'วันสารทจีน' 2564 ดูไอเดียบรรเจิด ทำ 'กงเต็กวัคซีน'
"วันสารทจีน" 2564 ชวนส่องไอเดีย "กระดาษกงเต็ก" สำหรับไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ล่าสุด เว็บไซต์ข่าวต่าวประเทศ TheStar เผยเจ้าของร้านกงเต็กชาวมาเลเซียไอเดียบรรเจิด ประดิษฐ์ "กงเต็กวัคซีน" จับกระแสยุคโควิด-19
เรียกเสียงฮือฮาในโลกโซเชียลได้อย่างล้นหลาม เมื่อผู้ผลิต “กระดาษกงเต็ก” รายหนึ่งในประเทศมาเลเซีย เกิดไอเดียสุดบรรเจิดออกแบบ กงเต็กวัคซีนโควิด ต้อนรับเทศกาล “วันสารทจีน” ปี 2564 ลูกหลานแดนมังกรที่อยากให้บรรพบุรุษปลอดภัยจากโควิด-19 น่าจะถูกใจไม่น้อย
โดยเว็บไซต์ TheStar - มาเลเซีย รายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ผู้คนต่างก็ต้องการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 และด้วยกระแสมาแรงของวัคซีนโควิดในยุคนี้
“เรย์มอนด์ ชีห์” เจ้าของร้านกระดาษกงเต็กเจ้าหนึ่ง ในเมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซียจึงได้ออกแบบ กงเต็กวัคซีน ที่ทำจากกระดาษที่ขึ้นรูปเองด้วยมือ วางจำหน่ายในช่วงวันสารทจีนของปีนี้ เพื่อให้ลูกหลานได้เผาส่งไปให้บรรพบุรุษ (ตามความเชื่อของชาวจีน) จะได้ปลอดภัยจากโควิดกันถ้วนหน้าในปรโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เจ้าของร้านดังกล่าว เล่าว่า ไอเดียนี้เกิดจากลูกค้าบางคนอยากให้เขาทำกงเต็กในรูปแบบ “วัคซีนกระดาษ” เนื่องจากพวกเขาต้องการส่งมอบวัคซีนไปให้แก่ญาติๆ ผู้ล่วงลับ รวมถึงวิญญาณเร่ร่อนสำหรับเทศกาลวันสารทจีน (Hungry Ghost Festival) ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 22 สิงหาคม 2564
“ผมตัดสินใจลองทำดู เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านการทำกระดาษกงเต็งเหล่านี้อยู่แล้ว โดยใช้เวลาประมาณ 2 วัน ในการสร้างชุดกระบอกฉีดยาขนาดใหญ่ และขวดวัคซีนกระดาษที่เลียนแบบจากของจริง หลังจากที่แชร์รูปกงเต็กวัคซีนดังกล่าวไปบนหน้าเพจเฟซบุ๊คของผม ผมก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า และมีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างรวดเร็ว” ชีห์บอก
ทั้งนี้ กงเต็กชุดวัคซีนโควิด 3 ขวด พร้อมเข็มฉีดยา 1 เข็ม จำหน่ายในราคาชุดละประมาณ 30 ริงกิตมาเลเซีย คิดเป็นเงินไทยประมาณ 236.13 บาท
ส่วนที่เห็นผลงานออกมาดูดีเหมือนจริงได้ขนาดนี้ ก็เป็นเพราะว่า ชีห์ เคยทำงานเป็นนักออกแบบกราฟิกในสิงคโปร์มาก่อน จากนั้นเขาได้กลับมาอาศัยอยู่ที่เมืองยะโฮร์บารู เพื่อเริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับกระดาษกงเต็กชนิดต่างๆ เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว
เขาบอกเล่าเพิ่มเติมว่า ธุรกิจของเขาเอง ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจย่ำแย่ในช่วงโควิด-19 ระบาดเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงต้องปรับตัวให้สินค้าของเขาเท่าทันยุคสมัย เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อกับรายการสินค้ารูปแบบเดิมๆ ซึ่งในภาพรวมธุรกิจของเขามียอดขายลดลงเพียงประมาณ 10% ซึ่งก็เรียกว่ายังไหวอยู่ เมื่อเทียบธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องปิดตัวในช่วงการระบาดใหญ่
“มีร้านขายของกระจุกกระจิกมากมายในยะโฮร์บารู ดังนั้นสินค้าในร้านผมเลยต้องโดดเด่นกว่าคู่แข่ง ลูกค้ามักจะชื่นชมผลิตภัณฑ์ในร้านที่เราตั้งใจทำ ผมเองก็หวังว่าผลิตภัณฑ์ในร้านผมจะสามารถให้ความอุ่นใจแก่ลูกค้าและช่วยให้พวกเขาเติมเต็มความปรารถนาดีไปยังบรรพบุรุษที่พวกเขารักได้” ชีห์กล่าว
----------------------
อ้างอิง : thestar.com