‘ม.แม่ฟ้าหลวง’ บุกเบิก 2 เมืองเก่า น่าน-เชียงแสน แปลงมรดกภูมิปัญญาปกป้อง ‘ธรรมชาติ’

‘ม.แม่ฟ้าหลวง’ บุกเบิก 2 เมืองเก่า น่าน-เชียงแสน แปลงมรดกภูมิปัญญาปกป้อง ‘ธรรมชาติ’

“ม.แม่ฟ้าหลวง” ขับเคลื่อนแนวคิดการปกป้อง “ธรรมชาติ” ด้วยวัฒนธรรม ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (EPISG) ในเขตวัฒนธรรมเมืองเก่าน่านและเชียงแสน

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินกิจกรรมการปกป้องธรรมชาติอย่างยั่งยืนด้วยวัฒนธรรม โดยการต่อยอด “ภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้” สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนเมืองเก่าเชียงแสนและน่าน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใน โครงการพัฒนาระบบนิเวศ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (EPISG-Ecology Protection Cultural Assets Intangible Heritage Sustainable Tourism and Global Sustainable Tourism Council)

163040882329

ต่างหูผ้าปักลายของชาติพันธุ์เมี่ยน(เย้า) ตัวอย่างผลงานออกแบบที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างโครงการ EPISG กับชุมชนเมี่ยนที่เมืองเก่าเชียงแสน ร่วมกันออกแบบของที่ระลึกราคาน่ารัก ที่นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่ายกว่าการซื้อผ้าปักทั้งผืนที่มีราคาสูง

โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยว และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืนตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ดำเนินงานภายใต้งบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2564 ในส่วนบูรณาการการท่องเที่ยวพื้นที่เมืองเก่า 2 แห่ง ได้แก่ เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย และ เมืองเก่าน่าน จ.น่าน

มีวัตถุประสงค์เพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยจัดระบบความสัมพันธ์เชิงนิเวศระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติในรูปแบบมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามเกณฑ์ Intangible Cultural Heritage (ICH) ของ UNESCO เพื่อพัฒนาการผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการปกป้องธรรมชาติ

163040326566

เจ้าของภูมิปัญญากับนักวิจัยทำงานร่วมกัน

“กระบวนการทำงานของเรา เริ่มจากทีมนักวิชาการการเข้าไปเก็บข้อมูล มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามแนวทางของยูเนสโก 200 รายการ มรดกวัฒนธรรมเหล่านี้จะต้องเป็นภูมิปัญญาที่มีความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม" ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงที่มา และอธิบายกระบวนการทำงานต่อไปว่า

จากข้อมูล มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จำนวน 200 รายการ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดสรรให้เหลือ 50 รายการ นำมาประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับ 'ชุมชน' โดยมี 'นักออกแบบ' มาร่วมกันเชื่อมโยงแนวคิดว่า จากความลับในมรดกภูมิปัญญาที่รักษาธรรมชาติให้ยั่งยืนนั้น สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ใดเพื่อให้คนมีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติได้บ้าง แล้วคัดเลือกให้เหลือ 20 รายการเพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

โครงการนี้จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของความรู้ไปสู่การปกป้องธรรมชาติอย่างยั่งยืน เมื่อคนใช้ผลิตภัณฑ์จะสามารถเชื่อมโยงไปได้ว่า ธรรมชาติยังดีอยู่และมีคนกำลังปกป้องธรรมชาติไว้ด้วยภูมิปัญญาของเจ้าของวัฒนธรรม การใช้หรือการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จึงเท่ากับการช่วยรักษา

163040437353

เจ้าของวัฒนธรรมมีส่วนร่วมในการออกแบบ

“มรดกภูมิปัญญา เปรียบเสมือนอาวุธลับในการปกป้องธรรมชาติมาอย่างยาวนาน  หน้าที่ของเรา คือ การนำภูมิปัญญาอันประกอบไปด้วย นิทาน ตำนาน วิถีชีวิต ความเชื่อ ของ 2 เมืองเก่า น่าน และ เชียงแสน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ (ประเภทสินค้าและบริการ)ต้นแบบ

นอกจากจะต้องมีดีไซน์ร่วมสมัยแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงได้ว่า ธรรมชาติยังดีอยู่และมีคนกำลังปกป้องธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาของเจ้าของวัฒนธรรม โดยที่ผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ก็เท่ากับว่ามีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติและภูมิปัญญาไปพร้อมกัน” ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ อธิบายเพิ่มเติม

163040458066

ภาพร่างต้นแบบ “หมวกหัวเรือ' ผลงานออกแบบเบื้องต้นจากการเชื่อมโยงวัฒนธรรมการแข่งเรือของจังหวัดน่าน ที่มีความผูกพันกับความเชื่อเรื่องพญานาค ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาและแม่น้ำน่าน นำมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว มีเรื่องเล่า สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของการดำเนินงานนั้น นักวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล จัดอบรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับชุมชนต่างๆ ในเมืองเก่าเชียงแสน และน่าน โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ระหว่างจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์ทางปัญญา

ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้า ได้แก่ ผ้าไหมลวดลายใหม่จากชุมชนบ้านสันธาตุเชียงแสน ที่สื่อถึงความงดงามของแม่น้ำกกในแต่ละช่วงเวลา ผ้าพิมพ์ลายใบสักจากวัดป่าสัก วัดสำคัญของเมืองเก่าเชียงแสน  ผ้าทอลายผลึกเกลือ เครื่องสำอางจากไกของดีเมืองน่าน

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ด้านบริการ ได้แก่ การแสดงร่วมสมัยสำหรับทั้ง 2 เมืองที่ได้กูรูทางดนตรี อาจารย์ บรูซ แกสตัน ให้เกียรติประพันธ์ดนตรี เป็นต้น

163040468264

น้องใบสักรักเชียงแสน กับ พี่แมงหมาเตาเล่าเรื่องเมืองน่าน คาแรกเตอร์ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องเมืองเก่าในโครงการ EPISG ม.แม่ฟ้าหลวง

163040885980

ดีไซน์จากเชียงแสน เครื่องประดับทำมือที่ทำมาจากจากตุง 12 ราศีของชาวล้านนา มีทั้งต่างหู กำไล ลวดลายนักษัตรมงคล ใส่แล้วเสริมสร้างสิริมงคลและสวยเก๋ถูกใจ ส่วนหนึ่งของผลงานออกแบบเบื้องต้นที่นำไปพัฒนาต่อ

163040376055

ผ้าไหมบ้านสันธาตุ

ทั้งนี้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือกทั้ง 20 รายการ ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะประกาศให้ทราบ ในลำดับต่อไป หลังจากมีการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564

163040347373

ผ้าปักชุมชนบ้านห้วยกว๊าน

ผู้สนใจสามารถติดตามชมผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แนวทางการทำงาน และทำความรู้จักกับภูมิปัญญาของในชุมชนเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย  เช่น ชุมชนบ้านสันธาตุ แหล่งผลิตผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในเชียงราย ชุมชนบ้านห้วยกว๊าน กับผ้าปักของชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) เจ้าของตำนานลายผ้าสุนัขมังกร คติความเชื่อของคนน่าน ที่เชื่อมโยงระหว่าง นาค น้ำ (คน)น่าน รวมไปถึงเรื่องของ ผลึกเกลือ ใครจะเชื่อว่าเมื่อนำรูปทรงมาดีไซน์เป็นลายผ้าแล้วจะน่าตื่นเต้นเพียงใด

ติดตามชมผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แนวทางการทำงาน และทำความรู้จักกับภูมิปัญญาของในชุมชนเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย ได้ทาง เพจเฟซบุ๊ค ‘เชื่อม รัด มัด ร้อย’ 

*  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ