‘ขมิ้นชัน’ สมุนไพรไทยระดับ ‘Super Food’ สรรพคุณล้ำค่า เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยต้าน ‘โควิด 19’
"สมุนไพร" ได้รับความนิยมอย่างมากในยุค "โควิด 19" โดยเฉพาะ "ขมิ้นชัน" ที่มีสรรพคุณหลากหลายช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันให้ทุกคนห่างไกลโรค
กระแสการดูแลรักสุขภาพของคนไทย ส่งผลให้ตลาด “สมุนไพร” ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมยาเติบโตขึ้น จากเดิมมีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาทในปี 2562 และมีพุ่งสูงขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2563 และ “ขมิ้นชัน” เป็นหนึ่งในสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพในด้านการดูแลสุขภาพรวมถึงสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์อีกด้วย
“ขมิ้นชัน” (Turmeric) คือ หนึ่งในกลุ่มสมุนไพร Product Champion ของไทยที่มีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะความต้องการเพื่อใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากขมิ้นชันในรูปแบบออร์แกนิค หรือสารสกัดที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัย โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ธุรกิจอาหารเสริม ยา และโรงพยาบาล นอกเหนือจากเดิมที่นิยมใช้ในธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง
‘Wonder of drugs’ สมุนไพรในตำนาน
“ขมิ้นชัน” สมุนไพรในระดับตำนานที่มีประวัติในการนำมาใช้ในการรักษามากกว่า 5,000 ปี และได้รับการขนานนามว่าเป็น “Wonder of drugs” เพราะมีสารเคอร์คิวมินเป็นส่วนประกอบหลัก โดยมีผลงานวิจัยทั้งแพทย์แผนไทยและแผนตะวันตกในการรักษาได้หลายโรค
สำหรับประโยชน์ของขมิ้นชัน ที่มีสาร “เคอร์คิวมิน” ที่เป็นฮีโร่สำคัญมีดังนี้
1. ต้านการอักเสบและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยสารสกัดเคอร์คิวมินช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบภูมิคุ้มกัน สามารถช่วยในการต้านเชื้อไวรัส เชื้อโรค และสารพิษ และยิ่งในยุคนี้ที่เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ภูมิคุ้มกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต และช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อต่อต้านเชื่อไวรัสต่างๆ ที่จะเข้ามาทำลายสุขภาพ ขมิ้นชันจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเสริมภูมิและต้าน โควิด 19 ได้ รวมถึงช่วยบรรเทาอาการอักเสบของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ สามารถใช้รักษาอาการของโรคเรื้อรัง อย่างเช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคเมตาโบลิกซินโดรม และโรคอัลไซเมอร์
2. บำรุงตับและล้างสารพิษ สารสกัดเคอร์คิวมินมีประสิทธิภาพโดยตรงในการล้างพิษและช่วยฟื้นฟูตับ มีฤทธิ์ป้องกันตับอักเสบ ช่วยบำรุงตับ และลดภาวะไขมันพอกตับ นอกจากนี้เคอร์คิวมินยังสามารถช่วยรักษาอาการเมาค้างได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3. ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และชะลอการแก่ก่อนวัย เนื่องจากเคอร์คิวมินมีผลต่อเซลล์มะเร็ง จึงช่วยหยุดยั้งวงจรการขยายตัวของเซลล์ร้าย ต่อต้านทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงถูกนำมาสกัดเป็นยาเสริมอาหารที่ใช้บำรุงร่างกาย ป้องกันโรค ป้องกันการเสื่อมโทรมของเซลล์ และป้องกันร่างกายไม่ให้เสื่อมไปตามวัย ถือเป็นสรรพคุณด้านความงามที่น่าจะถูกใจใครหลายคน
จากผลวิจัยที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้ยืนยันถึงผลดีต่อสุขภาพของสารเคอร์คิวมินในขมิ้นชัน สมุนไพรสูงคุณค่านี้จึงได้รับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อซื้อหามาการบริโภคสำหรับคนในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเคอร์คิวมินแบบสด แบบผง แบบเม็ด ทั้งในรูปแบบอาหารเสริม รวมไปถึงเครื่องดื่มเคอร์คิวมิน แบบบรรจุขวด ที่ปราศจากสารกันบูด และอุดมไปด้วยเคอร์คิวมินสกัดเข้มข้น อนุภาคเล็กระดับนาโน (มีค่าเท่ากับ 10-9 หรือ หนึ่งในพันล้านเมตร) ร่างกายจึงสามารถดูดซึมประโยชน์จากเคอร์คิวมินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไป
“ขมิ้นชัน” มาแรงช่วงโควิด
พท.ป.ศิริกันยา สยมภาค รองหัวหน้าสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ราชมงคลธัญบุรี คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ตลาดสมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือก ในการดูแลสุขภาพ และนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐ ได้มีการส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ยิ่งในตอนนี้เกิดการแพร่ระบาด โควิด 19 สมุนไพรหลายชนิดได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ “ขมิ้นชัน” (ที่มีสารธรรมชาติ Curcumin หรือเคอร์คิวมิน) นับเป็นอีกหนึ่งในสมุนไพรที่ได้รับความสนใจมาก
ทั้งนี้ ตลาดรองรับที่มีความต้องการสูงในระยะข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มธุรกิจด้านการแพทย์และความงาม รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวและตลาดส่งออก ซึ่งขมิ้นชัน เป็น 1 ใน 4 สมุนไพร Product Champion ถ้ามองในแง่ของตลาดภายในประเทศ จะเน้นในเรื่องการใช้สมุนไพรในแง่สมุนไพรสด ที่อยู่ในรูปแบบอุตสาหกรรมอาหารและยา ส่วนในแง่ของการส่งออกจะเน้นสารสกัด เครื่องสำอาง
วิจัยสารสกัดป้องกัน รักษา ดูแลสุขภาพ
พท.ป.ศิริกันยา กล่าวต่อว่า ตัวสารสกัดในสมุนไพรน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะขมิ้นชัน เป็นที่ต้องการในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศนั้น ขมิ้นชัน ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งยาเม็ด ยาแคปซูล โดยมีตัวยาสำคัญ คือ ผงเหง้าขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) ที่มีสารสำคัญ curcuminoids ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก (w/w) และน้ำมันระเหยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก (v/w) รวมถึงเป็นสมุนไพรตัวแรกที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นยาที่สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันกลุ่มบรรเทาปวดโรคข้อเสื่อม
“ถ้ามองในแง่ของการศึกษาวิจัย ในต่างประเทศมีการงานวิจัยเกี่ยวกับขมิ้นชันในการรักษาหรือสามารถลดการแพร่เชื้อของโควิด 19 ได้ แต่นั้นยังอยู่ในห้องทดลอง ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยดังกล่าว งานวิจัยที่มีจะเน้นเกี่ยวกับการค้นหาสารสกัด เพื่อนำมาใช้ในการป้องกัน รักษา และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในหลายระบบ เพราะขมิ้นชันมีสรรพคุณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระบบเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน รักษาภาวะเข่าเสื่อ และในแง่ของการป้องกัน อย่าง การนำมาปรุงอาหาร และนำมาใช้เสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด 19” พท.ป.ศิริกันยา กล่าว
“ขมิ้นชัน” สรรพคุณทางยา ปรุงอาหาร
สำหรับการนำขมิ้นชันมาใช้ในแง่ส่งเสริมป้องกัน ควรเน้นใช้ปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม หากเป็นในด้านป้องกัน ยาก็สามารถใช้รักษาภาวะต่างๆ เช่น ภาวะเข่าเสื่อม ลดการปวดได้ โดยต้องทาง 2,000 มก.ต่อวัน
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงบูมของสมุนไพรไทย ซึ่งมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้สมุนไพรหลายๆ ตัวไม่สามารถผลิตหรือปลูกได้เท่าทันกับความต้องการของตลาด
“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม จะเป็นกลุ่มอาหารใช้รับประทานสมุนไพรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดจำนวนมาก และมีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ เช่น ขมิ้นชันนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เพียงเป็นใช้สำหรับทำอาหารเท่านั้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากยาหรือสารสกัดจากขมิ้นชันนั้น ถ้าในรูปแบบของยารับประทาน เป็นยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง แต่ถ้าเป็นเหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง”
ขณะที่รูปแบบและขนาดวิธีใช้ สำหรับใช้เป็นยาใช้ภายนอก สามารถใช้ได้ดังนี้ ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนเหง้าแก่แห้งบดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคันเหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด หรือเหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆ ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะได้
“สมุนไพรไม่ว่าชนิดไหนจะมีสรรพคุณหลากหลาย ควรใช้ในปริมาณที่ข้อบ่งชี้กำหนด หรือต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือใช้ร่วมกันยาแผนปัจจุบันก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ อีกทั้งยาสมุนไพรต้องใช้ให้เหมาะสมกับการพิจารณาแต่ละคน ซึ่งในส่วนของขมิ้นชันนั้น มีข้อความระวังในกลุ่มผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ไม่แนะนำให้ใช้ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือการใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ถึงจะไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน แต่หากใช้ควรเป็นไปตามการดูแลของแพทย์ รวมถึง ควรระวังการใช้กับเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย และการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม เป็นต้น”ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าว
แนะรัฐหนุนวิจัย-ตลาดต่างประเทศ
สมุนไพรไทยนั้นถือเป็นจุดแข็งของประเทศ มีการนำมาใช้กันอย่างยาวนาน และเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดสมุนไพรไทยจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เราพบว่า “ขมิ้นชัน” มีตลาดรองรับจำนวนมากและมาแรงมากในยุค โควิด 19
พท.ป.ศิริกันยา กล่าวว่า หากจะทำให้ขมิ้นชันมีอัตราการเติบโตมากกว่านี้ จะต้องมีการส่งเสริมงานวิจัย และการปลูกสมุนไพรสดที่สามารถกำหนดปริมาณสารสำคัญเพื่อนำไปสู่แหล่งผลิตยา และต้องมีการเชื่อมต่อตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำแหล่งผลิตสมุนไพร ให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ กลางน้ำ ต้องมีภาคเอกชน โรงงานการผลิตที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีการศึกษาวิจัย แปรรูป ค้นหาสารสกัดใหม่ๆ เพื่อเข้าสู่การผลิตสินค้าในรูปแบบใหม่ และปลายน้ำต้องมีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ภาครัฐต้องหาตลาดสมุนไพรในต่างประเทศ ให้แก่อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น
ประสิทธิภาพคุมแพร่โควิดในห้องทดลอง
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา BIOTHAI ระบุว่า Carla Guijarro-Real และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิควาเลนเซีย (Universitat Politècnica de València) ประเทศสเปน เผยแพร่ผลการวิจัยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับขมิ้นชันและพืชต่างๆอีก 14 ชนิด โดยพบว่า ขมิ้นชัน มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในห้องทดลอง โดยนักวิจัยสกัดสารจากพืชที่สามารถยับยั้งการทำงานของ SARS-CoV-2 Chymotripsin-Like Protease (3CLPro) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแพร่ขยายของไวรัสโควิด 19
จากการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ปรากฎว่าสารสกัดรวมจากขมิ้น (Curcuma longa) เหง้ามัสตาร์ด (Brassica nigra) และวอลล์ร็อกเก็ต (Diplotaxis erucoides subsp. Erucoides) ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัมต่อ mL แสดงผลยับยั้งการทำงานของ 3CLPro ส่งผลให้กิจกรรมโปรตีเอสตกค้าง 0.0% 9.4% และ 14.9% ตามลำดับ
ปัจจุบัน บริษัทยา MGC Pharma ที่ดำเนินกิจการในยุโรป ได้ยื่นขออนุญาตทำการทดลองยา CimetrA เพื่อรักษาโควิด และเริ่มกระบวนการวิจัยในเฟส 3 แล้วที่ที่ศูนย์การแพทย์ Rambam ประเทศอิสราเอล โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีขมิ้นชัน โกฐจุฬาลัมพา และกำยาน เป็นองค์ประกอบสำคัญและกำลังถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะออกสู่ตลาดภายในปี 2565 ที่จะถึงนี้