‘หนังสือ’ 5 เล่ม อ่านเพื่อหัวใจที่เข้มแข็ง เบ่งบาน และเติบโต
พักสายตาพักใจ อ่าน “หนังสือ” ด้วยแสงธรรมชาติ ปรัชญาญี่ปุ่นอยู่กับปัจจุบันอย่างมีความหมาย ฟื้นพลังใจด้วยจิตวิทยาเกาหลีขณะที่โลกหมุนไปแบบงงๆ
ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 ที่กินเวลายาวนานนี้ อาจทำให้หลายคนหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้พลังในการดำเนินชีวิต จะคิดทำอะไรก็ติดขัดไปหมด จะออกไปไหนก็ลำบาก ไหนจะกลัวติดเชื้อ แล้วยังต้องรีบเร่งกลับบ้านเพื่อไม่ให้เลยช่วงเวลาขอความร่วมมือละเว้นการออกจากบ้าน
มนุษย์เงินเดือนหลายคนก็ work from home จนลืมไปแล้วว่าบรรยากาศการนั่งพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานแบบเห็นหน้านั้นเป็นอย่างไร นักเรียนนักศึกษาก็ต้องเรียนออนไลน์ ใช้ชีวิตอยู่กับ zoom และ google meet ทั้งวัน ถึงเวลาอยากพัก เข้าโซเชียลมีเดียพอประมาณ พักสายตาจากหน้าจอที่มีแสงจ้าติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายชั่วโมง เข้าสู่โหมดสามัญ อ่าน 'หนังสือ' ด้วยแสงสว่างจากธรรมชาติ กันบ้างดีกว่า
ในช่วงเวลาที่แม้แต่จะยิ้มก็ยังยาก จะหาความบันเทิงตามความหมายตรงตัวของก็ลำบาก ทุกอย่างเป็น ‘ทิพย์’ ผ่านสมาร์ทโฟนไปหมด ลองมาดูสิ่งที่จับต้องได้กับ หนังสือน่าอ่าน 5 เล่ม ของสำนักพิมพ์ Bloom ที่เชื่อว่าจะทำให้หัวใจผู้อ่านเบ่งบานและเติบโต
เล่มที่ 1 : Ichigo Ichie ละเลียดปัจจุบัน ดื่มด่ำชีวิต
- เขียนโดย: Hector Garcia & Francesc Miralles
- แปลโดย: พลอยแสง เอกญาติ
- บรรณาธิการต้นฉบับ: กอปรกานต์ ปัทมสิริวัฒน์
Ichigo Ichie (อิชิโกะ อิชิเอะ) คือ ปรัชญาแนวคิดของคนญี่ปุ่น ให้เราอยู่กับปัจจุบัน ใช้เวลาอย่างมีความหมาย เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นจะบอกกันเมื่อพบและจากลา เพื่อที่ว่าทุกช่วงเวลาที่เขาได้เจอกันนั้นคือโอกาสอันงดงามและมีค่า
หนังสือเล่มนี้สวยงาม ละเมียด อ่านง่าย อ่านแล้วอยากหยุดเวลา เหมือนเราได้ฝึกใจให้นิ่งลงมากๆ แล้วก็อยากดื่มด่ำกับชีวิตขึ้น ยิ่งอ่านในช่วงที่รู้สึกสบายที่สุด ใจและสมองจะเปิดรับได้ดี ทำให้เราอยากมีความสุขให้นานขึ้น อยากลดความวุ่นวายใจที่พร้อมจะกระโดดขึ้นกระโดดลงของเรา
ผู้เขียนหนังสือ Ichigo Ichie คือ เฮคเตอร์ การ์เซีย เป็นชาวสเปน ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นมานาน และ ฟรานเชสก์ มีราเยส ก็เป็นนักเขียนที่เคยเขียนเรื่อง Ikigai: The Japanese Secret to a Long and Happy Life เปิดโลกอิคิไกให้กับคนทั้งโลกมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรพลาดเล่มนี้
เมื่อจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ไม่จมทุกข์กับอดีตที่ผ่านมาแล้ว ไม่ไขว่คว้าอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราจะมีความสุขขึ้น และเห็นคุณค่าของชีวิตขึ้นแน่นอน
เล่มที่ 2 : เหนื่อยไหม กอดหัวใจตัวเองหรือยัง
- เขียนโดย: ยุนแดฮย็อน
- แปลโดย: กนกพร เรืองสา
- บรรณาธิการต้นฉบับ: อังค์วรา กุลวรรณวิจิตร
เวลาเหนื่อย คุณทำอะไรนอกจากมองออกไปนอกตัว เคยหันเข้ามามองข้างใน แล้วโอบกอดหัวใจตัวเองไหม ผู้เขียน ยุนแดฮย็อน จิตแพทย์ที่ค้นคว้าเรื่องของจิตใจมานาน มาเล่าว่าเราจะฟังเสียงจากความรู้สึกของใจที่เคยได้รับบาดแผลมายังไง เราจะฟื้นพลังใจได้ยังไง ในขณะที่โลกหมุนไปแบบงงๆ กับใจที่ทั้งเหนื่อยและล้า เราจะกลับมาดูใจของเรายังไง
คำโปรยบนปกที่ตั้งคำถามชวนเราหันมามองความรู้สึกตัวเองที่ว่า “ทำไมเราใจดีกับคนอื่น แต่กลับใจร้ายกับตัวเอง” อาจทำให้หลายคนจุกและฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่า เราไม่จำเป็นต้องโบยตีตัวเองเกินไป เพื่อทำให้คนอื่นรู้สึกดี ทำตามใจตัวเองบ้างก็ไม่ผิด ตราบใดที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้อะไรกับใจมากๆ ในสังคมวุ่นวายยุคนี้ แล้วทำให้เราได้สังเกตตัวเองอย่างแท้จริง เราจะได้รู้ว่าเรายังโกรธอยู่ แอบอิจฉาอยู่ แล้วก็ไม่พอใจกับตัวเองยังไงบ้าง มากอดหัวใจตัวเองไปด้วยกันกับเล่มนี้กัน
เล่มที่ 3 : พักให้ไหว ค่อยไปต่อ
- เขียนโดย: นีน่า คิม
- แปลโดย: ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย
- บรรณาธิการต้นฉบับ: กอปรกานต์ ปัทมสิริวัฒน์
เชื่อว่าแวบแรกที่เห็นหนังสือเล่มนี้ หลายคนจะตกหลุมรักลายเส้นสุดน่ารักของ นีน่า คิม ได้ไม่ยาก ยิ่งเมื่อได้อ่านเนื้อหาน่าจะยิ่งชื่นชอบขึ้นไปอีก
มุมมองชีวิตของผู้เขียน ที่กำลังเรียนรู้ "การเติบโตเป็นผู้ใหญ่" และหาคำตอบทั้งเรื่องการงาน ความรัก ความสัมพันธ์ เหมือนพูดแทนใจของเรา
อ่านแล้วเหมือนได้พูดคุยปรับทุกข์กับเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนที่พร้อมรับฟังและไม่ตัดสิน เพื่อนที่พร้อมเงยหน้าหัวเราะและกุมขมับไปด้วยกัน เป็นหนังสือที่ช่วยปลอบประโลมใจในวันหม่นหมองได้ดีเลย
เล่มที่ 4 และเล่มที่ 5 : เกิดเป็นหญิง เริดบ้าง ร้ายบ้าง ดีออก! และ ร้ายให้เริด เชิดให้โลก
- เขียนโดย: มินซอย็อง
- แปลโดย: ชลภัทร ภัทรฤทธิกุล /ฐาปนี แซ่อุย
- บรรณาธิการต้นฉบับ: ณิชกานต์ โชติบรรยง
จากการ์ตูนช่องยอดฮิตของนักวาดหญิงชาวเกาหลี มินซอย็อง ที่เผยแพร่ใน WEBTOON ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 4 ล้านคน สู่หนังสือที่ตะโกนเรื่องสิทธิสตรีในสังคมอย่างกึกก้อง
หนังสือเรื่อง เกิดเป็นหญิง เริดบ้าง ร้ายบ้าง ดีออก! และเรื่อง ร้ายให้เริด เชิดให้โลก ขอเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงนำเสนอความจริงว่าโลกที่ผู้หญิงอยู่เป็นอย่างไร มีความอยุติธรรมอยู่ในโลกของผู้หญิงมากแค่ไหน เพื่อยืนยันว่าผู้หญิงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่กำเนิดมาเพื่อผู้ชาย เพื่อให้ผู้หญิงที่ถูกล่อหลอกและหล่อหลอมด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ฉุกคิดได้ แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อยว่าสิ่งที่ตนประสบพบเจอมาคือความรุนแรง
"ฉันเขียน 'เกิดเป็นหญิง เริดบ้าง ร้ายบ้าง ดีออก!' ด้วยความหวังเล็กๆ ว่าอยากให้โลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเล่มนี้อีก" นี่คือความในใจของ ‘มินซอย็อง’ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้
แต่พอหนังสือตีพิมพ์ได้หนึ่งปี หนังสือของเธอก็ยังวางอยู่บนชั้นในร้านหนังสือ เพราะยังขายได้เรื่อยๆ ในฐานะนักเขียนเธอรู้สึกดีใจ แต่ในฐานะผู้หญิงกลับรู้สึกขมขื่น จากที่คิดจะหยุด เธอจึงเขียนอีก ด้วยเป้าหมายใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
"ฉันเขียน 'ร้ายให้เริด เชิดให้โลก' ขึ้นมา เพราะฉันอยากใช้ชีวิต"
ในโลกที่ประชากรครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง แต่ทำไมชีวิตของคนครึ่งหนึ่งกลับต่างจากอีกครึ่งหนึ่งเหลือเกิน เธอจึงเพียรเขียนความแตกต่างนี้ออกมา เขียนถึงทุกคนที่ถูกตัดสิน ลดทอนคุณค่า ถูกทำร้ายโดยไม่อาจเรียกร้อง เคยโกรธและสิ้นหวังนับไม่ถ้วน หวังกระตุ้นให้ทุกคนลุกขึ้นสู้ อย่ายอม อย่าพอใจ อย่าละเลย จนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบปิตาธิปไตยที่มีแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงเรื่อยๆ
หวังสร้างความเท่าเทียมของผู้หญิงและทุกเพศให้เกิดขึ้นในสังคม สร้างภูมิต้านทานจากการถูกคุกคาม ข่มขู่ ล่วงละเมิด และความรุนแรงทางเพศทั้งมวล
* * * * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ