซึ่ง ‘ชุมชนประชาธรรม’ ก็เปรียบเสมือน แบบจำลองของสังคมไทย ที่มีคนหลากหลายประเภท หลากหลายรูปแบบ อาศัยอยู่ร่วมกัน ภายใต้ กฎหมาย กฎกติกาของชุมชน แต่เมื่อใดที่มีคนละเมิดกฎหมาย ก็จะทำให้ เกิดปัญหา เกิดความวุ่นวาย
แต่ละตอนของซีรีส์ ได้ปลูกฝังให้ผู้ชมได้รู้ถึง ความสำคัญของกฎหมาย เพราะกฎหมายมีไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการรักษาสังคมให้อยู่กันได้อย่างสงบสุข ไม่ใช่เป็นเพียงบทลงโทษหรือ ระเบียบบังคับกับคนในสังคมเท่านั้น
ถ้าได้ชมในซีรีส์บางตอน ยังทำให้รู้ว่า สิ่งที่ทุกคนทำกันอยู่นั้น อาจเป็นการละเมิดตัวกฎหมายได้ เช่น การไลฟ์สดที่พาดพิงเป็นโทษต่อผู้อื่น แม้ไม่ได้ตั้งใจ ก็เป็นการหมิ่นประมาทได้ ดังนั้น เด็กและเยาวชน หรือ แม้กระทั่งคนทั่วไปควรจะศึกษาไว้ และยังมีอีกหลายๆ ตอนที่น่าสนใจ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในท้ายตอนเรายังให้เกร็ดความรู้ว่าในแต่ละตอน เราใช้หลักกฎหมาย หลักนิติธรรม จริยธรรมด้านใด”
การเผยแพร่แอนิเมชันซีรีส์ชุดนี้ ดำเนินการผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ ด้วยสื่อ DVD Box set และ สื่อสังคมออนไลน์ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมถึง ศูนย์ยุติธรรมชุมชน โรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ และ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน อาทิ
- โครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์
- การพัฒนาพฤตินิสัยเด็กและ เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
- โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
- ศูนย์ยุติธรรมชุมชน สำนักงานยุติธรรมจังหวัด
- ช่องทางสื่อสังคม (Social Media) ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
- Facebook page สำนักงานกิจการยุติธรรม
- รับชมผ่านทาง Youtube ได้ที่ช่อง Justice Channel
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มีความมุ่งหมายว่า สื่อสร้างสรรค์ให้กับประชาชนที่ผลิตออกสู่สังคมนี้ นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม และร่วมกันสร้างสรรค์ สังคมแห่งการเคารพกฎหมาย หรือ Culture of Lawfulness ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ากระทรวงยุติธรรมจะเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยการบริการงานยุติธรรมให้เข้าถึงโดยง่าย สะดวก และทั่วถึง
* * * * * * * *