Arc de Triomphe, Wrapped เมื่อประตูชัยฝรั่งเศสถูกห่อหุ้ม
Arc de Triomphe, Wrapped ผลงาน “ศิลปะ” ชิ้นล่าสุดของ Christo and Jeanne-Claude ทำไมประตูชัยฝรั่งเศสถูกห่อหุ้ม
ภาพที่เห็นอยู่นี้คืองานศิลปะชั่วคราวชื่อ L'Arc de Triomphe, Wrapped หรือ “การห่อหุ้ม อาร์ก เดอ ทรียงฟ์” เป็นงานศิลปะประเภท “การห่อหุ้ม” ซึ่งนี่ก็คือ การห่อหุ้มประตูชัยฝรั่งเศส ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จัดแสดงเป็นเวลา 16 วัน ระหว่างวันเสาร์ที่ 18 ก.ย. ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 ต.ค. 2564
การห่อหุ้มประตูชัยฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นการสานต่อผลงานศิลปะจากแนวคิดที่ได้สร้างสรรค์แบบร่างไว้โดยสองศิลปินคู่สามีภรรยา Christo and Jeanne-Claude (คริสโต และ ฌอง-โคลด) ซึ่งเสียชีวิตลงแล้วทั้งคู่ โดยฌอง-โคลดเสียชีวิตในปี 2552 และคริสโตเพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2563 ทีมงานของคริสโตจึงตั้งใจทำงานศิลปะชิ้นนี้ให้สำเร็จตามความปรารถนาของศิลปินทั้งสองคน
Christo and Jeanne-Claude ก.พ.2548 (photo: Wolfgang Volz)
คริสโต หรือ Christo Vladimirov Javacheff (คริสโต วลาดิมิรอฟ จาวาเชฟฟ์) เป็นศิลปินชาวบัลแกเรีย, ฌอง-โคลด หรือ Jeanne-Claude Denat de Guillebon (ฌอง-โคลด เดนาต์ เดอ กุยเลอบอง) เป็นศิลปินหญิงชาวโมรอกโก ทั้งคู่เกิดวันเดียวกันและปีเดียวกัน คือ 13 มิถุนายน พ.ศ.2478 พบรักและแต่งงานกันที่ฝรั่งเศสในปีพ.ศ.2501 ทำงานสร้างผลงานศิลปะคู่กันเป็นที่รู้จักในนาม Christo and Jeanne-Claude
ในปีพ.ศ.2504 หลังแต่งงานกันได้สามปี ‘คริสโตและฌอง-โคลด’ ริเริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ หนึ่งในโปรเจคของพวกเขาก็คือการห่อหุ้มอาคารสาธารณะ
ตอนมาถึงปารีสใหม่ๆ คริสโตเช่าห้องเล็กๆ ใกล้ อาร์ก เดอ ทรียงฟ์ และหลงใหลความงามในสถาปัตยกรรมของอนุสรณ์สถานแห่งนี้นับตั้งแต่นั้น
ปี 2505 คริสโตลองทำภาพตัดต่อ ‘อาร์ก เดอ ทรียงฟ์’ ที่ถูกห่อหุ้ม เป็นภาพที่มองมาจากถนนฟ็อช (Avenue Foch) และสร้างเป็นภาพจากชิ้นส่วนเล็กๆ ที่นำมาปะติดปะต่อกัน (collage) อีกครั้งในปี 2531 ใช้เวลา 60 ปี โปรเจคศิลปะการห่อหุ้ม ‘อาร์ก เดอ ทรียงฟ์’ ก็เป็นจริง ประจักษ์สู่สายตาผู้คนในปี 2564
L'Arc de Triomphe, Wrapped (photo: Benjamin Loyseau)
‘อาร์ก เดอ ทรียงฟ์’ ได้รับการห่อหุ้มโดยผ้าพลาสติกรีไซเคิลประเภท พอลิโพรไพลีน (polypropylene) โทนสีฟ้าประกายเงิน ขนาด 25,000 ตารางเมตร กับ เชือกสีแดง ความยาว 3,000 เมตร
ศิลปะการห่อหุ้ม ‘อาร์ก เดอ ทรียงฟ์’ เป็นความร่วมมือระหว่าง ทีมงานของคริสโต และ Centre des Monuments Nationaux (ศูนย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติของฝรั่งเศส) มีหน้าที่ดูแล อนุรักษ์ บูรณะและจัดการอนุสาวรีย์ อาคาร สถานที่ ราว 85 แห่ง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร
อาร์ก เดอ ทรียงฟ์ หรือในชื่อเต็มๆ ว่า อาร์ก เดอ ทรียงฟ์ เดอ เลตวล (Arc de triomphe de l'Étoile) ตั้งอยู่กลางจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล (Place Charles de Gaulle) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม จัตุรัสแห่งดวงดาว (Place de l'Étoile) เนื่องจากจัตุรัสแห่งนี้มีถนน 12 สายพุ่งมาบรรจบกัน ทำให้มีลักษณะเหมือนดวงดาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของช็องเซลีเซ เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส
ปฏิบัติการห่อหุ้ม (photo: Benjamin Loyseau)
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงโปรดให้สร้างประตูชัยแห่งนี้ขึ้นในปีพ.ศ.2349 (ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี) ออกแบบโดย ฌอง ชาลแกร็ง ในรูปแบบศิลปะนีโอคลาสสิกที่ดัดแปลงมาจากสถาปัตยกรรมโรมันโบราณ สร้างขึ้นเพื่อสดุดีวีรชนทหารกล้าที่ได้ร่วมรบเพื่อประเทศฝรั่งเศส โดยมีรายชื่อศึกสงครามสำคัญสลักไว้บนโล่ที่ใช้ตกแต่งห้องเพดานของประตูชัย
บริเวณฐานประตูชัยมี รูปแกะสลักลอยตัว ที่สำคัญ 4 กลุ่ม และยังมี ภาพแกะสลักหินนูนต่ำ อีก 6 ชิ้นบนประตูทั้งสี่ทิศ การก่อสร้างหยุดชะงักเป็นช่วงๆ เนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ออกแบบ มีสถาปนิกอีกหลายคนเข้ามาสานงานต่อ จนมาสร้างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงราชวงศ์บูร์บง พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ เสด็จทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2379
ติดตั้งกรงเหล็กเพื่อป้องกันงานประติมากรรมบนประตูชัยฝรั่งเศส (photo: Wolfgang Volz)
อาร์ก เดอ ทรียงฟ์ มีความสูง 49.5 เมตร กว้าง 45 เมตร ลึก 22 เมตร เป็นประตูชัยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประตูชัยเปียงยาง ในประเทศเกาหลีเหนือ
ในการห่อหุ้ม ทีมงานของ ‘คริสโตและฌอง-โคลด’ ต้องติดตั้งกรงเหล็กป้องกันภาพแกะสลักหินทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดการเสียหาย และใช้นักปีนเขา 95 คน กับคนงานอีก 140 คน ในการติดตั้งและคลี่ผ้าคลุมประตูชัย
ไม่เพียงแต่ อาร์ก เดอ ทรียงฟ์, คริสโตและฌอง-โคลด เคยห่อ อาคาร และ สถานที่ มาแล้วหลายแห่ง เป็นผลงานศิลปะที่สร้างความอัศจรรย์ใจและดึงดูดความสนใจคนรักงานศิลปะและนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนหลายล้านคน
Wrapped Coast, Little Bay, Sydney, Australia (photo: Shunk-Kender)
ปี 2512 ‘คริสโตและฌอง-โคลด’ สร้างผลงานศิลปะการห่อหุ้มชื่อ Wrapped Coast พวกเขาห่อชายฝั่งทะเลของ Little Bay ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นพื้นที่รวม 1 ล้านตารางฟุต ชายฝั่งยาว 2.5 กิโลเมตรถูกคลุมด้วยผ้าและตรึงไว้ด้วยเชือก นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปบนผ้า ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงสำหรับการเดินข้ามผ้ามหึมาผืนนี้
The Pont Neuf Wrapped (photo: Wolfgang Volz)
ในปี 2528 สร้างงานศิลปะชื่อ The Pont Neuf Wrapped หรือการห่อหุ้มสะพานปงเนิฟ (Pont Neuf) สะพานฐานโค้งข้ามแม่น้ำแซนในกรุงปารีส สะพานแห่งนี้สร้างตั้งแต่ยุคกลางด้วยสถาปัตยกรรมแบบโรมันในสมัยนั้น เป็นสะพานแห่งแรกในปารีสที่ไม่ได้สร้างบ้านริมสองฝั่งของราวสะพาน มีป้อมขนาดเล็กทั้งสองด้านเรียงรายเป็นช่วง ๆ ใช้เป็นที่หลีกทางของผู้ใช้ถนนยามมีรถม้าผ่าน และปูถนนเพื่อป้องกันโคลน
ในการห่อสะพานปงเนิฟ ‘คริสโตและฌอง-โคลด’ ใช้ผ้าทอจากเส้นใยพอลิเอไมด์ (polyamide) หรือไนลอน ขนาด 450,000 ตารางฟุต โทนทรายสีทอง ซึ่งดูราวผ้าไหม ตรึงไว้ด้วยเชือกความยาวรวมกันได้ 13 กิโลเมตร และถ่วงไว้ด้วยเหล็กหนัก 12.1 ตันที่ฐานโค้งของสะพานแต่ละฐาน ลึกอยู่ใต้ผิวน้ำ 1 เมตร ทั้งคู่วางแผนและร่างแบบมาตั้งแต่ปี 2518 ใช้เวลา 10 ปีในการทำให้งานศิลปะชิ้นนี้เกิดขึ้นจริง
Wrapped Reichstag, Berlin. (photo: Wolfgang Volz)
24 มิถุนายน พ.ศ.2538 ศิลปินสองสามีภรรยาสร้างความตื่นตะลึงด้วยงานศิลปะชื่อ Wrapped Reichstag หรือ ‘การห่อไรซส์ทาค’ อาคารรัฐสภาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ในกรุงเบอร์ลิน สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิเยอรมันเพื่อเป็นที่ประชุมของรัฐสภาเยอรมัน อาคารนี้เริ่มใช้งานในปีพ.ศ.2437 จนกระทั่งถูกวางเพลิงในปี 2476 สร้างความเสียหายอย่างมาก จึงถูกทิ้งร้างกว่าสี่ทศวรรษ เมื่อมีการรวมประเทศเยอรมนีในปี 2533 ก็มีการบูรณะอาคารนี้โดยสถาปนิก นอร์มัน ฟอสเตอร์
‘คริสโตและฌอง-โคลด’ ห่ออาคารไรซส์ทาคเป็นเวลา 14 วัน ด้วยผ้าทอจากเส้นใยรีไซเคิลพอลิโพรไพลีนผิวหน้ามันเงาแบบอลูมิเนียม ขนาด 1,076,390 ตารางฟุต กับเชือกสีฟ้าเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.2 เซนติเมตร ทำจากวัสดุเดียวกัน ความยาวรวมกันได้ 15.6 กิโลเมตร ใช้นักปีนเขามืออาชีพ 90 คน และคนช่วยติดตั้งอีก 120 คน โดยวางแผนการทำงานมาตั้งแต่ปี 2514
การห่อไรซส์ทาค สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางหลั่งไหลเข้าเบอร์ลินเพื่อมาชมงานศิลปะชิ้นนี้ได้ 5 ล้านคนในระยะเวลา 2 สัปดาห์ สร้างสถิติโลกสำหรับการเยี่ยมชมการจัดแสดงงานศิลปะ
The Floating Piers, Lake Iseo, Italy (photo : Wolfgang Volz)
พ.ศ.2559 สร้างผลงานศิลปะอีกชิ้นชื่อ The Floating Piers Lake Iseo, Italy คือทางเดินลอยน้ำเหนือทะเลสาบอิเซโอ ประเทศอิตาลี คริสโตออกแบบและสร้างสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ทำจากพอลิเอทิลีน (polyethylene) ที่มีความหนาแน่นสูง จำนวน 220,000 ชิ้น นำมาเรียงต่อกันเหมือนทางเดินท่าเทียบเรือ
เริ่มจากซัลซาโน (Sulzano) เมืองริมทะเลสาบอิเซโอ ทอดยาวเหนือทะเลสาบไปสู่ เปสชิเอรา มารากลิโอ (Peschiera Maraglio) เมืองท่องเที่ยวริมที่ราบเชิงเขาอิโซลา (Monte Isola) ซึ่งภูเขาลูกนี้เป็นเกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบอิเซโอ
ทางเดินลอยน้ำรอบเกาะซานเปาโล (photo: Wolfgang Volz)
จากนั้นทำทางเดินลอยน้ำต่อไปยังเกาะซานเปาโล (San Paolo) เกาะขนาดเล็กไม่ไกลจากเขาอิโซลา ทำทางเดินลอยน้ำชมวิวรอบเกาะซานเปาโล แล้วทำทางเดินลอยน้ำต่อไปยังย่านท่องเที่ยวของ ‘เปสชิเอรา มารากลิโอ’ อีกจุดหนึ่ง
ทางเดินลอยน้ำเหนือทะเลสาบอิเซโอ มีความกว้าง 16 เมตร รวมระยะทางได้ 3 กิโลเมตร กับอีก 2.5 กิโลเมตรบนถนนในเมืองซัลซาโนและเปสซิเอรา มารากิลโอ ทั้งหมดหุ้มด้วยผ้าสีเหลืองที่มีความแวววาว ขนาด 1 ล้านตารางฟุต ทอในประเทศเยอรมนี เมื่อน้ำในทะเลสาบกระเพื่อม ทางเดินลอยน้ำนี้ขยับได้เหมือนมีชีวิต
ทะเลสาบอิเซโอ ได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ในเขตลอมบาร์ดีของอิตาลี น้ำใสสะอาด โอบล้อมด้วยภูเขาที่มีความงามในแบบที่เชื่อมโยงมาจากเทือกเขาแอลป์ ป่าไม้บนภูเขาเขียวชอุ่ม องค์การยูเนสโกประกาศให้ภาคเหนือของทะเลสาบเป็นเขตสงวนชีวมณฑล(Biosphere Reserve) เมื่อปี 2561
นอกจากเป็นผลงานศิลปะที่สร้างทัศนียภาพใหม่ให้กับทะสาบอิเซโอ The Floating Piers Lake Iseo ยังเป็นการสร้างสรรค์วิธีชมความงามธรรมชาติจากมุมมองเสมือนการเดินไปบนผิวน้ำ เป็นความรู้สึกแปลกใหม่ที่นักท่องเที่ยวไม่เคยสัมผัสมาก่อน
The Floating Piers Lake Iseo จัดแสดงระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม 2559 ตลอดระยะเวลา 16 วัน มีผู้เข้าชมงานกว่า 1.2 ล้านคน
คริสโต กับผลงาน The Floating Piers Lake Iseo มิ.ย.2559 (photo: Wolfgang Volz)
การห่อหุ้ม มีความหมายถึงการปกปักษ์รักษาสิ่งของที่อยู่ภายใน ศิลปะการห่อหุ้ม หรือ Wrapped ของ ‘คริสโตและฌอง-โคลด’ ก็มีความหมายและจุดประสงค์เดียวกัน แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือ ความสวยงามและความสุขใจที่ได้เห็น ‘อาคาร’ และ ‘สถานที่’ คุ้นตาแบบเดิมๆ ในรูปลักษณ์ใหม่ ขณะเดียวกัน บางคนเมื่อเห็นสิ่งสวยงามถูกห่อหุ้มก็อาจไม่ชอบไม่สบอารมณ์ เป็นอีกหนึ่งนัยที่แฝงไว้ในการห่อหุ้ม
งานศิลปะ wrapped ของสองศิลปินนักออกแบบคู่นี้จึงเปรียบเสมือนการกระตุ้นเตือนให้นึกถึง สิ่งแวดล้อม ไปด้วยทุกครั้ง
ความสวยงามของ 'สิ่งแวดล้อม' ที่คุณเห็นจนชินตา หากละเลย ไม่ร่วมกันรักษาไว้ ก็อาจสูญสลายไปเหมือนกับภาพที่สิ่งนั้นถูกห่อหุ้ม
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
- เว็บไซต์ Britannica
- เว็บไซต์ คริสโตและฌอง-โคลด
- เว็บไซต์ th.wikipedia.org/wiki