‘9 วัดสู่สวรรค์’ และ ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ ความสำเร็จของสองผู้กำกับไทยในเทศกาลหนังโลการ์โน 2021
“โควิด” ไม่ได้ “ปิดโอกาส” หนังไทย ที่ปีนี้ไปเฉิดฉายในเวทีระดับโลกหลายเรื่อง รวมถึง “เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน” ที่มีหนังไทยคว้ารางวัลมาถึง 2 เรื่อง
เพิ่งจะปิดฉากไปกับเทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน ครั้งที่ 74 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-14 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ณ เมืองโลการ์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเทศกาลในปีนี้ก็เรียกได้ว่ายังมีโครงการภาพยนตร์และภาพยนตร์สั้นยาวสัญชาติไทยร่วมชิงทุนและร่วมฉายกันอย่างคึกคัก ในส่วนโปรแกรมที่เรียกว่า Open Doors ซึ่งเปิดโอกาสให้คอหนังได้ร่วมสำรวจความเคลื่อนไหวร่วมสมัยของวงการหนังในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก
โดยโปรแกรม Open Doors ของเทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน ประจำปี 2021 ครั้งนี้ ได้ส่องสปอตไลท์ไปที่ภาพยนตร์จากเอเชียอาคเนย์และมองโกเลีย โดยมีหนังไทยเรื่องยาว ‘กระเบนราหู’ [Manta Ray, 2018] ของผู้กำกับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งเคยคว้ารางวัล Orizzonti Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสและได้ลงโรงฉายในบ้านเราไปแล้ว ร่วมฉายกับหนังจากภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และมองโกเลียเรื่องอื่น ๆ
นอกจากหนังยาวแล้ว โปรแกรม Open Doors ยังเปิดเวทีให้กับหนังสั้นที่โดดเด่นจากพื้นที่ภูมิภาคเหล่านี้มาร่วมฉายโดยไม่มีการประกวดด้วย โดยมีหนังสั้นสัญชาติไทยเข้าร่วมฉายในสายนี้สองเรื่องด้วยกัน นั่นคือ E-Po (a Second Chance) (2018) โดยสองผู้กำกับหญิง ป๋อม บุญเสริมวิชา และ ภาริณี บุตรศรี และ Reincarnated Light (2019) โดยผู้กำกับ จักรพันธ์ ศรีวิชัย
สำหรับ E-Po (a Second Chance) ก็เป็นหนังลีลากึ่งสารคดีบันทึกภาพชีวิตของอาม่าวัยชราท่านหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ที่สีสันในชีวิตเพียงหนึ่งเดียวคือการคอยลุ้นหาความน่าจะเป็นของ ‘เลขที่ออก’ ว่าจะตรงกับรหัสตัวเลขและสูตรคูณที่เธอบันทึกและคำนวณไว้บนเศษกระดาษหรือไม่ รวมทั้งธนบัตรหลากสีที่เธอมีจะงอกเงยหรือหลุดมือไปอย่างไรในทุก ๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือน!
ส่วน Reincarnated Light ก็เป็นหนังทดลองไร้บทสนทนาที่แบ่งภาพออกเป็นสองจอซ้ายและขวา ถ่ายทอดเหตุการณ์เดียวกันแต่ต่างมุม เล่าห้วงชีวิตในเวลาสั้น ๆ ของสองหนุ่มชนชั้นกรรมาชีพจากแดนอีสาน ทั้งช่วงเวลาทำงานและพักปั้นข้าวเหนียวรับประทานในทุ่งไร่ ก่อนจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการไล่ล่าผู้คนด้วยปืนอันอุตลุดวุ่นวาย ที่สุดท้ายก็เหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับชีวิตอันสงบเรียบง่ายของชายทั้งสองเลย
หนังซ่อนปริศนาวาทกรรมเกี่ยวกับภาพชีวิตต่างชนชั้นที่ไม่ว่าจะหันมองจากมุมไหน ก็ดูจะสิ้นหวังซังกะตายและไร้อนาคตพอ ๆ กัน หนังสั้นทั้งสองเรื่องจึงสะท้อนภาพชีวิตเล็ก ๆ ในแบบไทย ๆ ที่ดูจะแตกต่างออกไปจากวิถีความคิดเชื่อของผู้คนในหนังจากชาติอื่น ๆ
แต่ส่วนงานที่ดูจะมีความหมายต่อวงการหนังไทยมากที่สุดก็เห็นจะเป็นส่วน Open Doors Hub Co-Production Platform ที่ทางเทศกาลได้คัดเลือกโครงการสร้างหนังขนาดยาวโดยผู้กำกับจากท้องที่เอเชียอาคเนย์และมองโกเลีย รวมแปดเรื่องด้วยกัน แล้วเปิดโอกาสให้ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ผู้อำนวยการสร้าง เดินทางไปยังเทศกาลฯ เพื่อนำเสนอโครงการขอทุนจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงชิงรางวัลทุนสร้างจากเทศกาลเอง โดยในปี ค.ศ. 2021 ก็มีโครงการหนังไทยขนาดยาวสองเรื่องที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมในโปรแกรม ซึ่งในที่สุดก็สามารถคว้ารางวัลทุนสร้างกลับมาได้ทั้งสองเรื่องเลยทีเดียว
เรื่องแรกคือโครงการภาพยนตร์เรื่อง ‘9 วัดสู่สวรรค์’ [9 Temples to Heaven] กำกับโดย สมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งเคยสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง ‘หมอนรถไฟ’ [Railway Sleepers, 2016] ซึ่งเข้าโรงฉายในบ้านเราไปแล้ว โครงการภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณกฤษฎา ขำยัง รวมทั้งคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ ผลิตในนามบริษัท Kick-the-Machine ซึ่งคุณ สมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ และคุณกฤษฎา ขำยัง ก็ได้เดินทางไปยังเทศกาลโลการ์โนในครั้งนี้เพื่อร่วมระดมทุน
‘9 วัดสู่สวรรค์’ [9 Temples to Heaven] เป็นหนังที่จะสะท้อนภาพความคิดเชื่อทางพุทธศาสนาอันออกจะสุดโต่งของคนไทย เล่าเรื่องราวของ สกล หัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่ได้รับคำทำนายว่ามารดาวัยชราของเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน สกล จึงวางแผนสะเดาะเคราะห์ด้วยการระดมสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดจนครบ 9 ราย พาคุณย่าออกตระเวนทำบุญให้ครบ 9 วัดภายในหนึ่งวัน ในขณะที่สภาพร่างกายของคุณย่าเองนั้นก็อาจจะไม่ไหวกับการแสวงบุญด่วนพิเศษแบบ Express อะไรแบบนี้อีกแล้ว ซึ่งสุดท้ายโครงการหนังเรื่องราวแบบไทย ๆ เรื่องนี้ก็ชนะใจกรรมการคว้ารางวัล International Prize สนับสนุนการสร้างจาก ARTE Kino มาได้ถึง 6,000 ยูโร
ส่วนโครงการหนังไทยอีกเรื่องนั่นคือ ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ [A Useful Ghost] ของผู้กำกับ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค มี คัทลียา เผ่าศรีเจริญ เป็นโปรดิวเซอร์หลัก ผลิตในนาม 185 Films ก็ได้ร่วมในโปรแกรม Open Doors Hub Co-Production Platform ในปีนี้ โดยคุณรัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค และ คุณคัทลียา เผ่าศรีเจริญ ได้เดินทางไปร่วมโปรแกรมยังเทศกาลเช่นกัน ก็สามารถคว้ารางวัลใหญ่ของโปรแกรม ได้รับงบประมาณสนับสนุนการสร้างสูงถึง 35,000 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 1.28 ล้านบาท นับเป็นข่าวดีที่น่าจะยืนยันได้แล้วว่าปีแห่งวิกฤติโควิด ค.ศ. 2021 นี้ ถือเป็นปีทองของวงการหนังไทยอย่างแท้จริง
‘ผีใช้ได้ค่ะ’ เล่าเรื่องราวสุดประหลาดตามลายเซ็นอันเป็นแบบฉบับของผู้กำกับ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ผู้เคยโด่งดังในวงการหนังสั้นอิสระไทย และกำลังจะได้กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เนื้อหาของหนังเล่าถึงครอบครัวที่เป็นเจ้าของโรงงานผลิตเครื่องดูดฝุ่น แต่ฝ่ายภรรยายังสาวกลับต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคทางเดินหายใจเนื่องจากมลพิษในอากาศ ทิ้งให้ฝ่ายสามีและบุตรชายวัย 7 ขวบต้องอยู่ด้วยกันโดยไร้แม่
เมื่อบุตรชายเริ่มมีอาการแพ้มลพิษแบบเดียวกับมารดา วิญญาณของผู้เป็นแม่จึงไม่อาจนิ่งเฉยได้ และต้องกลับมาเป็นผีสิงอยู่ในเครื่องดูดฝุ่นกำจัดทุก ๆ มลพิษร้ายที่จะมาทำอันตรายบุตรรักของเธอ แต่ผีเครื่องดูดฝุ่นนางนี้จะสามารถปกป้องทายาทจากทุกอย่างได้จริงหรือไม่ เมื่อในความเป็นจริงแล้วมันอาจมีภยันตรายที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอนุภาคร้ายเหล่านี้อยู่ด้วย! จากเรื่องราวแล้ว ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ จึงน่าจะเป็นหนังผีแบบร่วมสมัยที่สะท้อนภาพสังคมในแบบไทย ๆ ซึ่งความแปลกใหม่อันนี้เองที่น่าจะชนะในคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลใหญ่มาครองได้
ปิดท้ายกันด้วยหนังสั้นไทยอีกเรื่องที่ได้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลนี้ในสาย Pardi di Domani ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถคว้ารางวัลมาได้ แต่ก็สร้างสีสันให้กับการประกวดได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือหนังสั้นแนวทดลองความยาว 17 นาที เรื่อง Squish! ของผู้กำกับ ตุลพบ แสนเจริญ ซึ่งใช้เทคนิคกึ่ง collage ผสมผสานงานอนิเมชันสลับ object stop-motion ของวัสดุอุปกรณ์สีสันจัดจ้าน ให้เข้ากับส่วน live action ของนักแสดงทั้งคนและสุนัข เพื่อย้อนรอยประวัติศาสตร์การสร้างงานอนิเมชันสัญชาติไทย โดยคุณ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผู้บุกเบิก ซึ่งเล่าโดยคุณปยุต เงากระจ่าง ผู้สร้างการ์ตูนเรื่อง ‘สุดสาคร’ ผ่านภาพการใช้ดินสอวาดภาพสเก็ตช์บนแผ่นเซลล์ การพากย์เสียงเล่าเรื่องราว การใช้ดนตรีประกอบอันกุ๊กกิ๊กน่ารัก ไปจนถึงการยั่วล้อกับโลกดิจิทัลและเทคโนโลยีร่วมสมัยอย่างช่องทาง YouTube ในช่วง Animation Suicide อันประหลาดหลอน
นับเป็นหนังแนวแปลกที่แสดงความคารวะครูผู้บุกเบิกงานอนิเมชันไทยได้อย่างร่วมสมัยดี และน่าจะมีโอกาสได้ออกฉายในบ้านเราในโอกาสต่อไป หลังจากที่โรงภาพยนตร์และการจัดฉายภาพยนตร์สามารถกลับมาเปิดประตูต้อนรับผู้ชมได้อีกครั้ง!