สำรวจอุปสรรคทำงานแบบ WFH ‘ลูกกวน ไฟมืด แม่เรียกกินข้าวระหว่างประชุม’
สรุป 7 เหตุผลที่เป็นอุปสรรคของการทำงาน WFH ทั้งความเหงา ภาวะBurn Out และเทคนิคขจัดการทำงาน WFH แบบ ‘ผัดวันประกันพรุ่ง’
ปี 2021 การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และรูปแบบของการทำงานแบบนี้กำลังเข้ารูปเข้ารอย จากปี 2019-2020 (ที่มีการปรับตัวการทำงานแบบกะทันหันจากโรคระบาดโควิด-19)
โดยจากผลวิจัย หรือผลสำรวจหลายๆ ที่จะมีผลลัพธ์ตรงกันว่าการทำงานจากที่บ้าน ส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานมากกว่าการไปทำงานที่ออฟฟิศ เหตุผลที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ประหยัดเวลาการเดินทาง และการมีเวลายืดหยุ่นในการทำงานสูง
ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้บริษัทใหญ่อย่าง Twitter และ Shopify หรือ บริษัทซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) บางแห่ง ประกาศรูปแบบการทำงานที่พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านโดยที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศได้แบบ 100 %
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เรียกว่า Hybrid Working คือรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่ผสมผสานการทำงานระหว่างที่บ้าน และที่สำนักงานในแบบครึ่งๆ อย่างเช่น การทำงานที่บ้าน 3 วัน เข้าออฟฟิศ 2 วันเป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชวนรู้ การทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ มีประสิทธิภาพต่อพนักงานอย่างไร?
- อุปสรรคของการทำงาน WFH
อนิจจา สิ่งใดในโลกล้วนไม่ได้มีแค่ด้านสว่างเพียงด้านเดียว บริษัทส่วนใหญ่อาจจะชื่นชอบการทำงานแบบ Work From home แต่สำหรับตัวพนักงานเอง การทำงานจากที่บ้านล้วนมีอุปสรรคจนต้องเอามือกุมหัว
Buffer ผู้ให้บริการข้อมูลการบริหารจัดการ และจัดการตลาดบน social media ทำผลสำรวจ The 2021 State of Remote Work จากการสอบถามพนักงานมากกว่า 2,300 คน ซึ่งสรุปอุปสรรคของการทำงานทางไกล หรือการทำงานจากที่บ้าน แบบ Work From Home คือ
- 27% ไม่สามารถหยุดทำงานได้
- 16% ปัญหาการติดต่อสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน
- 16% ความเหงา
- 15% การถูกรบกวนจากทางบ้าน
- 12% ทำให้ตัวเองมีแรงจูงใจทำงาน
- 7% อยู่คนละไทม์โซนกับเพื่อนร่วมงาน
- 7% อื่นๆ
ปัญหาหลักๆ คือการมีเวลาทำงานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการประชุมที่ถี่ และยาวนานขึ้น ปัญหารองลงมา คือความเหงา ที่ใครคิดว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะความเหงา หรือขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้พนักงานรู้สึกเฉา และเกิดภาวะเบิร์นเอาท์ (Burn Out) หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้ในสักวันหนึ่ง
นอกจากนี้การได้รับการรบกวนจากที่บ้าน เหตุการณ์จำลองที่ชวนขำ (แต่ไม่ขำ) “แม่เรียกกินข้าวระหว่างประชุม ลูกสาวชวนให้เล่นเป็นเพื่อนระหว่างชั่วโมงทำงาน” ก็สร้างความหงุดหงิดใจให้กับพนักงานหลายๆ คน
นอกจากนี้จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่องการทำงานที่บ้าน เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา ก็พบปัญหาว่าคนไทยได้รับผลกระทบจากทำงานที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่ค่าใช้จ่ายของค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็นเท่าตัว นอกจากนี้อุปกรณ์ หรือห้องทำงานยังไม่พร้อมหรือสะดวกเท่าที่สำนักงาน
- เทคนิค WFH ให้มีประสิทธิภาพ
แล้วจะแก้ปัญหายังไง สูตรสำเร็จทางจิตวิทยามักจะแนะนำให้ทำเช็คลิสต์เป็นข้อๆ ซึ่งหากเริ่มที่สิ่งรอบข้างไม่ได้ ก็ให้เริ่มที่ใจตัวเองก่อน ขอสรุปคำแนะนำที่น่าสนใจไว้ดังนี้
-ตั้งเวลาการทำงานที่ชัดเจน รวมเวลาพัก
"แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกัน" ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อต้อง "Work from home" เพราะบรรยากาศที่บ้านชวนให้เราปลีกตัวออกจากงานได้ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงต้องแบ่งเวลาส่วนตัวให้ดี จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเครียดหลังเวลางาน และไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาด้วย
นอกจากบริหารตัวเองแล้วการทำงานจากที่บ้านยังต้อง สื่อสารกับทีมให้ดี เช่น ชี้แจงให้ชัดเจนว่าทำงานเวลาไหน หยุดพักเวลาไหนบ้าง อาทิ หากคุณต้องการใช้เวลาตอนเย็นกับครอบครัวต้องแน่ใจว่าไม่กระทบกับงาน และทีมรับรู้ว่าคุณไม่สามารถทำงานได้ในช่วงเวลานั้น เพื่อทำให้กระบวนการทำงานดำเนินไปอย่างราบรื่น
-สร้างพื้นที่สำหรับทำงานให้น่าทำ
การ "จัดพื้นที่" ทำงานเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน ให้รู้สึกจดจ่อกับการทำงานเป็นอันดับแรก ซึ่งช่วยในการคิดงานได้มากกว่าทำงานอยู่ในบรรยากาศของบ้าน ที่ทำให้เราคุ้นชินกับการพักผ่อนมากกว่าการทำงาน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องหน้าตาเหมือนออฟฟิศ เราอาจจะประยุกต์ใช้โต๊ะกินข้าวเคาท์เตอร์ในครัว ตู้หัวเตียง หรือมุมใดๆ ก็ได้ในบ้าน เพียงแต่กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าเป็น "พื้นที่ทำงาน" เพื่อตัดบริบทความสบายที่แสนดึงดูดจากรอบข้างออกไป
-จัดตารางงานที่ต้องทำสำเร็จภายใน 1 วัน
จัดลำดับความสำคัญ เริ่มต้นจากการ List รายการงานที่ต้องทำ โดยแบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่มตามหลักของ Eisenhower Matrix จากแนวคิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่
1) Urgent and important งานที่สำคัญและเร่งด่วน
2) Urgent but not important เป็นงานที่เร่งด่วน แต่ไม่สำคัญ
3) Important but not urgent เป็นงานที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน
4) Not important and not urgent เป็นงานที่ไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน
-ลำดับความสำคัญของงาน
"วางแผนเรื่องงานให้ดี ก่อนที่จะเริ่มทำงาน" เคล็ดไม่ลับที่ทำให้งานง่ายขึ้น โดยเรียงลำดับ ดังนี้
- ทำภารกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดก่อน
- วางแผนวันตามวิถีชีวิตธรรมชาติของคุณ เช่น เลือกทำงานหนักที่สุด หรือยากที่สุด ในเวลาที่คุณมีพลังงานมากที่สุดของวัน (แต่ละคนไม่เหมือนกัน). - วางแผนรางวัลของตัวเอง และการหยุดพักระหว่างวัน
ทริคในการวางแผนงานง่ายๆ คือ ใช้เวลา 2-3 นาทีก่อนที่จะเข้านอนเพื่อวางแผนสำหรับวันถัดไป เพื่อให้ไม่ต้องเครียดจากการวางแผนในใจอยู่ตลอดเวลา พอสบายใจว่างานเป็นระบบแล้วจะ ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ตื่นตัวทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้มีเวลาส่วนตัวมากขึ้นสำหรับการออกกำลังกายก่อนทำงาน หรือดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ด้วย
-ตั้งรางวัลให้ตัวเองเมื่อทำงานสำเร็จ
เรารู้สึกสนุกกับการตั้งหน้าตั้งตารอรางวัลมากกว่าการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะมุ่งมั่นกับการวางแผนทำงาน ลองเปลี่ยนเป็นวางแผนผ่อนคลายหลังเสร็จงาน การให้รางวัลสำหรับทุกความสำเร็จเล็กๆ แก่ตัวเราเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา :
https://buffer.com/2021-state-of-remote-work
https://www.utcc.ac.th/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2/
https://prachatai.com/journal/2021/05/93065
https://www150.statcan.gc.ca/n1/daily-quotidien/210401/dq210401b-eng.htm